เราจักเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตน

[๕๒] ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า


ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ถ้าว่าภิกษุไม่เป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของผู้อื่นไซร้
เมื่อเป็นอย่างนั้น ภิกษุนั้นพึงศึกษาว่า เราจักเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตน

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ


ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ภิกษุเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตนอย่างไร

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
เปรียบเหมือนสตรีหรือบุรุษที่เป็นหนุ่มสาว มีปรกติชอบแต่งตัว ส่องดูเงาหน้าของตนในคันฉ่องอันบริสุทธิ์หมดจด
หรือในภาชนะน้ำอันใส ถ้าเห็นธุลีหรือจุดดำที่หน้านั้น ก็พยายามเพื่อขจัดธุลีหรือจุดดำนั้นเสีย
หากว่าไม่เห็นธุลีหรือจุดดำที่หน้านั้น ก็ย่อมดีใจ มีความดำริอันบริบูรณ์ด้วย
เหตุนั้นแลว่า เป็นลาภของเราหนอ หน้าของเราบริสุทธิ์แล้วหนอ แม้ฉันใด


ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย การพิจารณาของภิกษุว่า
เราเป็นผู้มีอภิชฌาอยู่โดยมากหรือหนอ   หรือว่าเราเป็นผู้ไม่มีอภิชฌาอยู่โดยมาก
เราเป็นผู้มีจิตพยาบาทอยู่โดยมากหรือหนอ   หรือว่าเราเป็นผู้มีจิตไม่พยาบาทอยู่โดยมาก
เราเป็นผู้อันถีนมิทธะกลุ้มรุมอยู่โดยมากหรือหนอ   หรือว่าเราเป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะอยู่โดยมาก
เราเป็นผู้ฟุ้งซ่านอยู่โดยมากหรือหนอ   หรือว่าเราเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่านอยู่โดยมาก
เราเป็นผู้มีความสงสัยอยู่โดยมากหรือหนอ   หรือว่าเราเป็นผู้ข้ามพ้นความสงสัยอยู่โดยมาก
เราเป็นผู้มีความโกรธอยู่โดยมากหรือหนอ   หรือว่าเราเป็นผู้ไม่มีความโกรธอยู่โดยมาก
เราเป็นผู้มีจิตเศร้าหมองอยู่โดยมากหรือหนอ   หรือว่าเราเป็นผู้มีจิตไม่เศร้าหมองอยู่โดยมาก
เราเป็นผู้มีกายอันปรารภแรงกล้าอยู่โดยมากหรือหนอ   หรือว่าเราเป็นผู้มีกายอันมิได้ปรารภแรงกล้าอยู่โดยมาก
เราเป็นผู้เกียจคร้านอยู่โดยมากหรือหนอ   หรือว่าเราเป็นผู้ปรารภความเพียรอยู่โดยมาก
เราเป็นผู้มีจิตตั้งมั่นอยู่โดยมากหรือหนอ   หรือว่าเราเป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นอยู่โดยมาก ดังนี้
ย่อมเป็นอุปการะมากในกุศลธรรมทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯ


ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ถ้าว่าภิกษุเมื่อพิจารณาอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า เราเป็นผู้มีอภิชฌาอยู่โดยมาก ฯลฯ เป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นอยู่โดยมาก ดังนี้ไซร้
ภิกษุนั้นควรทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง
เพื่อละธรรมทั้งหลายที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้น ฯ



ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าอันไฟไหม้ หรือมีศีรษะอันไฟไหม้
พึงทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง
เพื่อดับไฟไหม้ผ้าหรือไฟไหม้ศีรษะนั้น ฉันใด


ภิกษุพึงทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง
เพื่อละธรรมทั้งหลายที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ


ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ถ้าว่าภิกษุเมื่อพิจารณาอยู่ย่อมรู้อย่างนี้ว่า เราเป็นผู้ไม่มีอภิชฌาอยู่โดยมาก ฯลฯ เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นอยู่โดยมาก ดังนี้ไซร้
ภิกษุนั้นควรตั้งอยู่ในกุศลธรรมเหล่านั้นแล้ว พึงทำความเพียรเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายให้ยิ่งขึ้นไป ฯ

จบสูตรที่ ๒


--------------------
สาริปุตตสูตร
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔  บรรทัดที่ ๒๒๗๓ - ๒๓๑๓.  หน้าที่  ๙๘ - ๙๙.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=24&A=2273&Z=2313&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=24&i=52
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่