[พระไตรปิฏก] กฏแห่งกรรม

ว่าด้วยกฏแห่งกรรม
(พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๔)

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล สุภมาณพ โตเทยยบุตร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ “อะไรหนอแล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พวกมนุษย์ที่เกิดเป็นมนุษย์อยู่ ปรากฏความเลวและความประณีต คือมนุษย์ ทั้งหลายย่อมปรากฏมีอายุสั้น มีอายุยืน มีโรคมาก มีโรคน้อย มีผิวพรรณทราม มีผิวพรรณงาม มีศักดาน้อย มีศักดามาก มีโภคะน้อย มีโภคะมาก เกิดในสกุลต่ำ เกิดในสกุลสูง ไร้ปัญญา มีปัญญา ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้พวกมนุษย์ที่เกิดเป็นมนุษย์อยู่ ปรากฏความเลวและความประณีต ฯ “

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ดูกรมาณพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้ ฯ

ข้าพระองค์ ย่อมไม่ทราบเนื้อความโดยพิสดารของอุเทศ ที่พระโคดมผู้เจริญตรัสโดยย่อ มิได้จำแนกเนื้อความโดยพิสดารนี้ได้ ขอพระโคดมผู้เจริญ ได้โปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ โดยประการที่ข้าพระองค์ จะพึงทราบเนื้อความแห่งอุเทศนี้โดยพิสดารได้เถิดฯ

พ. ดูกรมาณพ ถ้าอย่างนั้นท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจะกล่าวต่อไป สุภมาณพโตเทยยบุตร ทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า "ชอบแล้ว พระเจ้าข้าฯ"

พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
(๑) ดูกรมาณพ “ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีอายุสั้นนี้” คือ เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็นคนเหี้ยมโหด มีมือเปื้อนเลือด หมกมุ่นในการประหัตประหาร ไม่เอ็นดูในเหล่าสัตว์มีชีวิตฯ

(๒) ดูกรมาณพ “ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีอายุยืนนี้” คือ ละปาณาติบาตแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางอาชญา วางศาตราได้ มีความละอาย ถึงความเอ็นดู อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่ฯ

(๓) ดูกรมาณพ “ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโรคมากนี้” คือ เป็นผู้มีปรกติเบียดเบียนสัตว์ ด้วยฝ่ามือหรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาตรา ฯ

(๔) ดูกรมาณพ “ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโรคน้อยนี้” คือ เป็นผู้มีปรกติไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดินหรือท่อนไม้ หรือศาตรา ฯ

(๕) ดูกรมาณพ “ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีผิวพรรณทรามนี้” คือ เป็นคนมักโกรธ มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่าเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท มาดร้าย ทำความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคียดให้ปรากฏ ฯ

(๖) ดูกรมาณพ “ปฏิปทาเป็นไปเพื่อเป็นผู้น่าเลื่อมใสนี้” คือ เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่ามากก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธเคือง ไม่พยาบาท ไม่มาดร้าย ไม่ทำความโกรธ ความร้าย ความขึ้งเคียดให้ปรากฏ ฯ

(๗) ดูกรมาณพ “ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีศักดาน้อยนี้” คือ มีใจริษยา ย่อมริษยา มุ่งร้าย ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือการไหว้ และการบูชาของคนอื่น ฯ

(๘) ดูกรมาณพ “ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีศักดามากนี้” คือ มีใจไม่ริษยา ย่อมไม่ริษยา ไม่มุ่งร้าย ไม่ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือการไหว้ และการบูชาของคนอื่นฯ

(๙) ดูกรมาณพ “ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโภคะน้อยนี้” คือ ไม่ให้ข้าวน้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย เครื่องตามประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ฯ

(๑๐) ดูกรมาณพ “ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโภคะมากนี้” คือ ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย แก่สมณะหรือพราหมณ์ฯ

(๑๑) ดูกรมาณพ “ปฏิปทาเป็นไปเพื่อเกิดในสกุลต่ำนี้” คือ เป็นคนกระด้าง เย่อหยิ่ง ย่อมไม่กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ไม่ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ไม่ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ไม่ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง ไม่สักการะคนที่ควรสักการะ ไม่เคารพคนที่ควรเคารพ ไม่นับถือคนที่ควรนับถือ ไม่บูชาคนที่ควรบูชาฯ

(๑๒) ดูกรมาณพ “ปฏิปทาเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีสกุลสูงนี้” คือ เป็นคนไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่งย่อมกราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง สักการะคนที่ควรสักการะ เคารพคนที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ บูชาคนที่ควรบูชาฯ

(๑๓) ดูกรมาณพ “ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีปัญญาทรามนี้” คือไม่เป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์ แล้วสอบถามว่า อะไร เป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไร ไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่าอะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนานฯ

(๑๔) ดูกรมาณพ “ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีปัญญามากนี้” คือ เป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษอะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่าอะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน ฯ

ดูกรมาณพ "สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีต ฯ"

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ สุภมาณพ โตเทยยบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า แจ่มแจ้งแล้ว พระเจ้าข้า แจ่มแจ้งแล้ว พระเจ้าข้า พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศธรรมโดยปริยายมิใช่น้อย เปรียบเหมือน หงายของที่คว่ำ หรือเปิดของที่ปิด หรือบอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่าผู้มีตาดีจักเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระโคดมผู้เจริญ จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ฯ


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๔
สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
หน้าที่ ๒๘๗ - ๒๙๒ ข้อที่ ๕๗๙ - ๕๙๗



ขอความกรุณา
**ห้ามทะเลาะขัดแย้ง หรือ วิพากษ์วิจารณ์ในความเห็นของสมาชิกท่านอื่นแง่ลบ แต่สามารถออกความเห็นที่แตกต่างได้
   ห้ามไม่ใช้คำส่อเสียดประกอบความเห็น หรือ มีการโต้เถียงไปมาเกินความจำเป็น  

**งดเว้นการพูดถึงการปฏิบัติธรรมของ สาย ธรรมกาย,สันติอโศก
จขกทขออนุญาต ลบคอมเม้นที่มีพฤติกรรมดังกล่าว
เพื่อไม่ให้ขัดกับเจตนา ที่จขกท ตั้งกระทู้ เพื่อให้ทุกท่าน ได้พิจารณาธรรมค่ะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่