[เทศกาลฟุตบอลโลก] คุณรู้จักกับ "มัสคอตของฟุตบอลโลก" ในปีต่างๆ แล้วหรือยัง คุณจำมัสคอตตัวใดได้บ้างครับ ^^



อังกฤษ 1966
เวิลด์ คัพ วิลลี่ (World Cup Willie) อังกฤษ เปิดตัวมัสคอตครั้งแรกในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลก เป็นสิงโต สัตว์คู่บ้านคู่เมืองสหราชอาณาจักร ด้วยภาพลักษณ์เรียบง่าย สวมเสื้อลายธงชาติยูเนี่ยน แจ็ค พร้อมพิมพ์ตัวอักษร ‘WORLD CUP’ เจ้าเวิลด์ คัพ วิลลี่ อาจจะดูเหลี่ยมๆ มึนๆ ไปบ้างในสายตาคอลูกหนังยุคโมเดิร์น แต่ชาวผู้ดีคงไม่แคร์หรอก ในเมื่อมันเป็นตัวนำโชคให้พวกเขาผงาดบัลลังก์แชมป์โลก!!!


เม็กซิโก 1970
ฮัวนิโต้ (Juanito) มาถึงมัสคอตบอลโลกตัวที่ 2 บนแผ่นดินเม็กซิโก มีพัฒนาการมากขึ้นในแง่การออกแบบเป็นแนวการ์ตูน ในนาม ‘ฮัวนิโต้’ เด็กน้อยสวมเสื้อฟุตบอลสีเขียวทีมชาติเม็กซิโก พร้อมหมวกซอมเบรโร่ปีกกว้างสไตล์จังโก้พิมพ์ตัวอักษร ‘MEXICO 70’ ส่วนชื่อเสียงเรียงนามของเขาหมายถึง เจ้าหนูฮวน ชื่อยอดฮิตในแถบละติน คำว่า ‘ito’ หมายถึง ตัวเล็ก หรือ little ในภาษาอังกฤษนั่นเอง


เยอรมันตะวันตก 1974
ทิป กับ แท็ป (Tip and Tap) ทัวร์นาเมนต์เวิลด์ คัพ กลับมาจัดบนแผ่นดินยุโรปอีกครั้งที่เยอรมันตะวันตก ทางชาติเจ้าภาพยังคงใช้ภาพลักษณ์เด็กหนุ่มเป็นมัสคอตเหมือนครั้งก่อน โดยเป็นเด็กหนุ่มแก้มแดง 2 คน ผมดำกับผมบลอนด์ สวมเสื้อทีมชาติเยอรมัน บนเสื้อพิมพ์ตัวอักษร WM (Weltmeisterschaft หรือฟุตบอลโลกในภาษาเยอรมัน) และหมายเลข 74 รวมกันเป็นฟุตบอลโลก 74


อาร์เจนตินา 1978
เกาชิโต้ (Gauchito) สงสัยเทรนด์ตุ๊กตาเด็กชายคงฮอตฮิตเอามากๆ ในช่วงยุค 1960 ต่อถึง 1970 เพราะบอลโลกคราวนี้ยังอุตส่าห์ออกแบบเป็นเด็กน้อยเตะบอลสวมเสื้อทีมชาติอาร์เจนตินา และสวมหมวก ARGENTINA ’78 แต่ที่พิเศษใส่ไข่ก็คือมีการประดับผ้าพันคอ และแส้ อันสื่อความหมายถึง ‘โคบาล’ คนขี่ม้าเลี้ยงวัวตามทุ่งหญ้าในอเมริกาใต้ และแน่นอนว่าชื่อ ‘เกาชิโต้’ ก็คือ เจ้าหนูโคบาลตัวน้อยๆ นั่นเอง


สเปน 1982
นารานฆิโต้ (Naranjito) สเปน กลายเป็นชาติแรกที่ปลดแอกนำเทรนด์ใหม่สู่การออกแบบมัสคอตฟุตบอลโลก จากการใช้ส้มเป็นมัสคอต ถือลูกฟุตบอล และสวมเสื้อ ‘ฟูเรีย โรฆา’ หรือชุดแดงเพลิงของทีมชาติสเปน สาเหตุที่ใช้ส้ม เพราะว่าเป็นผลไม้ดังของประเทศ โดยเฉพาะส้มวาเลนเซีย ที่มีพื้นเพมาจากเมืองบาเลนเซีย ส่วนชื่อนั้นมาจากคำว่า นารานฆา (Naranja) แปลว่า ส้ม ในภาษาสเปน เติม ‘ito’ ก็กลายเป็น ส้มตัวน้อย


เม็กซิโก 1986
ปิเก้ (Pique) เม็กซิโก ได้เป็นเจ้าภาพหนสอง เนื่องจากโคลอมเบียถังแตกไม่พร้อมขอถอนเป็นแม่งานกลางคัน คราวนี้ มัสคอตของพวกเขาเปลี่ยนไปดูเก๋ไก๋มากขึ้น เป็นตัวพริกหยวก ‘ฮาลาเปนโญ่’ (jalanpeno) เครื่องปรุงเผ็ดร้อนขึ้นชื่อแดนจังโก้ พร้อมตบแต่งหน้าตาออกแนวจังโก้เต็มเหนี่ยว มีหนวดเขี้ยวโค้งมน สวมหมวกซอมเบรโร่ปีกกว้าง สำหรับชื่อ ‘ปิเก้’ คือนิกเนมของ ‘ปิกันเต้’ (picante) แปลว่า ซอสและเครื่องเทศในภาษาสแปนิช


อิตาลี 1990
เชา (Ciao) อิตาลี คือชาติแห่งศิลปะล้ำสมัย เพราะเหตุนั้นเอง มัสคอตของพวกเขาจึง ‘คลาสสิก’ ไม่มีใครเหมือน ก็พี่เล่นออกแบบเป็นโมเดลตัวต่อเลโก้ มีหัวเป็นลูกฟุตบอล ประดับสีแดง-ขาว-เขียว ลายธงชาติอิตาลี ชื่อว่า ‘เชา’ มีความหมายง่ายๆ แต่ได้ใจความว่า ‘สวัสดี’ เป็นตัวแทนแห่งการทักทาย ถึงอย่างนั้น ไม่วายมีเสียงค่อนขอดว่า มันเป็น 1 ในมัสคอตที่ ‘ไม่เวิร์ก’ เอาเสียเลย ให้ลูกเล็กเด็กแดงออกแบบก็ยังได้!!!


สหรัฐอเมริกา 1994
สไตรเกอร์ (Striker) สหรัฐอเมริกา ชาติมหาอำนาจในทุกๆ ด้านยกเว้นเรื่องลูกหนัง ได้รับหน้าเสื่อจัดศึกฟุตบอลโลกคราวนี้ พร้อมเปิดตัวมัสคอตที่เรียบๆ ง่ายๆ แต่ได้ใจแท้ตามสไตล์การ์ตูนคอมิกอเมริกันชน เป็นสุนัขหูตูบสีน้ำตาล สวมเสื้อแดง-ขาว-น้ำเงินของทีมชาติสหรัฐฯ และพิมพ์ตัวอักษร ‘USA 94’ ชื่อไม่มีอะไรยากจนเดาไม่ถูก ‘สไตรเกอร์’ คือกองหน้าในภาษาฟุตบอลก็แค่นั้นเอง


ฝรั่งเศส 1998
ฟุตติกซ์ (Footix) ฝรั่งเศสสร้างสรรค์มัสคอตได้สมกับความเป็นประเทศที่สวยงาม เพราะเจ้าไก่ ‘ฟุตติกซ์’ ได้ถูกยกย่องเป็นมัสคอตคลาสสิกตลอดกาล ภายใต้การออกแบบไม่ซับซ้อน ไก่คือสัตว์สัญลักษณ์ของประเทศ สีน้ำเงินเกือบทั้งตัวก็เหมือนกับเสื้อแข่งทีมชาติ บนหน้าอกพิมพ์ตัวอักษร ‘FRANCE 98’ ส่วนชื่อคือคำผสมระหว่าง ‘ฟุตบอล’ กับ ‘ix’ จาก ‘แอสเตริกซ์’ (Asterix) การ์ตูนดังแดนน้ำหอม แต่ก่อนหน้านี้มีการคัดเลือกอยู่หลายชื่อด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ราฟฟี่, อูปี้ และ กัลลิค


เกาหลีใต้/ญี่ปุ่น 2002
อาโต้, คาซ และ นิค (Ato, Kaz and Nik) ในฐานะที่เป็นศึกเวิลด์ คัพครั้งแรกบนแผ่นดินเอเชีย มัสคอตคราวนี้เลยขอพิเศษเป็นตัวการ์ตูนยุคอนาคตมารวดเดียว 3 ตัว โดยออกแบบให้เป็นสมาชิกในทีม ‘แอ็ตโม่บอล’ หรือเกมฟุตบอลในอนาคต สมาชิกทั้ง 3 หน่อมีชื่อว่า อาโต้, คาซ และ นิค ตัวสีส้ม, ม่วง และน้ำเงิน ตามลำดับ โดยตัวแรกเป็นโค้ช อีก 2 ที่เหลือเป็นผู้เล่น การตั้งชื่อนั้นเก๋ไก๋ซะไม่มี โหวตโดยผู้ใช้อินเตอร์เน็ต และร้านแม็คโดนัลด์ในหลายๆ ประเทศลงคะแนนเลือกกันเอง


เยอรมัน 2006
โกเลโอ เดอะ ซิกซ์ (Goleo VI) ฟุตบอลโลกครั้งที่สองบนแผ่นดินด๊อยท์ชลันด์ แต่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่รวมประเทศหลังไม่มีกำแพงเบอร์ลินกั้น มัสคอตครั้งนี้เหมือนกับสูงสุดคืนสู่สามัญ เพราะออกแบบง่ายๆ เป็นตัวสิงโตชื่อว่า ‘โกเลโอ’ สวมเสื้อทีมชาติเยอรมันหมายเลข 06 และมาพร้อมกับลูกบอลพูดได้ที่มีชื่อว่า ‘ปิลเล่’ 1 ในคำสแลงที่มีความหมายถึงฟุตบอล ขณะที่ชื่อ ‘โกเลโอ’ คือคำผสมระหว่าง ‘โกล’ (Goal) กับ ‘เลโอ’ (Leo) หรือ สิงโตในภาษาละติน


แอฟริกาใต้ 2010
‘ซาคูมิ’ ‘มัสคอต’ เป็นเสมือนตัวนำโชคที่มีอยู่เคียงคู่มหกรรมลูกหนัง ‘เวิลด์ คัพ’ มาตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกในปี 1966 ที่ประเทศอังกฤษเป็นแม่งาน เรื่อยมาจนถึงศึกฟุตบอลโลก ครั้งที่ 19 ปี 2010 บนแผ่นดินแอฟริกาใต้ ก็ถึงคราวแจ้งเกิดของ ‘ซาคูมิ’ (Zakumi) ในภาพลักษณ์เสือดาวตัวน้อยสีเหลืองลายจุด สัตว์คู่ป่าแอฟริกาที่มีเป้าหมายยิ่งใหญ่ในฐานะตัวแทนการแข่งขัน


บราซิล 2014
ฟูเลโก้ (Fuleco) สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ประกาศแต่งตั้งชื่อ “ฟูเลโก้” (Fuleco) แก่ ตัวนิ่ม ที่เป็นมาสคอตหรือตัวนำโชคประจำการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ที่ประเทศบราซิล หลังจากได้รับคะแนนโหวตเกินกว่าครึ่งจากทั้งหมด 1.7 ล้านเสียงเหนือ 2 ชื่อที่เหลืออย่าง “ซูเซโก้” (Zuzeco) และ “อามีจูบี” (Amijubi)
แม้ว่าจะมีการเผยรายชื่อที่จะใช้อย่างเป็นทางการออกมาแล้ว แต่รายงานข่าวได้เผยว่าประชาชนชาว บราซิล ส่วนใหญ่ ไม่ค่อยจะพอใจกับการคัดเลือกชื่อของฝ่ายจัดการแข่งขันสักเท่าไหร่ เพราะมองว่าพวกเขาไม่มีเสรีภาพมากพอที่จะได้นำเสนอรายชื่อที่มีความหมายอื่นๆ
สำหรับคำว่า “Fuleco” นั้นเป็นศัพท์ในภาษาโปรตุเกสที่มีความหมายว่า “futebol” (football = ฟุตบอล) และ “ecologia” (ecology = ระบบนิเวศน์) โดยทางฟีฟ่าเชื่อว่าการใช้สองคำที่นำมาผสมกันนี้ก็เพื่อที่จะให้แฟนบอลตระหนักถึงสภาพแวดล้อมของโลกในปัจจุบันและพยายามรักษาสิ่งแวดล้อมกันให้มากขึ้น

ขอบคุณที่มาจาก : http://thai12bet.net/th/สาระน่ารู้-ฟุตบอลโลก2014-มั/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่