ใครยังจำ"น้ำพุ"ได้บ้าง วันที่ 28 พค.จะเป็นวันครบรอบ 40 ปีการจากไปของน้ำพุ


รูปครอบครัวคุณสุวรรณี สุคนธา น้ำพุคือคนที่ยืนอยู่ด้านขวาของภาพ

ขออนุญาตินำบทความดีๆมาจาก http://www.oknation.net/blog/nn1234/2010/08/12/entry-1

“แม่จูบน้ำพุเป็นครั้งสุดท้าย น้ำตาของเราไหลปนกัน เมื่อแม่บอกน้ำพุว่า หลับให้สบายนะลูก จากนั้นแม่ก็มีชีวิตอยู่ไปวันๆ เหมือนถูกไขลาน จากวันนั้นจนกระทั่งวันนี้แม่เพิ่งได้รู้จักความทุกข์นั้นใหญ่หลวงหนักหนาเพียงไร”

“...นี่เป็นความผิดของแม่คนเดียว ไม่ใช่ของใครเลย และบัดนี้แม่ก็รับกรรมอันนั้นแล้ว หลับให้สบายเถอะนะน้ำพุ ระหว่างเราแม่ลูกไม่ต้องพูดกันถึงชาตินี้ หรือชาติหน้าหรอก น้ำพุอยู่ในหัวใจของแม่ตลอดเวลาอยู่แล้ว
... แม่   ๓๑ พ.ค. ๑๗”

เป็นความรู้สึกที่สัมผัสได้ว่า “แม่”นั้นเจ็บปวดทุกข์ทรมานใจอย่างแสนสาหัสเพียงใดในหัวอกของผู้เป็นแม่ คือ ภาพที่คุณสุวรรณี สุคนธา ขณะตระกองกอดร่างอันไร้วิญญาณของ “น้ำพุ”แนบอกเธอเป็นครั้งสุดท้าย

“น้ำพุ” เป็นบุตรชายคนเดียวของคุณสุวรรณี สุคนธา เกิดเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2499 และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2517

..............................................................................................

“พระจันทร์สีน้ำเงิน” นวนิยายความผูกพันธ์ของแม่ลูกและชีวิตของครอบครัว “นันทขว้าง หรือ สุคนธา” หรือที่กลายมาเป็นภาพยนตร์ในชื่อเรื่องว่า “เรื่องของน้ำพุ” อันโด่งดังนั้น คุณสุวรรณี สุคนธา เขียนงานวรรณกรรมชิ้นนี้โดยได้ดัดแปลงจากหนังสือที่พิมพ์แจกในงานศพของ “น้ำพุ” บุตรชายสุดที่รักของเธอเพียงคนเดียวเอง ด้วยการนำเอาจดหมายทั้ง ๑๐ ฉบับของ “น้ำพุ” ที่เขียนมาถึง “แม่”ในช่วงระหว่างที่เขาไปรับการถอนพิษยาที่ สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก จ.สระบุรี

ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดย ยุทธนา มุกดาสนิท ออกฉายราวๆ กลางปี ๒๕๒๗  อำพล ลำพูน รับบทเป็น “น้ำพุ” ภัทราวดี มีชูธน รับบทเป็น สุวรรณี สุคนธา  มี “แก้ว” เพื่อนหญิงวัยน่ารักของน้ำพุ รับบทโดย วรรษมน วัฒโรดม

คงไม่ต้องกล่าวให้เยิ่นเย้อไปกว่านี้ว่า เมื่อเป็นภาพยนตร์แล้วจะได้รับความนิยมมากมายเพียงใด ในเมื่อทุกโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศต่างแน่นขนัดไปด้วยผู้ชมที่ต่างก็อยากเข้าไปชมภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจากชีวิตจริงๆ ของครอบครัวๆ หนึ่งที่เอาชีวิตของคนทั้งครอบครัวมาเป็นตัวอย่างและถ่ายทอดออกมาเป็นวรรณกรรมและภาพยนตร์ได้อย่างซาบซึ้งอารมณ์จนเป็นที่กล่าวขานกันมากที่สุดแห่งยุค

เป็นความประทับใจที่ไม่รู้เลือน...

เช่นเดียวกันความสำเร็จของด้านนักแสดงที่ “โนเนม”อย่าง อำพล ลำพูน ก็แจ้งเกิด ณ เวทีการแสดงแห่งนี้ ส่งผลให้เขาได้รับรางวัลตุ๊กตาทองรางวัลตุ๊กตาทอง สาขาดารานำชายยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยื่ยม และรางวัลดารานำชายดีเด่น จากงานเทศกาลภาพยนตร์แห่งเอเซียและแปซิฟิก ครั้งที่ 29



ภัทราวดี มีชูธน ผู้ที่รับบท “สุวรรณี” ในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสาร a day ว่า

“....สุวรรณีมิใช่ผู้หญิงของยุคสมัยเมื่อ ๒๐ ปีก่อน ยุคสมัยนั้นถือว่า การหย่าร้างกับชายผู้เป็นสามี ถือเป็น ความผิดบาปของฝ่ายหญิง และจะยิ่งเป็นที่โจษขานกันไปทั่วบ้านทั่วเมือง หากสาวใหญ่ลูกติดอย่างสุวรรณี คิดจะมองหาชายคนใหม่สักคนสำหรับการเป็นที่พักพิงของชีวิต”

ในชีวิตจริงทั้งสุวรรณี และภัทราวดี ต่างก็เป็นเพื่อนกัน สรวลเสเฮฮาร่วมกันอยู่เสมอๆ จึงมิใช่เพียงแต่ความเข้าใจในบทภาพยนตร์ที่เธอรับบทมาสวมเท่านั้น

อันนี้หรือเปล่าที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตที่ผันแปรของครอบครัวนี้ ทั้งวรรณกรรมและภาพยนตร์ต่างตั้งคำถามทิ้งไว้ให้คิด ทั้งยังมีอีกหลายประเด็นที่ฉุดให้ความคิดของผู้อ่านหรือผู้ชมเลยเตลิดไปถึงเรื่องที่เป็นปัญหาสังคมที่ยากจะแก้ไขให้หมดไปได้ ในยุคนั้น นั่นคือ ปัญหายาเสพติด

หรือ เพราะการขาดอบรมเลี้ยงดูบุตรธิดาที่ดีพอ ก็อาจเป็นปัจจัยที่มีส่วนสำคัญยิ่งที่อาจทำให้ครอบครัวนี้พบกับภาวะวิกฤติ ที่ใครก็ไม่ต้องการประสบ..........?

หรือ อาชีพการงานของผู้เป็นแม่ ก็อาจมีส่วน.....?

หรือ ชีวิตวัยรุ่นท่ามกลางกระแสสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในสมัยนั้น ก็อาจมีส่วน.....?

คุณสุวรรณี สุคนธาได้บันทึกชีวิตของลูกไว้ตอนหนึ่งว่า..

“ชื่อ “น้ำพุ” นั้นเป็นชื่อที่เรียกกันเล่น ๆ ในครอบครัว และเลยเรียกติดปากมาจนกระทั่งน้ำพุโตเป็นหนุ่ม น้ำพุเรียนจบชันมัธยมที่โรงเรียนศรีวิกรม์ และจากนั้นได้ไปเรียนที่เชียงใหม่ปีหนึ่ง ที่ไปเรียนก็เพราะน้ำพุตามใจแม่ เมื่อเห็นว่าควรจะเรียนดีกว่า น้ำพุก็ไปตามคำแม่ เมื่อไปเรียนจึงรู้ว่าน้ำพุไม่ได้ชอบวิชาที่เรียนเลย ชอบแต่ศิลปะมากกว่า จึงได้ขอแม่มาเรียนศิลปะ ก่อนการเปิดเรียนในปีนั้นน้ำพุได้บวชเณรอยู่เดือนหนึ่ง เมื่อเปิดภาคเรียนแล้ว จึงสึกออกมาเรียนต่อ ระหว่างนั้นน้ำพุอยู่ในความอุปการะของป้า

ระหว่างปีสุดท้ายของการเรียน น้ำพุเริ่มคบเพื่อนหน้าตาแปลก ๆ และพาเข้ามาในบ้านให้แม่เดือดร้อนอยู่เสมอ เช่น ริอ่านทำความรู้จักกับเหล้าแห้ง กัญชาและยาเสพย์ติดชนิดต่าง ๆจากนั้นน้ำพุก็เปลี่ยนใช้ยาที่แรงขึ้น ๆ จนกระทั่งเฮโรอีน เมื่อมาสารภาพว่าติดแล้วนั้น น้ำพุกำลังจะเตรียมตัวไปอดที่ถ้ำกระบอก มาขอเงินแม่สามร้อยบาท ครั้งแรกตั้งใจจะไปโดยไม่บอก แต่หาเงินเท่าไหรก็ไม่ได้ จึงจำเป็นต้องมาสารภาพ ระหว่างนั้นตัวข้าพเจ้าเองก็ต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัด จึงไม่อาจะไปดูแลน้ำพุที่ถ้ำกระบอกได้ เมื่อกลับมาถึงน้ำพุสดใสขึ้นมาก ทำให้ครอบครัวมีความหวังว่าน้ำพุคงจะดีขึ้น

มีคนถามข้าพเจ้าเสมอ หลังจากที่น้ำพุได้สิ้นชีวิตแล้วว่า "เลี้ยงลูกยังไง ถึงได้ปล่อยให้ลูกติดเฮโรอีน" ทำให้ต้องนิ่งและไม่อาจจะหาคำตอบได้ แต่ถ้าจะให้ตอบจริง ๆ แล้ว ก็จะต้องโทษตัวเองว่า "เลี้ยงลูกไม่เป็น" และถ้าจะถามว่าเหตุไรที่ลูกชายสิ้นชีวิตไปเพราะยาเสพย์ติด จึงเอาเรื่องมาเปิดเผยเพราะไม่ใช่เรื่องที่ดี น่าจะปิดเป็นความลับมากกว่า คำตอบตรงบรรทัดนี้มีอยู่ว่า เพราะไม่อยากให้ลูกคนอื่น ๆ ต้องเสียชีวิตไปเพราะยาเสพย์ติดอีก”

และในตอนหนึ่งเขียนไว้ว่า...

“ถ้าเรื่องของน้ำพุ จะเป็นประโยชน์ต่อลูกของใครอื่นได้ ข้าพเจ้าก็จะยินดีอย่างยิ่ง และจะไม่ขออะไรอื่น นอกจากผลกุศลที่ได้เกิดจากสิ่งที่ทำไปแล้วนี้ ขอให้น้ำพุจงมีความสุขในโลกใหม่ หรือที่ใดก็ตามที่น้ำพุไปอยู่.....

เมื่อน้ำพุได้กลับมาจากถ้ำกระบอกแล้วก็ตั้งใจเรียนดีขึ้น หลังจากที่ได้เสียเวลาไปสองปี ปีแรกที่เชียงใหม่ และปีที่สองไม่ได้สอบที่โรงเรียนช่างศิลป์ เพราะต้องเข้าโรงพยาบาลถึงเดือนครึ่ง เนื่องด้วยโรคไวรัสลงตับ เวลาเรียนไม่มีพอสอบ

วันสุดท้ายที่ได้พบกับลูกนั้นเป็นคืนวันที่ 27 พฤษภาคม 2517 ตอนเย็นลูกไปหาที่โรงพิมพ์ พาสาวน้อยหน้าตาจุ๋มจิ๋มไปด้วยและบอกว่าขอเงินไปเอากางเกงนักเรียน ได้หยิบเงินให้ไปและสั่งอย่ากลับค่ำนัก น้ำพุรับคำเป็นอันดี เมื่อไปถึงบ้านนั้นประมาณสามทุ่ม น้ำพุมาเปิดประตูรับด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ใครจะรู้ว่านั่นเป็นการเปิดประตูครั้งสุดท้ายของลูก จากนั้นน้ำพุก็เอารูปมาอวด

คนใช้ไปปลุกข้าพเจ้า ในตอนเช้ามืดให้เข้าไปดู "น้ำพุ" ขณะนั้นน้ำพุนอนเหยียดยาวอยู่หน้าเตียง แผ่นเสียงยังหมุนและไฟยังเปิด น้ำพุสวมกางเกงขาสั้นตัวเดียว ถอดเสื้อ...เหมือนหัวใจจะขาดตามลูกไปด้วย ได้อุ้มลูกขึ้นรถ ให้พี่สาวน้ำพุขับไปโรงพยาบาล หมอสันนิษฐานว่าน้ำพุหัวใจวาย แต่ใคร ๆ ก็รู้ว่าน้ำพุจากไปเพราะยาเสพย์ติด น้ำพุอาจจะหวนกลับไปใช้ยา ซี่งไม่มีใครรู้ว่าเป็นยาชนิดใด และยานั้นคงจะรุนแรงจนสามารถทำให้หัวใจน้ำพุหยุดเฉียบพลันไม่มีใครช่วยได้”

...............................................................................................

“ที่จริงไม่ว่าเรื่องอะไรทั้งนั้นที่แม่ไม่ค่อยขัดใจน้ำพุ ราวกับจะรู้ว่าน้ำพุมีเวลาอยู่กับแม่น้อยนิดเดียว เพียง ๑๘ ปีกับ ๒ เดือน ๑๕ วัน”

เป็นข้อความใน “คำนำ”ของหนังสือที่พิมพ์แจกในงานศพของ “น้ำพุ”ที่ “แม่”ที่เขียนถึง”ลูก”

ในเรื่อง “พระจันทร์สีน้ำเงิน”ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องความผูกพันธ์ระหว่างแม่กับลูกแทบทั้งสิ้น แม้จะมีเรื่องความรักความใคร่ของแม่กับแฟนใหม่มาปะปนบ้าง แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์โลก เมื่อต้องอยู่เลี้ยงลูก ๔ คนที่กำลังโตและเรียนหนังสือแต่เพียงลำพัง

“แม่”ได้แต่งเรื่องของ “น้ำพุ” ใน “พระจันทร์สีน้ำเงิน”โดยสมมุติชื่อให้ว่าชื่อ “รอม”

“เป็นความผิดของแม่เอง แม่เคยว่าอย่างนั้น จะโทษอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น อย่างความจน ความต้องการเงิน ก็ไม่สามารถเอามาอ้างได้ว่าที่ต้องเขียนวิธีนี้เพราะไม่มีเงิน เรื่องจริงแล้วมันต้องยอมอดเพื่อจะทำงานให้ได้ดีที่สุด”

“รอม”เห็นแม่นั่งเขียนหนังสืออยู่ข้างๆ มุ้งในตอนกลางคืนแทบทุกคืน.....

“แม่จะเป็นนักเขียนคนแรกที่เขียนหนังสือโดยไม่มีโต๊ะ”

หรือบทที่แม่เขียนถึงลูก........

“เราออกจากบ้านเช้ากว่าทุกวัน เพราะเป็นวันที่รอมจะต้องขึ้นรถเมล์ไปโรงเรียนเอง บางหนรอมก้อยากเป็นอิสระ แต่บางครั้งก็เบื่อและนึกอยากให้แม่ขับรถไปส่งถึงประตูโรงเรียน หรือจะขับเข้าไปข้างในเลยก็ยิ่งดี เพื่อนๆ จะได้รู้กันว่า รอมไม่ใช่คนยากจน รถก็มี อีกทั้งมีแม่ที่รักและเอาใจใส่รอม ถึงจะห่างพ่อก็ตาม”

แม้ทุกอย่างที่ลูกต้องการให้มีเหมือนเพื่อน แม่ก็สรรหามาให้ เพื่อไม่ให้ลูกน้อยหน้าไปกว่าคนอื่นๆ ในภาพยนตร์ “เรื่องของน้ำพุ” ถ้าหากยังจำกันได้ดี คุณภัทราวดี ชวนลูกๆ หัวเราะอย่างมีความสุขเมื่อเห็นข้าวของที่เธอสรรหามาไว้ในบ้านด้วยความสามารถของเธอว่า

“อะไรๆ ก็ผ่อน ผ่อนไอ้โน้น ผ่อนไอ้นี่....ชีวิตเงินผ่อน” แล้วลูกทุกคนก็วาดฝันให้แม่ฟังทีละคน แล้วแม่ก็เข้าครัวไปทำกับข้าวให้ลูกๆ ทาน

แต่น้ำพุก็เริ่มดูดบุหรี่แล้ว ณ แต่บัดนี้..........!

ในสมัยนั้น “น้ำพุ” หรือ “วงศ์เมือง นันทขว้าง” เด็กหนุ่มผู้แสนจะอ่อนไหว และ “แม่”ผู้กล้าแกร่ง ยากจะทานทนความเชี่ยวกรากของกระแสสังคมในสมัยนั้นได้ ซึ่งแตกต่างจากสมัยนี้เป็นอย่างมาก ที่เราสามารถพบเห็นชีวิตแบบเดียวกันกับ “น้ำพุ”ได้มากมาย

แต่น่าเสียดายที่เราไม่ได้เรียนรู้อะไรจาก “เรื่องของน้ำพุ”นั้นเลย
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่