มองอนาคต วัง เวิ้ง แพร่ง สายสัมพันธ์ชุมชนเก่าแก่

มองอนาคต วัง เวิ้ง แพร่ง สายสัมพันธ์ชุมชนเก่าแก่

โดย...พริบพันดาว

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้เติบโตคู่กันมากับการอนุรักษ์ย่านเมืองเก่าชั้นในของกรุงเทพฯ โดยเวิ้งนาครเขษมและแพร่งทั้งสาม ที่ประกอบด้วยแพร่งภูธร แพร่งนรา และแพร่งสรรพศาสตร์ เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญ

สถานที่ทั้งสองได้เจริญเติบโตเป็นย่านการค้าที่สำคัญของกรุงเทพฯ เมื่อครั้งอดีต โดยได้รับการสนับสนุนจากวังของเจ้านายที่ตั้งอยู่ในย่านนั้น เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ชุมชนที่อยู่โดยรอบก็ถูกพัฒนาขึ้นมาจนเป็นย่านการค้าที่ทันสมัยในยุคนั้นและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ รุ่งเรืองในอดีตและร่วงโรยในยุคปัจจุบัน

นอกจากจะมีความผูกพันต่อคนที่อยู่อาศัยมาหลายรุ่น เป็นที่สร้างเนื้อสร้างตัวให้คนในชุมชนจนมีหลักปักฐานถึงทุกวันนี้ได้แล้ว ก็ยังมีเรื่องราว เรื่องเล่า มีคุณค่าทางจิตใจ และถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ที่มีเสน่ห์ของอดีตอยู่อบอวล

ความขัดแย้งของการอนุรักษ์เพื่อให้จิตวิญญาณและหัวใจของชุมชนเก่าแก่อย่าง เวิ้งนาครเขษมและแพร่งทั้งสามกับการพัฒนาของเมืองสมัยใหม่ ยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก และกำลังหาทางออกที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ



หัวใจเมืองเก่า จิตวิญญาณชุมชนเก่าแก่

ตัวอย่างโครงการฟื้นฟูเมืองของมหานครและเมืองใหญ่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพื้นที่โรงงานยาสูบเก่าของกรุงไทเป ไต้หวัน ให้เป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมของศิลปินท้องถิ่นและตอบรับนโยบายเมืองสร้างสรรค์

การพลิกฟื้นพื้นที่ของกรุงลอนดอนฝั่งตะวันออกเพื่อรองรับมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ด้วยการปรับย่านอุตสาหกรรมเสื่อมโทรมที่เต็มไปด้วยมลพิษ ให้กลายเป็นเมืองใหม่ที่เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ พรั่งพร้อมไปด้วยความทันสมัยและสะดวกสบาย

การพัฒนาพื้นที่โกดังเก่าและที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติเมื่อครั้งยังเป็นอาณานิคมของนครเซี่ยงไฮ้ ให้กลายเป็นย่านพาณิชยกรรมที่ทันสมัย และสามารถสร้างเศรษฐกิจใหม่ได้ด้วยกิจกรรมการท่องเที่ยว

การพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ริมแม่น้ำในกรุงโซล เกาหลีใต้ ให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ตอบรับการใช้งานของชาวเมือง

การอนุรักษ์ย่านต่างๆ ในเขตเมืองชั้นในของสิงคโปร์เพื่อรักษาความเป็นมาและเรื่องราวต่างๆ ตามร่องรอยของสถาปัตยกรรมเก่าแก่ไว้ควบคู่กับความศิวิไลซ์ของเมือง

จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ประธานชมรมสยามทัศน์ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่สนใจบ้านเมืองและเรื่องสยาม ซึ่งมีการจัดท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรมและอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง มองว่า เวิ้งนาครเขษมกับแพร่งทั้งสามเป็นชุมชนที่เกาะเกี่ยวและพัฒนามาจากวังจนเป็นย่านการค้าที่สำคัญทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่อดีต

“ในสายตาของผม สถานที่เหล่านี้ทำให้คนได้เรียนรู้อดีต เรื่องของวัง บ้าน ชุมชน ต่างเป็นสถาบันทางสังคมที่เกาะตัวกันอยู่ ซึ่งบทบาทและสถานที่ก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา บางที่เมื่อครั้งเจ้านายยังอยู่ก็เป็นที่ไปชุมนุมค้าขายในระยะแรกๆ พอระยะหนึ่งเจ้านายสิ้นไป พอวังเจ้าทั้ง 3 วัง หรือที่เรียกว่า วังทั้งสามแพร่งเปลี่ยนบทบาทไปแล้ว คนที่อยู่ก็ต้องปรับตัวให้อยู่กับเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปได้ เขาก็ต้องปรับตัว



“พ่อแม่ปู่ย่าตายายมีความรู้เรื่องอาหารเขาก็เปิดร้านอาหาร รู้เรื่องยาก็เปิดร้านขายยา บางคนก็ทำเครื่องหนัง เพราะชุมชนเก่ารากเดิมของเขาก็มีคนพวกนี้ไปอยู่ ชุมชนไม่ว่าจะเป็นแพร่งหรือเวิ้งก็จะมีห้างร้านเพื่อประกอบอาชีพ ซึ่งพอมีเยอะก็กลายเป็นแหล่งที่คนมาซื้อของ กลายเป็นย่านชุมชนที่เป็นตลาดขึ้นมา จากเวิ้งว่างๆ ก็มีคนเอาของมาขายจนกลายเป็นธุรกิจแล้วก็มีคนเข้ามาทำธุรกิจการค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันเมืองขยายตัวเร็ว ที่อยู่อาศัยก็หายากขึ้น ที่จอดรถก็ไม่ค่อยมี คนก็เข้ามาน้อยลง ความเปลี่ยนแปลงทำให้พื้นที่เหล่านี้หมดความสำคัญทางการค้าไป”

ความนิยมท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรมและการอนุรักษ์ จุลภัสสร บอกว่า สามารถต่อลมหายใจให้ชุมชนเก่าแก่ของเมืองเก่าอย่างเวิ้งนาครเขษมและแพร่งทั้งสามได้ในระดับหนึ่ง เพราะทุกคนชอบเรื่องในอดีต เพราะอดีตเป็นเรื่องของการระลึกถึงความรื่นรมย์

“เรื่องเหล่านี้หากไม่มีการบอกเล่ากันในรุ่นหลังๆ ก็จะลืมหมด ผมมองว่าของทุกอย่างก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เราก็ต้องดูว่ามันเปลี่ยนไปอย่างไร มีแผนหรือวางลักษณะการเปลี่ยนแปลงในลักษณะไหน ซึ่งต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ว่า สิ่งที่เราอยู่นั้นมีคุณค่า สร้างความรู้ความเข้าใจ มันมีเรื่องราวของที่แต่ละที่ซึ่งอิงอยู่กับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ต้องมีการถ่ายทอดเรื่องราวและความรู้ซึ่งจะทำให้สถานที่เก่าๆ ไม่หายไปจากความทรงจำ ต้องบันทึกประวัติศาสตร์ของชุมชนของเมืองไว้ อย่างเวิ้งทำไมเราจึงเรียกเวิ้ง เราไม่เคยมีการตั้งคำถาม ซึ่งที่เหล่านี้มีช่วงเวลาที่ดีๆ อะไรหลายอย่าง ประวัติศาสตร์ของการบอกเล่าไม่ได้ถูกบันทึกไว้สักเท่าไหร่

“เวิ้งในสายตาของผม น่าสนใจตั้งแต่ชื่อแล้ว นาครเขษม ในชื่อนั้นมีเรื่องราว แต่เรามองข้ามของพวกนี้ ผมว่าการวิเคราะห์ชื่อ แพร่งก็เหมือนกันมีพัฒนาการที่สำคัญต่อประวัติศาสตร์ทางสังคมของเรา เป็นส่วนหนึ่งของเมืองที่เริ่มจากการเป็นวังเจ้า ถ้าเราช่วยกันรักษาอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม กระตุ้นให้เชื่อมโยงให้ได้ระหว่างอดีตกับปัจจุบัน และก้าวเดินไปสู่อนาคต”



นำโมเดลต่างประเทศมาประยุกต์

นักคิดและนักพัฒนาทั่วโลกเห็นพ้องกันว่า เมืองควรถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของทางแก้ไข มากกว่าการยอมจำนนกับปัญหา ดังนั้น การฟื้นฟูเมืองและชุมชนเก่าแก่ จึงเป็นความท้าทายกับสังคมเป็นอย่างยิ่ง

ศิวพงศ์ ทองเจือ อาจารย์และสถาปนิกผังเมือง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้นำประสบการณ์จากต่างประเทศมาเป็นตัวเปรียบเทียบ ชี้ว่า ชุมชนเก่าแก่ในเมืองใหญ่ที่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ การพัฒนาที่ต้องหาสมดุลระหว่างการอนุรักษ์เมืองเก่ากับเมืองยุคใหม่ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลง

“อย่างเมืองแวนคูเวอร์ ในแคนาดา การจัดการตรงนี้เขามีเป้าหมายทำให้ชุมชนหรือเมืองน่าอยู่เป็นลำดับแรก รวมถึงมีความยั่งยืน ส่วนของสิงคโปร์จะใช้เกณฑ์ในการอนรักษ์รูปทรงหรือรูปแบบสถาปัตยกรรม ทำให้ย่านเมืองเก่าซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ พัฒนาให้เป็นคอมมูนิตี้แล้วส่งเสริมเรื่องการค้าปลีก ไม่ใช่การอนุรักษ์ให้กลับไปสู่ความเป็นชุมชนดั้งเดิมเหมือนกับตอนแรกหรือในอดีต โดยนำมาประยุกต์ให้เข้ากับสมัยใหม่ อาศัยรูปฟอร์มเดิมของสถาปัตยกรรมอาคารและภูมิทัศน์แบบเมืองหรือชุมชนเก่าแก่ที่อยู่สืบทอดกันมา

“แล้วเอาเรื่องการพัฒนาธุรกิจการค้าปลีกใส่เข้าไปตรงจุดนั้น เป็นช็อปเฮาส์ในอาคารของชุมชนเก่าแก่ แล้วปรับให้เป็นชุมชนสำหรับคนเดินเท้าเป็นหลัก ให้เป็นเขตพื้นที่เฉพาะ เน้นตรงนี้มากกว่าการให้นำรถยนต์เข้าไป สำหรับเมืองไทยตรงจุดนี้ยังไม่มีชัดเจนในการจัดพื้นที่เฉพาะสำหรับคนเดินในย่านเมืองเก่าที่มีชุมชนอยู่อาศัยสืบเนื่องมาตั้งแต่อดีต ทำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในแนวอนุรักษ์และวัฒนธรรมที่ยั่งยืน”

การใช้วิธีการเหล่านี้ในเมืองไทยส่วนมากติดอยู่ในเรื่องกฎหมายและการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ศิวพงศ์ บอกว่า ปัญหาที่พบคือ ต่างคนต่างอยู่ต่างทำ กฎหมายไทยไม่ทันสมัยในเรื่องของการพัฒนาชุมชนเก่าแก่ของเมืองเก่า

“เรื่องความสร้างความเข้าใจของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องช่องว่างระหว่างอายุที่ขัดแย้งกันของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจแบบใหม่ที่จะดึงคนหนุ่มสาวให้เข้ามาเที่ยว หรือให้คนรุ่นลูกหลานในย่านเมืองเก่าได้พัฒนาอย่างเต็มที่ในแบบของเขาเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์เหล่านี้ด้วย ต้องยืดหยุ่นสร้างคนสองรุ่นนี้ให้เข้าใจกันด้วย เป็นเมืองเก่าในสมัยใหม่ คือยังคงเดิมแต่ว่ามีการประยุกต์รองรับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ได้ด้วย โดยนำมาปรับใช้เพื่อมุ่งสู่อนาคต”



ร่วมมือหา ‘สมดุล’ เมืองเก่ากับการพัฒนา

การปลุกจิตสำนึกในการอนุรักษ์และฟื้นฟูคุณค่ามรดกวัฒนธรรมของชุมชนและสาธารณะ ก็คือการการฟื้นฟูชุมชนในย่านเมืองเก่า การหันกลับมาพัฒนาพื้นที่ชั้นในของตัวเมือง เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากที่ดินให้คุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งวิธีการที่นำมาใช้ในการดำเนินโครงการฟื้นฟูเมืองมี 3 รูปแบบ ได้แก่

การรื้อถอนและสร้างขึ้นมาใหม่ (Urban Redevelopment)

การแก้ไขปรับปรุงพื้นที่ (Urban Rehabilitation)

การอนุรักษ์ (Urban Conservation)

เพื่อเก็บรักษาและพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพของย่านเก่าอันมีคุณค่า ให้ดูดีมีระเบียบและสอดรับกับวิถีชีวิตสมัยใหม่

ดร.พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ รองหัวหน้าศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง/อาจารย์สถาปัตยกรรมผังเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ศึกษาชุมชนเก่าแก่ในกรุงเทพฯ หลายกรณีศึกษา เล่าว่า เรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน แต่ปัจจุบันน่าสรุปปัญหาได้ 2 ด้าน คือ 1.การศึกษาพื้นที่ซึ่งมีคุณค่าเหล่านี้ยังไม่เพียงพอ เมื่อฐานข้อมูลไม่พอจึงทำให้ไม่มีกรอบการอนุรักษ์มาตั้งแต่ต้น 2.การชดเชยสิทธิในการพัฒนา พื้นที่ละเอียดอ่อนที่ต้องมีการเก็บอาคารเก่าเอาไว้ ซึ่งต้องมีกลไกในการสนับสนุนการพัฒนาด้วย ซึ่งในส่วนนี้จะขาดไป

“กรุงเทพฯ ไม่ได้มีด้านเดียว มีทั้งที่พัฒนาไปได้ให้เป็นสมัยใหม่ และมีพื้นที่เก่า อย่างเกาะรัตนโกสินทร์จะเข้มงวดในข้อบังคับ ส่วนพื้นที่ซึ่งคาบเกี่ยวอย่างสัมพันธวงศ์ และป้อมปราบจะมีปัญหามากที่สุด เพราะเป็นรอยต่อของเมืองแบบเก่ากับเมืองแบบใหม่ เป็นพื้นที่ชั้นนอกของเกาะเมืองรัตนโกสินทร์ มีของเก่าปนอยู่กับของใหม่ ข้อบัญญัติก็ไม่เข้มงวดต้องมีการศึกษาในเชิงลึกมากกว่านี้ ในส่วนของพื้นที่ซึ่งไม่ใช่วังแต่เป็นของชุมชนซึ่งมีคุณค่าจะมีการเก็บรักษาและอนุรักษ์อย่างไร ต้องมาทบทวนกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้ต่อไปในอนาคต"

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงอนุรักษ์ เมื่อพัฒนาไม่ถูกหลักก็เป็นการทอนคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมที่มันมีอยู่ในตัวของมันเอง ดร.พรสรร มองว่า ทุกอย่างใช้กระบวนการการออกแบบมาแก้ปัญหาได้ ซึ่งอาจจะไม่สมบูรณ์เหมือนเดิมทั้งหมด

“ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมืองยินดีทำหน้าที่เป็นตัวประสาน ปัญหาที่เจอคือไม่มีการคุยกันระหว่างคนในชุมชนกับผู้ที่จะเข้าไปพัฒนาในเชิงธุรกิจ คือร่วมมือกันเพิ่มคุณค่าและยังเก็บความเก่าแก่บางส่วนไว้ แก้ไขด้วยการออกแบบ หาคำตอบที่ดีที่สุดของทุกฝ่ายว่าควรจะเป็นอย่างไร?”

หากมองในเรื่ององค์ประกอบของเมืองคือชีวิตคน มากกว่าการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเพียงอย่างเดียว รักษาอาคารเก่าแก่แล้วก็ต้องมองภาพรวมเรื่องเศรษฐกิจและสังคมด้วย พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ให้มีความน่าอยู่และยั่งยืน โดยไม่ทิ้งชีวิตคนในพื้นที่นั้นที่อยู่สืบทอดกันมา ซึ่งไม่มองในเรื่องปริมาณมากกว่าคุณภาพ คือพัฒนาเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่มองจิตวิญญาณของชุมชนและการประยุกต์เปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากที่สุด

เวิ้งนาครเขษม

     เวิ้งนครเกษม หรือเวิ้งนาครเขษม เป็นชื่อของสถานที่ระหว่างถนนเจริญกรุงและถนนเยาวราช ความหมายของ นาครเขษม แปลว่า เมืองแห่งความสุข เป็นย่านการค้าเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร มีความเป็นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ในฐานะศูนย์รวมของเก่าและหนังสือหายาก หากสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คือ การเป็นย่านการค้าแห่งแรกของเมืองไทยที่สั่งเครื่องดนตรีตะวันตกเข้ามาขายในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 แทบทุกร้านมีประวัติยาวนานกว่า 100 ปี เป็นที่คุ้นเคยของนักดนตรีไทยแทบทุกรุ่น

     แต่เดิมตรงนี้เป็นที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้ขุดสระขนาดใหญ่ และทำเป็นสวนสำหรับคนทั่วไป เรียกว่า วังน้ำทิพย์ จนกระทั่งทูลกระหม่อมบริพัตร พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ท่านทรงเห็นว่ามีชุมชนเกิดขึ้นที่นี่แล้ว จึงปรับเปลี่ยนที่ดินตรงนี้เป็นศูนย์การค้าขนาดย่อมที่ทันสมัย โดยวังน้ำทิพย์ถูกถมดินใหม่ทั้งหมด จนกลายเป็นเนินกว้างใหญ่เป็นเวิ้ง มีชื่อใหม่ว่า เวิ้งนาครเขษม

แพร่งภูธร แพร่งนรา และแพร่งสรรพศาสตร์.....
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่