ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน+3

กระทู้สนทนา
คอลัมน์ เข็มทิศเศรษฐกิจ



ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน+3 ระหว่างประเทศอาเซียน 10 ประเทศ กับคู่ค้า 3 ประเทศคือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้ลงนามในปฏิญญาไปตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งถือเป็นความตกลงที่พัฒนาต่อเนื่องมาจาก "ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน+1" ทั้ง 3 ฉบับที่สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศได้ทำสัญญากับประเทศคู่ค้าทั้ง 3 ประเทศ แบ่งเป็น อาเซียน-จีน เริ่มลดภาษีตั้งแต่ปี 2546 ลงนามความตกลงในปี 2547 เรื่อยมา ขณะที่เอฟทีเออาเซียน-ญี่ปุ่น ได้ลงนามตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา และอาเซียน-เกาหลี ซึ่งอาเซียนทั้ง 9 ประเทศลงนามตั้งแต่ปี 2549 แต่ไทยตกขบวนมาลงนามในปี 2552 เป็นต้นมา

ถือเป็นความตั้งใจร่วมกันว่า ความตกลงอาเซียน+3 นอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันแล้ว ยังช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับสมาชิกอาเซียนทั้งหมด 13 ประเทศ ในการเจรจาต่อรองกับเวทีโลก เพราะนับรวมประชากรแล้วมีมากถึง 2,147 ล้านคน มีมูลค่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจรวมกันเกือบ 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการประเมินศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทยในอาเซียน+3 ประจำปี 2557 ระบุว่า ไทยเสียศักยภาพการแข่งขันทางการค้าให้กับกลุ่มประเทศอาเซียน+3 (ASEAN+3) มากขึ้น จากปัญหาทางการเมืองที่บั่นทอนให้ศักยภาพการแข่งขันของไทยลดลง โดยภายใน 5 ปี ไทยจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับมาเลเซีย อินโดนีเซียมากขึ้น รองลงมาก็จะเป็นกลุ่ม CLMV โดยเสียให้เวียดนามมากสุด และเมียนมาร์ กัมพูชา ลาวตามลำดับ เปรียบเทียบตัวมูลค่าการค้าส่งออกของอาเซียนในช่วงก่อนและหลังทำความตกลงนี้

พบว่ามี 3 ประเทศที่เสียศักยภาพในการส่งออก สูงสุดคือ ฟิลิปปินส์ 728,329.6 ล้านบาท รองลงมาคือ สิงคโปร์ มูลค่า 393,194.1 ล้านบาท และไทย สูญเสียไป 183,125.3 ล้านบาท ส่วนอีก 7 ประเทศกลับมีศักยภาพในการส่งออกมากขึ้น

โดยเฉพาะประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีศักยภาพในการส่งออกสูงสุด 596,653.2 ล้านบาท รองลงมาคือ เวียดนาม มูลค่า 306,157 ล้านบาท อินโดนีเซีย 69,796.8 ล้านบาท และเมียนมาร์ 65,002 ล้านบาท เป็นต้น

หากแยกประเภทสินค้าเป็น 3 กลุ่ม พบว่ากลุ่มที่ไทยจะมีศักยภาพในการแข่งขันลดลง ได้แก่ ข้าว น้ำมันปาล์มดิบ และเสื้อผ้า และสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันปานกลาง คือ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เสี่ยงจะเสียส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าไทยที่ยังมีศักยภาพในการแข่งขันและยังไม่สูญเสียตลาดไป คือ ยางพารา, ยางและผลิตภัณฑ์ยาง, ยานพาหนะ ชิ้นส่วนประกอบอุปกรณ์ขนส่งที่ไทยยังเป็นเบอร์ 1

โดยในช่วงปี 2554-2556 ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาด 2.69% หรือหากคิดเป็นมูลค่า 180,000 ล้านบาท ประกอบด้วย เสียส่วนแบ่งการตลาดข้าวกลุ่มอาเซียน+3 ไปถึง 61.5% โดยในจำนวนนี้ เวียดนามได้ไป 60.5% และกัมพูชาได้ไป 1% คิดเป็นมูลค่าการสูญเสีย 107.46 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่น้ำมันปาล์มดิบ ไทยและมาเลเซียเป็นเจ้าตลาด แต่สูญเสีย

ส่วนแบ่งการตลาด 15.9% ให้กับอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ คิดเป็นมูลค่าการสูญเสีย 2.88 ล้านเหรียญสหรัฐ และเสื้อผ้าที่ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว และฟิลิปปินส์

สูญเสียส่วนแบ่งตลาด 21.4% ให้กับอินโดนีเซีย เวียดนาม เมียนมาร์ และกัมพูชา คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 12.355 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่หากในปี 2557 ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ไม้ จะทำให้มีมูลค่าการสูญเสียส่วนแบ่งตลาด 250,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่า หากสถานการณ์ทางการเมืองยืดเยื้อไปมากกว่า 3 เดือนหลังจากนี้ กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ก็จะปิดตัวมากขึ้น ประมาณ 30-40% หรือ 700,000-800,000 ราย จากปัจจัยที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่มีเงินทุนหมุนเวียนในบริษัท เนื่องจากกู้เงินจากธนาคารไม่ได้ และไม่มีการจัดทำและเบิกจ่ายงบประมาณปี 2558 เชื่อว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ในปี 2558 ก็จะแย่มากกว่าปีนี้มาก "ไทยถูกแช่แข็งจากปัญหาการเมือง" ขณะที่ประเทศอาเซียน 9 ประเทศก็เติบโตตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจโตไปเรื่อย ๆ

นักลงทุนต่างประเทศเข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV มากขึ้น ผลพวงที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่ไม่มีการลงทุนใหม่ อาจจะทำให้นักศึกษาจบใหม่มีสิทธิ์ตกงานถึง 1-2 แสนคน

Credit : ประชาชาติ ^^
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่