(แอบดูมาแล้ว) Godzilla (2014) : 60 ปีราชันย์แห่งสัตว์ประหลาด..สมหวัง แต่ไม่ถึงกับที่สุด!



ก็อดซิลล่า ถือกำเนิดขึ้นมาครั้งแรกในปี 1954 โดยไอเดียแรกเริ่มมันคือสัตว์ประหลาดที่เป็นผลพวงมาจากระเบิดนิวเคลียร์ของอเมริกันที่ใช้ถล่ม ฮิโรชิมา และนางาซากิ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นความจงใจใช้นัยยะเสียดสีความเลวร้ายของระเบิดนิวเคลียร์ในครั้งนั้นแฝงไว้กับเจ้าสัตว์ประหลาดตัวนี้ ต่อมามีการปรับเปลี่ยนไอเดียให้ซอร์ฟลง ด้วยการให้รายละเอียดว่ามันปรากฏตัวขึ้นมาอาละวาด จากการทดลองขีปนาวุธนิวเคลียร์ในน่านน้ำของมหาสมุทรแปซิฟิก แต่โดยตัวตนของมันแล้ว ยังคงไว้ซึ่งการเป็นสัตว์ประหลาดเชิงสัญลักษณ์ในการต่อต้านสงคราม และอาวุธนิวเคลียร์อยู่กลายๆ

60 ปีผ่านไป จากที่มันถือกำเนิดขึ้นมาบนความเลวร้ายของอเมริกันที่กระทำกับญี่ปุ่น ในที่สุด ก็อดซิลล่า มันก็ถูกนำมาสร้างโดยทีมงาน และเงินทุนของอเมริกันเสียเอง จะว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องตลกร้ายอยู่เหมือนกัน

เวอร์ชั่นใหม่นี้เป็นผลงานของ แกเร็ธ เอ็ดเวิร์ดส์ ผู้กำกับที่สร้างชื่อมาจากหนังเรื่อง Monsters (2010) หนังสัตว์ประหลาดอินดี้ที่ทำออกมาได้น่าสนใจมากๆ ในแง่ของการเป็นหนังดราม่าแฝงประเด็นการเมือง โดยที่มีสัตว์ประหลาดเป็นฉากหลัง ระหว่าง เอ็ดเวิร์ดส์ กับ ก็อดซิลล่า จึงน่าจะนับได้ว่าเป็นการจับคู่ระหว่างผู้กำกับและหนังที่ถูกคู่ถูกตัวอยู่ไม่น้อย

อย่างแรกที่ต้องยกนิ้วให้ก็คงจะหนีไม่พ้น งานสร้างในส่วนโปรดักชั่น ที่ต้องบอกว่านี่เป็นการรีบู๊ตที่พยายามรักษาคุณลักษณะในแคเร็กเตอร์ดั้งเดิมของก็อดซิลล่า เอาไว้ให้มากที่สุด ซึ่งทำออกมาได้ค่อนข้างดี ทั้งรูปลักษณ์ และความสามารถ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ฮอลลีวู้ดเคยมีบทเรียนเป็นความล้มเหลวมาแล้วในหนังเวอร์ชั่นปี 1998 ที่แก้ไขรูปลักษณ์ของมันเสียใหม่จนปราดเปรียวว่องไว  กระทั่งแฟนคลับส่วนใหญ่ต่อต้าน ไม่ยอมรับว่ามันคือก็อดซิลล่า และตั้งชื่อใหม่ว่า จีโน่ (GINO หรือมาจาก Godzilla In Name Only) รวมถึงการที่โตโฮเจ้าของลิขสิทธ์ตัวจริงในญี่ปุ่นก็เอาหนังเวอร์ชั่นปี 1998 ไปฉายในญี่ปุ่นด้วยชื่อ Zilla เฉยๆ มาแล้ว

ในส่วนของเนื้อหา หนังฉบับ 2014 บาย ฮอลลีวู้ด ยังคงเก็บประเด็นเกี่ยวกับการใช้นิวเคลียร์ไว้อย่างครบถ้วน โดยดัดแปลงเรื่องราว หาเหตุผลให้กับการทดลองขีปนาวุธนิวเคลียร์ในน่านน้ำแปซิฟิกว่า แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่การทดลอง แต่เป็นการพยายามฆ่าก็อดซิลล่าของคนในยุคอดีตต่างหาก นอกจากนั้นแล้วยังสร้างสถานการณ์ขึ้นมาใหม่ในอารมณ์จิกกัดอเมริกาเบาๆ ด้วยการให้ก็อดซิลล่า และสัตว์ประหลาดดึกดำบรรพ บุกขึ้นมาโจมตีเมืองซาน ฟรานซิสโก จนทางการของอเมริกาคิดจะกำจัดพวกมันด้วยการใช้นิวเคลียร์ในระดับที่ร้ายแรงกว่าตอนที่บอมบ์ญี่ปุ่นตอนสงครามโลก กระทั่งเกิดเหตุพลิกผันให้หัวนิวเคลียร์ที่ว่านี้กลายเป็นภัยคุกคามอเมริกาเสียเอง ท่ามกลางความโกลาหลจากการลุกขึ้นมาอาละวาดของสัตว์ประหลาด

แต่จุดที่ทำได้ไม่ค่อยดีนักก็คือ การบริหารสัดส่วนของหนัง ระหว่างส่วนที่เป็นแอ็คชั่นสัตว์ประหลาด/หายนะ กับส่วนที่เป็นดราม่า ที่ดูแล้วเหมือนผู้กำกับ เอ็ดเวิร์ดส์ พยายามจะนำสูตรสำเร็จเดียวกับตอนที่ทำหนังอินดี้อย่าง Monsters มาใช้อีกครั้ง คือใช้ดราม่าเป็นตัวนำ เพื่อเพิ่มความจริงจังให้กับตัวหนัง โดยที่มีฉากหลังเป็นความวินาศสันตโรจากการถล่มเมืองของสัตว์ประหลาด  

แต่ครั้งนี้กับ Godzilla เอ็ดเวิร์ดส์ทำออกมาแล้วไม่ค่อยประสบผลเท่าใดนัก เนื่องจากหนังไม่สามารถสร้างเงื่อนไขในความเป็นดราม่า และอุปสรรคให้กับตัวละคร ในระดับที่เข้มข้น ชวนติดตาม ซึ่งน่าเสียดาย ทั้งๆ ที่หนังทำออกมาได้ดีในช่วงแรกซึ่งเป็นเรื่องของรุ่นพ่อแม่ (แครนสตัน และ บิโนช) ขณะที่ในส่วนหลังซึ่งเป็นเรื่องของรุ่นลูก (จอห์นสัน  กับ โอลเซ่น) หนังให้ภาพความสัมพันธ์ของคู่รัก ครอบครัว ท่ามกลางวิกฤติหายนะได้เลื่อนลอย เบาหวิว จนแทบไม่รู้สึกผูกพันใดๆ กับตัวละคร  
  
ยิ่งพอรวมเข้ากับจังหวะจะโคนในการนำเสนอ ที่ใช้วิธีปล่อยฉากแอ็คชั่นใหญ่ๆ ออกมาเป็นช่วงสั้นๆ เกือบทั้งเรื่อง ที่เหมือนการยั่วให้อยากแล้วหักอารมณ์ทิ้งอยู่หลายครั้งหลายครา ก่อนจะไปอัดซีเควนซ์แอ็คชั่นยาวแบบเต็มเหนี่ยวเพียงครั้งเดียวในช่วงท้าย ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้จึงกลายเป็นความอัดอั้นคั่งค้างในความรู้สึกของคนดูอยู่ระดับหนึ่ง และเชื่อว่าหนังอาจจะไปไม่ถึงจุดพีคแบบเต็มร้อยในความรู้สึกของหลายๆคน โดยเฉพาะกับคนที่เคยมีประสบการณ์อันยอดเยี่ยมมาจากหนังหุ่นยักษ์อัดสัตว์ประหลาดก่อนหน้านี้อย่าง Pacific Rim

อย่างไรก็ตาม สำหรับแฟนคลับก็อดซิลล่า ในภาพรวมทั้งหมด หนังฉบับนี้ก็ถือเป็นงานที่อยู่ในข่าย “สมหวัง” อยู่ดี กับการที่ได้เห็นมันถูกนำเสนอแบบให้ความเคารพกับ “ตัวตน” ตามตำหรับดั้งเดิมของมันเสียที ผ่านงานสร้างสเกลใหญ่โต น่าตื่นตะลึง และสามารถถ่ายทอดความน่าเกรงขามให้กับ ราชันย์แห่งสัตว์ประหลาดตัวนี้ ออกมาได้อย่างทรงพลัง สมจริงสมจัง มากที่สุดเท่าที่เคยมีการสร้างกันออกมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็น่าจะพอช่วยโอบอุ้มให้หนังทั้งเรื่องเป็นที่น่าพอใจสำหรับคนดูทั่วๆไปที่ไม่ใช่แฟนคลับพี่ก็อดด้วยเช่นกัน

คะแนน : ★★★1/2

=====อันนี้แถม 5 เรื่องเกี่ยวกับพี่ก็อด=====

(1) ชื่อของก็อดซิลล่าในภาษาญี่ปุ่นคือ โก-จิ-ระ ซึ่งเป็นการผสมกันระหว่างคำว่า  โก-ริ-ระ (ลิงกอริลล่า) กับ คุ-จิ-ระ (ปลาวาฬ)
(2) ชื่อจริงของก็อดซิลล่า ถูกเปลี่ยนจาก โก-จิ-ระ  (Gojira) เป็น ก็อดซิลล่า (Godzilla) จากการสื่อสารและสำเนียงที่คลาดเคลื่อนของทางญี่ปุ่นกับทางผู้จัดจำหน่ายของฝั่งอเมริกาเมื่อตอนซื้อหนังต้นฉบับปี 1954
(3) ตัวก็อดซิลล่าถูกออกแบบขึ้นโดยมีไดโนเสาร์สามชนิดเป็นต้นแบบ คือ Stegosaurus, Iguanodon และ T.Rex
(4) ก็อดซิลล่าของแท้ต้องตัวสีเทา หรือสีขี้เถ้า เท่านั้น เพราะเป็นผลพวงมาจากอาวุธนิวเคลียร์ ส่วนพวกตัวสีเขียวคือพวก พันทางของปลอม
(5) ก็อดซิลล่าของแท้จะไม่พ่นไฟ แต่จะพ่นสิ่งที่เรียกว่า atomic breath หรือเรียกเป็นไทยๆว่า พลังปรมาณู ซึ่งจะเป็นลำแสงสีฟ้าอย่างที่เห็นกันในหนังฉบับใหม่นี่แหละ

รีวิวหนังใหม่-เก่า พูดคุยเรื่องหนัง http://www.facebook.com/pages/เกรียนหนัง/112834835539518
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่