ผลวิจัยยูเนสโก ชี้กวดวิชาเลิกยาก

กระทู้ข่าว
วันนี้(6 พ.ค.) ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมเครือข่ายการกำกับคุณภาพการศึกษากลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก จัดโดยยูเนสโก เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักวิจัยในนามยูเนสโกได้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่องสถิติการกวดวิชาสำหรับใช้วิเคราะห์เพื่อกำกับดูแลการกวดวิชา ว่า จากการสำรวจสถิติการกวดวิชาของประเทศในกลุ่มเอเซียแปซิฟิก พบว่า เขตปกครองพิเศษฮ่องกง นักเรียนเกรด 9 หรือ ชั้น ม.3 กวดวิชา 53.8 % และ ม.6 กวดวิชา 71.8% อินเดียเด็กอายุ 6-14ปี กวดวิชา 73%  คาซักสถาน กวดวิชาตอนเรียน ม.ปลายปีสุดท้าย 59.9% เวียดนามเด็กประถมศึกษากวดวิชา 32% ม.ต้น 46% และม.ปลาย 63% สาธารณรัฐเกาหลีเด็กประถมศึกษากวดวิชา 86.8%  ม.ต้น 72.2% และม.ปลาย 52.8% เป็นต้น ซึ่งจากการสำรวจดังกล่าวนักวิจัยชี้ว่า แต่ละประเทศมีการกวดวิชามากจนกลายเป็นการศึกษาคู่ขนานกับการศึกษาปกติ โดยมีหลายรูปแบบทั้งระดับองค์กรและระดับบุคคล บนดินและใต้ดิน ซึ่งจัดเป็นโรงเรียนโดยตั้งเป็นบริษัท เก็บเงินจากผู้เรียน รวมถึงจัดผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะเห็นว่าแต่ละประเทศมีสถิติการกวดวิชาสูงกว่า 50%  ส่วนเด็กไทยแม้จะไม่มีตัวเลขเชิงสถิติว่า มีการกวดวิชามากแค่ไหน แต่ธุรกิจการกวดวิชาก็เพิ่มขึ้นทุกปี สังเกตได้จากเด็กเรียนในระบบมักจะไปกวดวิชาหลังเลิกเรียนหรือวันเสาร์-อาทิตย์

ศ.ดร.สมหวัง กล่าวต่อไปว่า นักวิจัยเสนอว่า แม้การกวดวิชาจะมีผลทางบวกที่เป็นการซ่อมและเสริมสำหรับคนที่ขาด แต่ผลการวิจัยชี้ชัดว่า มีผลทางลบอย่างมาก เพราะก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม คนจนเข้าถึงไม่ได้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และเป็นระบบที่ลบล้างการศึกษาในระบบ ซึ่งอาจนำไปสู่การคอร์รัปชั่นได้ เนื่องจากเกิดผลประโยชน์กับคนทำธุรกิจอย่างมหาศาล ส่วนตัวเด็กก็หนีจากระบบการเรียนปกติไปกวดวิชาถือเป็นการคอร์รัปชั่นเวลา ดังนั้นจึงต้องมีระบบการคุ้มครองผู้บริโภคให้เกิดความเป็นธรรม รวมถึงต้องดูแลเรื่องภาษีด้วย เพราะมีวงเงินสะพัด เกิดรายได้ที่ไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม(vat)ถือเป็นอภิสิทธิ์ในวงจรภาษี ซึ่งอาจมีเงินหมุนเวียนเป็นหมื่นถึงแสนล้านบาท ซึ่งนักวิจัยได้เสนอวิธีการกำกับดูแล คือ ต้องควบคุมการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน  ต้องมีความโปร่งใสทั้งหลักสูตรและราคาเพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจ แต่ถ้าควบคุมโดยรัฐจะไม่ค่อยได้ผล จึงควรสนับสนุนให้โรงเรียนกวดวิชาควบคุมกันเอง เพื่อติดตามตรวจสอบ ทั้งค่าเล่าเรียนและการปฏิบัติ โดยโรงเรียนกวดวิชาควรรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อเรียนรู้แลกเปลี่ยนสิ่งที่เป็นประโยชน์

"นักวิจัยวิเคราะห์ว่า กวดวิชาเป็นภาพสะท้อนให้ย้อนกลับมาดูการศึกษาในระบบว่าต้องปรับปรุง และการกวดวิชาถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่อย่าไปคิดเลิกเลย ซึ่งเกาหลีใต้ และสิงคโปร์ เคยมีความพยายามที่จะเลิก  แต่ในที่สุดก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะแรงกดดันจากพ่อแม่ผู้ปกครองและประชาชนที่เห็นว่ายังมีความจำเป็น  ทั้งนี้งานวิจัยที่ทำขึ้นไม่ได้มุ่งเพื่อให้เลิกการกวดวิชา แต่ต้องการให้เป็นระบบที่เป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ให้เด็กทุกคนมีโอกาสเข้าถึง"ศ.ดร.สมหวังกล่าวและว่า นักวิจัยได้ฝากให้ตนนำผลวิจัยมาเสนอกับผู้บริหารด้านการศึกษาของประเทศ เพื่อนำไปสู่การกำกับดูแลโรงเรียนกวดวิชาให้ถูกต้องด้วย

dailynews.co.th

จากประสบการณ์ที่เคยผ่านมา เพื่อนสมัยนักเรียนที่ไปติวกว่าครึ่งไปติวตามกระแส ติวกลับมาแล้วผลการเรียนก็ไม่ได้ดีขึ้น หนังสือคู่มือจากสถาบันติวก็ไม่เคยอ่านพอกับหนังสือเรียนในโรงเรียน  ไปติวก็นั่งหลับ เลิกเรียนก็ไปเที่ยวห้าง

สมัยผมสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อนที่สอบติด ครึ่งหนึ่งเรียนติว อีกครึ่งหนึ่งไม่ได้ติวหาคู่มือมาอ่านเอง

อยากฝากผู้ปกครองว่าให้ประเมินผลการเรียนพิเศษการติวของลูกให้ดี ว่าไปติวเพื่ออะไร ติวแล้วผลการเรียนดีขึ้นไหม สอบเข้าอะไรติดไหม
เด็กที่ไม่ตั้งใจเรียนจริงได้ไม่ต้องส่งไปเรียนลดกระแสการติว

ผมมีเพื่อนเป็นติวเตอร์ รับสอนชั้นละไม่เกินสิบคน บางรายก็ติวพิเศษตัวต่อตัว(พ่อแม่ฐานะดีจ้างสอน) แต่เด็กไม่ใส่ใจอะไรให้ทำอะไรก็ไม่ทำ แต่รับงานมาแล้วก็ต้องสอนให้จบคอร์ส

สถาบันติวเองน่าจะมีการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ว่า เด็กที่มาติวผลการเรียนดีขึ้นไหมสอบติดอะไรบ้าง ให้ประเมินเด็กที่มาติวทั้งหมด ไม่ใช่แค่มาประกาศชื่อเด็กสอบติดเพียงไม่กี่คน

การเรียนกลายเป็นกระแสไปแล้ว เด็กแค่ประถมเลิกเรียนก็ไปเรียนพิเศษบ้านครูต่อ เป็นภาะหนักให้เด็กเกินวัย ทำให้เด็กเบื่อ เหนื่อยหน่ายต่อการเรียน รอวันเรียนให้จบๆ จะได้เลิกเรียนสักที หมดความรักความชอบต่อการเรียน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการติวยังมีความสำคัญสำหรับเด็กที่เก่งๆ หรือมุ่งมั่นจะสอบเรียนต่อที่ดีๆ ที่เขาต้องแสวงหาครูๆ เก่งมาถ่ายทอดวิชาให้เขา  สถาบันติวหลายที่ก็ทำเพื่อแสวงหารายได้ย่อมทำทุกทางเพื่อหาลูกค้า   ทุกอย่างก็อยู่ที่ตัวเด็กและผู้ปกครองเองว่าวางเป้าหมายไว้อย่างไรและประเมินผลแล้วคุ้มค่าหรือไม่

ที่ผ่านมาเริ่มมี นร.กศน.และ โฮมสคูล สอบเข้ามหาวิทยาลัยดังๆ ได้เรื่อย ซึ่งเด็กพวกนี้ต้องเรียนเอง ค้นคว้าเอง รับผิดชอบตนเองเป็นส่วนใหญ่ น่าจะเป็นแบบอย่างช่วยลดกระแสการติวลงได้บ้าง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่