นี่การทรมานจิตอย่างนี้ ต้องบังคับจิตให้มันรู้จักให้ ให้มันรู้จักละ

เรากำจัดตัวโลภะหรือตัวเห็นแก่ตัวออก ทางพระท่านว่าการให้ทาน การให้คือทาน  
คนเราถ้าเห็นแก่ตัวแล้วไม่สบาย เห็นแก่ตัวแล้วไม่ค่อยสบาย แต่คนชอบจะเห็นแก่ตัวหลาย แต่ไม่รู้สึกเจ้าของ(ไม่รู้สึกตัว)


            จะรู้ได้ในเวลาไหน รู้ว่าในเวลาเราหิวอาหาร  ถ้าเราได้แอปเปิ้ลมาลูกหนึ่งขนาดนี้ เราจะแบ่งคนอื่นจะแบ่งให้เพื่อน คิดแล้วคิดอีก
อยากจะให้เพื่อนก็อยากจะให้ แต่ว่าอยากจะเอาลูกเล็ก ๆ ให้ จะเอาลูกใหญ่ให้ก็แหม เสียดายเหลือเกิน คิดอยากนักหนา
เอาไป เอาไป เอาลูกนี้ไป  เราก็ให้ลูกเล็ก ให้แอปเปิ้ลลูกน้อย ๆ ไป  แต่เอาลูกใหญ่ไว้ นี่ความเห็นแก่ตัวชนิดนี้อันหนึ่ง แต่คนไม่ค่อยจะเห็น
เคยมีไหม เคยเป็นไหม  การให้ทานนี่ทรมานจิตนะ มันอยากให้เขาลูกเล็ก ๆอุตสาห์บังคับเอาลูกใหญ่ให้เพื่อน พอให้แล้ว เออสบาย นะ


นี่การทรมานจิตอย่างนี้ ต้องบังคับจิตให้มันรู้จักให้ ให้มันรู้จักละ ไม่ให้มันเห็นแก่ตัว เมื่อเราให้คนอื่นเสียแล้ว มันก็สบายหรอก
ถ้าเรายังไม่ให้นี่จะให้ลูกไหนหนอ มันลำบากมากเหลือเกิน กล้าตัดสินว่าให้ลูกใหญ่นี่หนา เสียใจนิดหน่อยนะ
แต่พอตกลงใจให้เขาแล้วมันก็แล้วไป  นี่เรียกว่าทรมานจิตในทางที่ถูก มันเป็นอย่าง นี้ถ้าเราทำให้ได้อย่างนี้ เรียกว่า ชนะตัวเอง
ถ้าเราทำไม่ได้อย่างนี้ เรียกว่า แพ้ตัวเอง  เห็นแก่ตัวเรื่อยไปก่อนนี้เรามีความเห็นแก่ตัว อันนี้ก็เป็นกิเลสอันหนึ่งเหมือนกัน ต้องขจัดออก
ทางพระเรียกว่าการให้ทานการให้ความสุขแก่คนอื่น  อันนี้เป็นเหตุช่วยให้ชำระความสกปรกในใจของเราได้
และต้องให้เป็นคนจิตใจอย่างนี้ให้พิจารณาอย่างนั้น อันนี้ประการหนึ่งที่ควรทำไว้ในใจของเรา


            บางคนอาจจะเห็นว่า อย่างนี้ก็เบียดเบียนตัวเองนี้ไม่ใช่เบียดเบียนตัว แต่เป็นการเบียดเบียนกิเลสตัณหาต่างหากล่ะ
ถ้าในตัวมีกิเลสขึ้นมา ให้กิเกสมันหายไปกิเลสนี้เหมือนแมว ถ้าให้กินตามใจ มันก็ยิ่งมาเรื่อยๆ แต่มีวันหนึ่งมันข่วนนะ
ถ้าเราไม่ให้อาหารมันไม่ต้องให้อาหารมัน มันจะมาร้องแม้วๆ อยู่ เราไม่ให้อาหารมันสักวันหนึ่งสองวันเท่านั้น ก็ไม่เห็นมันมาแล้ว
เหมือนกันแหละ  กิเลสไม่มากวนเรา เราก็จะได้สงบใจต่อไป ทำให้กิเลสกลัวเรา อย่าทำให้เรากลัวกิเลส ให้กิเลสกลัวเรา
นี่พูดให้เห็นในธรรมในปัจจุบันในใจของเราอย่างนี้


------------------------
เนื้อหาบางส่วนจากพระธรรมเทศนาเรื่อง สมาธิภาวนา
หลวงปู่ชา  สุภัทโท
อ่านเนื้อหาเต็มได้ที่ http://www.baanjomyut.com/pratripidok/cha/25.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่