การสร้าง . . สนามแบดมินตัน

กระทู้สนทนา
มีข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างสนามแบต มาให้ลองอ่านกันดูเป็นแนวทาง . . น่าจะพอมีประโยชน์อยู่บ้าง ไม่มากก้อน้อย อมยิ้ม31

การสร้างสนามแบดมินตัน
โดย รศ.ดร.นภพร ทัศนัยนา ศูนย์กีฬามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์


ข้อมูลในการตัดสินใจ

1. เป้าหมายในการมีสนาม หรือ สร้างสนาม  ท่านต้องทำความเข้าใจกับตนเองว่ามีเป้าหมายในการมีสนามเพื่ออะไร
           1.1 เพื่อเป็นแหล่งออกกำลังกายในหมู่ญาติ / บริวาร ต้องพิจารณาจำนวนผู้ใช้มากน้อยเพียงใด ต้องการมาตรฐานระดับใด
           1.2 เพื่อบริการสาธารณะ เช่น ในโรงเรียน เทศบาล อบจ. ซึ่งมีงบประมาณสนับสนุน ให้บริการราคาถูกโดยมีงบสนับสนุนในการบำรุงรักษา
           1.3 เพื่อหารายได้ ต้องคำนึงถึงทำเล ที่ตั้ง ความสะดวกในการเข้าถึง กิจกรรมที่ตนเองอยากให้เกิดขึ้น วิเคราะห์ทุน รายได้ จุดคุ้มทุน

2. ระดับการใช้/บริการ   ต้องตัดสินใจว่าจะใช้เพียงการเล่นเพื่อออกกำลังกาย นันทนาการ หรือ รองรับการแข่งขันได้

3. ทุน  ซึ่งจะใช้ในการตัดสินใจถึง จำนวนสนาม มาตรฐานสนาม สิ่งอำนวยความสะดวก

4. ความรู้ในด้านการจัดการ  หลายคนอยากมีสนามเป้นของตนเอง แต่ไม่มีความรู้ในการบริหารจัดการ สนามก็อยู่ไม่นาน สมาชิกร่อยหรอ สนามเสื่อมโทรม และเลิกราไปในที่สุด   สิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลที่นำมาสู่การตัดสินใจ ออกแบบก่อสร้าง กำหนดแนวทางการจัดการ สนามให้ดำเนินไปด้วย
ดี   มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล


http://snook.siam2web.com/?cid=97748

การออกแบบก่อสร้าง

เจ้าของ และผู้เกี่ยวข้อง น่าจะยอมเสียเวลาไปดูสนามต่างๆ โดยอาจจะถามนักกีฬา หรือผู้เล่นแบดมินตันว่า ไปเห็นสนามที่ไหน ดี ไม่ดี บ้าง แล้วไปขอดู
ขอความรู้จากเจ้าของ หรือ ผู้เล่นในสนามนั้นๆ เพราะแต่ละสนามน่าจะมีข้อดี ข้อด้อยต่างๆ แล้วนำข้อมูลมาเสนอสถาปนิกที่ออกแบบ ผมขอเสนอข้อมูล
และความรู้พื้นฐานไว้ดังนี้

1. ช่องว่างระหว่างสนาม และพื้นที่หลังสนาม ปกติตามมาตรฐานช่องว่างระหว่างสนามควรอยู่ระหว่าง 1.50 - 2.00 เมตร หลังสนามควรมีที่ว่างไม่น้อยกว่า 3 เมตร แต่ถ้ากว้างกว่านี้จะสะดวกต่อการวางเก้าอี้ผู้ตัดสิน และเก้า หรืออัฒจันทร์คนดู


http://www.pbsport.co.th/Tips?news_id=5


http://multi-smart.com/forums/index.php?topic=464.0


http://multi-smart.com/forums/index.php?topic=464.0

2. ความสูงของสิ่งกีดขวางเหนือศีรษะ หรือ แนวตั้ง ถ้าเป็นไฟเพดาน จุดต่ำสุดของดวงไฟ ไม่น้อยกว่า 9 เมตร ถ้าเป็นไฟแผงข้างเพดาน หรือ คาน ต้องไม่ต่ำกว่า 9 เมตร

3. พื้นสนาม มีหลากหลาย แต่ละชนิดมีข้อดีข้อเสียต่างกัน
        
   3.1 พื้นปาเกต์ ราคาประมาณ 850 บาท/ตารางเมตรเพิ่มจากพื้นผิวเดิม สนามแบดมินตัน รวมพื้นที่ด้านข้างประมาณ 50 เซนติเมตร รวมพื้นที่ 91.74 ตารางเมตร เป็นเงิน 77,979 บาท ต่อสนาม แต่เวลาก่อสร้างควรปูเต็มพื้นที่ จึงต้องบวกพื้นที่ระหว่างสนามด้วย (ดูตัวอย่างสนามสวนผัก คอร์ตสมพงษ์ สนามทหารอากาศ) ข้อดี สวยงาม หาช่างง่าย คนไทยคุ้นเคย เวลาปรับปรุงง่ายเพียงแต่ขัดผิวหน้า ทายูรีเทน ก็ใช้ได้แล้ว ข้อเสีย ร่อน ชำรุดง่าย เป็นอาหารปลวก ในฤดูหนาวจะลื่น เพราะขาดความชื้น น้ำและความชื่นเป็นตัวกัดกร่อนทำลายพื้นไม้ ไม่ถนอมข้อเท้าเพราะไม่มีความยืดหยุ่น
           3.2 พื้นปูน ราคาน่าจะประมาณ 100-200 บาทเพิ่มจากพื้นผิวเดิม (ดูตัวอย่างอันดามัน ภูเก็ต) ข้อดี ราคาถูก ทำง่ายเพียงปัดผิวหน้าให้เรียบ แล้วทาสีให้สวยงาม ทนทานหลายปี ซ่อมแซมง่าย ข้อเสีย ลื่น อุบัติเหตุง่าย ไม่ถนอมข้อเท้า ไม่จูงใจคนเล่น
           3.3 พื้นอะคริลิค (acrylic) ซึ่งเป็นพื้นปูน หรือ แอสฟัลท์ ฉาบผิวด้วยวัสดุสังเคราะห์ เหมือนสนามเทนนิส ราคาน่าจะประมาณ 800 – 900 บาท/ตารางเมตร (ดูตัวอย่างที่สนามมหาวิทยาลัยสุระนารี นครราชสีมา) ข้อดี สนามฝืด โอกาสลื่นไม่มี สีสวย ใช้งานประมาณ 5 ปี ข้อเสีย หากล้มจะมีแผลถลอกรุนแรง โอกาสล้มง่ายเพราะนักแบดมินตันคุ้นเคยกับการลื่นไถลของพื้นได้เล็กน้อย กินพื้นรองเท้า หลุดร่อนเป็นหลุมได้ง่ายหากช่างฝีมือไม่ดี
           3.4 พื้นยางสังเคราะห์ เป็นพื้นยางสังเคราะห์ที่ได้รับการพัฒนาเป็นสนามต่างๆ มี 2 แบบ คือ
           3.4.1 พื้นสำเร็จชนิดเคลื่อนที่ เป็นยางแผ่นสำเร็จรูป 3 – 4 แผ่น ผู้ต่อเป็นสนามด้วยซิป หรือ เทปสันปก ราคาสนามละประมาณ 3.5 - 4.0 แสน ความคงทนประมาณ 3 ปี
           3.4.2 พื้นถาวร เป็นพื้นยางที่เป็นผืน หรือม้วน มาวางบนพื้นปูนเดิม ยึดด้วยกาวพิเศษ เคลือบผิวหน้าด้วยยูริเทน

ก. สนามไทย ราคาประมาณ 700-900 บาท/ตารางเมตร มีหลายบริษัทของไทย พยายามพัฒนาขึ้นมา ลักษณะเป็นแผ่นยางคล้ายดูราฟลอร์ หนา 4 มิลลิเมตร ทากาวแบบที่ใช้ปะยางให้ติดกับพื้น แล้วเกาะยึดด้วยใยตาข่าย ก่อนทาด้วยยูรีเทนและสี ดูตัวอย่างที่ สนามบ้านทองหยอดซีกซ้าย สนามเทศบาลทุ่งสง สนามแบดมินตัน เอส 29 (ทุ่งมังกร) สนามอันดามันภูเก็ต ข้อดี ราคาถูก ส่งเสริมสินค้าไทย จูงใจให้เล่นกว่าพื้นปูนหรือปาเกต์ ข้อเสีย การไม่ยึดเกาะพื้น กรณีคุณภาพของกาวประสาน และฝีมือช่าง มักโป่งพองหลังการติดตั้งประมาณ 2 ปี เป็นรอยขีดข่วนจากพื้นรองเท้าได้ง่าย ไม่ทนทาน (ประมาณ 3 ปี) มักจะร่อน ชำรุด

ข. สนามต่างประเทศ เท่าที่รู้มีบริษัทที่ใช้วัสดุของประเทศจีน คือ ทีเอ็นจี บริษัทที่ใช้วัสดุของเยอรมัน คือ เล็มเมนต์ วีธีการจะใช้ม้วนยางสังเคราะห์ที่ทำจากยางพารา หน้า 4 – 6 มิลลิเมตร ติดตรึงกับผิวพื้นด้วยกาวพิเศษ เทผิวหน้าด้วยยูริเทน แล้วฉาบผิวอีกครั้งด้วยสีผสม ราคาประมาณ 2400 - 2800 บาท/ตารางเมตร (ดูตัวอย่างสนามภัครภัทร สนามมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สนามบ้านทองหยอดซีกขวา สนามมหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา ข้อดี ยืดหยุ่นสูง นุ่มเท้า ทนทาน (ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ใช้มาแล้ว 9 ปี คุณภาพยังคงเดิม แต่ผิวหน้าเลือนไปบ้าง) ได้มาตรฐานสากล จูงใจคนเล่น ป้องกันรอยขีดข่วนได้ดี โดยเฉพาะรอยขีดข่วนจากพื้นรองเท้า วางเก้าอี้ได้ บำรุงรักษาง่าย เพียงแต่ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ด หากสกปรกมากก็ใช้สบู่ หรือ น้ำยาล้างจาน ทำความสะอาด (ห้ามใช้เครื่องขัดเด็ดขาดเพราะทำลายผิวหน้า) ข้อเสีย ราคาแพง ไม่ส่งเสริมคนไทย ค่าฉาบผิวหน้าใหม่เมื่อหมดอายุค่อนค้างแพง (ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 4 สนาม บริษัทเสนอราคามา ประมาณ 5 แสนบาท)

ความเห็นส่วนตัว สนับสนุนสนามต่างประเทศ เพราะทนทาน ได้มาตรฐาน จูงใจคนใช้ ปลอดภัยต่อผู้เล่น สามารถใช้สำหรับกิจกรรมอื่นได้ดี เช่น จัดเกมต่างให้เด็กเล็ก ใช้จัดโยคะโดยไม่ต้องใช้เบาะเสริม เป็นต้น สนามไทยหลายแห่งชำรุดไปในเวลาอันสั้น เช่น สนามของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี
สุรนารี (รื้อทิ้งแล้ว) สนามเทศบาลทุ่งสงมีอาการพอง ร่น

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพื้นสนาม  จาก http://www.pbsport.co.th/Tips?news_id=54




4. ไฟฟ้าส่องสว่าง สนามมาตรฐานต้องมีแสงสว่างจากดวงไฟ โดยไม่มีแสงจากภายนอก ซึ่งควบคุมทิศทางและความสว่างไม่ได้ ความเข้มต้อง 300 ลักษ์ (lux) เป็นอย่างน้อย โดยวัดที่พื้นระดับ เหนือตาข่ายขึ้นไปทุกจุด ต้องไม่แยงตา หรือจ้าเกินไปจนเป็นอุปสรรคต่อการตีลูก นิยมใช้ 2 ชนิด

4.1 ไฟแผงข้างสนาม เป็นไฟที่ทำจากหลอดฟลูโอเรสเซนต์ แผงละ 5- 8 หลอด 2 แผงประกบกันเป็นมุมป้าน ห้อยลงมาจากเพดาน มาที่ระดับ 1.50 -2.00 เมตร (ระหว่างสนาม) เหนือเสาตาข่าย ปัจจุบันทำง่ายขึ้นโดยใช้บัลลาตอีเล็คโทรนิค ข้อดี ราคาถูก ปิดเปิดได้ทันใจ คนไทยนิยมเล่นเพราะไม่แยงตา บำรุงรักษาง่าย ประหยัดค่าไฟฟ้า ข้อเสีย แผงห้อยทำลายความสวยงาม ไม่นิยมใช้แข่งขันระดับสากล

4.2 ไฟห้อยเพดาน เป็นดวงไฟห้อยสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 9 เมตร เหนือเส้นข้าง ข้างละ 3 – 4 ดวง อาจเป็นชนิด ไฮเบย์ หรือ หลอดแสงจันทร์ ข้อดี เป็นที่นิยมในปัจจุบัน เพราะได้มาตรฐานสากล ทนนาน ให้แสงสว่างดี ข้อเสีย ลงทุนสูง แต่ละหลอดมีราคาแพง ประมาณ 3000-5000 บาท ข้อเสีย เปลี่ยนหลอดลำบาก (ต้องมีนั่งร้าน) เปิดติดไม่ทันใจเพราะต้องอุ่นไส้หลอด ไฟฟ้ากระตุก จะดับ ต้องใช้เวลา 3-5 นาทีจึงติด ไฟแยงตากรณีคนที่ไม่ค้นเคย (ดูสนามบ้านทองหยอด มหิดลศาลายา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (ไม่สนับสนุนเพราะราคาแพงมาก แยงตา)

5. สีผนัง ต้องเป็นสีค่อนมาทางเข้ม เช่น เทา เขียวมะกอก ดำ น้ำเงิน เป็นต้น เพื่อให้ตัดกับลูกขนไก่สีขาว ความเข้มของสีจะเป็นผลต่อการส่องสว่างและความรู้สึกเย็นตา ที่ใช้ดังเดิม คือ สีเขียวมะกอก (ดูที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหิดลศาลายา ภัครภัทร บ้านทองหยอด คอร์ตสมพงษ์)) สีเทาหรือเขียวอ่อน (ดูที่ เอส 29 ทุ่งมังกร ทุ่งสง เทศบาลหาดใหญ่)

6. ช่องแสงธรรมชาติและช่องลม ไม่ควรมีโดยเด็ดขาด หากจะมีจะต้องไม่เป็นช่องแสงที่ส่งโดยตรง โดยทำเป็นหลืบซ่อนไว้ (ดูสนามทหารอากาศ) การให้แสงและลมส่องตรงเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการเล่น ทำให้แยงตา ลูกเปลี่ยนทิศทาง (ดูสนามมหิดลศาลายา) หากต้องการให้มีการระบายลม ควรใช้บล็อกโปร่งประมาณ 2 ก้อน วางระดับ 20 เซนติเมตร ที่ผนัง และควรมีผ้าบังลมกรณีมีลมกระโชก หรือตั้งเก้าอี้คนนั่งเพื่อบังลม หากจะติดลูกหมุน ควรพิจาณาความสูงของหลังคา ถ้าตำกว่า 15 เมตรไม่ควรติดเพราะยังไม่พ้นวิถีลูกโด่ง บริเวณประตูทางเข้าออกควรติดม่านบังแสง และบังลม ไว้ด้วย

7. เสาตาข่าย ตามกติกาต้องตั้งอยู่บนเส้นข้าง เสาควรมีขนาด 40 มิลลิเมตรเท่ากับเส้นข้าง มี 2 ชนิด
           7.1 ชนิดติดตึงกับพื้น ซึ่งคงทน ราคาถูก มั่นคง แต่ยุ่งยากเวลาต้องการใช้พื้นที่
           7.2 ชนิดเคลื่อนที่ โดยมีเสาตั้งแล้วทับด้วยน้ำหนัก ซึ่งราคาแพง ไม่ค่อยมั่นคง แต่ปรับเปลี่ยนได้ง่าย
ความเห็นส่วนตัว ใช้เสาชนิดใดก็ได้ โดยพิจารณา เป้าหมายของการใช้พื้นที่ ที่สำคัญคือความปลอดภัย ความมั่นคง ไม่ควรใช้ชนิดมีลวดยึดโยงระหว่างเสาของสนามข้างเคียง เพราะพบว่าหลายคนได้รับบาดเจ็บ จากการก้มไม่พ้น อาจถึงตาบอดได้

8. อุปกรณ์เสริม ภายในสนามแต่ละสนาม ควรจัดสิ่งอำนวยความสะดวกดังนี้
           8.1 ม้านั่ง เก้าอี้
           8.2 โต๊ะวางกระเป๋า น้ำดื่ม
           8.3 ราวแขวนไม้แบดมินตัน
           8.4 พัดลมโคจรแต่ละสนาม
           8.5 บอร์ดสำหรับเขียน คิว หรือ ปิดประกาศแต่ละสนาม

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่