[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
ในประดาข้อถกเถียงเรื่องการเลือกตั้งว่านำมาซึ่งผู้เผด็จการในประวัติศาสตร์นั้น เป็นข้อถกเถียงที่มักจะละเลยความเป็นจริงในทางประวัติศาสตร์ คนจำนวนไม่น้อยไม่ได้ศึกษาในรายละเอียด จึงมักกล่าวในทำนองที่ว่า ฮิตเลอร์มาจากการเลือกตั้ง และไม่มีคำอธิบายว่าเหตุใดเบนิโต มุสโสลินีจึงกลายเป็นผู้เผด็จการของอิตาลีได้
บทความนี้ต้องการอธิบายวิถีการเข้าสู่อำนาจของผู้เผด็จการทั้งสอง เพื่อเป็นอนุสติแก่หลายๆ คนที่เรียกร้องอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยเชื่อว่าจะนำพาบ้านเมืองพ้นวิกฤตได้นั้น อาจต้องคิดทบทวนกันอีกสักครั้งว่า การเป็นนักปฏิรูปที่ใจเร็วด่วนได้ มักหันเข้าไปสยบยอมกับเผด็จการ และหวังว่าอำนาจเบ็ดเสร็จนั้นจะช่วยคุ้มภัยให้สามารถคงสถานะแบบเดิมๆ ได้ มีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์รองรับอย่างใดบ้าง
เบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini) วางแผนขึ้นสู่อำนาจโดยอาศัยกองอาสาพลเรือนที่เรียกว่าพวกเชิ้ตดำ (Blackshirts ภาษาอิตาเลียนใช้คำว่า Squadritisti หรือชื่อเต็มคือ กองอาสาเพื่อปกป้องความมั่นคงแห่งชาติ, VMNS: Voluntary Militia for National Security) ยึดที่ทำการไปรษณีย์ (ทำนองเดียวกับการยึด กสท. และสถานีวิทยุโทรทัศน์สมัยนั้น) และสามารถควบคุมพื้นที่ทางตอนเหนือของอิตาลีแล้วยึดรถไฟลำเลียงกำลังมุ่งมายังมิลานและตรงเข้าสู่กรุงโรมเพื่อยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ
ยุทธการนี้มีชื่อว่า "การยาตราสู่กรุงโรม" (รู้จักกันในชื่อ March on Rome)
การยาตราสู่กรุงโรมเกิดขึ้นระหว่าง 22-29 ตุลาคม พ.ศ.2465 (ค.ศ.1922) ก่อนหน้านั้น มุสโสลินีเคยลงเลือกตั้ง แต่พรรคของเขาพ่ายแพ้การเลือกตั้งปี พ.ศ.2462 (ค.ศ.1919) อย่างหลุดลุ่ย จนการเลือกตั้งปี พ.ศ.2464 (ค.ศ.1921) จึงได้รับโอกาสให้เข้าทำงานในสภา
ในเวลานั้น พวกเชิ้ตดำที่ก่อตั้งมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้นเริ่มอยู่ภายใต้การชี้นำของเขาแล้ว เพราะมีการสั่งการให้กองกำลังเชิ้ตดำสังหาร Giordana ผู้นำฝ่ายขวาและสมาชิกสภาเมืองโบโลญญาแล้ว พวกเชิ้ตดำถูกใช้เป็นเครื่องจักรสังหารฝ่ายสังคมนิยมอีกด้วย
การยาตรายึดกรุงโรม มีจตุรเทพนำขบวน คือ นายพล Emilio De Bono, Italo Balbo, Machael Bianchi, และ Cesare Maria de Vecchi ส่วนมุสโสลินีหนุนหลังในฐานะท่านดยุค (the Duce หรือ the Duke นั่นเอง) และคอยโอกาส หากแพ้ก็จะหลบหนีไปสวิตเซอร์แลนด์
มีคนชั้นนำที่มีชื่อเสียงหลายคน ทั้งภาคธุรกิจ กระทั่งกองทัพต่างสนับสนุนการยาตรายึดกรุงโรม เพราะเชื่อว่าสามารถ "คุม" มุสโสลินีได้
ในวันที่ 22 ตุลาคม มุสโสลินีกล่าวต่อหน้าผู้มาประชุมร่วมกับพรรคฟาสซิสต์ประมาณหกหมื่นคนว่า "เป้าหมายของพวกเรานั้นง่ายมาก เราต้องการปกครองอิตาลี" ขณะที่พวกเชิ้ตดำเริ่มยึดกุมพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญๆ
ขณะที่การชุมนุมของฝ่ายเชิ้ตดำเริ่มกล้าแข็งมากขึ้น อดีตนายกรัฐมนตรีอันโตนิโอ ซาแลนดรา (Antonio Salandra) เตือนนายกรัฐมนตรีลุยจิ แฟคต้า (Luigi Facta) ว่าไม่ควรยอมลาออกตามที่มุสโสลินียื่นคำขาด แต่แฟคต้าไม่เชื่อ เพราะเห็นว่ามุสโสลินีจะอยู่ฝ่ายตนอย่างลับๆ
เมื่อแฟคต้าลาออก แต่ยังรักษาการอยู่ เขาได้สั่งให้ประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยใช้กำลังตำรวจ 400 นายสกัดขบวนรถไฟของพวกเชิ้ตดำที่มีกว่าสองหมื่นคนตามเมืองต่างๆ โดยพวกเชิ้ตดำฝ่าแนวกั้นของตำรวจได้กว่า 9,000 คน เดินเท้าเข้าสู่กรุงโรมในวันที่ 28 ตุลาคม
แม้ในสภาพของเหล่าเชิ้ตดำที่อยู่ในเปียกชุ่มด้วยฝน เครื่องแบบโทรมๆ เพราะไม่ได้เปลี่ยนหลายวัน ไม่มีอาวุธ อาหารและน้ำ แต่รักษาการนายกรัฐมนตรีแฟคต้าก็ไม่สามารถทำอะไรกับพวกเชิ้ตดำได้ เพราะกษัตริย์วิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่สาม (Victor Emmanuel III, 1900-1946) ทรงปฏิเสธที่จะลงพระปรมาภิไธยในการประกาศกฎอัยการศึกเพื่อใช้อำนาจในทางทหารการปราบพลพรรคเชิ้ตดำ แต่กลับหันไปสนับสนุนมุสโสลินี ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นทางแฟคต้าเองก็ขอตั้งรัฐบาลผสม โดยยื่นข้อเสนอให้มุสโสลินีมาร่วมรัฐบาล
และในที่สุดแฟคต้าก็เสนอให้ตั้งรัฐบาลผสมโดยไม่มีมุสโสลินี แต่กษัตริย์วิคเตอร์ทรงหันมาสนับสนุนมุสโสลินี เพราะมุสโสลินีเองยื่นคำขาดต่อกษัตริย์ว่าหากจะให้ยอมแพ้ก็ต้องใช้กำลังทหารปราบปรามพวกเชิ้ตดำนับหมื่นในกรุงโรมให้ราบคาบซึ่งจะทรงถูกนานาชาติประณามแน่ๆ
ในอีกด้านหนึ่ง มีข้อสันนิษฐานว่า หากสั่งให้ใช้กำลังกับพวกเชิ้ตดำ กองทัพอาจหันไปร่วมมือกับพวกเชิ้ตดำ และดยุคแห่งออสต้า (the duke of Aosta) อาจร่วมมือกับพวกเชิ้ตดำของพระองค์ได้
ว่ากันว่า การยาตราสู่กรุงโรมเป็นการเกทับลักไก่ หรือ "บลั๊ฟ" กัน ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นการเดิมพันอำนาจและลักไก่ที่มุสโสลินีได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะเหล่าอนุรักษนิยมไม่ยอมเสี่ยงใช้กำลังกับพวกเชิ้ตดำ และแลกมาด้วยยุคมืดและความพังพินาศของอิตาลี
ในวันที่ 31 ตุลาคม เมื่อมุสโสลินียึดอำนาจสำเร็จ เขาแจกจ่ายเครื่องแบบใหม่และให้สวนสนามรอบกรุงโรม จากนั้นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็ส่งพวกเชิ้ตดำออกจากจากกรุงโรมทันทีด้วยรถไฟขบวนพิเศษกว่า 50 ขบวน
ในความเป็นจริง การยาตราสู่กรุงโรมไม่ใช่การเอาชนะด้วยกองกำลังเชิ้ตดำ แต่เป็นการบังคับเร่งรัดให้ดำเนินการโอนถ่ายอำนาจตามรัฐธรรมนูญ การโอนถ่ายอำนาจแบบนี้เกิดขึ้นโดยการสมคบคิดของเจ้าหน้าที่รัฐ และภาคธุรกิจเชื่อว่าจะสามารถควบคุมมุสโสลินีได้ เพราะเชื่อว่ามุสโสลินีจะสนับสนุนการค้าเสรีและกลไกตลาดอย่างที่เขาปราศัยในช่วงแรกๆ
ที่น่าสนใจไม่น้อยก็คือ เรื่องเล่าที่พวกฟาสซิสต์สร้างขึ้นในชั้นหลังก็คือการเดินเข้าสู่กรุงโรมเป็นการเสียสละขั้นสูงสุด เป็นการกระทำตามเจตจำนงและพลังของเหล่าเชิ้ตดำ
วันที่ 28 ตุลาคม กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นศักราชของพวกฟาสซิสต์และเป็นวันหยุดแห่งชาติในปี 2470 (ค.ศ.1927)
การยาตราสู่กรุงโรมเป็นแรงบันดาลใจให้ฮิตเลอร์ก่อกบฏโรงเบียร์ (Beer Hall Putsch) ระหว่างวันที่ 8-9 พฤศจิกายน พ.ศ.2466 (ค.ศ.1923) ฮิตเลอร์พยายามก่อรัฐประหารที่โรงเบียร์แต่ล้มเหลว ถูกจำคุกข้อหากบฏโรงเบียร์เพียงแปดเดือน ก็ถูกปล่อยเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2467 (ค.ศ.1924) ทั้งๆ ที่ถูกตัดสินโทษจำคุก 5 ปี
กบฏโรงเบียร์เป็นการนำคนราวสองพันคนเดินไปยึดโรงเบียร์หรือร้านเบียร์ที่มักเป็นแหล่งปราศรัยทางการเมืองขณะนั้น ฮิตเลอร์นำเกอริ่งและพรรคพวกเข้าคุมโรงเบียร์แล้วยิงปืนขึ้นเพดาน กระโดดขึ้นบนเก้าอี้และประกาศว่านี่คือการปฏิวัติประชาชาติ ห้ามใครออกไปไหนโดยเด็ดขาด แต่เพียงไม่นาน ความพยายามของฮิตเลอร์ก็ล้มเหลว
เมื่อพ้นโทษ ฮิตเลอร์ได้ไต่เต้าทางการเมืองจากการเลือกตั้งมาจนถึงช่วงวิกฤตการณ์ของสาธารณรัฐไวมาร์ ในท่ามกลางความหวาดเกรงว่าเยอรมนีจะตกเป็นประเทศที่ปกครองตามแบบคอมมิวนิสต์ตามแบบพรรคบอลเชวิคในเยอรมนี
คืนหนึ่งมีการเผารัฐสภาแล้วใส่ร้ายว่าเป็นฝีมือของพวกคอมมิวนิสต์ จึงได้มีกฎหมาย Reichstag Fire Decree หรือ Reichstagsbrandverordnung (ชื่อเต็มคือ Decree of the Reich President for the Protection of People and State หรือพระราชบัญญัติคุ้มครองประชาชนและรัฐ) โดยความยินยอมของประธานาธิบดีฮินเดลแบร์กผู้อัญเชิญฮิตเลอร์มาเป็น "คนกลาง" เพื่อนำการบริหารรัฐบาลผสม เมื่อ 30 มกราคม พ.ศ.2476
กฎหมายฉบับนี้ผ่านออกมาได้ เพราะมีการวางเพลิงเผารัฐสภา เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2476 (ค.ศ.1933) ก่อนการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรเพียง 6 วัน โดยถูกขยายผลว่าเป็นการเตรียมการ "เผาบ้านเผาเมือง" ของพวกคอมมิวนิสต์ และ "ก่อการร้าย" ต่อทรัพย์สินเอกชนและทำให้เกิดการคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สินและความสงบของสาธารณชน
กฎหมายฉบับนี้ถูกปรับแก้โดยรัฐมนตรีมหาดไทยปรัสเซีย คือเกอริ่ง และประธานาธิบดีฮินเดลแบร์กลงนามในวันรุ่งขึ้นหลังเพลิงเผาอาคารรัฐสภา กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจประธานาธิบดีตามรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐไวมาร์ภายใต้มาตรา 48 สามารถดำเนินการตามความเหมาะสมในอันที่จะยับยั้งกิจการใดที่คุกคามต่อความสงบสุขของสังคมโดยไม่ต้องผ่านรัฐสภา
กฎหมายฉบับไฟไหม้รัฐสภามีเพียง 6 มาตรา มาตราที่ 1 มีผลในการจำกัดเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐไวมาร์ รวมถึงเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร เสรีภาพในการชุมนุมทางการเมือง ความเป็นส่วนตัวในการโทรศัพท์และไปรษณีย์และอื่นๆ
ส่วนมาตรา 2, 3 ให้อำนาจรัฐบาลของรัฐบาลไรซ์ทำการแทนรัฐบาลของสหพันธรัฐไวมาร์ มาตรา 4 สามารถลงโทษคนที่ขัดขวางจนถึงประหารคนที่วางเพลิงสถานที่ราชการ มาตรา 6 ระบุว่า มีผลบังคับใช้ทันที
กฎหมายฉบับนี้มีผลในทางการทอนสิทธิทางสังคมของพลเมืองในหลายประการ เช่น การจำคุกคนที่มีความเห็นในทางการคัดค้านพรรคนาซี การควบคุมยึดสิ่งพิมพ์ที่ "ไม่เป็นมิตร" กับพรรคนาซีและมีผลบังคับใช้ตลอดยุคนาซี
นั่นหมายความว่าอำนาจสูงสุดของฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
แต่มาจากการสร้างความหวาดกลัว ความเกลียดชังให้ฝ่ายตรงข้าม จนประชาชนส่วนหนึ่งหวาดกลัว และสร้างสถานการณ์เพื่อ "มอบอำนาจสูงสุดและเด็ดขาด" ให้กับฮิตเลอร์
ดังนั้น ผู้เขียนอยากจะขอร้องให้เลิกพูดเสียทีว่า ฮิตเลอร์มาจากการเลือกตั้ง
บทเรียนสำคัญจากการขึ้นเถลิงอำนาจของมุสโสลินีและฮิตเลอร์ก็คือ การสร้างคู่ตรงข้ามทางการเมืองและสร้างความหวาดกลัวกับฝ่ายตรงข้าม ในสมัยนั้นก็คือภัยคอมมิวนิสต์เพื่อให้ฝ่ายอนุรักษนิยมที่มีบทบาทสำคัญหันมาสนับสนุนฝ่ายเผด็จการ โดยหวังว่าอำนาจเบ็ดเสร็จจะช่วยกำกับความผันผวนเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ดีกว่าการเมืองแบบประชาธิปไตยที่ถูกทำให้เห็นว่ามีแต่ความปั่นป่วน ไร้เสถียรภาพ แย่งอำนาจกันในหมู่นักการเมือง
ทั้งฮิตเลอร์และมุสโสลินีแสดงตัวเป็น "คนกลาง" ในยามวิกฤตที่พวกเขาสร้างขึ้น
แต่ท้ายที่สุด การฝากความหวังไว้กับเผด็จการเบ็ดเสร็จ กลับไม่ได้ช่วยกำกับให้สังคมสงบสุขแต่อย่างใด หากนำพาชาติทั้งสองไปสู่ยุคสมัยที่มืดมนอนธการที่สุดสมัยหนึ่งของมนุษยชาติ
ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
(ที่มา: มติชนรายวัน 21 เมษายน 2557)
ข้อมูลจาก
https://www.facebook.com/Assemblyforthedefenseofdemocracy/posts/718262081551861:0
สุเทพ นำมุสโสลินี มาเป็นโมเดลใช่หรือไม่ครับ
การปฎิบัติการเหมือนกันเปียบเลยอะ แต่สงสัยจะใช้ผิดยุคสมัยไปหน่อย นี่มันปี 2014 แล้วนะครับ
ใครมันจะไปยอมรับหลักการ คร่ำครึเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว มาปกครองบ้านเมือง
ยิ่งมีตัวอย่างมาแล้ว ว่า มุสโสลินี จบลงอย่างไรแล้ว ยิ่งแล้วใหญ่
อะหรือ กปปส หวังให้ประเทศไทยเป็นแบบที่ มุสโสลินี ต้องการ
เลิกพูดเสียที ว่าฮิตเลอมาจากการเลือกตั้ง
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
(ที่มา: มติชนรายวัน 21 เมษายน 2557)
ข้อมูลจาก https://www.facebook.com/Assemblyforthedefenseofdemocracy/posts/718262081551861:0
สุเทพ นำมุสโสลินี มาเป็นโมเดลใช่หรือไม่ครับ
การปฎิบัติการเหมือนกันเปียบเลยอะ แต่สงสัยจะใช้ผิดยุคสมัยไปหน่อย นี่มันปี 2014 แล้วนะครับ
ใครมันจะไปยอมรับหลักการ คร่ำครึเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว มาปกครองบ้านเมือง
ยิ่งมีตัวอย่างมาแล้ว ว่า มุสโสลินี จบลงอย่างไรแล้ว ยิ่งแล้วใหญ่
อะหรือ กปปส หวังให้ประเทศไทยเป็นแบบที่ มุสโสลินี ต้องการ