๐๐๐๐๐ อย่าอ้าง 'จำนำข้าว'เป็นสัญญาประชาคม ๐๐๐๐๐

สัญญาประชาคม (Social contract) เป็นทฤษฎีทางการเมือง ที่ได้รับการพูดถึงอย่างแพร่หลาย
โดยปรากฏในงานเขียนของนักคิดคนสำคัญของโลก อย่างโทมัส ฮอบส์ จอห์น ล็อก
และฌ็อง-ฌัก รูโซ และถือเป็นพื้นฐานในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในตะวันตก
ซึ่งมีหลักการว่าอำนาจแท้จริงของผู้ปกครองนั้นมาจากอำนาจของประชาชน
ที่ได้ยอมสละสิทธิบางประการเพื่อแลกกับการรักษาผลประโยชน์ ความปลอดภัย สิทธิและเสรีภาพของตน

ทุกวันนี้สัญญาประชาคมยังถูกกล่าวถึงในระหว่างการเลือกตั้ง
เมื่อพรรคการเมืองต่างๆหยิบยกสารพัดนโยบาย มาใช้หาเสียงแข่งขันกันอย่างดุเดือด
ก็จะมีคำเตือนออกมาว่าสิ่งที่หาเสียงนั้น อาจเป็นสัญญาประชาคม
ที่นักการเมืองควรจะทำตามสัญญา


อย่างไรก็ตามเราควรแยกนโยบายที่ใช้หาเสียงออกจากสัญญาประชาคม
โดยเฉพาะหากพรรคการเมืองยังไม่สามารถก้าวข้ามการแข่งขันกัน
ด้วยนโยบายประชานิยมที่เข้มข้น



เพราะหากเราปล่อยให้รัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งดำเนินทุกนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้
โดยอ้างว่าเป็นสัญญาประชาคม โดยขาดการรักษาวินัยทางการเงินการคลัง
เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศอาจจะถูกสั่นคลอนจนเข้าขั้นวิกฤตได้ในที่สุด



คำชี้แจงของ รมช.พาณิชย์จนถึงรองนายกรัฐมนตรี ต่อคณะกรรมการป้องกัน
และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า

โครงการรับจำนำข้าวเป็นสัญญาประชาคมรัฐบาล จึงไม่สามารถยกเลิกโครงการได้
จึงเป็นคำอธิบายที่ตื้นเขินเกินไป และเป็นเพียงการอ้าง “วาทกรรมการเมือง”
เพราะคำอธิบายนั้นไม่ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับการทุจริตในโครงการนี้
โดยเฉพาะในขั้นตอนการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)ได้แต่อย่างไร


ที่สำคัญโครงการรับจำนำข้าวจะเป็นสัญญาประชาคมได้อย่างไร
ในเมื่อโครงการนี้ผิดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ 2550 ในข้อ 17
ที่ระบุว่ารัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรี โดยอาศัยหลักกลไกตลาดดูแล
ให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและป้องกันการผูกขาด


แต่โครงการรับจำนำข้าวรัฐบาลได้สร้างบทบาทในการผูกขาดการค้าข้าวโดยรัฐขึ้นเอง


นอกจากนั้นถ้อยแถลงต่อรัฐสภาที่รัฐบาลประกาศจะยกระดับรายได้เกษตรกร
ก็ประสบความสำเร็จแค่ระยะสั้น

ทุกวันนี้ราคาข้าวตกต่ำลงเหลือตันละ 6,000 - 7,000 บาทเท่านั้น
ขณะที่รัฐบาลยังแบกข้าวในสต็อกไว้กว่า 16 -17 ล้านตัน
ขณะที่ราคาข้าวในการระบายก็ต่ำกว่าราคาในตลาดโลก


เป็นการตอกย้ำว่าโครงการรับจำนำข้าวไม่สามารถชี้นำราคาตลาดโลกได้
เหมือนที่รัฐบาลโฆษณาชวนเชื่อไว้


หนี้สินที่รัฐบาลยังค้างจ่ายให้กับชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวกว่า 90,000 ล้านบาท
ยังไม่ได้ชำระ ส่งผลให้หนี้สินชาวนาเพิ่มมากขึ้น
ฉุดกำลังซื้อในชนบทซึ่งเป็นฐานรากที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย
จนเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่และอาจทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นเวลานาน


การอ้างว่าโครงการรับจำนำข้าวเป็นสัญญาประชาคม
จึงไม่อาจช่วยแก้ต่างให้กับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ที่กำลังถูก ป.ป.ช.ไต่สวนความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
ไม่ใช้ยับยั้งการทุจริตที่เกิดขึ้นในโครงการรับจำนำข้าวได้แต่อย่างใด
เพราะสิ่งที่สังคมกำลังต้องการคือความรับผิดชอบทางการเมือง
ซึ่งสำคัญกว่าวาทกรรมทางการเมือง


…………………………………………………………..
เครดิต : นครินทร์ ศรีเลิศ คอลัมน์จับกระแส
Bangkokbiznews 21/04/2557
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่