ภาพเก่าเมืองปักกิ่ง


      
นับแต่ปี 1860 เรื่อยมา  เมืองปักกิ่งมีศึกสงครามเกิดขึ้นมากมาย  แต่เมืองเก่าแก่แห่งนี้ก็รอดพ้นจากการถูกทำลายมาได้  
31 ม.ค. 1949   กองทัพปลดปล่อยประชาชนเข้าเมืองเป่ยผิง    เดือนกันยายนเปลี่ยนชื่อจากเป่ยผิงเป็นเป่ยจิง   เดือนตุลาคมให้ปักกิ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศจีนใหม่   ผู้เชี่ยวชาญต่างๆรวมถึงเหลียงซื้อเฉิง สถาปนิกสำคัญยุคนั้นได้มีการถกกันถึงเรื่องเขตที่ตั้งของที่ทำการรัฐบาล  ปัญหาเรื่องกำแพงเมืองจะคงไว้หรือรื้อทิ้ง ฯลฯ  ... สุดท้ายเมืองเก่าแห่งนี้ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา  


    
    
แผนที่เมืองปักกิ่งสมัยราชวงศ์หมิง

    
ปักกิ่งเริ่มพัฒนารุ่งเรืองขึ้นจากการเป็นเมืองต้าตู เมืองหลวงในสมัยราชวงศ์หยวน  มีบันทึกกล่าวไว้ว่า เมืองยาว 9 ลี้  แต่ละด้านมี 3 ประตูเมือง  ถนนเป็นแนวตั้ง 9 สาย แนวนอน  9 สาย  ความกว้างถนนเท่ากับรถม้า 9 คัน  ด้านซ้ายของวังเป็นศาลเจ้าบรรพชน  ด้านขวาเป็นหอบวงสรวงพระภูมิเจ้าที่ พระแม่โพสพ   หน้าวังหลังตลาด (*ด้านหน้าของวังตั้งอยู่ทางทิศใต้)

    
ปี 1421 จักรพรรดิจูตี้ (หย่งเล่อ) จักรพรรดิหมิงองค์ที่ 3  ได้ย้ายเมืองหลวงจากหนานจิงขึ้นมาที่ปักกิ่ง  จากนั้นรูปแบบของเมืองปักกิ่งก็ค่อยๆกลายเป็นเขตพระราชวัง (FORBIDDEN CITY)  เขตเมืองจักรพรรดิ (IMPERIAL CITY)  เขตเมืองชั้นใน (INNER CITY)  และเขตเมืองชั้นนอก (OUTER CITY)     มีกำแพงเมือง 4 ชั้นล้อมรอบ  


    
    เมืองปักกิ่ง  แต่ละด้านมี 3 ประตูเมือง  มีถนนแนวตั้ง แนวนอนอย่างละ  9 สาย  ทั้งหมด 18 สาย


    
    สีเขียว – เมืองชั้นนอก   สีส้มอ่อน – เมืองชั้นใน   สีส้มเข้มด้านนอก – เมืองจักรพรรดิ   ด้านใน – พระราชวังต้องห้าม

    
    
ซื่อเหอย่วนริมกำแพงเมืองปักกิ่งสมัยปลายราชวงศ์ชิง  ถ่ายโดยช่างภาพญี่ปุ่น  S. Yamamoto

    
เมืองต้าตู  ในสมัยนั้นถือว่าเป็นเมืองขนาดใหญ่  มีชุมชนที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่   หูท่ง (ตรอกซอย) และซื่อเหอย่วน (บ้านโบราณ)  
ถือเป็นสิ่งก่อสร้างพื้นฐานสำคัญของเมืองต้าตู   ซื่อเหอย่วนจะตั้งอยู่ตาม 2 ข้างของหูท่งหรือถนนสายเล็กๆ  


    
    
เมืองปักกิ่ง สมัยจักรพรรดิกว๊างซวี่ ปีที่ 25  ค.ศ.1899   ถ่ายโดยช่างภาพญี่ปุ่น  S. Yamamoto

    
รูปแบบเมืองปักกิ่งในสมัยชิงโดยทั่วไปยังคงเป็นไปตามสมัยหมิง   แต่ภายในเขตเมืองจักรพรรดิมีการเปลี่ยนแปลง   ที่ทำการต่างๆกลายเป็นที่พักอาศัย   และในเขตเมืองชั้นในก็ทำเป็นเขตเมืองของชาวแมนจู  เป็นเขตที่อยู่อาศัยของเหล่ากองทัพ 8 ธงของแมนจู   สถานที่ที่เป็นศาลาว่าการ  คฤหาสน์ของขุนนาง ชนชั้นสูง   คลังสินค้า กลายเป็นที่พักอาศัยของชาวแมนจู   และให้ชาวฮั่นย้ายไปอยู่นอกเมือง  


    
    
ถนนเฉียนเหมินต้าเจีย สมัยปลายราชวงศ์ชิง   ถ่ายโดยช่างภาพญี่ปุ่น  S. Yamamoto

    
ปักกิ่งสมัยหมิงมีเปลี่ยนแปลงรูปแบบเมืองจากในสมัยหยวนที่กำหนดว่า “หน้าวังหลังตลาด”
บริเวณโดยรอบประตูเจิ้งหยางเหมิน (เฉียนเหมิน)  หูท่งเซียนหยือโข่ว  หูท่งหลางฝาง ได้กลายเป็นเขตการค้าขายขนาดใหญ่


    
    
กำแพงเมืองปักกิ่งสมัยปลายราชวงศ์ชิง

    
กำแพงเมืองโบราณปักกิ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายร้อยปี   เริ่มต้นสร้างสมัยหยวน  กำแพงเมืองมีรูปร่างเหมือนตัวอักษร  “凸”  
มีความยาว 24 กิโลเมตร  กว้าง 24 เมตร  สูง 8 เมตร  


    
    
ทหารรัสเซียบนกำแพงเมือง ปี1900

    
ปี1900 กองทัพพันธมิตร 8 ชาติบุกปักกิ่ง ทำความเสียหายให้แก่เมืองเก่าปักกิ่งเป็นอย่างมาก ที่ถูกทำลายไปมากคือ หอธนูและหอประตูเมือง  


    
หอธนูเจิ้งหยางเหมินภายหลังการถูกโจมตี

    
ช่วงที่กองทัพพันธมิตร 8 ชาติบุกปักกิ่ง หอธนูและหอประตูเมืองเจิ้งหยางเหมิน   หอธนูฉงเหวินเหมิน  หอธนูเฉาหยางเหมินถูกทำลาย  กองทัพพันธมิตรยิงปืนใหญ่โจมตีเจิ้งหยางเหมิน หอธนูถูกทำลาย ต่อมาทหารอินเดียไปตั้งค่ายที่หอประตูเมืองเจิ้งหยางเหมิน ครั้งหนึ่งจุดไฟจนเกิดเหตุเพลิงไหม้เผาทำลายหอประตูเมือง


    
    
หอธนูเจิ้งหยางเหมินหลังการบูรณะสร้างขึ้นใหม่  มีนาฬิกาติดตั้งไว้ด้วย  ถ่ายโดย Sidney David Gamble ชาวอเมริกัน

    
หอธนูและหอประตูเมืองเจิ้งหยางเหมิน   หอธนูเฉาหยางเหมินได้ทำการบูรณะสร้างขึ้นใหม่ในปี1903  
มีคำกล่าวบรรยายลักษณะเมืองเก่าปักกิ่งไว้ว่า  “ ใน 9 นอก 7 เมืองจักรพรรดิ 4”  ความหมายก็คือ    เมืองชั้นในมี 9 ประตูเมือง  
เมืองชั้นนอกมี 7 ประตูเมือง  และเมืองจักรพรรดิมี 4 ประตูเมือง


    
    
หอประตูเมืองอันติ้งเหมิน

    
เมืองชั้นในปักกิ่งมีอยู่ 9 ประตูเมือง ได้แก่  เจิ้งหยางเหมิน  ฉงเหวินเหมิน  เซวียนอู่เหมิน  เฉาหยางเหมิน  ฟู่เฉิงเหมิน  ตงจื๋อเหมิน  ซีจื๋อเหมิน  อันติ้งเหมินและเต๋อเชิ่งเหมิน  โดยมีประตูเมืองเจิ้งหยางเหมินถือเป็นประตูใหญ่ประตูหน้าที่จักรพรรดิใช้เป็นเส้นทางเสด็จ  ฉงเหวินเหมินใช้เป็นเส้นทางบรรทุกสุรา เซวียนอู่เหมินใช้เป็นเส้นทางบรรทุกนักโทษ  เฉาหยางเหมินใช้เป็นเส้นทางบรรทุกข้าว ฟู่เฉิงเหมินใช้เป็นเส้นทางบรรทุกถ่านหิน ตงจื๋อเหมินใช้เป็นเส้นทางบรรทุกไม้   ซีจื๋อเหมินใช้เป็นเส้นทางบรรทุกน้ำ  เต๋อเชิ่งเหมินเป็นประตูที่ทหารออกไปทำศึก    อันติ้งเหมินเป็นประตูที่กองทัพเดินทางกลับเข้าเมือง


  
  
ประตูฉงเหวินเหมินหลังจากมีทางรถไฟวิ่งผ่าน

  
ปีที่กองทัพพันธมิตร 8 ชาติบุกจีน  อังกฤษได้ขยายเส้นทางรถไฟสายจิงเฟิ่ง (ปักกิ่ง-เสิ่นหยาง) ในปักกิ่งจากหย่งติ้งเหมินขยายทางไปถึงเจิ้งหยางเหมิน  จึงมีการรื้อหย่งติ้งเหมินด้านตะวันออกและกำแพงเมืองตงเปียนเหมิน


  
  
อังกฤษได้ทำการเจาะกำแพงเวิ่งเฉิง  wèngchéng  (กำแพงเล็กที่สร้างอยู่ด้านนอกของประตูเมืองอีกชั้นหนึ่ง)ของประตูฉงเหวินเหมินเป็นอุโมงค์เพื่อทำทางรถไฟ     ถ่ายโดย Sidney David Gamble  

  
  
   เวิ่งเฉิง

  
  
เจี่ยวโหลวกำแพงเมืองชั้นในปักกิ่ง ราวปี1917   ถ่ายโดย Sidney David Gamble

  
กำแพงเมืองปักกิ่งชั้นในและชั้นนอกมีการสร้างเจี่ยวโหลว (CORNER TOWER) ขึ้นทั้ง 4 ทิศ  หอธนูที่อยู่มุมกำแพงเมืองชั้นใน เรียกว่า เจี่ยวเจี้ยนโหลว เรียกสั้นๆว่า เจี่ยวโหลว สร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิหมิงเจิ้งถ่ง ปีที่ 4 (ค.ศ.1439) ปัจจุบันมีเหลือเพียง”ตงหนานเจี่ยวโหลว” สมัยหมิงที่ยังคงมีให้เห็นอยู่  


  
  
เจี่ยวโหลว


  
      
หอระฆัง ราวปี1917  ถ่ายโดย Sidney David Gamble
                        
  
หอกลอง หอระฆังเป่ยจิง  ตั้งอยู่บนถนนตี้อันเหมินไหว้ต้าเจีย  เป็นจุดสำคัญทางตอนเหนือของเมืองเก่าปักกิ่ง
สมัยหมิงและชิง  หอกลอง หอระฆังใช้ตีบอกเวลาวันละ 2 ครั้ง  


  
  
ซุ้มประตูเค่อหลินเต๋อนี้เยอรมนีเรียกร้องให้รัฐบาลชิงสร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์  เนื่องในเหตุการณ์ที่ทูตเยอรมัน Klemens ถูกทหารชิงฆ่าตายเมื่อปี 1900   11 พ.ย. 1918   สงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลง  เยอรมนีแพ้สงคราม  13 พ.ย. 1918  รัฐบาลจีนได้ย้ายเอาซุ้มประตูเค่อหลินเต๋อไปไว้ที่สวนสาธารณะจงหยาง (ปัจจุบันคือสวนสาธารณะจงชาน)  และเปลี่ยนชื่อเป็น “กงหลี่จ้านเชิ่ง”
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่