ปฐมพยาบาลสำคัญแค่ไหน ข้อเท้าแพลง ตกบันไดกลิ้งลงมา

ปฐมพยาบาลสำคัญแค่ไหน ข้อเท้าแพลง ตกบันไดกลิ้งลงมา

เดินตกบันได ที่คิดว่าไม่ควรตก บันไดขั้นกว้างกะระยะไม่ถูก หยุดไม่ได้ลงมา 3-4 ขั้น ไม่ใช่ไถลแต่กลิ้ง ไม่เคยคิดว่าจะตกบันไดแบบกลิ้งเลยบันไดขั้นก็กว้างทำไมหยุดไมได้นะ พอหยุดได้ขาข้างนึงแม้ใส่กางเกงยีนส์หน้าแข้งก็ถลอกปอกเปิก ส่วนอีกข้างนึงน่าเป็นห่วงกว่าข้อเท้าแพลงแน่ ๆ  เจ็บมากมาย ณเวลานั้นอยู่ญี่ปุ่น เพิ่งเริ่มการท่องเที่ยว เป็นวันที่ 4 จาก 14 วันจะทำยังไงต่อไป จะหาหมอยังไง สับสนไปหมด หาข้อมูล จะไปโรงพยาบาล กว่าจะขยับตัวกว่าจะทำอะไร มันเกินสองทุ่มไปแล้ว ไปฉุกเฉินอย่างเดียว



ข้อเท้าขวาบวมประมาณมะนาวลูกเล็ก ๆ ใน 1 ชั่วโมง
ณ ตอนที่ล้ม ก็ประคองตัวเอง สามีและลูกช่วยประคองมา หาที่นั่ง ไปไหนไม่ไหวแน่ๆ สามีวิ่งหาน้ำแข็งมาประคบ ไปซื้อกาแฟเพื่อเอาน้ำแข็ง ประคบเย็นให้ไวที่สุด ภายใน 48 ชั่วโมงหลังการบาดเจ็บ ความรู้พวกนี้เอามาจากการชอบอ่านหนังสือเรื่องวิ่งที่ตัวเองไม่ได้เป็นวิ่ง แต่ชอบอ่าน ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดก็ได้ใช้ตอนนี้และได้สอนลูกไปด้วยมาเป็น รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม ของบางอย่างเรียนมาทั้งชีวิตก็ไม่ได้ใช้ของบางอย่างถ้าไม่รู้ก็ยิ่งไปกันใหญ่ ความรู้มันไม่ไปไหนหรอกเราไม่รู้ว่าเราจะได้ใช้เมื่อไหร่ อย่าคิดเสียว่ามันไม่มีประโยชน์เพราะพอถึงเวลาจะใช้แล้วไม่มีความรู้ จะทำยังไง


อาการเจ็บมากคือด้านขวาของข้อเท้าขวา ประคบไปนั่งรอสามีพาลูก ๆไปกินข้าว สามีซื้อกลับให้ไปซื้อร่มเพื่อใช้แทนไม้เท้าเพื่อกลับมาโรงแรม ไม่ไหวแน่ ๆเดินไม่ได้ ปวดไปหมด

เริ่มคิดว่าจะทำอย่างไร จะหาหมอที่ไหน ประกันก็ทำนะ แต่จะติดต่อยังไงหมอจะคุยรู้เรื่องไหม ถ้าไปหาตอนดึกเราก็ไม่ฉุกเฉินขนาดนั้นจะต้องไปนั่งรอหมออีกแค่ไหน กลับมาหาข้อมูลส่วนสามีวิ่งไปถามโรงแรมว่าจะไปหาหมอกว่าจะคุยรู้เรื่องเป็นชั่วโมงจะเรียกแท๊กซี่ไปโรงพยาบาล แต่สุดท้ายเราตัดสินใจไม่ไป เพราะไม่ฉุกเฉินจะรอดูอาการอีกสักวัน

เอาน้ำแข็งประคบข้อเท้าด้านขวา นอนก็ประคบ ยกเท้าสูง พรุ่งนี้คงต้องงดเที่ยวว่าแต่จะอดเที่ยวไปทั้งทริปไหมนะ เดินไม่ได้ หรือจะต้องหารถเข็นแล้วจะหายังไงอยู่ต่างแดนที่ภาษาไม่อำนวยนี่รู้สึกอึดอัดใจเหลือเกิน

ตื่นเช้ามา จากที่เจ็บแต่ข้อเท้าด้านขวา ตรงเอ็นร้อยหวายก็เจ็บข้อพับด้านหน้าก็เจ็บ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่มีอาการเลย แย่จัง ประคบเย็นตอนนี้จะได้ผลแค่ไหนถึงตอนนี้ รู้แล้วว่าถ้าเท้าบาดเจ็บเอาทั้งเท้าแช่เย็น ๆ ไปก่อน อย่าประคบเฉพาะจุดเพราะมันอาจจะมีส่วนที่บาดเจ็บแต่ยังไม่แสดงอาการ ส่วนด้านขวาที่ประคบเย็นไปตั้งแต่เมื่อคืนยุบลงเล็กน้อยหน้าเท้าด้านขวาเป็นสีเขียวช้ำ



วันต่อมา



ตอนเช้าสามีวิ่งไปซื้อเทปพันข้อเท้ามาให้ ทำการ Tapping ขาเพื่อยึดไม่ให้มันขยับ ในร้านขายยาแทบทุกร้านมีเทปพันเท้าขาย ในกล่องมีการสอนวิธี Tapingอย่างละเอียดTaping เสร็จเราก็ประคบเย็นไปด้วย



ให้สามีพาลูก ๆ ออกไปเที่ยวส่วนเราพักอยู่โรงแรม เดินกะเค้าไม่ไหวแน่ๆ นั่ง ๆ นอน ๆ คุย FB กะเพื่อนไปเรื่อย ๆ

สามีพาลูกกลับมาราวบ่าย 4 โมง ขาเริ่มดูดี คือเจ็บ แต่เราซ่าส์เจ็บแต่ไม่ขยับรับน้ำหนักตรง ๆ ก็ไปได้ ขาถูกยึดด้วยการ Taping ค่อย ๆเดินก็คงไปได้ ไหน ๆ ก็ลองออกเดินทาง ไปอย่างช้า ๆ ใช้ร่มเป็นไม้เท้าเดินขโยกเขยกไปขึ้นรถไฟได้ เดินสวนอุเอโนะได้ ไปดูคนเมากะซากุระโรย ๆ ไปเดินอะเมโยโกะแล้วกลับมาที่พักได้ ขาคงจะดีขึ้นละนะ หวังว่า เดินได้ก็เป็นกิโลแหละแม้จะไม่ว่องไวรวดเร็ว มีลูกคอยช่วยดูคอยประคองลูกเรามีมุมน่ารักห่วงแม่เหมือนกันนะเนี่ย กลับมาประคบเย็นต่อ



จากเขียวเป็นม่วงแล้ว เช้าวันที่ 2 หลังจากกลิ้ง



วันต่อมา ก็ยังทำการ Taping ทุกเช้า วันนี้ก็เดินไกลไปเป็นกิโล เดินตั้งแต่สายๆ จรดค่ำ เท้าเริ่มยุบ แต่ยังเจ็บอยู่ ถ้าขยับ วันนี้เริ่มทำการแช่น้ำอุ่น ผ่าน 48ชั่วโมงไปละเท้าเริ่มเป็นสีม่วง ยังใช้ร่มเป็นไม้เท้า แต่ไม่ค่อยดีหรอกเพราะมันลื่นไม่เหมือนไม้เท้าจริง ๆ แต่ไม่อยากไปซื้อให้เปลืองเงิน

วันต่อมาต้องเดินทางไกล ข้อเท้าที่บวมยุบเกือบหมดแล้วแต่กดแล้วยังเจ็บอยู่ ขยับนิดหน่อยพอได้ ขยับเยอะก็เจ็บ สีม่วงเข้มขึ้น ขาเริ่มแพ้Taping เป็นผื่น เลยหยุดการ Taping ไป มาเดินใส่รองเท้าปกติ

สรุปผ่านทริปมาได้ เดินได้เยอะตลอดทริป อาจจะไม่อึดเท่าคนอื่นอันนี้เพราะสุขภาพมาก่อนทริปแต่เรียกว่าโอเคเลยไม่ต้องนอนปวดเท้าอยู่โรงแรม ไม่ต้องไปหาหมอที่โรงพยาบาล

ไป Disneyland และ Disneysea สองวันเต็มเดินตลอด จบทริป 14 วัน เดินได้เดินดีทุกวัน

ผ่านมาร่วม 2 สัปดาห์หลังจากตกบันได เท้ายังไม่หายสนิทยังมีอาการเจ็บอยู่บ้าง หวังว่าจะดีวันดีคืน ไม่เรื้อรังและหายสนิทเร็ว ๆ นี้

เท้าซ้ายมีอาการเจ็บฝ่าเท้า ก็ใช้การประคบเย็นบวกการยืดเส้นไป

ไม่คิดว่านับจากที่ตกบันได จะกลับมาเดินได้เร็วขนาดนี้โชคดีละกันสำหรับทริปนี้ ไม่คิดว่าโชคร้ายที่ตกบันได การเดินทางอาจจะขลุกขลักไปบ้างแต่รวม ๆ แล้วก็โอเค สำหรับทริปของครอบครัว

การที่เรารู้วิธีปฐมพยาบาล การปฐมพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว Tapingเท้าทำให้กลับมาเดินได้เร็วไม่น่าเชื่อ เราเองก็คิดว่าเร็วกว่าที่คิดมากมายนึกว่าทริปนี้จะต้องนอนอยู่โรงแรมตลอดจนกลับเมืองไทยแล้วหรือไม่อย่างน้อยก็สี่ห้าวันหล่ะ

สรุปการปฐมพยาบาล

1. ประคบเย็นให้เร็วที่สุด ประคบเย็น 48 ชั่วโมงแรก

2. ประคบเย็นให้ทั่วเท้าที่พลิก ไม่เฉพาะจุดที่เจ็บ เพราะบางบริเวณบาดเจ็บแต่ยังไม่แสดงอาการ ทำให้ไม่ได้รับการประคบเย็นลดการอักเสบ เวลาผ่านไปเริ่มแสดงอาการ ถ้าประคบเร็วจะได้ลดการอักเสบ

3. พัก สำคัญมาก อย่าฝืนเดิน เพราะจะทำให้บาดเจ็บยิ่งขึ้น

4. การ Taping คือการยึดข้อเท้าไม่ให้ขยับ ให้อยู่ในที่ ๆ ควรอยู่ ทำให้ลดการบาดเจ็บเพิ่มเติม และช่วยให้หายเร็วขึ้น

5. หลังจาก 48 ชั่วโมง หายบวมแล้ว ประคบร้อน เอาแค่อุ่น ๆ ก็พอนะจ้ะ (น้องนักกายภาพบอกถ้ายังไม่ยุบประคบเย็นต่อ ไปหาข้อมูลเพิ่มบอกว่าถ้ายังไม่หายบวมให้ประคบเย็นต่อจนกว่าจะหาย)

ุ6. ห้ามนวดเด็ดขาดหลังเกิดบาดเจ็บ จะทำให้อักเสบยิ่งขึ้น

เขียนจากประสบการณ์ หลักวิชาการพอมี จากการศึกษาค้นคว้า แต่ไม่ใช่หมอ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ใครจะเชื่อใครจะทำตามโปรดใช้วิจารณญาณ (เดี๋ยวนี้จะเขียนอะไรต้องมีข้อความนี้เสมอ กันถูกด่าถูกฟ้อง)



ปล.

สามีบอกว่า “ประคบเย็นไปแล้ว 4 ชั่วโมงก็ประคบร้อนแล้วสิ”

ลูกชาย “แม่เดี๋ยวนวด ๆ ก็หาย”

ลูกชายคนเล็ก “ประคบเย็น 10 ชั่วโมงพอ”

แม่ “ไปเรียนปฐมพยาบาลกันที่ไหนมา คนนึงให้นวด คนนึงให้ประคบร้อนคนนึงประคบเย็นแป๊บเดียว ตำราไหนสอนกันมา”

ลูกชายบอกคิดเอง สามีบอกไม่รู้ ลูกคนเล็กบอกเรียนมา ถ้าเชื่อพวกนี้สงสัยขาบวมเบ่งไม่หาย อาการหนักขึ้นไปแล้ว

วันแรกที่ออกเดินขโยกเขยกขึ้นรถไฟพร้อมกับร่มในวันฝนไม่ตก คนญี่ปุ่นที่นั่งอยู่เห็นเราลุกให้ทันที มีป้ายบอกว่าคนที่ควรจะได้นั่งก่อนคือ สตรีมีครรภ์ คนมีลูกเล็ก ผู้ชราถือไม้เท้า ผู้ที่มีปัญหาทางร่างกายเท้าเจ็บ

ส่วนวันต่อมาเดินได้เกือบปกติ ยังถือร่มประคองบางครั้ง เดินได้เป็นกิโลฉะนั้นไม่มีใครลุกให้นั่งก็ยืนกันไปไม่ต้องบ่นว่าไม่มีใครดูดำดูดี ยืนชิล ๆ  

การเดินทางไปต่างประเทศควรทำประกันเสมอ นี่ขนาดทำประกันยังคิดมากเรื่องไปหาหมอ แต่อุ่นใจว่าเกิดเป็นมากก็ไปหาหมอได้โดยไม่เดือดร้อนนัก ถ้าเกิดเหตุมากกว่านี้ เจ็บป่วยมากกว่านี้ ไม่มีประกันจะทำให้คนที่บ้านเดือดร้อน ทำประกันทุกครั้ง คอยพร่ำบอกคนรอบข้าง ดำเนินการให้ด้วย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่