[บทความพิเศษ] นี่แหละเมืองไทย รับกันได้หรือไม่? ( ภาคจบ )

ภาคแรก : http://ppantip.com/topic/31102234

-----------------------------

บทที่ 6 : ความเป็นไทย “สูงส่ง” จริง หรือเป็นแค่เพียง “วาทกรรม”

“Tom , Tom where you go last night? I love Muang Thai I like Pat-Pong”


หากคำพูดที่ใครสักคนบอกว่า “วรรณกรรมมีหน้าที่สะท้อนความเป็นไปในยุคสมัยที่มันถูกเขียนขึ้นมา” เป็นความจริง เนื้อร้องของเพลง Welcome to Thailand ของวงดนตรีเพื่อชีวิตชื่อดังอย่าง คาราบาว [57] ก็คงเป็นประหนึ่งหลักฐานที่ทำให้เราพอจะเดาได้ว่า เกิดอะไรขึ้นในยุคสมัยนั้น นั่นคือ “ปีท่องเที่ยวไทย” ว่ากันว่ารัฐบาลไทยเริ่มเล็งเห็นรายได้จากการท่องเที่ยวมาตั้งแต่ พ.ศ.2523 [58] แต่ได้มีการผลักดันกันอย่างจริงจัง ใน พ.ศ.2530 [59] เช่นเดียวกัน สถานที่ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้จักมากที่สุดอย่าง Khaosan Road ( ถนนข้าวสาร ) ก็ถูกยกขึ้นเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของการท่องเที่ยวในประเทศไทยไปด้วย [60] ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ ที่นักท่องเที่ยวบอกเล่ากันปากต่อปากเท่านั้น

เมื่อพูดถึงถนนข้าวสารและความเป็นไทย เราคงไม่อาจที่จะไม่พูดถึง “เทศกาลสงกรานต์” ได้ เพราะทุกครั้งที่เทศกาลนี้วนมาถึง สังคมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Social Network จะเกิดวิวาทะกันอยู่เสมอ ระหว่างฝ่ายที่คิดว่าสงกรานต์สมัยนี้ “เสื่อม” เพราะมีแต่การเล่นสาดน้ำกันอย่างบ้าเลือด ยานพาหนะนานาชนิดทั้งรถกระบะ รถบรรทุกและอื่นๆ บรรทุกถังน้ำเที่ยวตระเวนสาดไปตามท้องถนน และท้องถนนบางเส้นที่มียานพาหนะเหล่านี้เป็นจำนวนมาก ท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นการปิดถนนเล่นสาดน้ำไปโดยปริยาย หรือการนำแป้งดินสอพองไปลูบไล้บนใบหน้าหญิงสาว หรือการปรากฏตัวของสิงห์มอเตอร์ไซค์ “แวนซ์ – สก๊อย” หรือการเต้นท่าแปลกๆ ประกอบเพลงจากเครื่องเสียงที่ดูเหมือนหลุดโลก ฯลฯ

กับฝ่ายที่คิดว่าปีหนึ่งมีแค่ 3 วัน มันคือการปลดปล่อยความเครียดอย่างหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากกฎเหล็ก 11 ข้อ ในปี พ.ศ.2556 [61] ที่แค่เพียงทางตำรวจร่วมกับกระทรวงมหาดไทยประกาศออกมา ก็เกิดกระแสต่อต้านขึ้นทันที ที่น่าสนใจคือการต่อต้านเป็นไปแบบไม่แบ่งแยกเหลือง – แดง จะเห็นได้ว่าแม้กระทั่งเว็บไซต์ของคนเสื้อแดง ที่ปกติจะสนับสนุนรัฐบาลของเขาและกลไกรัฐอย่างตำรวจ ก็ยังต่อต้านกระแสดังกล่าว [62] แน่นอนฝั่งเหลืองก็ทำเช่นเดียวกัน [63] จึงเกิดคำถามขึ้นว่า..อะไรที่ทำให้กลุ่มสาวกการเมืองที่ปกติมักจะขัดแย้งกันได้ทุกเรื่อง มีความเห็นไปในทางเดียวกันแบบนี้

หรือแท้ที่จริงแล้ว..สิ่งที่คนไทยเข้าใจว่าเป็นประเพณีอันดีงาม มีจุดประสงค์เป็นไปเพื่อ “บางสิ่ง” ที่ไม่น่าอภิรมย์เท่าไรนัก ในสายตาของผู้สูงส่งทั้งหลาย   

นักประวัติศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงและลูกศิษย์ลูกหามากมายอย่าง สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนเล่าไว้ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง [64] ว่าประเพณีสงกรานต์ “โดยราษฎร์” ไม่เหมือนกับประเพณีสงกรานต์ “โดยรัฐ” กล่าวคือขณะที่ภาครัฐพยายามสร้างให้สงกรานต์มีแต่ความสวยงาม แต่ในความหมายของประชาชนทั่วไป สงกรานต์คือวันที่ได้ปลดปล่อยตนเอง จากกรอบของสังคมที่บีบรัดมาตลอดทั้งปี เช่นกรอบที่กั้นระยะห่างระหว่างสตรีกับนักบวช ในวันปกติหากสตรีแสดงกิริยาอาการไม่เหมาะสม คงถูกประณามเพราะไม่มีใครยอมรับได้ แต่ 3 วันตลอดเทศกาลสงกรานต์ ภาพที่เห็นคือผู้หญิงกับพระสงฆ์ – สามเณร เล่นสาดน้ำกันได้ และไม่เพียงแต่นักบวชเท่านั้น ในบางอาณาจักร ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนนำน้ำไปไล่สาดเจ้าผู้ครองนครได้ด้วย แน่นอนในวันปกติถ้าทำแบบนี้คงถูกประหารชีวิต

แต่ในช่วงเวลาของวันสงกรานต์ จะไม่มีใครโกรธกันเมื่อถูกสาดน้ำ – ประแป้ง ขออย่างเดียวอย่าทำอันตรายกันจนถึงเลือดตกยางออก หรือกลายเป็นการข่มขืนกระทำชำเราเท่านั้น ถ้าไม่รุนแรงถึงระดับที่ว่ามาแล้ว ใครเปียกน้ำใครเลอะแป้ง ก็จะขำๆ กันไป

เช่นเดียวกัน นักประวัติศาสตร์อีกผู้หนึ่งที่คุ้นหน้ากันดีในสังคมไทยอย่าง นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายว่าเทศกาลสงกรานต์ คือการ “กบฏ” เล็กๆ อย่างหนึ่งของสังคมไทย [65] หากสมัยก่อนซึ่งเป็นยุคที่ “พระ – เจ้า” เป็นใหญ่ ซึ่งในวันปกติทุกคนต้องเคารพยำเกรง สมัยนี้คงหนีไม่พ้น “เจ้าหน้าที่รัฐ” ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร นักการเมือง หรือถ้านอกภาครัฐ ก็คงเป็นบรรดานักธุรกิจ คหบดีทั้งหลาย แต่ในวันสงกรานต์ จะเป็นช่วงเดียวที่ประชาชนทั่วไปสามารถ “เอาคืน” ( แบบขำๆ ) กับคนเหล่านี้ได้ในระดับหนึ่ง โดยที่คนกลุ่มนี้จะต้องไม่โกรธ ไม่เอาเรื่องกัน

ซึ่งผู้เขียนก็เห็นตามนั้น เพราะหากดูจากเทศกาลที่ผ่านมาทุกปี ความสนุกอย่างหนึ่งของคนที่ออกมาเล่นสาดน้ำ คือการได้ประแป้งตำรวจจราจร ( ที่ในวันปกติจะถือเป็นไม้เบื่อไม้เมากับผู้ใช้รถใช้ถนน ) หรือบางปีอาจเป็นทหาร หากปีนั้นมี พรก.ฉุกเฉิน และจุดที่มีนักการเมืองผู้มีชื่อเสียง อย่างนายกรัฐมนตรี หรือหัวหน้าพรรคดังๆ ร่วมเล่นสาดน้ำด้วย จะได้รับความสนใจจากคนทั่วไปมากเป็นพิเศษ ( เพราะเวลาปกติ เป็นเรื่องยากมากที่ประชาชนจะเข้าพบนักการเมือง หรือพูดจาปราศัยกันได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องนอบน้อมยำเกรง )

สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความชาญฉลาดของคนโบราณ ในการ “บริหารความขัดแย้ง” ได้เป็นอย่างดี ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีการจัดลำดับความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางสถานภาพทางสังคม เห็นได้จากคำสรรพนามที่มีมากมาย และแต่ละคำจะถูกใช้แตกต่างกันไปตามฐานะของคู่สนทนาหรือผู้ถูกพาดพิง ซึ่งแม้เราจะเข้าสู่สังคมสมัยใหม่แล้ว แต่รากคิดนี้ก็ยังฝังลึกอยู่ในจิตใต้สำนึกของคนไทย และส่งผ่านกันรุ่นสู่รุ่น ขณะที่อีกด้านหนึ่ง สังคมไทยก็ได้ออกแบบ ( Design ) กลไกในการผ่อนคลายความเครียด จากสถานะต่ำสูงของผู้คนเอาไว้ด้วย ผ่านประเพณีสงกรานต์ ที่หลายคนบอกว่าเสื่อมเพราะใครจะสาดน้ำประแป้งใครก็ได้ หรือถ้าดูในภาคเอกชน เทศกาลสงกรานต์น่าจะเป็นเทศกาลเดียวที่นายจ้างไม่สามารถห้ามการลาหยุดต่อเนื่องก่อน – หลังวันสงกรานต์ของลูกจ้างได้ ตรงกันข้ามในวันหยุดประจำปี หลายสถานประกอบการยังนำวันส่วนใหญ่ มาอัดไว้ที่ช่วงสงกรานต์อีกด้วย

ไม่เพียงแต่กบฏต่อความต่ำสูงของสถานภาพบุคคลเท่านั้น แต่ในสายเลือดของคนไทยเป็นคนที่ “ไม่ชอบกฎ ระเบียบ วินัย” อยู่แล้ว ดังที่ปราชญ์สมัยหนึ่งกล่าวว่า “ทำอะไรตามใจคือไทยแท้” และมองการที่ใครคนหนึ่งสามารถเลี่ยงการปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ เงื่อนไขต่างๆ ว่าเป็นเรื่องเท่ เจ๋ง โก้เก๋ หรือสำนวนว่า “ศรีธนญชัย” [66] แน่นอนว่า หากคิดตรงจุดนี้ก็ต้องยอมรับว่าคนที่ออกแบบระบบสังคมไทย ทำได้อย่างน่าทึ่งมากเลยทีเดียว เพราะออกแบบสิ่งที่เรียกว่าประเพณีสงกรานต์ ให้เป็นช่วงเวลาที่คนในสังคมสามารถปลดปล่อยตนเองจากกรอบระเบียบ ที่ถูกให้คุณค่าว่าเป็น “ความมีอารยะ” ของสังคมเมืองสมัยใหม่ได้

ดังจะเห็นได้ว่า พฤติกรรมของเด็กแวนซ์ ประเภทขี่มอเตอร์ไซค์ซ้อนสาม ไม่สวมหมวกกันน็อค บิดคันเร่งให้เครื่องดังๆ เคลื่อนไหวไปเป็นขบวนนับสิบนับร้อยคันราวกับกองทัพม้าของชนป่าเถื่อนนอกด่าน หากทำในวันปกติคงถูกต่อต้าน แต่เมื่อไปทำในวันสงกรานต์ ภาพที่เห็นคือมันกลายเป็นเรื่องตลกขบขัน เรียกเสียงโห่ร้องจากคนที่มาเล่นสาดน้ำได้เสมอ หรือการนั่งท้ายกระบะเที่ยวตระเวนสาดน้ำไปทั่ว การเปิดเครื่องเสียงดังๆ แล้วปิดถนนเพื่อเต้นรำด้วยท่าทางหลุดโลก การแต่งกายล้อเลียนเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นกระแสสังคมในขณะนั้นมาร่วมเล่นสาดน้ำ ตลอดจนหญิงสาวนุ่งน้อยห่มน้อย ที่ใจกล้ากระโดดขึ้นไปเต้นด้วยท่าทางยั่วยวนทางเพศบนลำโพงขนาดยักษ์ หรือบนหลังรถกระบะ – รถบรรทุก

สิ่งเหล่านี้คือการกบฏต่อกฎระเบียบหยุมหยิมของสังคม ที่ในวันปกติไม่สามารถทำได้ ตราบเท่าที่ไม่ทำอะไรรุนแรง เช่นตีรันฟันแทง ปล้น ฆ่า ข่มขืน ซึ่งถือเป็นความผิดใหญ่หลวงที่สังคมไหนๆ ก็ไม่ยอมรับอยู่แล้ว การกระทำนอกเหนือจากนั้นจะยังถือว่าเป็นเพียงสีสันของเทศกาลเท่านั้น

จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ ผู้เขียนคลุกคลีกับสงกรานต์ตาม Concept “เครื่องเสียง โคโยตี้ ดนตรี แป้ง และยานพาหนะบรรทุกน้ำ” มาไม่ต่ำกว่า 10 ปี และทุกๆ ปี เมื่อตระเวนเล่นไปตามสถานที่ต่างๆ มักจะได้ยินเรื่องเล่าจากคนที่มารวมตัวกันเล่นสาดน้ำอยู่เสมอ ทำนองว่า..โห ไม่น่าเชื่อ ปกติ E นี่ดูเรียบร้อย พอสงกรานต์ แ-ง ใส่เสื้อบางๆ กางเกงรัดๆ ขึ้นไปเต้นเฉยเลย ตรงนี้ถ้ามองในแง่สังคมศาสตร์ นี่คือการกบฏของสตรีไทยต่อจารีตหลักของสังคมหรือเปล่า? เพราะสังคมไทยนั้น “ชายเป็นใหญ่” ผู้ชายเท่านั้นที่มีสิทธิในการแสดงออกเรื่องเพศ ส่วนผู้หญิงต้องกระมิดกระเมี้ยน แม้กระทั่งการแต่งตัวก็ต้องมิดชิด ซึ่งหากเราถอดกรอบสังคมออก เหลือแต่ความเป็นคนล้วนๆ ก็พบว่า จะชายหรือหญิง ล้วนแต่ต้องการแสดงออกทางเพศทั้งสิ้น เพียงแต่สังคมไทยให้ผู้ชายมีช่องทางมากกว่าเท่านั้น

จึงไม่ต้องแปลกใจที่เราจะเห็นสาวๆ โคโยตี้ที่ “มาด้วยใจ ไม่มีใครจ้าง” เกิดขึ้นทั่วไปตลอด 3 วันช่วงสงกรานต์ เพราะมันคือช่วงเวลาของการได้ระบาย “ความเป็นตัวตน” ที่ไม่ต้องถูกครอบด้วยกรอบของสังคมออกมา

อนึ่ง..มีผู้ให้คำแนะนำผู้เขียนว่า หากสนใจเรื่องความสูง – ต่ำของชาย – หญิงจริงๆ ขอให้ลองไปดูดนตรีพื้นบ้านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ( หมอลำ? ) จะพบว่ายังมีร่องรอยของ “สังคมเก่า” ก่อนที่คติแบบจีน – อินเดียจะเข้ามา นั่นคือสังคมเก่าของดินแดนแถบนี้ ผู้หญิงสามารถจีบผู้ชาย ได้เท่าเทียมกับที่ผู้ชายจีบผู้หญิง ( น่าเสียดายที่ผู้เขียนไม่ได้จบทางวัฒนธรรมคติชนมา จึงไม่ทราบเรื่องนี้ หวังว่าคงมีท่านผู้อ่านที่จบด้านดังกล่าวมาให้ความกระจ่างว่าจริงหรือไม่? )  

( มีต่อ )
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่