ใบตองแห้ง : สงกรานต์ของคนชั้นล่าง - คิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ครับ?

สงกรานต์ของคนชั้นล่าง คอลัมน์ ใบตองแห้ง

วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2558 เวลา 22:46 น.

สงกรานต์นี้ไปไหน ถามได้ ผมก็ขับรถเลนซ้ายไปโคราชเหมือนทุกปี (เลนขวาติดหนึบ) ทำบุญให้แม่ แล้วก็พาลูกๆ หลานๆ ขึ้นรถกระบะบรรทุกน้ำ ซื้อแป้งดินสอพอง ซื้อน้ำแข็ง 2 กั๊กใส่ถังให้เย็นเฉียบ
ไม่ต้องไปไกล แค่วิ่งแถวบ้านที่เป็นชานเมืองก็ชุ่มฉ่ำ ถ้าเจอน้ำแช่น้ำแข็งก็ร้องลั่น แต่เดี๋ยวเอาคืนบ้าง ไม่ต้องกลัวรถคว่ำเพราะด่านดักสาดน้ำมีทุกสิบเมตร บังคับให้ขับช้าๆ ระวังแต่พวกไม่เล่นสงกรานต์ขับเก๋งใจร้อนจะแซงขึ้นมา


ถ้าเข้ากลางเมืองต้องเตรียมใจไปเช้ากลับเย็นเพราะติดหนึบ คนแน่น ปิดถนนปิดเมืองโดยอัตโนมัติ สองข้างทางมีแผงขายแป้ง ขายน้ำแข็ง ขายเบียร์ถี่ยิบ หนุ่มๆ สาวๆ ประเภทหนึ่งประเภทสองเดินเป็นกลุ่ม เด็กๆ เต็มคันรถ ผู้ใหญ่ คนแก่ ฯลฯ ไม่มีเพศไม่มีวัย สนุกได้หมด หลายคนเมาไปเล่นน้ำไป อยากแสดงออกอะไรก็เชิญ สนุกให้สุดเหวี่ยง ขอเพียงไม่เลยเถิดลวนลามใคร (ส่วนใหญ่ไม่กล้าหรอก ตีนเพียบ) ตามบ้านตามร้านเปิดเพลงสนั่นหวั่นไหว บางจุดก็ทำสแตนด์ขึ้นไปเต้นโชว์ แถวบ้านผมบางทีก็เป็นแม่ๆ ป้าๆ ประแป้งเต็มหน้าขึ้นไปเต้นโคโยตี้

ความสนุกอย่างนี้ปีหนึ่งมี 3 วันเท่านั้น และต้องสุดเหวี่ยงเท่านั้นจึงจะเข้าถึงสงกรานต์ ประเภทถือขันน้ำอบไทยใส่ชุดลายดอกไปประพรมกันเหมือนในภาพวาดของกระทรวงวัฒนธรรม มันไม่ใช่สงกรานต์ของชาวบ้าน มันไม่มัน และถ้าจะบังคับให้ทำก็หมดสนุก
สงกรานต์หลายปีมานี้เกิด ดราม่าŽ แบ่งคนไทยเป็น 2 ขั้ว ขั้วหนึ่งคือคนส่วนใหญ่สนุกสุดเหวี่ยง อีกขั้วคือคนเดือดร้อนรำคาญ เจ้ากี้เจ้าการ รักษาวัฒนธรรมความเป็นไทย เข้าไปผลักดันภาครัฐที่มีหน้าที่รณรงค์ลดอุบัติเหตุ ให้ออกมาตรการห้ามขายเหล้า ห้ามเต้น ห้ามเล่นแป้ง น้ำแข็ง โฟม ฯลฯ รณรงค์ให้ใส่ชุดไทย
ซึ่งก็แพ้ทุกครั้งไป เอาเข้าจริงไม่ได้ผล เพราะจะทำให้คนส่วนใหญ่หมดสนุกจนห้ามใครไม่ได้  แต่ก็ยังรวมพลังฮึดรณรงค์หนักข้อขึ้นทุกปี

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว มหาดไทยทำท่าจะห้ามรถกระบะบรรทุกน้ำ สุดท้ายก็ถอยกรูด ไม่ต่างจากหลายปีก่อนห้ามเล่นแป้ง ใครเล่นตำรวจจับ ชาวเน็ตโพสต์ภาพจับตำรวจประแป้งยิ้มแป้นหน้าลายพร้อย

ต้องขอบคุณ พี่สุจิตต์ วงษ์เทศ และครอบครัว ที่เป็นหัวหอกทางประวัติศาสตร์ โต้พวก สงกรานต์วิถีไทยŽ ว่าอย่าขี้ตู่ สงกรานต์เป็นประเพณีร่วมของอุษาคเนย์ รับมาจากคติพราหมณ์อินเดีย ผนวกพิธีรดน้ำและเลี้ยงผีบรรพบุรุษ กลายเป็นประเพณีพื้นบ้านก่อนเริ่มฤดูการผลิตใหม่ ฝนใหม่ สงกรานต์จึงมี 2 มิติ ทั้งสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ขนทรายเข้าวัด เล่นน้ำ แล้วเลี้ยงดูปูเสื่อกัน ทั้งข้าวทั้งเหล้า น้ำเต้าปูปลา

อ.ปรานี วงษ์เทศ อธิบายว่าสงกรานต์เป็นช่วงเวลา ปลดปล่อยŽ ให้ละเล่นสนุกสนาน ละเมิดข้อห้ามต่างๆ โดยไม่ถือสา แสดงความเป็นขบถต่อจารีตประเพณี ทั้งความแตกต่างทางเพศ อาวุโส และความเคารพนับถือพระ ในสมัยก่อนจึงมีการจับพระโยนน้ำ
ใช่เลยครับ ใครที่เล่นสงกรานต์จะเข้าใจว่านี่คือการ ปลดปล่อยŽ คือความสนุกรื่นเริงอย่างไร้แบบแผนไร้กฎเกณฑ์ เป็นความสนุกที่ละเมิดสิทธิผู้อื่นได้ด้วยซ้ำ เพราะวันสงกรานต์ใครโผล่หน้ามาย่านที่เขาเล่นกันก็อย่าอ้างเลยว่าไม่เล่นๆๆ โดนสาดโครม

ถามว่าทำไม ดราม่าสงกรานต์Ž ช่วงหลังๆ จึงเข้มข้น มุกหอม วงษ์เทศ เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2548 ว่า คนเล่นสาดน้ำในเมืองมี 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ เด็ก คนชั้นล่าง (ที่ออกลูกหลานเป็นเด็กแว้นเด็กสก๊อยย้อมผมทอง) และชาวต่างชาติ ขณะที่สงกรานต์ในทัศนะของคนชั้นกลาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน กลับถูกปลูกฝังภาพลักษณ์อันสวยงามตาม วิถีไทยŽ ฉบับรัฐ คนเหล่านี้จึงเหินห่าง แปลกแยก และหวาดผวา กับเทศกาลเฉลิมฉลองอย่างไร้สติของ คนพื้นเมืองŽ ระดับล่าง มากขึ้นทุกวัน

ผมอยากเพิ่มเติมว่าคนชั้นกลางต่างจังหวัดไม่แปลกแยกนัก แต่คนชั้นกลางชาวกรุงใช่เลย อันที่จริงสงกรานต์ที่คนชนบทหลั่งไหลกลับบ้านเพิ่งเกิดในยุคน้าชาติให้หยุด 3 วัน 20 กว่าปีนี่เอง แล้วที่คนหันมาเล่นสงกรานต์ในกรุงมากขึ้นก็ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะไม่มีตังค์ จากนั้นก็ได้รับส่งเสริมการท่องเที่ยวจนฮิต

ก่อนนั้นคนกรุงบ้านจัดสรรไม่คุ้นเคยกับสงกรานต์ เป็นแค่เทศกาลปล่อยคนงานกลับบ้าน แต่กาลเวลาผ่านไปยิ่งสำคัญตนเป็นเจ้าของศีลธรรมและ ความเป็นไทยŽ คนชั้นกลางก็ยิ่งหงุดหงิดรำคาญกับสงกรานต์ของคนชั้นล่างมากขึ้นทุกปี

ที่มา : http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1428681105

-------------------------

ไม่ต้องถามผมนะครับ ผมนี่เห็นด้วยอยู่แล้ว คงไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติม

ทุกท่านคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ครับ?
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่