อสมท.: แดนสนธยา,ฤาใกล้อัสดง

อสมท.: แดนสนธยา,ฤาใกล้อัสดง
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ อดิศักดิ์ ลิมปรุงพัฒนกิจ คอลัมน์ คิดใหม่ วันอาทิตย์
วันที่ 6 เมษายน 2557 01:00

บริษัท อสมท. จำกัด(มหาชน)เป็นผู้ชนะประมูลทีวีดิจิทัล 2 ช่องเพียงรายเดียวที่เป็นเจ้าของโครงข่ายทีวีดิจิทัลอีกด้วย

หากมองในเชิงธุรกิจน่าจะ"ครบเครื่อง"และมี"อาวุธครบมือ" มากที่สุดในมหาสงครามทีวีดิจิทัลที่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์(กสท.) ได้ให้ผู้ประกอบการโครงข่ายเริ่มดำเนินการและกฎ Must Carry เริ่มในวันเดียวกัน

แต่ดูเหมือนว่าความใหญ่โตครบเครื่อง กลับไม่ได้ช่วยทำให้อสมท.เป็นที่เกรงขาม ของคู่แข่งขันช่องทีวีดิจิทัลรายใหม่ๆ แต่อย่างใด แวดวงที่เคยคบหาทำธุรกิจกับอสมท.ในยุคก่อนหน้านี้และยุคนี้ ต่างพากัน"ส่ายหน้า"ด้วยความเป็นห่วงว่าอสมท.จะอยู่รอดไม่ประสบภาวะ"ขาดทุน"ท่ามกลางการแข่งขันในระดับ"อภิมหาสงครามทีวีดิจิทัล"ไปได้นานสักเท่าไหร่

ผลประกอบการปีที่แล้ว อสมท.มีกำไรสุทธิ 1,527 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากปี 2555 ที่มีกำไรสุทธิ 1,550 ล้านบาท

รายได้รวมทุกธุรกิจในปีที่แล้ว 5,984 ล้านบาท แทบจะไม่เพิ่มเลยเมื่อเทียบกับปี 2556 ที่มียอดรายได้รวม 5,938 ล้านบาท


ลองเข้าไปดูเนื้อในรายได้ในธุรกิจโทรทัศน์แล้วจะเห็นว่าน่าห่วงแค่ไหน แม้ว่ารายได้รวมที่คิดเป็น 85 %ยังอยู่สภาพลดลงเล็กน้อยจาก 3,859 ล้านบาทเหลือ 3,821 ล้านบาท แต่รายได้หลักที่มาจากโฆษณากลับลดลงจาก 2,852 ล้านบาทในปี 2555 เหลือ 2,354 ล้านบาท ลดลงไปเกือบ 500 ล้านบาท ยังมีที่รายได้จากค่าเช่าเวลาเพิ่มจาก 193 ล้านบาทเป็น 240 ล้านบาทและรายได้จากการจัดกิจกรรมเพิ่มขึ้นจาก 454 ล้านบาทเป็น 794 ล้านบาท

กำไรสุทธิของอสมท.กว่า 50 %ยังมาจากรายได้"ของตาย"หรือพูดแบบไม่ค่อยสุภาพนักคือ"เสือนอนกิน"จากรายได้ค่าสัมปทานกับบริษัท บีอีซี จำกัด(มหาชน) ประมาณ 228 ล้านบาทต่อปี,รายได้จากบริษัท ทรูวิชั่นส์ 249 ล้าบาทและรายได้จากบริษัททรูเคเบิ้ล 344 ล้านบาท

รวมรายได้หรือกำไรของอสมท.แบบแทบไม่มีค่าใช้จ่ายทางตรงประมาณ 800 ล้านบาทต่อปีที่อสมท.ยังได้จากสัมปทานการใช้คลื่นความถี่ เมื่อหมดอายุในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะต้องคืนคลื่นให้กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

สัญญาสัมปทานโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกของบริษัท ทรูวิชั่นส์จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 ก.ย. 2557 และบริษัท ทรูเคเบิ้ลทีวีจะสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2562 ปัจจุบันกลุ่มทรูได้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกจากกสท.อยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ จะอยู่จนครบอายุในสัมปทานหลังที่ยังมีอายุอีก 5 ปี


สัญญาสัมปทานโทรทัศน์ช่อง 3 จะสิ้นสุดอายุวันที่ 25 มี.ค. 2563 แม้ว่ายังเหลืออีกประมาณ 6 ปี แต่บริษัทบีอีซีคงคิด"อยากจะยกเลิกสัญญา"ก่อนกำหนดเมื่อโครงข่ายทีวีดิจิทัลขยายเต็มพื้นที่ในอีกประมาณ 2-3 ปีข้างหน้า เพราะกลุ่มช่อง 3 ประมูลช่องทีวีดิจิทัลได้ถึง 3 ช่องที่มีภาระเงินประมูลเพิ่มขึ้นมาก ทำไมจะต้องจ่ายเงินให้อสมท.แบบเดิมอีก

ฝ่ายบริหารอสมท.เคยคิดเหมือนกับสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 อยากจะได้ใบอนุญาตประกอบกิจการโครงข่ายอีก 1 ใบเพื่อเกลี่ยต้นทุนลงทุนจะได้มีกำไรจากธุรกิจใหม่นี้มากขึ้น แต่ความอุ้ยอ้ายขององค์กรและบริหารแบบผลประโยชน์ทับซ้อนกันวุ่นวายทำให้"คิดช้า"กว่าช่อง 5 ที่ตัดสินใจแบบทหาร ชิงตัดหน้าเสนอกสท.ลดอายุสัมปทานช่อง 7 ลงจาก 9 ปีเหลือ 5 ปีแลกกับใบอนุญาตโครงข่ายเพิ่มขึ้นอีก 1 ใบที่มีความแน่นอนไปอีก 15 ปี เสี่ยงน้อยกว่ากว่ารายได้จากโฆษณาที่มีคู่แข่งขันมากขึ้น

ฝ่ายบริหารช่อง 5 ประเมินความเสี่ยงไว้อย่างน่าสนใจ เมื่อทีวีดิจิทัลเกิดขึ้นแล้วรายได้โฆษณาของช่อง 5 จะลดลงไปไม่น้อยกว่า 50 % ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า ยิ่งช่อง 5 จะเปลี่ยนสถานะเป็นโทรทัศน์เพื่อบริการสาธารณะจะยิ่งส่งผลให้รายได้ค่าเช่าเวลาและรายได้โฆษณาลดลงไป

ในขณะที่ฝ่ายบริหารของอสมท.ก็คิดไม่ต่างกันแต่ไม่ได้ทำอะไรเพื่อลดความเสี่ยง ลองไปอ่านรายงานของที่ปรึกษาอิสระของบริษัทหลักทรัพย์กรุงศรีอยุธยาที่อสมท.ว่าจ้างมาเขียนรายงานเพื่อให้ข้อมูลการประมูลทีวีดิจิทัลของอสมท.กับนักลงทุน วิเคราะห์ว่าส่วนแบ่งการตลาดที่เทียบเป็นเงินโฆษณาของอสมท.จะลดลงจาก 18 % เหลือเพียง 9 % เมื่อการเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกสู่ดิจิทัลเสร็จสิ้นลง


กสท.คงยากจะให้ใบอนุญาตโครงข่ายกับอสมท.อีก 1 ใบเพราะแค่ใบเดียวก็สร้างปัญหาให้มากมายเกือบจะทำให้แผนโครงข่ายทีวีดิจิทัลของรายอื่นสะดุดไปด้วย เพราะฝ่ายบริหารของอสมท.คิด"นอกลู่นอกทาง"หาสตอรี่ที่บอกว่าเป็นจุดแข็งด้านเทคโนโลยีของโครงข่ายอสมท. เช่น ขอไม่ใช่เสาส่งหลักร่วมกับไทยพีบีเอสที่ได้เคยตกลงกันแล้ว , เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมีเสา 2 ปีกสามารถรับได้ทุกทิศทาง ฯลฯ

"คนรู้ทัน"บอกว่าสตอรี่นี้สร้างขึ้นมาเป็นการเฉพาะเพื่อทำให้สมเหตุสมผลในการเพิ่มลงทุนให้สูงกว่าปกติ ราคากลางเครื่องส่งทีวีดิจิทัลของอสมท.จึงสูงกว่าช่อง 5 กับไทยพีบีเอสเป็นเท่าตัว แม้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ทักท้วงไปแล้วก็ดูเหมือนว่าฝ่ายบริหารอสมท.ทำเป็นไม่ได้ยิน ยังเดินหน้าจัดประมูลท่ามกลางเสียงทักท้วงของกสท.อีกด้วยว่าให้มาใช้เสาส่งเดียวกับไทยพีบีเอส แต่จนบัดนี้กระบวนการประมูลยังไม่เสร็จสิ้น

สมญานาม"แดนสนธยา"ที่เคยเจือจางลงไปในช่วงหนึ่ง หลังการอุบัติขึ้นของ"สังคมอุดมปัญญา"เมื่ออสมท.เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสำเร็จ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา"แดนสนธยา"ได้กลับเข้ามาครอบงำอสมท.ยิ่งกว่ายุคใดๆ

"สำนักวิศวกรรมและโครงข่าย"ที่เคยมีชื่อเสียงเป็นแหล่งผู้เชี่ยวชาญแถวหน้าในการวางระบบการออกอากาศของโทรทัศน์ กลับกลายเป็นสำนักที่กำลังอยู่ในภาวะ"สมองไหล"คนเก่งๆ ลาออกไปสู่ทีวีดิจิทัลช่องใหม่ๆ หลายช่องที่มีอดีตผู้บริหารของอสมท.ไปนั่งบริหาร

ทำไมพวกเขาที่เคยมีความรักและศรัทธาในองค์กรแห่งนี้"เดินออก"ไป คงไม่ใช่เรื่องเงินหรือผลตอบแทนเพราะอสมท.จ่ายไม่น้อยแต่อย่างใด เท่าที่ฟังมาเพราะเบื่อหน่ายการทำงานกับ"หัวหน้า"ที่ไม่เก่งไม่มีความรู้มากพอ แต่"อวดเก่ง"และพร้อมสนองฝ่ายบริหารที่มี"นักการเมือง"ชี้นิ้วสั่ง

"สำนักข่าวไทย"ที่เคยมีผลงานข่าวโดดเด่นในอดีตมาหลายสิบปี คนข่าวเก่งๆ ของอสมท.ที่เคยแสดงบทบาทปกป้องไม่ให้ฝ่ายการเมืองหรือบอร์ดเข้ามาแทรกแซงความเป็นอิสระในการทำงานข่าวหายไปไหนกันหมด

ทำไมพวกเขายอมให้มีคนของฝ่ายการเมืองมานั่ง"ควบคุม"ข่าวของอสมท.ให้กลายเป็น"ข่าวข้างเดียว" จนแฟนข่าวสำนักข่าวไทยในอดีตบอกว่าบางวันข่าวช่อง 9 แย่ยิ่งกว่าข่าวของช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ที่มีฉายา"กรมกร๊วก"ที่สังคมไม่ได้ฝากความหวังไว้ให้อยู่แล้ว

"สำนักการตลาดและขายส่วนงานโทรทัศน์" ที่เป็นหน่วยงานหารายได้หลักของอสมท. 85 % กำลังอยู่ในสภาพระส่ำระสายที่มาจากหลายสาเหตุ เช่น ผังรายการในเวลาไพร์มไทม์ไม่มีความแน่นอน รายการที่ไม่มีคุณภาพไร้เรทติ้งเต็มไปหมด ฯลฯ


ผังรายการของช่อง 9 ในปีที่แล้วและปีนี้ยังอยู่ในสภาพ"ไม่นิ่ง"มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา จนทำให้รายได้โฆษณาในปีที่แล้วทรุดฮวบลงไปอย่างเห็นได้ชัดถึง 500 ล้านบาทและวงการเอเยนซี่เริ่มคุยกันว่าจะไม่ลงโฆษณาในช่อง 9 แล้ว

รายการของช่อง 9 หลายรายการในช่วงเวลาไพร์มไทม์ที่เคยทำรายได้หลักให้อสมท. กลับกลายเป็นรายการคุณภาพต่ำๆ จากต่างประเทศและรายการวาไรตี้ที่ไม่ประเทืองปัญญา ส่วนใหญ่เป็นรายการ"ฝาก"มาจากฝ่ายการเมืองที่เข้ามาครอบงำอสมท.แบบเบ็ดเสร็จยิ่งกว่ายุคใดๆ หลายรายการยังได้สิทธิ์ใช้ระบบ Time Sharing ที่ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าเวลา แต่ฝ่ายโฆษณาของอสมท.แทบไม่กล้าเอารายการเหล่านี้ไปขายให้บริษัทเอเยนซี่โฆษณาเลย

ฟังมาว่าช่วงไตรมาสแรกอสมท.ปีนี้จะมองเห็น"ตัวเลขรายได้โฆษณาติดลบ"อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และพวกเขากำลังหวั่นไหวกับภาวะการแข่งขันจากทีวีดิจิทัลอีกกว่า 20 ช่อง เพราะเข้าสู่สมรภูมิที่ยังไม่มีอะไรแน่นอนว่าช่อง HD และช่องเด็กที่ประมูลได้มาจะมีจุดเด่นของช่องแบบไหน

ช่องความคมชัดสูงหรือ High Definition กับช่องเด็กและครอบครัวที่อสมท.ประมูลได้รวมราคา 4,000 ล้านบาท ภาระต้นทุนเงินประมูล 2 ช่องรวมแล้วเฉลี่ยออกเป็นค่าใช้จ่ายอีกปีละไม่น้อยกว่า 267 ล้านบาท จากเดิมช่อง 9 ไม่มีภาระรายจ่ายค่าคลื่นความถี่

แย่ไปกว่านั้น ประธานบอร์ดอสมท."สุธรรม แสงประทุม"และกรรมการบอร์ดอีกหลายคนกับกรรมการผู้อำนวยการใหญ่"ดร.เอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์"มาจากการเมืองคนละสายในพรรคเพื่อไทย สภาพการบริหารงานย่ำแย่ไม่เข้าใจการแข่งขันทางธุรกิจไม่มีแผนงานที่ชัดเจน แต่เป็นไปแบบแย่งดาวคนละดวง-ช่วงชิงกันเพลิดเพลินเจริญใจอิ่มหมีพีมันเสียมากกว่า

ดังเช่นกรณีล่าสุดทัวร์สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นของประธานบอร์ดกับบอร์ดเกือบทั้งหมดที่ใช้เงินกว่า 10 ล้านบาท ทั้งๆ ที่อสมท.ไม่ได้ประมูลช่องข่าวและระบบออกอากาศของสหรัฐอเมริกาใช้ระบบ ASTC แต่ไทยใช้ระบบ DVB-T2 กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บอกว่าทักท้วงไปแล้วแต่สายเกินไปลดค่าใช้จ่ายไม่ได้ งบเดินทางไปดูงานต่างประเทศปีละ 13 ล้านบาท แค่คณะนี้คณะเดียวใช้งบประมาณไปร่วม 10 ล้านบาท


พนักงานอสมท.จำนวนมากที่มีความห่วงใยในอนาคตองค์กรสื่อของรัฐที่เป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กำลังตั้งคำถามว่า"แดนสนธยา"กลับมาสู่อสมท.ท่ามกลางภาวะการแข่งขันรุนแรงใน"มหาสงครามทีวีดิจิทัล"ที่กำลังเริ่มต้น องค์กรสื่อแห่งนี้ที่เคยสร้างเกียรติภูมิมายาวนานจะฝ่าฟันและอยู่รอดได้อย่างไร

สหภาพแรงงานอสมท.ที่เคยมีบทบาท"หมาเฝ้าบ้าน"อย่างแข็งขันในอดีต กลับ"เลือกเห่า"ในบางเรื่อง ในขณะที่พนักงานจำนวนมากเห็นความไม่ชอบมาพากลหลายเรื่อง สหภาพแรงงานฯกลับ"เงียบ" เกิดอะไรขึ้นกับอสมท.ยุคแดนสนธยายุคทีวีดิจิทัลที่อสมท.ได้เปรียบทุกอย่างและอาวุธครบเครื่อง แต่กลับใกล้"อัสดง"หรือเปล่า
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่