ตะลึง! เจอ'ศิวลึงค์ทองคำ'อายุพันปี ถ้ำบนเขาพลีเมือง ต.สิชล อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช



ชาวบ้านเมืองสิชลขุดเจอ 'ศิวลึงค์ทองคำ' 2 องค์ อายุกว่า 1 พันปี ส่งมอบกรมศิลปากร เก็บรักษา ชี้เป็นหลักฐานสำคัญยืนยันความรุ่งเรืองเมืองนครศรีธรรมราช

                          27 มี.ค. 57  นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่ามีการขุดค้นพบศิวลึงค์ทองคำ 2 องค์ ซึ่งขุดค้นพบจากถ้ำบนเขาพลีเมือง ต.สิชล อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช โดยนายเสกสันต์ นาคกลัด ชาวบ้านได้เข้าไปขุดมูลค้างคาวในถ้ำดังกล่าว พบแผ่นอิฐขนาด 16 ซม. ยาว 30 ซม. เรียงกันอยู่จึงงัดแผ่นอิฐดังกล่าว พบอิฐแผ่นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เมื่อยกอิฐขึ้น ก็พบว่าภายในมีผอบทำด้วยโลหะ มีฝาปิด เมื่อเปิดฝาผอบออก จึงพบศิวลึงค์ทองคำ จากการตรวจสอบของกรมศิลปากรพบว่า ศิวลึงค์ทองคำ องค์แรกมีขนาดความสูงรวม 2 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.8 ซม. น้ำหนัก 12.7 กรัม ส่วนองค์ที่ 2 ขนาดส่วนสูงรวม 2 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.9 น้ำหนัก 19 กรัม จากการประเมินอายุและลักษณะของศิวลึงค์ ซึ่งเป็นแบบประเพณีนิยมอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12 หรือมีอายุกว่า 1, 000 ปี

                          นายเอนก กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามนอกจากพบศิวลึงค์บริเวณดังกล่าว ยังพบโบราณวัตถุอีก 6 รายการ ประกอบด้วย 1. ผอบทำด้วยโลหะ สภาพชำรุด ผอบ สูง 2.5 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 6.1 ซม. ส่วนฝามี สภาพชำรุดสูง 2.3 ซม. 2. ผอบลักษณะทำด้วยโลหะ สภาพชำรุด สูง 2 ซม. ส่วนฝาผอบมีสภาพชำรุด 3. อิฐ รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีการคว้านรูปสี่เหลี่ยมตรงกลางด้านในจำนวน 2 แผ่น 4. อิฐ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า จำนวน 3 ก้อน ผิวอิฐสีส้ม ก้อนอิฐมีสภาพสมบูรณ์ 2 ก้อน ชำรุด 1 ก้อน  5. พบฐานทำด้วยโลหะ (เงิน) สูง 1.1 ซม. กว้าง 2.3 ซม. มีรูตรงกลาง ลึก 0.6 ซม. 6. แผ่นรอง มีลักษณะเป็นแผ่นทองรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวด้านละ 0.7 ซม.

                          อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงได้มีการพบโบราณวัตถุสำคัญๆ หลายชิ้น เมื่อปี 2525 อาทิ 1. พระวิษณุศิลา อายุประมาณครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 13 และ 2. ธรณีประตูเป็นแผ่นหินปูน เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีรูสวมเดือย 3. กรอบประตูมีรอยสลักเป็นรูปกลม และ 4. กรอบประตูทำด้วยหิน มีลักษณะเป็นแผ่นยาว และมีเดือยที่ปลายทั้งสองข้าง 5. แผ่นหินรูปวงกลม ทำจากหินปูนทั้งสองแผ่น 6. เศียรเทวรูปปูนปั้น 7. เศียรพระปูนปั้น และ 8. พระพุทธรูปประทับยืนปางประทานพร

                          อย่างไรก็ตามจากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลทางโบราณคดีพบว่าในพื้นที่ อ.สิชล มีเทวาลัยในศาสนาพราหมณ์ ไม่ต่ำกว่า 30 แห่ง กระจายอยู่ในอำเภอดังกล่าว ที่ผ่านมามีการพบศิวลึงค์ ในเขตอำเภอสิชลแล้ว 24 องค์ ซึ่งศิวลึงค์ทองที่พบ ถือว่าเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ทางโบราณคดีอย่างสูง เพราะเป็นสิ่งแสดงถึงความศรัทธาในเทพเจ้าและความรุ่งเรืองทางการค้าของนครศรีธรรมราชโบราณ

                          "ผู้ค้นพบได้ประสานจะมอบศิวลึงค์ที่ขุดพบให้กับกรมศิลปากร เพื่อเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ โดยจะมีพิธีมอบในวันที่ 1 เมษายน หลังจากนั้น จะนำมาจัดแสดงเพื่อให้ประชาชนได้ชมและศึกษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร 1 องค์ และอีก 1 องค์จะนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช"

http://www.komchadluek.net/detail/20140327/181770.html#.UzPe3tx2yR6
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่