(Review) Divergent (2014) : โลกที่ไปไม่ถึงดิสโทเปีย



Divergent (2014) ผลงานการกำกับของนีล เบอร์เกอร์ ซึ่งเราคงคุ้นหน้าคุ้นตากันดีจาก The Illusionist (2006) และ Limitless (2011)

หน้าหนังดูดี กระแสแรงเพราะระยะนี้ฮีโร่สาวกำลังมา ถูกเอาไปเทียบกับ
The Hunger Games (2012) อยู่บ่อยๆ ในแง่ที่เป็นการพยายามล้มล้างระบอบปกครองแบบดิสโทเปียโดยเด็กสาวเหมือนๆ กัน แถมเสน่ห์ของนักแสดงนำก็อยู่ในลักษณะคล้ายๆ กันด้วย



ในโลกที่ครั้งหนึ่งเคยล่มสลายไปด้วยสงครามหรืออะไรสักอย่าง เมืองที่เหลืออยู่จึงต้องป้องกันตัวเองจากภัยในรูปแบบต่างๆ ที่อาจมาได้ทุกเมื่อ มีการสร้างรั้วสูงเพื่อป้องกันศัตรูจากภายนอก แบ่งคนออกเป็นห้ากลุ่มตามความถนัด (และส่วนใหญ่ ความถนัดก็จะเป็นไปตามแต่ที่สภาพที่คนคนนั้นเกิดมา) ได้แก่ ผู้เสียสละ , ผู้กล้าหาญ , ผู้มีปัญญา , ผู้ซื่อสัตย์ และผู้รักสงบ อีกกลุ่มหนึ่งที่กลายเป็นที่เหยียดของสังคมไปคือพวกไร้กลุ่ม สภาพคล้ายๆ พวกเร่ร่อนทำนองนั้นจ้ะ

สังคมแห่งนี้ กลุ่มผู้เสียสละ (แน่นอนว่าเป็นมนุษย์ประเภทที่ไม่เห็นแก่ตัวเอง) เป็นผู้ปกครอง คอบกระจายส่วนของทรัพยากรและดูแลประชาชน ซึ่งแน่นอนว่าภาพลักษณ์ของกลุ่มผู้เสียลสะ (และกลุ่มผู้รักสงบซึ่งวันๆ เก็บผักรีดนมไปตามระเบียบ) มีลักษณะของ “คนไม่สู้คน” อยู่สักหน่อย โดนตะคอก โดนหยามก็จะมองตาปริบๆ เกิดพืชผลไม่งอกงามขึ้นมา ขั้วตรงข้ามคือกลุ่มผู้มีปัญญาที่ปราดเปรื่องไปเสียทุกเรื่องจึงอดคิดไม่ได้ว่าอีกลุ่มผู้เสียสละนี่มันต้องยักยอกอะไรไปแน่ๆ แถมพวกเขายังคิดด้วยว่าสังคมมันควรปกครองด้วยคนฉลาดสิวะ มันถึงจะราบรื่น การชิงความเป็นใหญ่จึงเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ



วกกลับมาที่เรื่องคัดเลือกกลุ่ม อนิจจา นางเอกของเรื่องดันไม่สามารถยัดตัวเองไปอยู่กลุ่มไหนได้ เพราะผลดันออกมาว่าถนัดมันซะหลายอย่างทั้งที่เกิดในครอบครัวผู้เสียสละแท้ๆ ผลคือเจ้าหล่อนเป็นพวกไดเวอร์เจนท์ คือไม่สามารถจัดกลุ่มได้ เครื่องมืออะไรก็ควบคุมไม่ได้

นี่เองที่เป็นภัยต่อระบบความมั่นคงของสังคมแห่งนี้ เมื่อการจัดกลุ่มเป็นการจัดระเบียบสังคมแล้วเกิดมีไอ้หน่อหนึ่งดันจัดกลุ่มไม่ได้ (ไม่เหมือนพวกไร้กลุ่ม) ก็ไม่รู้จะจัดการกันยังไง เลยออกตามหาไดเวอร์เจนท์กันจ้าละหวั่น

คล้ายๆ กับ The Hunger Games คือตัวเอกเป็นภัยต่อระบบปกครองอย่างมาก แต่แคสนิสท์ เอเวอร์ดีนไม่ได้ “เกิด” มามีปัญหา เธอมามีปัญหาเอาตอนเข้าเกม เหตุผลทุกอย่างลงตัวดีว่าทำไมเธอถึงเลือกกระทำเช่นนั้น ทั้งลักษณะนิสัย สภาพความเป็นอยู่ต่างๆ

แต่เบียทริซ (หรือที่เธอเรียกตัวเองใหม่ว่าทริซ) กลับไปไม่ถึงจุดนั้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าเธอเกิดมาเป็นภัยอยู่แล้ว แต่หลายๆ อย่างในเรื่องกลับดูไม่สมจริงและไม่ชวนให้เธอก่อความขัดแย้ง เธอไม่ได้ดูฉลาดเฉลียว หัวไวเท่าที่ควร หลายครั้งออกจะดูซื่อๆ มึนๆ เสียด้วยซ้ำ

ตัวสภาพสังคมเองก็ไม่ได้ดู “เฆี่ยน” ให้คนอยากก่อการปฏิวัติหรือเปลี่ยนแปลงมากขนาดนั้น แน่นอนอยู่ว่ามันมีแง่ของความเลวร้ายอยู่ในตัวมันเอง (การจัดระบบกลุ่ม) แต่ก็ไม่พีคถึงขั้นอยากให้ก่อการเปลี่ยนแปลงกับสังคม



กลับมาที่กลุ่มผู้ทรงปัญญาที่อยากจะเป็นผู้นำสังคม กลุ่มนี้ผู้นำคือจีนนี่ (เคท วินสเลต – สวยสง่ามากๆ) เกิดไอเดียว่าถ้าอยากจะทำให้สังคมมันดี ประชาชนคนจะเป็นหนึ่งเดียวกันก่อนนะคะ นั่นคือคิดเหมือนกัน ทำเหมือนกันมันซะทุกอย่างเลยค่ะ

ฝั่งนางเอกที่เลือกจะมาอยู่กลุ่มผู้กล้า (ใช่ เลือกมันทั้งๆ ที่จัดกลุ่มตัวเองไม่ได้นั่นแหละ) หลังจากอ่วมอรทัยกับการฝึกและสภาพความเป็นอยู่ในกลุ่มแล้ว (คืออีกลุ่มนี้เหมือนกินยาบ้าแล้วตามด้วยเครื่องดื่มบำรุงกำลังวันละสามครั้งหลังอาหาร มันจะคึกอะไรได้แบบนั้น คึกแบบ เดินไปปีนป่ายไป มันไม่ใช่ลักษณะของผู้กล้าอ้ะ มันลักษณะคนเมายานะพี่ – ตรงส่วนนี้ก็ขัดใจจริงๆ) ก็มาเจอะว่าจีนนี่ต้องการควบคุมคนในกลุ่มนี้ (ซึ่งเปรียบได้กับทหาร) ก็เลยหาทางช่วยทุกคนจากเหตุการณ์นี้

เรื่องนี้เขียนตัวละครร้ายออกมาได้แบนมากๆ ไม่ว่าจะดูอย่างไร การควบคุมคนเหมือนหุ่นยนต์ก็ไม่ได้ทำให้สังคมเป็นสังคมในฝันได้สักกี่มากน้อย รวมถึงวิธีปกครองแบบนั้นก็ไม่เห็นว่าจะทำให้ทุกอย่างสงบสุข ตรงกันข้ามคือทันทีที่เห็นก็คิดขึ้นมาได้ว่ายิ่งก่อการแบบนี้ยิ่งทำให้คนอยากจะแข็งขืนใส่ อย่างหนึ่งเพราะเรื่องไม่ได้ปูว่าสังคมนี้ ผู้ถูกปกครองน่ะหัวอ่อนขนาดไหน หรือมีมาตรการอื่นใดที่ทำให้คนสยบยอม



หนังจึงไปไม่สุดสักเรื่อง หลักๆ ว่าด้วยเรื่องที่นางเอกฝึกอยู่ในกลุ่มผู้กล้า (ซึ่งสภาพสะบักสะบอมมากประหนึ่งว่าไปตบกับแมนนี่ ปาเกียวมา) แล้วต้องไต่อันดับไปอยู่แรกๆ ให้ได้ ไม่อย่างนั้นจะถูกคัดออกและถูกโยนไปอยู่ในพวกไร้กลุ่ม เลยต้องซ้อมพิเศษ ระหว่างนั้นก็มีการทดสอบภาพในสมองซึ่งคนส่วนใหญ่ถ้าเจอความกลัวจะหาทางแก้ปัญหานั้นด้วยวิธีแบบผู้กล้า แต่ทริซแกดันไม่ได้ถูกจัดอยู่ในประเภทไหน เลยมีวิธีแก้ปัญหาแบบไดเวอร์เจนท์ จนพระเอกซึ่งเป็นผู้คุมล่วงรู้เข้า

หนังทำเรื่องการฝึกซ้อมไว้ยาวมากๆ นานพอควรที่เราได้ดูอีกลุ่มเมายาบ้านี่วิ่งไล่รถไฟ ปีนขึ้นโน่นนี่ คิดว่าฉากเหล่านี้ในหนังสือคงน่าสนุกอยู่ แต่พอมาอยู่ในหนังแล้วกลับดูยืดย้วย ขณะที่ฉากท้ายๆ ซึ่งควรจะพีคก็ดันสั้นและดึงอารมณ์ไม่สุดสักทาง แต่กลับกัน ฉากที่นางเอกฝึกอยู่ในกลุ่มผู้กล้า ตบๆ ตีๆ วิ่ง กระโดด ก็ทำได้น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อยเลย



นางเอกมีเสน่ห์มากๆ คิดว่าเธอคงแจ้งเกิดสวยๆ จากเรื่องนี้แน่นอน ค้นๆ ไปว่าอีกหน่อยเธอจะเล่นเรื่องอะไรก็พบว่าอีกเดี๋ยว The Fault in Our Stars (2014) ก็จะเข้าแล้วจ้ะ ตกใจนิดนึงที่อีพระเอกเรื่องนี้ อันเซล เอลกอร์ต คือคนที่เล่นเป็นพี่ชายของเจ้าหล่อนในเรื่อง Divergent

เพลงประกอบเพราะมากๆ จ้ะ ฟังครั้งแรกรู้เลยว่าแม่สาวเอลลี่ โกลด์ดิ้งร้อง ยิ้ม ชอบบบ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

ฝากบล็อก-เพจ สำหรับติดตามข่าวสาร-แลกเปลี่ยนกันนะคะ ยิ้ม

Page: https://www.facebook.com/llkhimll
Blog: http://llkhimll.wordpress.com/
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่