เหตุผลของลำดับการพัฒนาของภาคต่างๆในไทย และ จิ๊กซอว์ในอนาคต (เมื่อผืนฟ้าบรรจบแผ่นดินตอน 1)

กระทู้สนทนา
การค้าขายในยุคก่อนมาจากทะเลไปสู่ภูเขา  จากนี้ต่อไป จะกลายเป็นจากภูเขาไปสู่ทะเล

คำเตือน
1.เป็นหนึ่งในซีรีย์ เมื่อผืนฟ้าบรรจบแผ่นดิน  ที่ผมตัดสินใจเขียนอธิบายอดีต และ อนาคต ของประเทศนี้แบบสรุปๆ คาดว่าน่าจะมี 5  - 7 ตอน
2.เขียนตามอารมณ์ และ ความพร้อมเป็นหลักครับ
3.ใช้อ้างอิงแบบแม่นยำไม่ได้ เพราะเขียนจากความเข้าใจ ในรูปของประสบการณ์ และ การคาดการณ์ มากกว่าเน้นวิชาการล้วนๆ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ



คำถามหลัก
ทำไม เมืองหลวง และ ภาคใต้ รวมถึง ภาคตะวันออก จึงพัฒนา มาก่อน ภาตเหนือ และ ภาคอีสาน ?


นี่คือแผนที่ของ อาเซียนตอนบน  
อาเซียนแบ่งเป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือ
อาเซียนบน (แหลมทอง) อันประกอบด้วย พม่า ลาว เวียดนาม ไทย กัมพูชา มาเลเซีย และ สิงคโปร์
อาเซียนล่าง (หมู่เกาะ) อันประกอบด้วย อินโดนีเซีย  ฟิลิปปินส์ บรูไน และ อาจจะมี ติมอร์เลสเต มาร่วมด้วยในอนาคต

ภูมิภาคนี้สำคัญเนื่องจากตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุด สองอย่างของโลก นั่นคือ จีน และ อินเดีย  
และ ในปัจจุบัน ก็ตั้งอยู่บนจุดศูนย์กลางทางผ่านของ ตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก หลายๆแห่ง ได้แก่  อเมริกา จีน ตะวันออกไหล ตะวันออกกลาง อินเดีย ออสเตรเลีย แอฟริกา ยุโรป และ อีกหลายๆแห่ง ล้วนต้องขนส่งสินค้าผ่านทางน่านน้ำอาเซียน


ภาพแสดงเส้นทางการค้าหลักในยุคเริ่มแรก

ในครั้งอดีต สมัยอยุธยา เป็นต้นมาจนถึงสมัยก่อนยุคอาณานิคม  พ่อค้า จากทั้งอินเดีย และ จีน ต่างก็พยายามแลกเปลี่ยนสินค้า โดยมากมักจะมาขึ้นฝั่งที่ มะริด หรือ อาณาเขตใกล้เคียง ซึ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายใต้ ของ สยาม   เนื่องจากว่า หากเดินเรือไปต่อทางช่องแคบมะละกาอาจจะเจอกับ โจรสลัดที่มีอยู่อย่างชุกชุม รวมถึงเสียเวลาเดินทางอย่างมาก  

ประกอบกับ นโยบายผูกขาดสินค้านำเข้า โดยพระคลังสินค้า ในสมัยอยุธยาไปจนถึงรัตนโกสินทร์(ก่อนสมัย เซอร์จอห์นเบาวริง) ซึ่งบังคับให้ พ่อค้าต่างชาติจะต้องนำสินค้าบางรายการมาขายให้กับ พระคลังสินค้าเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติแล้ว มักจะเหมาไปทั้งหมดเลย พ่อค้าชาวจีน และ พ่อค้าชาวอินเดีย ได้ประโยชน์ถึง 3 สถาน
1.ไม่ต้องเสี่ยงกับโจรสลัดมะละกา
2.ขายสินค้าหมดชัวร์ๆ เพราะกรมพระคลังสินค้าเหมาหมด
3.สามารถเข้าไปเลือกหาซื้อสินค้ากลับไปขายที่บ้านได้ โดยไปเลือกซื้อ หรือ ขายได้ที่ เมืองหลวงของสยาม

ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ หัวเมืองฝ่ายใต้ และ เมืองท่าติดทะเลทั้งหลายของสยามจึงรุ่งเรืองรุดหน้า

แล้วหัวเมืองฝ่ายเหนือล่ะ ?
หัวเมืองฝ่ายเหนือเวลานั้นของสยาม จะขยายไปถึง อุตรดิตถ์ในปัจจุบัน  ถัดไปกว่านั้นก็คือ อาณาจักรประเทศราช ล้านนา และ ล้านช้าง
ซึ่งถือเป็นรัฐกันชน เอาไว้ทำสงครามกับพม่าเป็นหลัก  ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาให้กับประเทศราช  ส่วน หัวเมือง อุตรดิตถ์(พิชัย) หรือ พิษณุโลก
ก็จะเน้นหนักที่การทหาร เพื่อเตรียมรอรับศึก  

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ระหว่างที่หัวเมืองฝ่ายใต้ เมืองท่า และ เมืองหลวง ค้าขายรุ่งเรือง   ฝ่ายเหนือ ซึ่งเป็นเขตกันชน ชายแดน ทำสงครามจึงต้องล้าหลังกว่าในช่วงเวลานั้น



ยุคอาณานิคม จนถึง ยุค ปัจจุบัน

ภาพแสดงเส้นทางการค้าหลัก และ แนวปิดประเทศ(สีดำ) ของยุคเกือบปัจจุบัน

หลังจากที่มีการเปิดเสรี(บ้าง)ทางการค้า ด้วยสัญญาเบาวริงค มาจนถึงยุคล่าอาณานิคม ซึ่งเป็นการเริ่มต้นลากเส้นบนแผนที่เพื่อแบ่งอาณาเขตรัฐชาติตามแบบอย่างสมัยใหม่ แต่เดิมในสมัยก่อนหน้านั้น  อาณาเขตดินแดนไม่มีการขีดเส้น หากแต่ใช้พื้นที่อิทธิพลของการควบคุมในแต่ละเมืองแทน ในภาวะปกติ ประชาชนของ แต่ละเมือง สามารถไปมาหาสู่กัน ค้าขายกัน เดินไปเดินมาได้ ถึงแม้จะเป็นคนละอาณาจักรกันก็ตาม  แต่ตอนนี้เมื่อเส้นบนแผนที่ถูกลาก ก็ทำให้มีผลต่อการค้าขายในเขตชายแดน (ซึ่งถูกลากขึ้นมาใหม่)

เหตุการณ์ต่อมาหลังจากสงครามอินโดจีน การเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศเพื่อนบ้านรอบประเทศไทย ได้ทำการปิดประเทศทั้งหมด ทั้งลาว พม่า และ กัมพูชา จึงทำให้ ภาคเหนือ และ อีสานที่อยู่ลึกเข้าในแผ่นดิน กลายสภาพเป็น landlock โดยปริยาย เส้นทางเดียวที่เหนือ และ อีสานจะติดต่อไปยังโลกภายนอกได้ มีแต่ต้องผ่านทะเลของ กรุงเทพ ตะวันออก และ ภาคใต้เท่านั้น

ประกอบกับนานาชาติต้องการให้ไทยรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้เพื่อต่อสู้กับประเทศคอมมิวนิสต์รอบๆ จึงทำให้ไทยเป็นทางเลือกเดียวในภูมิภาคนี้ที่มหาอำนาจต้องลงทุน(เพราะเป็นประเทศเดียวแถวนี้ที่เปิดประเทศอยู่แถมอยู่ตรงกลางอีกตังหาก) ในภาวะการณ์แบบนี้จึงเกิดการเพิ่มการค้าและการลงทุน
ในเมืองท่าติดทะเลจำนวนมากของไทย  ทั้งในภาคใต้  กรุงเทพ และ เขตตะวันออก

กรุงเทพเป็นเมืองหลวงและ มักจะต้องใช้เพื่อติดต่อตกลงค้าขาย รวมถึงมีสาธารณูปโภคครบครันมากที่สุด จึงมีการตั้งสำนักงาน แล้วด้วยภาวะความเป็นเมืองท่า ของภาคใต้ และ กรุงเทพ ทำให้ สามารถทำอาชีพในลักษณะของ นายหน้าค้าสินค้าได้ จึงทำให้มีรายได้มาก และ พัฒนารุดหน้า

ในขณะที่ทางเหนือ และ อีสานตอนนี้เข้าสู่สภาพ landlock  หากจะส่งออก ก็ต้องผ่านทางนายหน้าที่อยู่ในกรุงเทพ หากจะซื้อสินค้า ก็มักจะเป็นสินค้าที่ขายออกมาจากส่วนกลางเช่นกัน (เพราะเขาพัฒนาไปก่อนแล้ว)
จึงเกิดภาพนี้ขึ้น

นายหน้าในเมืองหลวง ได้กำไร เป็นทอดๆ จากนายหน้าในแต่ละเมือง ลักษณะตัวแทนค้าขายที่ขายสินค้าไปให้คนกลางในภูมิภาคต่างๆนี้ เราจึงเห็นได้เด่นชัดจาก ย่านสำเพ็ง ในปัจจุบัน

เหนือ และ อีสาน เป็นแหล่งแรงงาน และ วัตถุดิบ ในการผลิตจากความที่มีพื้นที่มาก ประชากรมาก  โดยใช้ทุนจาก เมืองท่าค้าขาย จึงเป็นที่มาของ
"ใช้ทรัพยากร และ แรงงาน จากเหนืออีสาน แต่จ่ายภาษีที่ภาคกลาง"

ในยุคนี้จะได้ยินเรื่อง คนอีสานอพยพ จากบ้านเกิดมาหางาน หาความก้าวหน้าในเมืองหลวง จนหมู่บ้านในชนบทหลายๆแห่งมีแต่คนแก่ กับเด็ก อันเนื่องมาจาก ความเจริญมากกว่าของเมืองติดทะเลนั่นเอง

เมื่ออยู่ต้นน้ำของการค้าขายสินค้ามาโดยตลอด กรุงเทพและเมืองท่า จึงบ่มเพาะความร่ำรวยขึ้นเกิดเศรษฐีมากมาย และ หลายๆ ครั้งก็มีนายทุนจากส่วนกลาง ขยายธุรกิจขึ้นไป เพื่อตัดคนกลางในส่วนภูมิภาค (ยกตัวอย่าง ห้างโมเดิร์นเทรด ที่ไปอยู่แม้กระทั่งตรงชายแดน) หรือ การขยายตัวของร้านสะดวกซื้อ ที่ทำลายร้านโชฮ่วยท้องถิ่น

ด้วยความที่พัฒนามาก่อน ถึงพร้อมทั้งความได้เปรียบทั้งด้านต้นทุน การขนส่ง จำนวนเงินทุน และ การเข้าถึงศูนย์กลางอำนาจได้มากกว่า บ่อยครั้งนายทุนจากส่วนกลางจึงมักจะชนะท้องถิ่นอยู่บ่อยครั้ง ดังที่เราได้ยิน (ไว้จะให้รายละเอียดแบบเชิงลึกจริงๆในตอนต่อไปนะครับ)

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งอาจจะยังไม่เปิดประเทศเต็มที่ แต่ด้วยความที่พวกเขาจบสงคราม และเริ่มพัฒนาบ้านเมือง เริ่มมีการเปิดพรมแดน และ นั่นทำให้เขตเหนือ และ อีสานหลุดจากภาวะ landlock ทีละน้อยๆ



ยุค AEC โลกาภิวัฒน์

จากการเปิดประเทศ และ การพัฒนาของจีนยุคใหม่ เส้นทางรถไฟของจีนกระจายอย่างมาก และวิ่งผ่านเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจไปเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้มันยังเชื่อมไปถึง มอสโคว และ จากมอสโควก็ไปสู่ สหภาพยุโรปได้ไม่ยาก

การเปิดประเทศของพม่า และ การเร่งพัฒนาของ เวียดนาม และ ลาวในการ ต้องการหนึ่งในโครงข่ายเส้นทางขนส่งสินค้าทางบกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกทำให้ภาพรวมในอนาคตน่าจะต้องเป็นแบบนี้

แดง= เรือ      เขียว = ราง

ไทยอยู่ตรงกลางและได้อานิสงฆ์ของการที่เป็นจุดผ่านของการค้าเกือบครึ่งโลก ทั้งทางบก และ ทางน้ำ อยู่ระหว่างประเทศที่มีประชากรหลักพันล้านถึงสองประเทศนั่นคือ จีนและ อินเดีย  มีพม่าที่ประชากรพอๆกับไทย และ เวียดนาม ที่มีประชากรมากกว่าไทยมาให้ค้าขายด้วย มีลาวเป็นแหล่งทรัพยากรใหม่
รูปแบบของธุรกิจ ที่น่าจะเป็นไปในอนาคต น่าจะเป็นแบบดังรูป


เหนือ อีสาน หลุดจาก สภาวะ landlock และ กลายเป็นเมืองท่าที่รับสินค้ามาจากภูเขา เทียบเคียงได้กับ กรุงเทพ และ หัวเมืองฝ่ายใต้ การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการจะเกิดขึ้นมากมาย โอกาสใหม่ๆ จะเกิด

ถ้าท่านชอบความเปลี่ยนแปลง และนี่คือสิ่งที่ท่านจะเจอในยุคถัดไป
1.ตลาดใหม่ๆ  ที่ไว้ให้สินค้า ของท่านได้วัดฝีมือกับคู่แข่ง
2.เทคโนโลยี และ แนวคิดใหม่ๆจาก นานาประเทศ
3.กฏกติกาใหม่ๆ แนวทางที่จะเป็นสากลมากขึ้นเรื่อยๆ
4.แหล่งแรงงานใหม่
5.คู่แข่งใหม่ๆ ที่ทัดเทียม เหนือกว่า หรือ ด้อยกว่าท่าน

สรุป
1.ใต้ และ กรุงเทพ เจริญมาก่อนและได้เปรียบมาตลอดเพราะเรื่องที่ตั้งทางภูมิศาสตร์
2.ปัจจุบัน เหนือ และ อีสานกำลังเริ่มตั้งตัวได้และเริ่มพยายามพัฒนาตามให้ทัน โดยใช้ตลาดใหม่จากการเปิดพรมแดนของเพื่อนบ้านและการท่องเที่ยว
3.ในอนาคต เหนือ และ อีสานจะมีสถานะ คล้ายเมืองท่าแบบ ที่ใต้และ กรุงเทพ เป็นโดยรับสินค้ามาจากระบบราง และเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน
4.อนาคตไทยเป็นศูนย์กลางสินค้า และ การขนส่งของโลกได้ไม่ยาก เพราะเรามีแต้มต่อด้านที่ตั้งเยอะมาก


ธุรกิจในไทยส่วนใหญ่ได้อานิสงฆ์มาจากหลังยุคอาณานิคม และ ค้าขายในลักษณะกินหัวคิว ผูกขาด และ มักจะไม่เป็นมิตรกับท้องถิ่นมาตลอด
เนื่องจากแทบไม่มีสภาวะแข่งขันจึงแทบไม่ต้องปรับปรุงตัว ให้รับกับกระแสโลกาภิวัฒน์มาก่อน

เมื่อต้องเจอกับคู่แข่ง ที่มากขึ้น ยอดขายที่อาจจะลดลง หรือส่วนแบ่งกำไรที่ลดลง และ นั่นทำให้ กลุ่มที่เคยได้เปรียบมานานจากโครงสร้างการเป็นเมืองท่า และ เป็นเมืองต้นน้ำของสินค้ามาโดยตลอด ได้เปรียบมาตลอด ต้องพังทลายลง พวกเขาจึงไม่ค่อยอยากได้การเปลี่ยนแปลงมากนัก
และ ต้องการรักษาความได้เปรียบตรงนี้ไว้เหมือนเดิม  จึงเป็นที่มาของกลุ่มอนุรักษ์นิยมยุคใหม่ ดังที่ผมจะเจาะลึกเรื่องนี้ ในตอนต่อไป ซึ่งจะเป็นเรื่อง

"โง่ หรือ ขาดโอกาส เรื่องตลกของเงินทุน กับความจนและรวย"
โดยใช้งานอ้างอิงระดับรางวัลโนเบล ของ โมฮัมหมัด ยูนุส เกี่ยวกับโมเดล ธนาคารกรามีน  

ขอบคุณครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่