ใครที่อยากจะเป็นข้าราชการและกำลังจะสอบ กพ. ควรรู้...

กระทู้สนทนา
สำหรับช่วงนี้คงมีหลายๆ คนที่กำลังคิดจะสอบ กพ ซึ่งตอนนี้ก็กำลังเปิดรับสมัครสอบอยู่ก็รีบๆ สมัครกันก็แล้วกันนะครับ เดี๋ยวสถานที่สอบใกล้บ้านคุณจะเต็มซะก่อน

ในตอนแรกก็คิดว่าสอบภาค ก ของ กพ แล้วก็จะได้เป็นข้าราชการเลย  จริงๆ แล้วไม่ใช่นะครับ  หากจะเปรียบเทียบกับการลงวิชาเรียนในมหาวิทยาลัย  ยกตัวอย่างเช่น  เราจะต้องเรียนแคลคูลัสทั้งหมด ๓ ตัว คือ แคล ๑ , แคล ๒ และแคล ๓  ภาค ก ของ กพ ก็คือ แคล ๑ ถ้าไม่ผ่านแคล ๑ เราก็จะลงเรียนแคล ๒ ไม่ได้  เรียกว่าเป็นตัวพรีนั่นเอง

ภาค ก ของ กพ ที่เปิดสอบนั้นไม่ว่าเราจะจบอะไรมาก็สามารถที่จะสอบได้หมดครับ  โดยวิชาที่สอบก็จะมี ๒ วิชา คือ คณิตศาสตร์กับภาษาไทย และสำหรับปี ๒๕๕๗ มีเพิ่มเข้ามาอีก ๑ วิชา คือ ภาษาอังกฤษ  โดยคณิตศาสตร์กับภาษาเอาเกณฑ์ที่ ๖๐% ส่วนภาษาอังกฤษเขาก็รู้ว่าคนไทยเราอ่อนก็เลยลดให้อีก ๑๐% เป็นว่าเอาเกณฑ์ที่ ๕๐%

หากเราผ่านภาค ก ของ กพ ไปได้  ต่อไปก็จะเป็นภาค ข ซึ่งเราจะต้องติดตามข่าวหาข่าวเอาเองว่ามีกระทรวงหรือกรมหรือส่วนราชการใดเปิดสอบ  และเปิดสอบตำแหน่งอะไร  คราวนี้จะเป็นการสอบเฉพาะสายที่จบมาล่ะครับ เช่น กระทรวงไอซีทีเปิดสอบตำแหน่งนักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ  เขาก็จะรับเฉพาะพวกที่จบวิทยาการคอมหรือวิศวคอม  คนที่จบคหกรรมมาถามว่าสมัครสอบได้ไหม อาจจะสมัครได้ครับแต่ถึงคุณสมัครได้แถมสอบผ่านให้ด้วย  คุณก็จะไม่มีสิทธิ์ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการ  เพราะสาขาที่คุณจบมานั้นไม่ตรงนั่นเอง

ถ้าผ่านภาค ข ได้ก็จะต้องไปสอบภาค ค ซึ่งก็คือการสอบสัมภาษณ์นั่นแหละ  และถ้าผ่านภาค ค ไปได้  เราก็จะได้รับการขึ้นบัญชีเป็นผู้สอบได้  โดยจะมีการจัดลำดับในบัญชีตามคะแนนที่สอบได้เรียงจากลำดับที่ ๑ , ๒ , ๓ ,.......

ยกตัวอย่างของกระทรวงไอซีทีตำแหน่งนักวิชาการคอมพิวเตอร์ เมื่อปี ๒๕๕๔ มีผู้สมัครสอบ (ภาค ข) ประมาณ ๑,๒๐๐ คน  และมีผู้สอบผ่านจำนวน ๑๖๕ คน  จากนั้นมีการสอบภาค ค มีผ่านและประกาศขึ้นบัญชีจำนวน ๑๖๐ คน (ไม่ผ่านภาค ค จำนวน ๕ คน) โดยเรียงลำดับจาก ๑ - ๑๖๐

โดยตามประกาศตอนรับสมัครรับ ๑๑ คน  ดังนั้นลำดับที่ ๑-๑๑ จะถูกเรียกเพื่อเข้ารับการบรรจุเป็นข้าราชการทันที  ส่วนลำดับที่ ๑๒ - ๑๖๐ ก็รอเรียกรอบต่อไปตามลำดับ  โดยบัญชีนี้จะมีอายุ ๒ ปี  ถ้าภายใน ๒ ปีเรียกไม่ถึงลำดับที่สอบได้ ก็เป็นอันว่าจบกัน

แต่กระทรวงไอซีทีเพียงกระทรวงเดียวไม่มีทางเรียกถึง ๑๖๐ คนหรอกครับ  แต่พวกที่เหลือก็ยังมีหวังครับ  เพราะส่วนราชการอื่นที่ต้องการตำแหน่งนี้แต่ไม่ได้เปิดสอบเองก็จะมาขอใช้บัญชี  เช่น  สำนักงานสถิติแห่งชาติต้องการก็จะขอใช้ไปยังกระทรวงไอซีที เช่น ขอไป ๙ คน กระทรวงไอซีทีก็จะส่งลำดับ ๑๒-๒๐  ไปให้ จากนั้นกระทรวงแรงงานขอใช้บัญชีอีก ๑๐ คน  กระทรวงไอซีทีก็จะส่งลำดับที่ ๒๑-๓๐ ไปให้

การขอใช้บัญชีนี่แหละสำคัญเพราะมันจะทำให้เหตุการณ์ให้พลิกผันได้  ยกตัวอย่างแบบนี้ครับ

จากข้างบนสำนักงานสถิติต้องการเพียง ๒ ตำแหน่ง แต่ขอรายชื่อไป ๙ คน จากนั้นสำนักงานสถิติจะเอา ๙ คนมาสอบเพื่อเรียงลำดับใหม่  คนที่ได้ที่ ๑๒ จากไอซีทีพอเรียงใหม่อาจจะไปอยู่ที่ ๙ ก็ได้  พอเรียงเสร็จเขาก็จะเอาคนที่สอบได้ที่ ๑-๒ บรรจุเข้ารับราชการ ปล่อยให้อีก ๗ คนคือลำดับที่ ๓-๙ นอนรอต่อไป

แล้วย้อนกลับไปที่กระทรวงไอซีทีครับ มีกระทรวงแรงงานขอใช้บัญชีมาอีก ๑๐ คน  กระทรวงไอซีทีไม่ได้เอา ๗ คนที่เหลือจากสำนักงานสถิติส่งไปให้นะครับ  เขาผ่านไปลำดับต่อไปเลย  เขาจะทำยังงี้ไปเรื่อยจนหมด ๑๖๐ คนนั่นแหละครับ  ถึงจะวนมารับรอบ ๒ ซึ่งเกือบ ๙๙.๙๙% ไม่ทันแน่ๆ เพราะอายุบัญชีคุณจะหมดลงที่ ๒ ปี  ถ้าตำแหน่งนั้นไม่เป็นที่ต้องการอย่างยิ่งยวด ก็เลิกฝันได้เลย  เพราะถึงเขาวนมารับอีก  คุณก็ยังต้องไปแข่งขันกับเพื่อนร่วมบัญชีคุณอีก

โอกาสสำหรับ ๗ คนที่เหลือจากสำนักงานสถิติก็ยังมีหวังแบบริบหรี่  ถ้าสำนักงานสถิติเรียกเพิ่ม สมมติว่าเรียกเพิ่มอีก ๒ คน สำนักงานสถิติก็จะเรียกจากบัญตัวเองคือลำดับที่ ๓-๔ นั่นเอง  แต่ทั้งนี่บัญชีแม่จะต้องยังไม่หมดอายุด้วยครับ

จากที่ยกตัวอย่างข้างต้นจะเห็น  ในบัญชีของกระทรวงไอซีทีที่ขึ้นบัญชีไว้ ๑๖๐ คน  คนที่สอบได้ลำดับที่ ๑๒ อาจจะไม่ได้เป็นข้าราชการในขณะที่คนที่สอบได้ที่ ๑๐๐ อาจจะเป็นข้าราชการไปแล้วก็ได้

ดังนั้นคนที่สอบได้ในลำดับที่ดีกว่าก็ไม่ได้หมายความว่าโอกาสจะดีกว่าเสมอไป
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่