ประจำเดือนแบบไหนที่บ่งบอกภาวะมีบุตรยาก

ประจำเดือนถือเป็นตัวชี้วัดสุขภาพของคุณผู้หญิงได้อย่างหนึ่ง แต่ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าการที่ผู้หญิงจะมีประจำเดือนตามปกติได้นั้นต้องอาศัยการทำงานประสานกันระหว่างต่อมใต้สมองส่วนหน้ากับอวัยวะสืบพันธุ์ โดยที่ต่อมใต้สมองจะทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่ชื่อว่า FSH ให้สูงขึ้นเพื่อมากระตุ้นให้รังไข่ผลิตไข่และผลิตฮอร์โมนเพศหญิงที่ชื่อว่าเอสโตรเจน ซึ่งฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สูงขึ้นจากรังไข่นี้เองจะเป็นตัวกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกมีการเจริญเติบโตและหนาตัวขึ้นเพื่อรองรับการฝังตัวของตัวอ่อนในกรณีที่มีการปฏิสนธิระหว่างไข่กับตัวอสุจิ เมื่อไข่มีการเจริญเติบโตเต็มที่ซึ่งอยู่ในช่วงวันที่ 14-16 ของรอบประจำเดือน(กรณีที่รอบประจำเดือนมีระยะห่าง 28-30 วัน) ไข่ก็จะตกออกมาจากฟองไข่ไปอยู่ที่ปลายท่อนำไข่เพื่อรอที่จะปฏิสนธิกับตัวอสุจิที่ว่ายผ่านโพรงมดลูกและท่อนำไข่มาได้ โดยภายหลังจากที่ไข่ตกออกมาจากฟองไข่ไปแล้ว ฟองไข่ใบนั้นจะสร้างฮอร์โมนที่ชื่อว่าโปรเจสเตอโรน ซึ่งฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะมีหน้าที่ประคับประคองให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปได้กรณีที่มีการตั้งครรภ์ แต่ถ้าไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ฟองไข่ใบนั้นก็จะเสื่อมการทำงานลงภายใน 14 วัน ทำให้ระดับโฮรโมนทั้งเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนลดต่ำลง ส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกหยุดการเจริญเติบโตและหลุดลอกออกมาเป็นเลือดประจำเดือน ดังนั้นเลือดประจำเดือนจึงถือเป็นตัวบ่งบอกว่าการเจริญเติบโตของฟองไข่และเยื่อบุโพรงมดลูกของรอบที่ผ่านมานั้นได้สิ้นสุดลงแล้วและการเจริญเติบโตของฟองไข่และเยื่อบุโพรงมดลูกของรอบเดือนใหม่ต่อไปกำลังจะเกิดขึ้น
ดังนั้นภาวะใดก็ตามที่ทำให้ระดับฮอร์โมน FSH เอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน ในร่างกายเปลี่ยนไปจากภาวะปกติ เช่น ภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง รังไข่สร้างฮอร์โมนได้ไม่เพียงพอ เยื่อบุโพรงมดลูกบางหรือหนาตัวผิดปกติ ก็จะส่งผลให้ประจำเดือนผิดปกติ และในบางครั้งอาจส่งผลให้มีภาวะมีบุตรยากได้ในอนาคตตามไปด้วย

แล้วลักษณะของประจำเดือนที่ปกติควรเป็นเช่นไร คงเป็นคำถามที่ผู้หญิงหลายคนกำลังสงสัย

1. ความถี่ของการมีประจำเดือน ปกติแล้วประจำเดือนควรจะมาทุก 21-35 วัน โดยพบว่า ผู้หญิงที่มีความถี่ของรอบประเดือนเช่นนี้ จะสามารถตกไข่ได้ตามปกติ ได้ถึง 80 % ดังนั้นถ้ามีประจำเดือนถี่หรือห่างกว่านี้มักจะมีปัญหาไม่ตกไข่เรื้อรัง ส่งผลให้ประจำเดือนมาห่างและมีบุตรยากเนื่องจากไม่มีไข่ไปปฏิสนธิกับตัวอสุจิ

ตัวอย่างโรคที่พบได้บ่อย เช่น โรค PCOS หรือ PCO (Polycystic ovarian syndrome) ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักเป็นผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวมาก อาจมีอาการของภาวะฮอร์โมนเพศชายเด่น เช่น สิว หน้ามัน ขนดก เมื่ออัลตร้าซาวน์ดูรังไข่จะพบฟองไข่ใบเล็กๆจำนวนมากที่ไม่สามารถเจริญเติบโตจนสามารถตกออกมาได้สะสมอยู่ภายในรังไข่ โรคอื่นๆ ได้แก่ โรคไทรอยด์ โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง หรือแม้กระทั่งความเครียด พักผ่อนน้อย ออกกำลังกายหักโหม น้ำหนักลด ก็ส่งผลต่อการตกไข่และประจำเดือนมาผิดปกติได้

2. ปริมาณและระยะเวลาของเลือดประจำเดือนที่ออก ปกติแล้วควรมีระยะเวลา 2-7 วันและปริมาณที่ออกวัดจากจำนวนผ้าอนามัยที่ใช้ไม่เกิน 3-4 ผืนต่อวัน และไม่ควรมีลิ่มเลือดขนาดเกินปลายนิ้วก้อยปนออก อีกทั้งไม่ควรมีเลือดออกกะปริดกะปรอยภายหลังจากที่ประจำเดือนหยุดไปแล้ว ซึ่งเป็นผลจากเยื่อบุโพรงมดลูกหรือกล้ามเนื้อมดลูกมีความผิดปกติ เป็นเหตุให้มีบุตรยากจากการที่ตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวหรือเจริญเติบโตต่อในโพรงมดลูกที่มีความผิดปกติได้ ตัวอย่างโรคที่พบได้บ่อย เช่น เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก ติ่งเนื้อที่ปากมดลูกหรือในโพรงมดลูก เป็นต้น

3. อาการปวดประจำเดือน ลักษณะของอาการปวดประจำเดือนที่ผิดปกติคือ มีอาการปวดท้องน้อยเกือบทุกรอบประจำเดือน บางรายพบว่ามีลักษณะปวดหน่วงลงช่องคลอดหรือทวารหนัก ซึ่งมักทวีความรุนแรงของอาการปวดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจากอดีตถึงปัจจุบัน ต้องบรรเทาอาการปวดด้วยยาไม่ว่าจะเป็นรูปแบบรับประทานหรือบางรายต้องพึ่งพายาฉีดเพื่อลดปวด โดยปริมาณยาที่ใช้จะค่อยๆเพิ่มมากขึ้นจากเดิม บางรายอาจถึงขั้นต้องลางานหรือนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ตัวอย่างภาวะมีบุตรยากที่แสดงออกทางการมีอาการปวดประจำเดือนที่พบบ่อยได้แก่

- ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ที่รังไข่ หรือที่ได้ยินกันทั่วไปว่า ช็อคโกแลตซีสต์ ซึ่งภาวะนี้มักพบว่ามีพังผืดในช่องท้องร่วมด้วยได้บ่อย ส่งผลให้ท่อนำไข่มีการอุดตัน ไข่และตัวอสุจิจึงไม่สามารถปฏิสนธิกันได้ เป็นเหตุให้ประสบปัญหามีบุตรยาก อีกทั้งรังไข่ที่มีซีสต์แทรกอยู่จะผลิตไข่ได้ลดลงตลอดจนด้อยคุณภาพร่วมด้วย

- เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก ก็สามารถแสดงออกด้วยอาการปวดประจำเดือนได้เช่นกัน บางรายอาการปวดอาจไม่สัมพันธ์กับรอบประจำเดือน อาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก ท้องน้อยโตขึ้น หรือ คลำพบก้อนที่ท้องน้อยก็เป็นได้
จะเห็นได้ว่าแค่การเฝ้าสังเกตุและจดบันทึกรูปแบบของประจำเดือนของคุณผู้หญิงก็สามารถช่วยบ่งบอกถึงความผิดปกติหลายๆอย่างในร่างกายได้ ถือเป็นวิธีการง่ายๆที่จะใช้ประเมินความสามารถในการมีบุตรเบื้องต้นด้วยตัวเอง นับว่าเป็นประโยชน์ทั้งกับผู้หญิงโสดที่สงสัยว่าตัวเองจะเข้าข่ายมีบุตรยากหรือไม่ในอนาคต ตลอดจนคู่สมรสที่กำลังวางแผนที่จะมีบุตร หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์ และรับการตรวจวินิจฉัย เพื่อที่จะได้เตรียมตัวรับมือได้อย่างทันท่วงทีไม่สายจนเกินไป

http://drchawtoo.blogspot.com
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่