คนรักหนังห้ามพลาด กระทู้แนะนำหนังเงียบระดับคลาสสิกที่ควรหามาชมสักครั้ง!! (Silent Films)

ในยุคที่หนังเรื่องอื่นเขาทำภาพสี ทำเป็นหนังมีเสียง ค่อย ๆ พัฒนาจากเสียงโมโน เป็นสเตอริโอ จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ไป 5.1 7.1 อีกหน่อยคง 20.1 ฮ่าๆๆ แต่การที่ยังหนังยุคใหม่บางเรื่องหาญกล้ารำลึกคารวะถึงทักษะการทำหนังยุคเกือบ 100 ปีก่อนด้วยการทำหนังขาวดำและหนังเงียบ (silent film) จึงเป็นอะไรที่ผมรู้สึกว่าเราควรให้เครดิตเป็นพิเศษ



โดยเฉพาะยุคหลัง 2000s การทำหนังขาวดำนี่เหมือนการฆ่าตัวตายด้านรายได้ไปเรียบร้อยแล้ว

ไม่ต้องพูดถึงว่าทำหนังขาวดำ แล้วยังทะลึ่งเป็นหนังเงียบอีก!

The Artist และ Blancanieves เป็นตัวอย่างของการทำหนังเงียบขาวดำในยุค 2010s ที่ประสบความสำเร็จในด้านคำวิจารณ์ ด้วยการยกย่องเชิดชูคนทำหนังรุ่นเก่า การเลียนแบบเทคนิคการถ่ายทำแบบสมัยก่อนให้ใกล้เคียงที่สุด (ในยุคที่บางสิ่งบางอย่างเช่นขนาดภาพไม่รองรับแล้ว) การดึงเทคนิคต่าง ๆ ของหนังเงียบในอดีตมาใช้ และปรับปรุงบทหนังให้ถูกใจคนดูสมัยใหม่

วันนี้มาย้อนถึงหนังเงียบยุค 1920s - 1930s ที่ผมอยากเชียร์ให้ท่าน ๆ ลองหามาชมกันสักครั้งในชีวิตครับ แล้วคุณอาจจะตกหลุมรักหนังเงียบเหมือนผมก็ได้

1. The General (1926)


- นี่คือหนังแอ็คชั่นไล่ล่าที่คลาสสิกสุด ๆ มาดูในยุคนี้ยังรู้สึกว่ามันสดใหม่อยู่เลยครับ เป็นฉากไล่ล่าบนรางรถไฟที่อมตะมาก ๆ แล้วหนังเงียบยุคนั้นไม่มีใครทำแนวแอ็คชั่นไล่ล่าแบบนี้หรอกครับ ดังนั้นไม่แปลกที่คนดูหนังเงียบจะยกย่องเรื่องนี้กันมากเป็นพิเศษ!!

2. Metropolis (1927)


- หนังเงียบแนว sci-fi ความยาว 2 ชั่วโมง 37 นาที!! เรื่องนี้มันคลาสสิกมากอีกเรื่อง การนำเสนอโลกแบบยูโทเปียและดิสโทเปียในเรื่องเดียวกัน น่ายกย่องทั้งเทคนิคการถ่ายทำเสมือนหนัง art ยุคใหม่ที่ใช้สัญลักษณ์แทนความคิดคนดู ความทะเยอทะยานของผู้กำกับ (ถ่ายทำ 2 ปี, งบถ่ายทำหลังปรับค่าเงินเฟ้อก็ประมาณ 200 ล้านเหรียญน่ะครับ, ตัวประกอบกว่า 37,000 คน) โปรดักชั่นอลังการแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของคนทำหนังเยอรมันยุคนั้น และมันยังเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับยุคหลังเช่น 'จอร์จ ลูคัส' ออกแบบ C-3PO ใน Star Wars

3. The Cameraman (1928)


- หนังรอมคอมสุดคลาสสิกที่คนไม่ค่อยพูดถึงสักเท่าไรเมื่อเทียบกับ City Lights ที่ออกฉายภายหลัง เป็นหนังที่ดูสนุกตามสไตล์หนังคอเมดี้ และที่สำคัญคือการเขียนบทหนังออกมาได้ดีมากๆๆๆๆๆๆๆๆ แม้กระทั่ง Wall-E ยังหยิบยืมมุกในหนังไปใช้ เนี่ยแหละคือความคลาสสิกของมัน

4. City Lights (1931)


- คุณค่าในตัวหนังของ 'ชาลีย์ แชปลิน' ไม่ได้อยู่แค่ความบันเทิงและการแสดงตลกของเขา แต่ในหนังทุกเรื่องของเขา พื้นหลังมันคือการสะท้อนสภาพสังคมและวิพากษ์มนุษย์อีกด้วย

5. Battleship Potemkin (1925)


- หนังโซเวียตเรื่องนี้คือหนังเรื่องแรก ๆ ของโลกที่ใช้เทคนิค 'การตัดต่อ' ในการสร้างอารมณ์คนดูให้เป็นไปตามที่ผู้กำกับต้องการ อาจจะจัดว่ามันเป็นหนังเรื่องแรก ๆ ของโลกที่เริ่ม 'propaganda' ด้วยภาพยนตร์ก็เป็นได้ เพราะเนื้อเรื่องของมันคือชนชั้นแรงงานลุกขึ้นสู้กับชนชั้นปกครอง! ที่แน่ ๆ ถ้าพูดถึงการโฆษณาชวนเชื่อตอนนี้ล่ะก็ต้องยกให้ฮอลลีวู้ดเลยฮะ

6. The Kid (1921)


- ดูปีสิครับ 1921 เกือบ 100 ปีที่แล้ว!! เนื้อเรื่องสุดคลาสสิก แม่เอาลูกไปทิ้งไว้บ้านเศรษฐี หวังให้ลูกได้รับการเลี้ยงดูจากบ้านคนรวย แต่ไป ๆ มา ๆ ลูกของตัวเองดันไปอยู่กับคนจรจัดซะได้ ซึ่งเขาก็เลี้ยงดูอย่างดีเท่าที่สถานภาพจะเอื้ออำนวย ต่อมาตอนหลังแม่แท้ ๆ เกิดกลับใจสำนึกได้เลยตามหาเด็กกลับคืน แต่เมื่อไปที่บ้านเศรษฐีที่ทิ้งเด็กไว้ตอนแรกก็ต้องผิดหวังเพราะเศรษฐีทิ้งเด็กไปเรียบร้อยแล้ว ผ่านไป 5 ปี คนแม่ก็เป็นดารามีชื่อเสียงและช่วยเหลือการกุศลเด็กกำพร้าเหมือนเป็นการไถ่บาปเสมอมาครับ พล็อตสุดคลาสสิกนี้ยังถูกละครไทยหยิบมาเล่นอยู่เสมอครับ

7. Safety Last! (1923)


- ดูปีที่สร้าง แล้วอยากให้ไปดูเทคนิคการถ่ายทำที่ใช้ทั้งการสร้างฉากจำลอง+มุมกล้องหลอกคนดูหนังว่ากำลังปีนตึก 6-7 ชั้นจริง ๆ ถ้าผมอยู่ในยุคนั้นคงฮือฮาอู้หูกับการแสดงผาดโผนเสี่ยงตายเช่นนี้ไปแล้ว!!

8. The Circus (1928)


- บทหนังอาจจะธรรมดา แต่คุณค่าของมันคือฉากโชว์ต่าง ๆ ที่มหัศจรรย์ว้าวๆๆๆๆๆๆมากๆๆๆๆๆ ตั้งแต่เข้าไปในกรงเสือกับสิงโตจริง ๆ ย้ำว่า จริง ๆ ไม่ใช้นักแสดงแทน ไม่ใช้มุมกล้อง, ฉากแชปลินโชว์ไต่ลวดที่ผมยังสงสัยจนถึงทุกวันนี้ว่าถ่ายทำยังไงวะ!! ตัดต่อเอาหรือออกแบบฉากหลอกหรือมุมกล้องอะไรยังไง, และฉากจบ mirror maze ที่หนังยุคหลังหลายเรื่องนำไปใช้เช่น The Lady from Shanghai และ Black Swan

9. The Gold Rush (1925)


- อีกหนึ่งหนังเงียบของ 'แชปลิน' ที่มีความสำคัญในแง่กาลเวลา หนังใช้ช่วงยุคตื่นทองอลาสก้ามาเขียนบทเป็นหนังรอมคอมอีกเช่นเคยครับ

10. Steamboat Bill, Jr. (1928)


- บทหนังอาจไม่มีอะไรให้จดจำ แต่สตั๊นท์โชว์ของ 'บัสเตอร์ คีตัน' เนี่ยสิ ฉากพายุถล่มในช่วงท้ายของหนังนี่ฉากในตำนานมาเต็มครับ!! ที่ต้องพูดถึงเป็นลำดับแรกก็คือฉากบ้านล้มทับเนี่ยแหละครับ งานของคีตันนี่ขึ้นชื่อเรื่องคิวเป๊ะจริง ๆ position + timing นี่ลงตัวมาก ๆ คือมันเป็นฉากที่เขายืนอยู่หน้าฉากบ้าน แล้วตัวกำแพงทั้งหลังก็ล้มมาทับเขา แต่เขาไม่เป็นอะไรเลยเพราะยืนอยู่ตรงหน้าต่างเป๊ะ!!

11. The Docks of New York (1928)


- หนังเงียบไม่ได้มีดีแค่แนว 'รอมคอม' เพราะหนังเรื่องนี้พิสูจน์แล้วว่า 'ดราม่าโรแมนซ์' ก็เจ๋งมาก มันเป็นโรแมนติกดราม่าว่าด้วยความห่างของครอบครัวที่สามีต้องออกเดินทางทำงานบนเรือเป็นเวลานาน ๆ ครับ พล๊อตรองเรื่องของวิศวกรกับภรรยาก็มีปัญหาเพราะความห่างไกลกันทำให้ฝ่ายหญิงเพลิดเพลินกับหนุ่มอื่น ในขณะที่ตัวเอกของเรื่องแต่งงาน เขาก็เริ่มคำนึงถึงว่าอาชีพของเขาอาจเป็นอุปสรรคสำหรับชีวิตคู่เช่นกัน! พล็อตเจ๋งไหมล่ะครับ

12. Sherlock Jr. (1924)


- เรื่องนี้มีดีที่ 'การตัดต่อ' ครับ เทคนิคการตัดต่อบรมโคตรเนียนเลยครับ เนียนขนาดไหนขอเชิญท่านไปพิสูจน์เองเลยดีกว่า หนังสมัยนี้หลายเรื่องเผลอ ๆ มีอายครับ ฉากดังกล่าวเป็นฉากตัดต่อเขากับพื้นหลังที่เปลี่ยนไปมาครับ จำนวน 9 ช็อตยาวประมาณ 3 นาที เทพมากจริง ๆ ครับ ไหนจะมุกตลกคลาสสิกเช่น หนีออกจากบ้านคนร้ายพร้อมกับปลอมตัวในพริบตา!! ไหนจะโชว์ผาดโผนเช่น ฉากขี่มอเตอร์ไซค์ข้ามสะพานขาดด้วยการเหยียบหลังคารถบรรทุกสองคันที่สวนมาพอดี ฉากนี้เจ๋งมาก คิวเป๊ะจริง!!!


พูดคุยหนังเก่า หนังใหม่ หนังเงียบ หนังนอกกระแสได้ที่
หนังโปรดของข้าพเจ้า: https://www.facebook.com/MyFavouriteFilms
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่