"ประภาคาร ภราดรภิบาล" กำไรเด้ง ด้วย หุ้น P/E ต่ำ (ตอนที่ 2)

กระทู้สนทนา
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



เมื่อเส้นทางผลิตรายการโทรทัศน์“หมดสนุก”10 ปีก่อน “ประภาคาร ภราดรภิบาล”เจ้าของพอร์ตอีกนิด 8 หลัก“ใจปล้ำ”ควักเงินเก็บ“หลักหมื่น”เล่นหุ้นแนว V

“ความฝันและความหวังเล็กๆ” ของ “ตุ้ม-ประภาคาร ภราดรภิบาล” นักลงทุนแนววีไอ ในฐานะเจ้าของสำนักพิมพ์ บริษัท วิง มีเดีย จำกัด คือ อยากเห็นพอร์ตลงทุนของตนเองมุ่งหน้าสู่ “หลักสิบล้านบาท” ภายในระยะเวลาอันใกล้ ปัจจุบันมูลค่าการลงทุนของเขาอยู่ในหลักล้านปลายๆ

เมื่อ 10 ปีก่อน พี่ชายคนโตของน้องสาว 2 คน ที่อายุห่างกันปีเว้นปี ประจำตระกูลภราดรภิบาล เริ่มต้นเดินตามรอยเท้า “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” เซียนหุ้นเน้นคุณค่า หรือ Value Investor อันดับ 1 ของเมืองไทย ในช่วงที่นั่งโต๊ะทำงานตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิตรายการในบริษัท เนเวอร์แลนด์ จำกัด ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ ซึ่งเป็นบริษัทสุดท้ายที่เขายึด “อาชีพมุนษย์เงินเดือน”

ก่อนจะหันมาใช้หลักการลงทุนตาม “วอร์เรน บัฟเฟตต์” มหาเศรษฐีคนดังของโลก ด้วยการทยอยเติมเงินลงทุนในหุ้นที่ดีมีกิจการเป็นอันดับต้นๆของอุตสาหกรรม “วอร์เรน” ได้นำหลักการของ “เบนจามิน เกรแฮม” ซึ่งเป็นอาจารย์ของเขา และเป็นต้นตำรับของการลงทุนแบบ value investing มาประยุกต์ใช้กับวิธีการของ “ฟิลลิป ฟิชเชอร์”

“ประภาคาร ภราดรภิบาล” ในฐานะผู้เขียนบทความ Value Way ในหนังสือพิมพ์ “กรุงเทพ Biz Week” ซึ่งเขาเขียนร่วมกับ “วิบูลย์ พึงประเสริฐ” เซียนหุ้นวีไอ นัดเจอ “บิสวีค” เพื่อบอกเล่าเส้นทางการลงทุนที่เขาออกตัวว่า “แม้พอร์ตลงทุนไม่ใหญ่ แต่กลยุทธ์การเลือกหุ้นพอใช้ได้” ณ บ้านหลังใหม่ พื้นที่เกือบ 50 ตารางวา

“ผมเพิ่งพาภรรยา หญิงสาวผู้ทำหน้าที่แม้บ้าน และลูกชายวัย 9 ขวบ เข้ามาอยู่บ้านหลังใหม่ได้กว่า 3 เดือนแล้ว หมู่บ้านแห่งนี้มีแค่ 69 หลังคาเรือน “ความเงียบสงบ” จะทำให้สมองของเราปลอดโปร่ง”

“บุรุษวัย 44 ปี” เล่าประวัติชีวิตฉบับเต็มให้ฟังว่า พ่อแม่และน้องๆอาศัยอยู่ในกรุงเทพจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากนั้นคุณพ่อได้ย้ายครอบครัวไปปักหลักทำงานรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งเป็นอาชีพที่เลี้ยงดูทุกคนมาตั้งแต่เด็กๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ท่านคงรู้สึกเบื่อ แถมเพื่อนๆที่ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเหมือนกันย้ายไปอยู่ที่โน้นกันหมด

เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายปีที่ 6 ตั้งใจจะสอบเอ็นทรานซ์ เพื่อไปเรียนที่อื่น แต่สุดท้ายสอบติดคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เลือกไว้เป็นอันดับ 2 ใช้เวลาเรียนแค่ 3 ปีครึ่ง เพราะอยากรีบออกมาทำงานหาเงินช่วยแม่ ไม่อยากรบกวนเงินแม่ ไม่อยากให้แม่เหนื่อย

ด้วยความที่สนใจเรื่องธุรกิจ ทำให้ช่วงเรียนปริญญาตรี เลือกเรียนวิชาโท บริหารธุรกิจ แปลกใจตัวเองเหมือนกัน เขาสถบ ทั้งๆที่ตอนเด็กๆเห็นพ่อไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพรับเหมาก่อสร้างจนต้องปิดกิจการ แต่นั่นอาจเป็นเพราะท่านใจดีเกินไป ทำให้โดนคนอื่นโกง

ช่วงนั้นคุณแม่ต้องรับหน้าที่หาเงินเลี้ยงลูกๆ ด้วยการออกไปทำอาชีพแม่ค้าจำเป็นในจังหวัดเชียงใหม่ จริงๆท่านเคยมีอาชีพเป็นคุณครูตอนครอบครัวยังอยู่กรุงเทพ แต่สุดท้ายต้องมาขายผลไม้แทน แม้คาแรคเตอร์ไม่ให้ แต่เพื่อปากท้องท่านต้องทำ ตอนนั้นการเงินฝืดเคืองทำท่านต้องกู้ยืมเงินนอกระบบ เพื่อให้ลูกทั้ง 3 คน ได้เรียนจนจบปริญญาตรี

“แม่เปรียบเหมือนซูเปอร์วูแมนสำหรับลูกทุกคน”

ทุกวันนี้ท่านไม่ต้องทำงานอะไรแล้ว ลูกๆได้ทำหน้าเลี้ยงแม่แทนแล้ว ตั้งแต่ทำงานมีเงินเดือนเป็นของตัวเองได้ส่งเงินให้ท่านตลอด ทุกวันนี้ยังคงทำเช่นนั้นอยู่ จำได้เงินที่ได้จากการทำงานในเดือนแรกๆ ส่งให้แม่เดือนละ1,000 บาท
ตอนโน้นได้เงินเดือนประมาณ 4,000 บาท จากงานประจำแห่งแรกในบริษัท ทีวีซีน แอนด์ พิคเจอร์ จำกัด ผู้ผลิตละครโทรทัศน์ไทยให้กับสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ที่ก่อตั้งและบริหารงานโดย “ณัฏฐนันท์ ฉวีวงษ์” ทำตำแหน่งครีเอทีฟได้เพียงปีครึ่งตัดสินใจลาออก

หลังพรรคพวกที่ทำงานในแวดวงเดียวกัน แนะนำให้ไปสมัครงานตำแหน่งโปรดิวเซอร์สารคดี บริษัท พีฟิลม์แอนด์วีดีโอ จำกัด รอบนี้เงินเดือนขยับขึ้นเป็น 6,500 บาท ทำงานได้ไม่กี่เดือนรู้สึก “ไม่ท้าทายไม่สนุก” ด้วบความที่เพิ่งจบใหม่ออกแนวไฟแรง ประจวบเหมาะกับในปี 2535 เมืองไทยเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ทำให้งานวีดีโอเริ่มมีลดลง
ตอนนั้นทีมงานรายการ ท้าพิสูจน์ ของ บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรายการที่เราเคยฝึกงานตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปี 3 มาชวนให้กลับไปทำงาน จังหวะชีวิตอยากหวนคืนสู่งานลุยๆ จึงตัดสินใจกลับไปทำงานที่นั่นอีกครั้ง

เข้ามาฝึกงานใน “กันตนา กรุ๊ป” ใหม่ๆ แม่ให้เงินติดตัวมา 3,000 บาท ใช้เพื่อเช่าหอพักนักศึกษาชาย แถวมหาวิทยาลัยรามคำแหงเดือนละ 600 บาท ห้องน้ำรวม (หัวเราะ) ห้องเล็กๆ เอาไว้ซุกห้องนอน เราทุนน้อยต้องประหยัดมัธยัสถ์ เขารำลึกชีวิตวันวันวานให้ฟัง

เขา เล่าต่อว่า กลับมาทำงานในแผนกครีเอทีฟประจำ “กันตนา กรุ๊ป” อีกครั้ง รับเงินเดือนน้อยลงเหลือแค่ 4,000 บาท บางครั้งเงินเดือนสูงๆ ไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตทำงาน ทำงานรอบนี้สนุกมาก สงสัยเหมาะกับจริตของเรา ทำให้นั่งทำงานที่นี่นานถึง 4 ปี งานสุดท้าย คือ การผลิตรายการเกมโชว์ ท้าทาย ซึ่งเจ้าของบริษัทแห่งหนึ่งที่ซื้อเวลาออกอากาศรายการทางช่อง 5 เอ่ยปากชวนไปทำรายการตอนเดินทางไปล่องเรือสำราญที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

จริงๆงานแรกเริ่มที่ “กันตนา กรุ๊ป” คือ ทำหน้าที่คัดจดหมายจากทางบ้านทีเขียนมาแนะนำเรื่องแปลกๆ หากทีมงานสนใจเรื่องไหน เขาจะให้เราเดินทางไปสำรวจเรื่องนั้นด้วยตัวเอง เราต้องไปดูว่า เรื่องที่เขาเขียนแนะนำมาน่าสนใจจริงหรือไม่ ถ้าโอเคเราต้องทำหน้าที่จำเส้นทางด้วย ระหว่างทางที่ไปต้องคอยส่องดูอีกว่า มีเรื่องอื่นที่น่าสนใจอีกหรือเปล่า เรียกง่ายๆต้องวางแผนการเดินทางให้กองถ่าย สนุกไปอีกแบบนะ

ทำรายการเกมโชว์ ท้าทาย ได้แค่ 1 ปี พี่คนสนิทที่ทำตำแหน่งโปรดิวเซอร์รายการเกมโชว์ด้วยกันรวมถึงเพื่อนๆในแวดวง ชักชวนให้ออกเปิดบริษัทผลิตรายการ ด้วยการออกเงินคนละ 250,000 บาท ทุนจดทะเบียนบริษัทแรกเริ่ม 1 ล้านบาท ภายใต้ชื่อ “แฮททริค โปรเฟสชั่นนัล” หรือ HATTRICK ตอนนั้นสนุกกันใหญ่ได้ทำทั้งโฆษณา รายการถ่ายทอดสด และมิวสิควีดีโอ เป็นต้น

เปิดบริษัทใหม่ๆงานเข้ามาเพียบ เชื่อหรือไม่!! “โกยกำไรหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ต่องาน” เพราะพี่โปรดิวเซอร์มีคอนเน็ตชั่นที่ดี เราทำงานกันแค่ 2 คน ทำไปช่วงเวลาหนึ่งเช็คของลูกค้าบางรายเริ่มเด้ง ลูกค้าที่เคยจ่ายตรงเวลากลายเป็นคนไม่ตรงเวลา ตอนนั้นยังไม่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เมื่อเริ่มเห็นสัญญาณออกแนวรู้ตัวก่อนล่วงหน้า เรามานั่งคุยกันทั้งๆที่เมืองไทยยังไม่มีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทว่า ตอนนี้บริษัทยังมีกำไร ฉะนั้นแบ่งเงินกันแล้วแยกย้ายไปทำงานบริษัทใหญ่ๆก่อนดีกว่ามั้ย เผื่อเศรษฐกิจไม่ดีบริษัทจะเจ๊งเอา

“สุดท้ายผมกลับไปทำงานกับเจ้าของบริษัทที่ทำรายการเกมโชว์ ท้าทาย พอดีเขาต้องการคนทำตำแหน่งครีเอทีฟเพิ่มเติม เพราะเขากำลังทำรายการถ่ายทอดสด สายตรงบันเทิง ซึ่งออนแอร์รายการไอทีวี ด้วยความที่มีประสบการณ์ค่อนข้างเยอะ บริษัทจึงให้เราไปนั่งตำแหน่งโปรดิเซอร์”

ทำงานได้ 4 ปี มีรุ่นน้องที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำลังจะเซ็ททีม เพื่อผลิตรายการโทรทัศน์ ภายใต้ชื่อ “บริษัท เนเวอร์แลนด์ จำกัด” เขามาชวนให้ไปนั่งตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิตรายการ หน้าที่หลัก คือ ตั้งทีมใหม่หาคนมาทำ “รายการแฟนซีโดน”

ด้วยความที่เคยเป็นครีเอทีฟมาก่อน ทำให้รู้สึกสนุกที่ได้คิดงาน แต่เมื่อต้องมานั่งเป็นผู้บริหาร เน้นดูแลเรื่องนโยบาย และติดต่อสถานี ออกแนวใส่สูทผูกเนคไทไปขอเวลาทางสถานี เดินสายพูดคุยประชุม ทำให้เริ่มรู้สึกว่า “ความสนุกน้อยลง” แต่เรายังได้เรียนรู้เรื่องการบริหาร ทำให้มุมมองของเราโตขึ้นระดับหนึ่ง

ทำงานได้เกือบ 4 ปี ผลปรากฎว่า สภาพคล่องของบริษัทเริ่มตรึงตัว ค่าเวลาออกอากาศสถานีเริ่มเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทต้องการลดค่าใช้จ่าย ด้วยการตัดพนักงานบางคนออกไป เราในฐานะผู้บริหารต้องทำหน้าที่ชี้เป็นชี้ตายให้คนออกบางส่วน ตอนนั้นรู้สึกไม่ไหวแล้ว ไม่อยากทำแบบนี้ ตัดสินใจลาออกเองดีกว่า เพราะเราเงินเดือนสูงถึง 50,000-60,000 บาท ฉะนั้นแทนที่จะมีคนออก 7 คน จะเหลือแค่ 2 คน อีกอย่างเริ่มสนใจอยากเขียนหนังสืออย่างจริงจัง หลังมีโอกาสได้ชิมลางแล้วเกิดติดใจ

“ผมลาออกตอนอายุ 40 ปี พอจะมีเงินเก็บหนักแสนบาท บ้านและรถผ่อนหมดแล้วเรียกว่า ไม่มีภาระค่าใช้จ่ายอะไรแล้ว ถือว่า พร้อมแล้วถึงออก”

“ประภาคาร” เริ่มต้นเล่าถึงที่มาของการลงทุนว่า ความสนใจเรื่องหุ้นเกิดขึ้นในช่วงที่ทำงานใน บริษัท เนเวอร์แลนด์ จำกัด ต้องบอกก่อนว่า “ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือวางแผนทางการเงิน เพราะอยากมีชีวิตที่ดี ไม่ต้องการมีหนี้สินเหมือนในอดีต และอยากมีเงินเลี้ยงดูครอบครัวให้สุขสบาย”

เมื่อแรงบันดาลใจเป็นเช่นนั้น จึงไปหาหนังสือต่างประเทศมาอ่าน เริ่มด้วยเรื่อง “คิดใหญ่ไม่คิดเล็ก” เขียนโดย David J. Schwartz ซึ่ง “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” เป็นผู้แปล ตอนนั้นจำชื่อคนแปลไว้ในใจ เขาวิ่งขึ้นไปชั้น 2 ของบ้าน เพื่อหยิบหนังสือเล่มนี้มาให้ “บิสวีค” ยลโฉม

ระหว่างนั้นยังได้อ่านหนังสือ “พ่อรวยสอนลูก” หรือ Rich Dad Poor Dad ของ “โรเบิร์ต คิโยซากิ” อ่านจบรู้สึกประทับใจมาก ในหนังสือจะบอกว่า หากมุนษย์เงินเดือนต้องการมี “อิสระภาพทางการเงิน” ควรเลือกที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจหรือนักลงทุน แม้วันนี้จะทำงานในบริษัทใหญ่โต แต่หากสภาพเศรษฐกิจไม่ดี คุณอาจโดนชี้ตัวให้ออกจากงานเป็นคนแรก เหมือนที่ “ดร.นิเวศน์” เคยโดนมาแล้ว

ตอนนั้นยังได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งของเครือเนชั่น ทำให้ได้รู้จักว่า ชายชื่อ “ดร.นิเวศน์” คือ นักลงทุนหุ้นเน้นคุณค่าชื่อดัง ความสนใจอยากลงทุนในตลาดหุ้นเริ่มตอกย้ำหนักขึ้น หลังเห็นเพื่อนที่ทำงานเป็นมาร์เก็ตติ้งคุยกับเพื่อนๆที่เล่นหุ้นด้วยกัน

“ผมตัดสินใจเปิดพอร์ตในปี 2546 กับบริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย จำกัด เงินทุนตั้งต้นก้อนแรก“หลักหมื่นบาท” ใจจริงแค่อยากลองเล่นดู “หุ้นตัวแรก” ลงทุนตามเพื่อน ด้วยการซื้อใบสำคัญแสดงสิทธิ หรือ Warrant หุ้น MS-W2 ราคา 0.60 บาท ตอนนี้เปลี่ยนชื่อไปแล้ว”

ผลออกมา คือ“ขาดทุน” เพราะราคาลงมาเหลือแค่ 0.40 บาท ทั้งๆที่เพื่อนมาร์เก็ตติ้งโทรมาถามแล้วว่า จะขายหรือไม่ หลังราคาขึ้นไป 0.62 บาท “ผมใช้เวลาในการถือวอร์แรนท์ตัวนี้แค่ 1 เดือน เหลือเงินกลับมาแค่หมื่นกว่าบาท จากทุน 20,000 บาท”

คราวนี้กลับมาตั้งหลักอ่านหนังสือใหม่อีกรอบ การลงทุนตามคนอื่น โดยไม่ได้ศึกษาคงไม่ใช่วิถีที่ดีนัก นั่นคือ ความคิดในช่วงนั้น บังเอิญไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เขาพูดถึง “หุ้นบูลชิพ” เมื่อเข้าไปศึกษาจริงๆจึงรู้ว่า หุ้นประเภทนี้ ไม่มีทางที่กิจการจะล่มจม

ในปี 2546 เริ่มใช้เงินประมาณ 60,000 บาท ในการซื้อ “หุ้นบูลชิพ” กลุ่มพลังงาน แบงก์และสื่อสาร ช่วงนั้นตลาดหุ้นไทยกำลังบูม ด้วยความที่เราเข้าไปตอนงานเลี้ยงกำลังเลิกลา ทำให้เกิดอาการ “หุ้นติดดอย” แต่ด้วยความที่เป็นเงินเย็น ฉะนั้นหุ้นจะติดให้ติดไป ไม่สนใจ เพราะเป้าหมายคือ “กินปันผล”

ถือหุ้นบูลชิพได้ 1 ปี ราคาหุ้นดีดกลับมา ทำให้ “หุ้นติดดอย” กลับมากำไรอีกครั้ง “ผมรีบขายทันทีได้ผลตอบแทนจากราคาหุ้นทั้ง 3 ตัว เฉลี่ย 5-6 เปอร์เซ็นต์ แต่ก่อนราคาหุ้นจะดีดขึ้น ผมได้เงินปันผลมาแล้วประมาณ 3-4 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ได้กำไรรวมๆเฉลี่ย 10 เปอร์เซ็นต์ การซื้อหุ้นบูลชิพครั้งนั้น ทำให้เข้าใจคำว่า “จังหวะลงทุน” ต่อให้หุ้นตัวนั้นดีแสนดี แต่หากจังหวะไม่ได้ ผลการลงทุนจะออกมาไม่ดีเท่าที่ควร”

ต่อ...

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่