ยิวกับคริสเตียน...เชื่อต่างกันอย่างไร ?? (แบ่งปันคริสเตียน)

.
                           

แท้ จริงแล้วความเชื่อของชาวยิวหรือที่เรียกว่าศาสนายิว ก็คือต้นกำเนิดหรือรากฐานของความเชื่อคริสเตียน  แต่มีจุดแยกจากกันที่องค์พระเยซูคริสต์

ในแง่ของผู้ก่อตั้ง  ศาสนายิวถือว่าโมเสส    ในขณะที่คริสเตียนถือว่า ศูนย์กลางอยู่ที่พระเยซูคริสต์

ในแง่ของพระคัมภีร์


  ยิวเรียกคัมภีร์ของตนว่า “ตานัค” (Tanak) แบ่งออกเป็น 3 ภาค คือ   โทราห์ หรือเบญจบรรณ (ซึ่งเชื่อว่าโมเสสเป็นผู้เขียน)  หนังสือผู้พยากรณ์   และหนังสือบทกลอน (สดุดี ฯลฯ) นอกจากนี้ยังมีคัมภีร์อีกเล่มหนึ่งซึ่งเป็นบทอธิบายเพิ่มเติมจากของเดิม  เรียกว่า “คัมภีร์ทัลมุด”  

ทัลมุดเป็นบทอธิบายเพิ่มเติมจากของเดิม แล้วรวบรวมไว้เป็นเล่มเราอาจเรียกว่าอรรถกถา ซึ่งใช้ควบคู่กับของเดิมที่มีอยู่ เรียกว่า “ทัลมุด” (Talmud) เขียนเป็นภาษาอารามาอิค และบางส่วนเขียนเป็นภาษาฮิบรู แบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ

1. มิชนาห์ (Mishnah)
เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับกฎหมายบ้านเมืองและกฎหมายที่เกี่ยวกับสังคม รวมไปถึงกฎหมายครอบครัว และแบบแห่งพิธีกรรม คัมภีร์นี้เขียนเป็นภาษาฮิบรู    

2. เจมารา (Gemara)
เป็นส่วนที่อธิบายมิชนาห์ และโตราห์ มีเนื้อหาเกี่ยวกับวิถีชีวิตของพวกยิวและเป็นตำราเรียนกฎหมายของนักศึกษา โดยเฉพาะคัมภีร์นี้เขียนด้วยภาษาอารามาอิค
  
สรุปก็คือคัมภีร์ทัลมุด (Talmud) เป็นคำอธิบายและขยายความหนังสือ “โทราห์” (พระคัมภีร์เดิมห้าเล่มแรกของโมเสส) และคำสอนอื่นๆของศาสนายิว คำว่า “ทัลมุดมาจากภาษาฮีบรู תַּלְמוּד” แปลว่า “การสอน หรือการเรียนรู้”    


ถึงแม้คำว่าทัลมุดนี้ไม่ปรากฏในพระคัมภีร์ แต่นับเป็นวรรณกรรมที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อชาวยิว พวกรับบี(ครู)ใช้เวลารวบรวมและบันทึกประมาณ1,000ปี ตั้งแต่สมัยของเอสรา(ปี 444 ก่อน ค.ศ.)  ในสมัยพระเยซู พวกฟาริสีสนับสนุนให้นำกฎเกณฑ์ต่างๆ มารวมไว้ในทัลมุด แต่พวกสะดูสีคัดค้านเพราะเห็นว่าควรถือตามโทราห์ เท่านั้น  

อย่างไรก็ตาม ชาวยิวส่วนใหญ่เชื่อกันว่า คำอธิบายและคำสั่งสอนของพวกบรรพบุรุษที่บันทึกในทัลมุดนั้นควรค่าแก่การ เชื่อถือและปฏิบัติตาม


ทำไปทำมา ทัลมุดทั้งที่ไม่ใช่พระคัมภีร์ แต่ทัลมุดซึ่งบรรดาอาจารย์ยุคหลังเขียนอธิบายเพิ่มเติมนี้ กลับได้มีอิทธิพลต่อชีวิตชาวยิวอย่างมากที่สุดจนครอบคลุมชีวิตชาวยิวในทุก ด้านมากกว่าพระคัมภีร์เดิมเสียอีก


(หมายเหตุ : ต้องอธิบายความเป็นมาเพิ่มเติมเกี่ยวกับทัลมุดว่า   ในสมัยโบราณ บรรดาธรรมาจารย์ของอิสราเอลจะอธิบายบัญญัติของโมเสส แล้วสอนลูกศิษย์ให้ท่องจำคำอธิบายเหล่านั้นสืบต่อกันมาเป็นรุ่นๆ จนกระทั่งในราวปี200ก่อน คริสตกาล จึงเริ่มบันทึกเป็นหนังสือที่เรียกว่า”มิชนาห์ (Mishnah)”แปลว่า”การพูดซ้ำๆ หรือ การท่องจำ”


ในมิชนาห์นั้นมีการอธิบายและประยุกต์ธรรมบัญญัติเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำ วัน เช่น ธรรมบัญญัติห้ามทำงานในวันสะบาโต ก็ต้องมีการกำหนดกันว่าสิ่งใดบ้างคือการทำงาน หนังสือมิชนาห์จึงถูกเรียกว่า “หลักเหล็กของโทราห์” เพราะกำหนดวิถีชีวิตของชาวยิวในการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ วรรณกรรมที่เรียกว่ามิชนาห์รวบรวมเสร็จในราวปี ค.ศ.150   ต่อมาในช่วงปีค.ศ.250-500 บรรดารับบี(ครู)ได้ทำการอภิปรายและตีความหมายคำสอนในมิชนาห์อีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงเขียนเป็นหนังสือชุดใหญ่ เรียกว่า”ทัลมุด”


ทัลมุดมีสองฉบับคือ “ทัลมุดแห่งบาบิโลน” และ “ทัลมุดแห่งเยรูซาเล็ม”  แต่ฉบับบาบิโลนมีรายละเอียดมากกว่า จึงถือว่าเป็นฉบับมาตรฐานในสมัยต่อมา) ทัลมุดเป็นวรรณกรรมชุดใหญ่มาก มี36 เล่ม แต่ละเล่มหนาประมาณ1,000 หน้าซึ่งสอนเกี่ยวกับวิชาต่างๆโดยพิจารณาจากแง่มุมของโทราห์ เช่นเรื่องเทศกาลต่างๆ กฎเกณฑ์เรื่องอาหารและวันสะบาโตการปกครองบ้านเมือง ชีวิตสมรส และเรื่องอื่นๆ  


หนังสือทัลมุดจึงเป็นกรอบที่ครอบคลุมชีวิตทุกด้านของชาวยิว บัญญัติในทัลมุดควบคุมชีวิตอย่างละเอียดมาก จนกระทั่งกลายเป็น “ภาระหนัก” ของชาวยิว และนี่เองเป็นที่มาของถ้อยคำที่พระเยซูตรัสว่า “บรรดาผู้ลำบากเหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาหาเรา เราจะให้ท่านหายเหนื่อยเป็นสุข   ด้วยว่าแอกของเราก็พอเหมาะ และภาระของเราก็เบา” (มัทธิว 11:27)


ตรงนี้พระองค์กำลังเน้นเรื่องทัลมุดโดยตรง  (รวมไปถึงการถือเคร่งตามพระบัญญัติเดิมตามตัวอักษร)





ในเรื่องหลักความเชื่อ


สิ่งที่เป็นจุดแยกจากกันและไม่อาจรวมกันได้ ระหว่างยิวกับคริสเตียนก็คือเรื่องขององค์พระเยซูคริสต์  ในขณะคริสเตียนถือว่า พระเยซูคือพระบุตรของพระเจ้าที่เสด็จมาประสูติในโลก และสิ้นพระชนม์บนกางเขนเพื่อไถ่บาปมวลมนุษย์และเป็นขึ้นจากความตาย ชาวยิวมิอาจรับเรื่องนี้ได้เลย  ศาสนายิวถือว่าพระเยซู เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา  เป็น “รับบีเยซู” หรือ อาจารย์เยซู  


เขาเชื่อว่าพระเจ้ามีองค์เดียวเท่านั้น ไม่อาจสามารถยอมรับเรื่องพระเจ้าตรีเอกานุภาพได้เลย     และไม่เชื่อว่าพระเยซูสิ้นพระชนม์และฟื้นขึ้นจากความตาย เชื่อมากกว่าว่า พระศพถูกเหล่าสาวกขโมยไป ที่จริงแล้วชาวศาสนายิวไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับพระเยซูเสียทีเดียว


บุคคลที่ศาสนายิวไม่พอใจที่สุดคือ ท่านเปาโล  ศาสนายิวถือว่าเปาโลนี่เองที่เป็นผู้ก่อตั้งศาสนาคริสต์ โดยเอารับบีเยซู มาสร้างภาพให้เป็นพระคริสต์    จนผู้คนนับถือกันไปทั่ว และเริ่มแยกศาสนายิวให้เกิดนิกายใหม่ ในที่สุดก็กลายเป็นพวกคริสเตียนขึ้นมา ศาสนายิวไม่เชื่อเรื่องที่เปาโลได้รับนิมิตระหว่างการเดินทางไปดามัสกัส ที่บอกว่าเห็นแสงสว่างจ้าและพระเยซูมาปรากฏและตรัสกับท่าน  

แต่อธิบายว่า เปาโลน่าจะเป็นโรคลมบ้าหมู ซึ่งเป็นโรคที่คนยุคนั้นเป็นกันมาก

  

ในเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับความรอด  


ต้องเชื่อในพระเจ้าพระยาห์เวห์องค์เดียว   และปฏิบัติตามพระบัญญัติ     และวันสุดท้าย ดวงวิญญาณทุกดวงจะกลับฟื้นคืนมาใหม่และได้รับการพิพากษาในวันสุดท้าย  เชื่อว่าการกระทำของมนุษย์จะได้รับการพิพากษาในวันสุดท้ายแห่งการสิ้นโลก ผู้กระทำดี โดยทำตามบัญญัติ พระเจ้าก็จะทรงนำไปสู่สวรรค์  ผู้กระทำความชั่วจะต้องไต่สะพานลงนรก

เมื่อดับจิตดวงวิญญาณจะวนเวียนอยู่ใกล้ร่างเป็นเวลา 3 วัน ได้รับคำพิพากษาว่าจะให้ไปทางใด ก็จะไปทางนั้น สวรรค์มีอยู่ 7 ชั้น และนรกมีอยู่ 7 ชั้น




ในแง่หลักปฏิบัติในชีวิต  นอกจากพระบัญญัติ 10 ประการที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดแล้ว ก็ยังมีพระบัญญัติอื่นๆ ด้วย เช่นเรื่องการกิน จะเคร่งครัดมากที่ จะไม่รับประทานสัตว์บางชนิด เช่น สัตว์เคี้ยวเอื้องมีกีบที่เท้าไม่ผ่า ถือเป็นสัตว์มีมลทิน เช่น อูฐ กระต่าย กระจงผา

  และแม้แต่สัตว์ที่เท้ามีกีบผ่า แต่ไม่เคี้ยวเอื้อง บางอย่างก็ไม่ทานด้วย เช่น  หมู ถือเป็นสัตว์มลทินเช่นกัน   นี่ยังรวมถึงสัตว์น้ำที่ไม่มีครีบและเกล็ด  

และนกอีกหลายชนิด  นกอินทรี แร้ง นกเหยี่ยวหางดำ นกเหยี่ยวหางยาว นกเหยี่ยวเขา นกแก นอกกระจอกเทศ นกนางนวล นกเค้าโมง นกเค้าแมวเล็ก นกค้างคาว นกทึดทือ นกอีโก้ง นกกระทุง นกอ้ายงั่ว นกกระสา นกหัวขวาน  และแมลงมีปีกทุกชนิด  

ไปจนถึงสัตว์ที่ตายเองห้ามรับประทาน   เลือดก็ไม่กิน เรื่องกินนี่ศาสนายิวจริงจังมากกว่าคริสเตียนมากทีเดียว   คริสเตียนแม้ว่าจะบอกว่าถือพระคัมภีร์เดิมด้วย แต่ก็ไม่ถือเคร่งในเรื่องกินมากเท่าศาสนายิว





ศาสนายิวนมัสการที่ไหนอย่างไร?


เดิมศูนย์กลางการนมัสการของศาสนายิวอยู่ที่พระวิหารที่ถูกสร้างในสมัย กษัตริย์โซโลมอน   แต่ต่อมาวิหารได้ถูกทำลายไป  จนกระทั่งในภายหลังพวกยิวได้สร้างสถานที่ทำพิธีกรรมตามแบบฉบับของพวกตน เรียก “ธรรมศาลา” ภาษาอังกฤษเรียก Synagogue  บางทีคนไทยก็เรียกสุเหร่ายิว     โดยแต่ละธรรมศาลาจะปกครองตนเองโดยมีพวก แรบไบหรือรับบี (rabbi) ซึ่งทำหน้าที่เป็นครูอาจารย์ ที่คอยสอนโดยตีความบทบัญญัติ  และต้องเป็นบุคคลที่ได้ศึกษาคัมภีร์มาในเมืองไทยก็มีธรรมศาลายิวอยู่สองแห่ง




ดาว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่