โดย อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
เมเนเจอร์ออนไลน์
http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9570000018643
อาจเป็นเพราะส่วนตัวที่มักจะชอบหนังซึ่งมีคำว่า Time หรือ “เวลา” อยู่ในชื่อเรื่อง “เวลา” เป็นสิ่งสำคัญเพียงสิ่งเดียวในโลกที่เมื่อผ่านไปแล้วไม่มีวันย้อนกลับมา และเวลาก็ถูกกล่าวถึงในหลากหลายมิติในภาพยนตร์
Ashes of Time บอกกล่าวกับเราว่าถึงแม้วันเวลาจะพ้นผ่านไปเนิ่นนานเพียงใด แต่ถ้าหัวใจยังยึดมั่นอยู่กับความเจ็บปวดในวันเก่าก่อนอย่างไม่ยอมปล่อยวาง เวลาก็ช่วยอะไรไม่ได้, หนังเกาหลีอย่าง Time สะท้อนความจริงอันน่าเจ็บปวดออกมาว่าหัวใจของผู้คนนั้นยากแท้หยั่งถึงและพลิกแปรเปลี่ยนผันได้ดุจเดียวกับริ้วรอยบนใบหน้า และถ้าหนังอย่าง In Time เลียบๆ เคียงๆ บอกถึงการใช้ชีวิตให้มีคุณค่ากับเวลาที่มีอย่างจำกัด หนังแบบ About Time ก็คงส่งเสียงเกี่ยวกับเรื่องเวลาในแง่มุมที่เข้าอกเข้าใจว่า เมื่อเราไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขเรื่องราวในอดีตได้ หัวใจสำคัญของการใช้เวลา จึงหมายถึงการสร้างปัจจุบันให้งดงามและมีคุณค่ามากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
และในทำนองเดียวกันนั้น ปฏิเสธได้ยากว่า “เวลา” ไม่ใช่แมสเสจสำคัญที่หนังอย่าง “ไทม์ไลน์ จดหมาย ความทรงจำ” (Timeline) ถ่ายทอดสู่คนดู มันมีเรื่องราวหลากหลายอยู่ใน “เส้นเวลา” หรือ Timeline หลายเรื่องงดงามในความทรงจำทุกครั้งที่นึกถึง ขณะที่อีกเรื่องหนึ่งหรือหลายๆ เรื่อง มีความโศกเสียใจอยู่ในนั้น...
นี่คือผลงานล่าสุดจากผู้กำกับ “นนทรีย์ นิมิบุตร” ซึ่งแม้จะไม่พูดว่าเป็นภาคต่อของหนังรักเมื่อสิบปีก่อนอย่าง “เดอะ เลตเตอร์ จดหมายรัก” ด้วยเหตุผลบางประการ แต่ใครก็ตามที่ได้ดูทั้งเดอะ เลตเตอร์ และไทม์ไลน์ จะพบว่ามันมีองค์ประกอบมวลสารด้านเนื้อหาเรื่องราวที่เชื่อมโยงคาบเกี่ยวและเป็นเหตุเป็นผลต่อกันอย่างปฏิเสธไม่ได้ เดอะ เลตเตอร์ นั้นเล่นกับความคลาสสิกของยุคสมัยที่จดหมายถูกใช้เป็นสื่อแห่งความรักความห่วงหา ส่วนไทม์ไลน์ขยับใกล้เข้ามาสู่ยุคร่วมสมัยที่คำว่า “สเตตัส” และ “คอมเมนท์” เป็นความคุ้นเคยของผู้คนยุคเฟซบุ๊ก
ตัวเรื่องนั้นต่อเนื่องมาจากเดอะ เลตเตอร์ ภายหลังการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของคนรัก “มัท” ก็ต้องฟูมฟักดูแลลูกชายเพียงลำพัง กระทั่งลูกเติบใหญ่และเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ นอกจากความผูกพันระหว่างแม่กับลูกที่ต้องไกลห่างเมื่อถึงวาระ หนังยังมีพล็อตเรื่องอีกอันที่ดำเนินคู่ขนานกันไป นั่นก็คือเรื่องราวของลูกชายกับชีวิตในมหาวิทยาลัยที่กำลังโดนท้าทายในเรื่องรัก ระหว่างเขากับเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง “จูน” และหญิงสาวรุ่นพี่อย่าง “อร” แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เนื้อหาทุกส่วนก็ดูจะสะท้อนกันและกันอย่างเป็นเอกภาพ เพื่อนำคนดูไปสู่ความรู้สึกอันลึกซึ้งกับความหมายของ “ความรัก” และ “ความทรงจำ”
คนทำหนังที่เป็นนักคิดหรือชอบคิด มักจะละเอียดในทุกขั้นตอน และผมก็เห็นว่างานชิ้นนี้ คุณอุ๋ย-นนทรีย์ ผ่านการวางแผนมาอย่างดี เรียกว่าเก็บแทบจะทุกเม็ด ไม่เว้นกระทั่งชื่อของตัวละคร โดยเฉพาะบทของ “เจมส์ จิรายุ ตั้งศรีสุข” กับชื่อ “แทน” ความหมายที่เราสัมผัสได้ในหนังอย่างเด่นชัดก็คือ ตั้งแต่เล็กจนโต เขาเหมือนจะถูกมองในสถานะของการเป็นเครื่องหมายหรือตัวแทนของใครอื่นซึ่งไม่ใช่ตัวเขา จนกระทั่งนำไปสู่ความรู้สึกของการถูกกดทับและไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ คำที่จูนว่ากล่าวแทนในทำนองว่า เมื่อไหร่จะรู้ว่าตัวเองต้องการอะไรสักที บางทีมันอาจจะเป็นผลพวงมาจากการที่เขาตกอยู่ในบรรยากาศของการเป็น “ตัวแทน” มานานเกินไป ก็เป็นได้
และถ้าจะสืบค้นลงไปในความหมายของตัวละครอย่าง “มัท” ที่รับบทโดยคุณป๊อก-ปิยธิดา วรมุสิก ชื่อตัวละครก็ดูมีความหมายที่ทำให้รู้สึกว่าไม่ได้ตั้งขึ้นมาอย่างลอยๆ เพราะ “มัท” ในเสียงพูด ก็พ้องกันกับคำว่า “มัด” ซึ่งชวนให้รู้สึกถึงการยึดมั่นไม่ปล่อยวาง ตัวละครของคุณป๊อกก็เป็นเช่นนั้น เพราะแม้คืนวันจะผันผ่านไปนานเพียงใด แต่เธอก็ดูเหมือนจะร้อยรัด “มัด” ตัวเองไว้กับอดีต และที่สำคัญ นอกจาก “มัดตัวเอง” เธอยัง “มัดผู้อื่น” ไปด้วย แต่ถ้าจะมองไปให้ไกลกว่านั้นอีก ชื่อตัวละครตัวนี้ ยังชวนให้นึกถึง “มัทนพาธา” บทละครพูดคำฉันท์ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ คำว่า “มัทนพาธา” มาจากภาษาสันสกฤตที่มีความหมายว่าเจ็บปวดหรือเดือดร้อนเพราะความรัก ถ้าตัดเหลือเพียงคำว่า “มัทนา” จะหมายถึงความลุ่มหลงหรือความรัก ผมมอง “มัท” ในไทม์ไลน์ แล้วใจก็นึกไปถึง “มัทนา” หญิงสาวตัวเอกในพระราชนิพนธ์ดังกล่าว เพราะนอกจากมัทจะมีความทุกข์กับเรื่องรัก (ในแง่ที่ไม่ปล่อยวาง) ประเด็นการเข้ามาของ “วัฒน์” ที่มัทไม่อาจเปิดรับ ก็ชวนให้คิดถึงมัทนาที่แม้ว่าสุเทษณ์เทพบุตรจะวิงวอนฝากรักเพียงใด แต่นางก็ไม่ยอมรับรัก
ในส่วนของ “จูน” ที่รับบทโดยคุณเต้ย-จรินทร์พร บุณยเกียรติ ก็ไม่ต่างกัน มันผ่านการวางแผนในการตั้งชื่อมาแล้วอย่างเหมาะสมกับเรื่องราว เธอคือหญิงสาวที่มาพร้อมกับความน่ารักชังและทำให้หนังมีสีสันความร่าเริง แต่ลึกๆ “จูน” ก็ต้อง “ปรับจูน” ความรู้สึกของตัวเองให้สมดุลและดำรงอยู่ให้ได้ และเหนืออื่นใด เธอมีส่วนอย่างสำคัญในการช่วยกระตุ้นและปรับจูนผู้อื่นให้ค้นหาและค้นพบตัวเอง
ไทม์ไลน์นั้นวางตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองในการเป็นหนังรักอย่างเต็มที่ หนังมีฉากบีบคั้นและซีนบีบเค้นอารมณ์แทรกอยู่ตลอดทั้งเรื่อง โดยเฉพาะบทของคุณป๊อก-ปิยธิดา แทบทุกฉากที่เธอเข้าบท ต้องได้เห็นน้ำตาสักหยดหรือไม่ก็ประกายแห่งความเศร้าในแววตา มันอาจดูฟุ่มเฟือยในความฟูมฟายสำหรับใครหลายคน แต่ก็เป็นการฟูมฟายแบบสมเหตุสมผลยอมรับได้ ผมรู้สึกว่า หนังรักดราม่าที่ดีๆ ส่วนมากนั้น มักจะมีด้านโศกผสมอยู่ในสัดส่วนค่อนข้างสูง ความโศกเศร้ามักทำให้เราเข้าใจอะไรๆ ได้ลึกซึ้ง เหมือนกับว่าถ้าไม่เศร้าเสียบ้าง ก็คงยังไม่เข้าใจ สำหรับไทม์ไลน์ ภาพใหญ่ๆ มันคือหนังรัก “โศกปนซึ้ง” และพาเราก้าวไปถึงจุดที่เป็นความเข้าอกเข้าใจในแบบที่ควรจะเป็น
เรื่องระหว่างทางนั้นไม่มีปัญหา ผมคิดว่าหนังมีบทที่ดีต่อการดึงความสนใจของคนดูให้ก้าวเดินไปกับเรื่องได้ตลอดรอดฝั่งอย่างปราศจากความเบื่อหน่าย ผมว่าคุณอุ๋ย-นนทรีย์ มักจะทำได้ดีกับหนังที่บิลท์ๆ อารมณ์คนดูหน่อย นั่นหมายถึงคุณอุ๋ย-นนทรีย์ สามารถจัดการได้อยู่หมัดกับความดราม่า นางนากเอย โอเคเบตงเอย หรือแม้กระทั่ง 2499 อันธพาลครองเมือง ที่แม้จะดูเป็นหนังแก๊งสเตอร์ แต่จริงๆ มันอาบรดไปด้วยอารมณ์เชิงดราม่าสูงมาก ที่พูดแบบนี้ เพราะพอคุณอุ๋ย-นนทรีย์ ฉีกไปเล่นกับแพทเทิร์นอื่นๆ อย่าง “ปืนใหญ่จอมสลัด” หรือแม้กระทั่งหนังสืบสวนสอบสวนอย่าง “คน โลก จิต” ผมรู้สึกว่า เหมือนมือของเขาจะแกว่งๆ และเอาไม่ค่อยอยู่
แต่เอาล่ะ ในไทม์ไลน์ของคนหนึ่งคน ย่อมปะปนไปด้วยประวัติศาสตร์เรื่องราวหลากหลาย ไม่มีทางที่ชีวิตใครจะพบพานแต่เรื่องสวยงามความสำเร็จ บางเวลานาที เราอาจต้องเตร็ดเตร่เร่ไปในความโศกเศร้า ดุจเดียวกับไทม์ไลน์ของตัวละครแต่ละคนในเรื่องที่มากมายสีสันความรู้สึก
อย่างไรก็ดี พูดกันอย่างถึงที่สุด ไม่ว่าหนังจะพาเราเดินทางไปสู่ห้วงโศกและโลกซึ้งๆ ของความรักมากมายเพียงใด แต่สุดท้าย ผมมองว่าความงดงามเชิงเนื้อหาของงานชิ้นนี้ที่คุณอุ๋ย-นนทรีย์ มอบให้กับคนดู กลับเป็นคติธรรมความคิดที่น่าจะเกี่ยวเนื่องกับวันเวลารวมถึงวุฒิภาวะในชีวิตของคุณอุ๋ย-นนทรีย์ ด้วย
เราอาจโศกเศร้า เราอาจสูญเสีย อะไรๆ ก็หลายอย่าง แต่สุดท้าย การปล่อยวางอย่างเข้าอกเข้าใจ น่าจะเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เราดำรงอยู่ในโลกได้อย่างไม่ทุกข์โศกร้อนรนจนเกินไปนัก และเมื่อนั้น ไม่ว่าเศร้าที่พบหรือว่าสุขที่ผ่าน ก็จะเป็น “จดหมาย” จากวันวานที่แว่วไหวอยู่ใน “ความทรงจำ”...
Timeline จดหมาย ความทรงจำ : โศกซึ้ง งดงาม ในความรัก
เมเนเจอร์ออนไลน์
http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9570000018643
อาจเป็นเพราะส่วนตัวที่มักจะชอบหนังซึ่งมีคำว่า Time หรือ “เวลา” อยู่ในชื่อเรื่อง “เวลา” เป็นสิ่งสำคัญเพียงสิ่งเดียวในโลกที่เมื่อผ่านไปแล้วไม่มีวันย้อนกลับมา และเวลาก็ถูกกล่าวถึงในหลากหลายมิติในภาพยนตร์
Ashes of Time บอกกล่าวกับเราว่าถึงแม้วันเวลาจะพ้นผ่านไปเนิ่นนานเพียงใด แต่ถ้าหัวใจยังยึดมั่นอยู่กับความเจ็บปวดในวันเก่าก่อนอย่างไม่ยอมปล่อยวาง เวลาก็ช่วยอะไรไม่ได้, หนังเกาหลีอย่าง Time สะท้อนความจริงอันน่าเจ็บปวดออกมาว่าหัวใจของผู้คนนั้นยากแท้หยั่งถึงและพลิกแปรเปลี่ยนผันได้ดุจเดียวกับริ้วรอยบนใบหน้า และถ้าหนังอย่าง In Time เลียบๆ เคียงๆ บอกถึงการใช้ชีวิตให้มีคุณค่ากับเวลาที่มีอย่างจำกัด หนังแบบ About Time ก็คงส่งเสียงเกี่ยวกับเรื่องเวลาในแง่มุมที่เข้าอกเข้าใจว่า เมื่อเราไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขเรื่องราวในอดีตได้ หัวใจสำคัญของการใช้เวลา จึงหมายถึงการสร้างปัจจุบันให้งดงามและมีคุณค่ามากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
และในทำนองเดียวกันนั้น ปฏิเสธได้ยากว่า “เวลา” ไม่ใช่แมสเสจสำคัญที่หนังอย่าง “ไทม์ไลน์ จดหมาย ความทรงจำ” (Timeline) ถ่ายทอดสู่คนดู มันมีเรื่องราวหลากหลายอยู่ใน “เส้นเวลา” หรือ Timeline หลายเรื่องงดงามในความทรงจำทุกครั้งที่นึกถึง ขณะที่อีกเรื่องหนึ่งหรือหลายๆ เรื่อง มีความโศกเสียใจอยู่ในนั้น...
นี่คือผลงานล่าสุดจากผู้กำกับ “นนทรีย์ นิมิบุตร” ซึ่งแม้จะไม่พูดว่าเป็นภาคต่อของหนังรักเมื่อสิบปีก่อนอย่าง “เดอะ เลตเตอร์ จดหมายรัก” ด้วยเหตุผลบางประการ แต่ใครก็ตามที่ได้ดูทั้งเดอะ เลตเตอร์ และไทม์ไลน์ จะพบว่ามันมีองค์ประกอบมวลสารด้านเนื้อหาเรื่องราวที่เชื่อมโยงคาบเกี่ยวและเป็นเหตุเป็นผลต่อกันอย่างปฏิเสธไม่ได้ เดอะ เลตเตอร์ นั้นเล่นกับความคลาสสิกของยุคสมัยที่จดหมายถูกใช้เป็นสื่อแห่งความรักความห่วงหา ส่วนไทม์ไลน์ขยับใกล้เข้ามาสู่ยุคร่วมสมัยที่คำว่า “สเตตัส” และ “คอมเมนท์” เป็นความคุ้นเคยของผู้คนยุคเฟซบุ๊ก
ตัวเรื่องนั้นต่อเนื่องมาจากเดอะ เลตเตอร์ ภายหลังการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของคนรัก “มัท” ก็ต้องฟูมฟักดูแลลูกชายเพียงลำพัง กระทั่งลูกเติบใหญ่และเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ นอกจากความผูกพันระหว่างแม่กับลูกที่ต้องไกลห่างเมื่อถึงวาระ หนังยังมีพล็อตเรื่องอีกอันที่ดำเนินคู่ขนานกันไป นั่นก็คือเรื่องราวของลูกชายกับชีวิตในมหาวิทยาลัยที่กำลังโดนท้าทายในเรื่องรัก ระหว่างเขากับเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง “จูน” และหญิงสาวรุ่นพี่อย่าง “อร” แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เนื้อหาทุกส่วนก็ดูจะสะท้อนกันและกันอย่างเป็นเอกภาพ เพื่อนำคนดูไปสู่ความรู้สึกอันลึกซึ้งกับความหมายของ “ความรัก” และ “ความทรงจำ”
คนทำหนังที่เป็นนักคิดหรือชอบคิด มักจะละเอียดในทุกขั้นตอน และผมก็เห็นว่างานชิ้นนี้ คุณอุ๋ย-นนทรีย์ ผ่านการวางแผนมาอย่างดี เรียกว่าเก็บแทบจะทุกเม็ด ไม่เว้นกระทั่งชื่อของตัวละคร โดยเฉพาะบทของ “เจมส์ จิรายุ ตั้งศรีสุข” กับชื่อ “แทน” ความหมายที่เราสัมผัสได้ในหนังอย่างเด่นชัดก็คือ ตั้งแต่เล็กจนโต เขาเหมือนจะถูกมองในสถานะของการเป็นเครื่องหมายหรือตัวแทนของใครอื่นซึ่งไม่ใช่ตัวเขา จนกระทั่งนำไปสู่ความรู้สึกของการถูกกดทับและไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ คำที่จูนว่ากล่าวแทนในทำนองว่า เมื่อไหร่จะรู้ว่าตัวเองต้องการอะไรสักที บางทีมันอาจจะเป็นผลพวงมาจากการที่เขาตกอยู่ในบรรยากาศของการเป็น “ตัวแทน” มานานเกินไป ก็เป็นได้
และถ้าจะสืบค้นลงไปในความหมายของตัวละครอย่าง “มัท” ที่รับบทโดยคุณป๊อก-ปิยธิดา วรมุสิก ชื่อตัวละครก็ดูมีความหมายที่ทำให้รู้สึกว่าไม่ได้ตั้งขึ้นมาอย่างลอยๆ เพราะ “มัท” ในเสียงพูด ก็พ้องกันกับคำว่า “มัด” ซึ่งชวนให้รู้สึกถึงการยึดมั่นไม่ปล่อยวาง ตัวละครของคุณป๊อกก็เป็นเช่นนั้น เพราะแม้คืนวันจะผันผ่านไปนานเพียงใด แต่เธอก็ดูเหมือนจะร้อยรัด “มัด” ตัวเองไว้กับอดีต และที่สำคัญ นอกจาก “มัดตัวเอง” เธอยัง “มัดผู้อื่น” ไปด้วย แต่ถ้าจะมองไปให้ไกลกว่านั้นอีก ชื่อตัวละครตัวนี้ ยังชวนให้นึกถึง “มัทนพาธา” บทละครพูดคำฉันท์ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ คำว่า “มัทนพาธา” มาจากภาษาสันสกฤตที่มีความหมายว่าเจ็บปวดหรือเดือดร้อนเพราะความรัก ถ้าตัดเหลือเพียงคำว่า “มัทนา” จะหมายถึงความลุ่มหลงหรือความรัก ผมมอง “มัท” ในไทม์ไลน์ แล้วใจก็นึกไปถึง “มัทนา” หญิงสาวตัวเอกในพระราชนิพนธ์ดังกล่าว เพราะนอกจากมัทจะมีความทุกข์กับเรื่องรัก (ในแง่ที่ไม่ปล่อยวาง) ประเด็นการเข้ามาของ “วัฒน์” ที่มัทไม่อาจเปิดรับ ก็ชวนให้คิดถึงมัทนาที่แม้ว่าสุเทษณ์เทพบุตรจะวิงวอนฝากรักเพียงใด แต่นางก็ไม่ยอมรับรัก
ในส่วนของ “จูน” ที่รับบทโดยคุณเต้ย-จรินทร์พร บุณยเกียรติ ก็ไม่ต่างกัน มันผ่านการวางแผนในการตั้งชื่อมาแล้วอย่างเหมาะสมกับเรื่องราว เธอคือหญิงสาวที่มาพร้อมกับความน่ารักชังและทำให้หนังมีสีสันความร่าเริง แต่ลึกๆ “จูน” ก็ต้อง “ปรับจูน” ความรู้สึกของตัวเองให้สมดุลและดำรงอยู่ให้ได้ และเหนืออื่นใด เธอมีส่วนอย่างสำคัญในการช่วยกระตุ้นและปรับจูนผู้อื่นให้ค้นหาและค้นพบตัวเอง
ไทม์ไลน์นั้นวางตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองในการเป็นหนังรักอย่างเต็มที่ หนังมีฉากบีบคั้นและซีนบีบเค้นอารมณ์แทรกอยู่ตลอดทั้งเรื่อง โดยเฉพาะบทของคุณป๊อก-ปิยธิดา แทบทุกฉากที่เธอเข้าบท ต้องได้เห็นน้ำตาสักหยดหรือไม่ก็ประกายแห่งความเศร้าในแววตา มันอาจดูฟุ่มเฟือยในความฟูมฟายสำหรับใครหลายคน แต่ก็เป็นการฟูมฟายแบบสมเหตุสมผลยอมรับได้ ผมรู้สึกว่า หนังรักดราม่าที่ดีๆ ส่วนมากนั้น มักจะมีด้านโศกผสมอยู่ในสัดส่วนค่อนข้างสูง ความโศกเศร้ามักทำให้เราเข้าใจอะไรๆ ได้ลึกซึ้ง เหมือนกับว่าถ้าไม่เศร้าเสียบ้าง ก็คงยังไม่เข้าใจ สำหรับไทม์ไลน์ ภาพใหญ่ๆ มันคือหนังรัก “โศกปนซึ้ง” และพาเราก้าวไปถึงจุดที่เป็นความเข้าอกเข้าใจในแบบที่ควรจะเป็น
เรื่องระหว่างทางนั้นไม่มีปัญหา ผมคิดว่าหนังมีบทที่ดีต่อการดึงความสนใจของคนดูให้ก้าวเดินไปกับเรื่องได้ตลอดรอดฝั่งอย่างปราศจากความเบื่อหน่าย ผมว่าคุณอุ๋ย-นนทรีย์ มักจะทำได้ดีกับหนังที่บิลท์ๆ อารมณ์คนดูหน่อย นั่นหมายถึงคุณอุ๋ย-นนทรีย์ สามารถจัดการได้อยู่หมัดกับความดราม่า นางนากเอย โอเคเบตงเอย หรือแม้กระทั่ง 2499 อันธพาลครองเมือง ที่แม้จะดูเป็นหนังแก๊งสเตอร์ แต่จริงๆ มันอาบรดไปด้วยอารมณ์เชิงดราม่าสูงมาก ที่พูดแบบนี้ เพราะพอคุณอุ๋ย-นนทรีย์ ฉีกไปเล่นกับแพทเทิร์นอื่นๆ อย่าง “ปืนใหญ่จอมสลัด” หรือแม้กระทั่งหนังสืบสวนสอบสวนอย่าง “คน โลก จิต” ผมรู้สึกว่า เหมือนมือของเขาจะแกว่งๆ และเอาไม่ค่อยอยู่
แต่เอาล่ะ ในไทม์ไลน์ของคนหนึ่งคน ย่อมปะปนไปด้วยประวัติศาสตร์เรื่องราวหลากหลาย ไม่มีทางที่ชีวิตใครจะพบพานแต่เรื่องสวยงามความสำเร็จ บางเวลานาที เราอาจต้องเตร็ดเตร่เร่ไปในความโศกเศร้า ดุจเดียวกับไทม์ไลน์ของตัวละครแต่ละคนในเรื่องที่มากมายสีสันความรู้สึก
อย่างไรก็ดี พูดกันอย่างถึงที่สุด ไม่ว่าหนังจะพาเราเดินทางไปสู่ห้วงโศกและโลกซึ้งๆ ของความรักมากมายเพียงใด แต่สุดท้าย ผมมองว่าความงดงามเชิงเนื้อหาของงานชิ้นนี้ที่คุณอุ๋ย-นนทรีย์ มอบให้กับคนดู กลับเป็นคติธรรมความคิดที่น่าจะเกี่ยวเนื่องกับวันเวลารวมถึงวุฒิภาวะในชีวิตของคุณอุ๋ย-นนทรีย์ ด้วย
เราอาจโศกเศร้า เราอาจสูญเสีย อะไรๆ ก็หลายอย่าง แต่สุดท้าย การปล่อยวางอย่างเข้าอกเข้าใจ น่าจะเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เราดำรงอยู่ในโลกได้อย่างไม่ทุกข์โศกร้อนรนจนเกินไปนัก และเมื่อนั้น ไม่ว่าเศร้าที่พบหรือว่าสุขที่ผ่าน ก็จะเป็น “จดหมาย” จากวันวานที่แว่วไหวอยู่ใน “ความทรงจำ”...