สอนลูก เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ตอนวิธีของ ‘มืออาชีพ’

สอนลูก เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ตอนวิธีของ ‘มืออาชีพ’
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม 2548
http://clinicdek.com-th.com/

หลังจากหลงฟังคนไม่มีลูกให้ความรู้เรื่อง “สอนลูก เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ” มาตั้งนาน แม้ว่าจะได้แนวคิดแนวทาง แต่ก็ไม่ได้บรรยากาศเท่าไร เพราะฉะนั้น เรามาส่งท้ายสำหรับมหากาพย์เรื่องนี้ ด้วยประสบการณ์จริงกันบ้างดีกว่า แต่ประสบการณ์ของใครจะน่าสนใจและกระตุ้นต่อมอยากรู้อยากเห็นได้มากเท่ากับประสบการณ์ของคนที่ได้ชื่อว่า “มืออาชีพ” ทางด้านเงิน ๆ ทอง ๆ คนที่เราคาดหวังว่า เขาและเธอจะมีวิธีการสอนลูก เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ได้ไม่ด้อยกว่าใคร และน่าจะเป็นแนวทางสำหรับคุณพ่อคุณแม่ท่านอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี

ชาลอต โทณวณิก
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

สำหรับลูกวัย 11 ขวบ ของคุณแม่คนนี้ ได้รับการปลูกฝังความฉลาดทางการเงินมาตั้งแต่เด็ก โดยเน้นไปที่การเรียนรู้จากประสบการณ์ของเขาเอง

“เวลาจะให้ของขวัญเขา แทนที่จะให้เป็นสิ่งของหรือเงินสด ก็จะให้เป็น “บัตรของขวัญ” ที่มีมูลค่าอยู่ในบัตรแทน และให้เขาไปซื้อของเองซึ่งมันจะคล้าย ๆ บัตรเครดิต ซึ่งเวลาเขาใช้เขาจะเสียดายที่มูลค่าในบัตรมันลดลงทุกครั้ง และให้เขารู้สึกว่า “เสียดายเงิน” เป็นอย่างไร”

ส่วนเรื่องการออม คุณแม่ท่านนี้จะมีบัญชีเงินฝากไว้ให้คุณลูก และทุกครั้งที่เอาเงินฝากเข้าบัญชีจะนำบัญชีเงินฝากมาให้เขาดูว่า มันเพิ่มขึ้น ส่วนเงินของเขาจะได้เป็นค่าขนม และเมื่อเงินเหลือเขาจะมีกระปุกออมสินไว้เก็บเงิน แล้วก็นำไปฝากธนาคาร

“ไม่ใช่สอนเรื่องการออมเพียงอย่างเดียว แต่สอนให้รู้ว่า เงินไม่ได้หามาง่าย ๆ ให้เขารู้ว่า พ่อแม่ทำงานหนัก เวลาทำงานเหนื่อย และโชคดีที่เขามีเพื่อนที่ทำให้สามารถเข้าไปฝึกงานที่ร้าน B2S ด้วยกัน ทำงานง่าย ๆ อย่างเช่น จัดเรียงหนังสือ ซึ่งไม่ใช้เพื่อหาเงิน แต่เพื่อให้เขารู้จักการทำงาน เป็นการซึมซับว่า การหาเงินไม่ง่าย”

ถ้าเขาอยากได้ของแพง ๆ ก็จะให้เขาซื้อเอง หรือบางครั้งคุณพ่ออาจจะสมทบให้ในจำนวนเท่ากับที่เขาออมได้ แต่ต่อไปเมื่อเขาโตขึ้น ก็จะให้เขารับรู้มากขึ้น ไปฝึกงาน เพื่อหาเงินเอง

“การขอเงินพ่อแม่ใช้มันง่าย แต่เขาจะไม่รู้คุณค่าของเงิน เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง ที่หาเงินได้เองเขาจะรู้จักค่าของเงิน แต่กว่าเขาจะได้เรียนรู้จากชีวิตจริงในวัยทำงานมันอาจจะช้าไปแล้ว จะบอกเขาตลอดเวลาว่า พ่อแม่มีเงินส่งเขาเรียนหนังสือเท่านั้น ซึ่งต่อไปในอนาคตเขาจะต้องรู้จักหาเงิน รู้จักเก็บเงินเอง”

คุณแม่ท่านนี้ทิ้งท้ายถึงวิธีการสอนลูกของเธอว่า “การสอนลูกจะสอนจากประสบการณ์ ไม่ใช่พูดเพียงอย่างเดียว ต้องให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเอง

มาริษ ท่าราบ
กรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน ไอเอ็นจี (ประเทศไทย)

เพราะลูกทั้งสองคนยังอายุเพียง 8 ขวบ และ 14 ปี คุณพ่อจึงเลือกที่จะให้เงินเป็นรายสัปดาห์ เพื่อให้ทั้งคู่ได้เรียนรู้การบริหารเงิน จากการใช้เงินและเก็บเงินที่มีอยู่ด้วยตัวเอง

“สอนให้เขารู้จักใช้เงิน ให้มีส่วนหนึ่งเก็บ ปลูกฝังนิสัยรักการออม ไม่ได้บังคับ แต่เป็นการแนะนำ”

สำหรับลูกคนเล็ก ได้สัปดาห์ละ 100 บาท เป็นค่าขนม พอสอนให้เขาเก็บเงิน พอเงินเหลือเขาก็นำมาเก็บไว้ตามที่สอน ซึ่งคุณพ่อเชื่อว่า ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นนิสัยของลูกเองที่ได้รับการปลูกฝังเรื่องการออมและส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะได้เห็นพฤติกรรมของคนในครอบครัวที่ไม่มีนิสัยใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

ส่วนลูกคนโต ก็มีเงินรายสัปดาห์เช่นกัน เขาก็จะเก็บเงินเหมือนกัน และบางครั้งอยากได้อะไรเขาก็จะนำเงินออมของเขาออกไปใช้ นอกจากนี้ เวลาเขาจะใช้เงินพิเศษหรือไปเที่ยวกับเพื่อนคุณพ่อก็อาจจะให้เงินพิเศษ

“จะมีบัญชีเงินฝากที่ให้เขาถือบัตรเอทีเอ็มเผื่อไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉิน ซึ่งไม่ได้มีจำนวนมากนัก และทุกครั้งที่จะเบิกเงินก้อนนี้เขาจะบอกคุณพ่อก่อนเสมอ”

ดัยนา บุนนาค
กรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย

แม้ว่า ลูก ๆ จะอยู่ในช่วงวัยรุ่นและวัยทำงาน (อายุ 17 ปี และ 24 ปี) แต่ไม่ทำให้คุณแม่หนักใจ นั่นเพราะได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก

ในช่วงอนุบาลก็สอนว่า เงินคืออะไร โดยสิ่งที่ต้องปลูกฝังคือ มีกระปุกออมสิน เวลาได้เงินมา ก็ต้องหยอดกระปุก เมื่อถึงชั้นประถม มีค่าขนมก็สอนให้เขารู้จักเก็บ และนำเงินไปฝากธนาคาร เริ่มสอนเขาเรื่องอัตราดอกเบี้ย การลงทุนในกองทุนรวม เมื่อจำนวนเงินออมมากขึ้น

“สอนเขาว่า เขาควรรวมเงินจำนวนน้อย ๆ เพื่อให้เงินก้อนใหญ่ เพื่อเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น เช่น เขาต้องยอมอดของชิ้นเล็ก เช่น เขาต้องอดทานทอฟฟี่ เพื่อจะรวมเงินไปซื้อตุ๊กตา”

ทั้งยังปลูกฝังความไม่ฟุ่มเฟือย ซึ่งตั้งแต่ขึ้นชั้นมัธยมเขาจะได้เงินเป็นรายเดือน เพื่อให้เขาได้เรียนรู้การจัดสรรเงิน บริหารเงินให้อยู่ในงบประมาณ และหากใช้หมวดแล้วก็ไม่มีสิทธิมาขอเพิ่ม

สอนให้รู้รู้จักเปรียบเทียบระหว่าง “ราคา” กับ “คุณค่า” ซึ่งของอย่างเดียวกัน แต่มีหลายราคา ให้เขารู้จักเปรียบเทียบประโยชน์ใช้สอยว่า คุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งทำให้เขามีความช่างสังเกตมากขึ้น

ในช่วงชั้นประถมศึกษาตอนปลายก็เริ่มพูดเรื่องหุ้น เรื่องบริษัทให้เขาฟัง ให้เขาทดลองทำธุรกิจด้วยการเล่นเกมในเว็บไซด์ lemonadestandgame.com ซึ่งเป็นการขายน้ำมะนาว เขาต้องตัดสินใจในประเด็นต่าง ๆ สอนให้รู้จักกำไร ขาดทุน และความเสี่ยง

สำหรับลูกสาวคนโต “ญารินดา บุนนาค” ที่มีรายได้แล้ว คุณแม่ท่านนี้ยังแนะนำให้ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพและกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ซึ่งเป็นทั้งการออมระยะยาวและประหยัดภาษี

นอกจากนี้ ยังสอนให้เขารู้จักการแบ่งปัน โดยตอนเด็ก ๆ ทั้งคู่จะมีกระปุกออมสินคนละ 2 ใบ ใบหนึ่งเป็นการออมของเขาเอง และอีกกระปุกหนึ่งเป็นเงินบริจาคให้คนอื่นที่ลำบากกว่า

“เวลาไปเที่ยวต่างจังหวัด เราจะไปเที่ยวป่า ซึ่งยังทุรกันดาร คนยังลำบาก เราจะมีของไปบริจาค และสอนลูก ๆ ว่า พวกเขาแม้จะอยู่กันอย่างลำบาก แต่เขาก็มีความสุขได้ เพราะฉะนั้นความสุขไม่ได้อยู่ที่เงิน ให้เขารู้ว่า เราโชคดีกว่าคนอีกหลายคนที่เขามีน้อยกว่าเรา เพราะคนเราอยู่ที่ความพอ คนไม่รู้จักพอก็จะเห็นแก่ตัว”

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

แม้ว่า ลูก ๆ จะโตและมีงานทำกันหมดแล้ว แต่คุณพ่อท่านนี้ เล่าย้อนให้ฟังถึงวิธีการของเขาในวันที่ลูก ๆ ยังอยู่ในวัยเด็ก ในวัยที่เขาจะเรียนรู้และสร้างนิสัยทางการเงินที่ดีนับตั้งแต่นั้น

“ดีที่สุดและสำคัญที่สุดในการสอนลูกเรื่องการบริหารเงิน คือ อย่าให้ใช้เงินมากเกินไป โดยต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก ให้เขาในอัตราที่คิดว่าเหมาะสม แล้วก็พอแล้ว ห้ามใจอ่อนอีก เมื่อตอนที่พวกเขาไปเรียนต่างประเทศ ในชั้นมัธยมเขาจะได้เงินเฉลี่ยวันละ 1 เหรียญ

เรืองวิทย์ นันทาภิวัฒน์
กรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน อยุธยาเจเอฟ

แม้ว่า ลูก ๆ จะยังอยู่ในวัยเพียง 3 และ5 ขวบ แต่คุณพ่อท่านนี้ก็มีวิธีการสอนลูกเกี่ยวกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ แล้วเช่นกัน โดยออกตัวว่า เขายังไม่จริงจังกับการสอนมากนัก

ในช่วงที่เขาอายุ 1-2 ขวบ ก็สอนให้เขารู้จักกระปุกออมสิน และรู้จักว่า นี่คือ เงิน ให้นำไปหยอดกระปุกออมสิน

“แต่พอโตขึ้นมาในช่วงนี้ที่อายุ 3-6 ขวบ เวลาพาลูก ๆ ไปซื้อของ ตามประสาเด็กก็จะอยากได้นั่นได้นี่ บางทีก็เลือกหยิบของมา 3-4 ชิ้น เราก็บอกเขาว่าให้เขาเลือกได้แค่ชิ้นเดียว เขาก็จะเริ่มตีมูลค่าว่า อยากได้อะไรมากที่สุด แต่บางทีเราก็บอกเขาว่า พ่อไม่มีเงิน เพราะฉะนั้น เขาก็จะไม่ได้สิ่งของที่เขาต้องการ”

วิธีการปฏิเสธความต้องการของลูกจะทำให้เขาเรียนรู้ว่า “เขาจะไม่ได้ของทุกอย่างที่เขาต้องการ”

“และในขั้นตอนต่อไปที่คิดไว้ว่า จะสอนเขาคือ ถ้าเราบอกเขาว่า วันนี้เราไม่มีเงินจะซื้อของให้เขา แล้วจะต้องทำอย่างไรให้มีเงิน เพื่อที่จะมาซื้อของชิ้นนั้นในวันข้างหน้า

ก้องเกียรติ โอภาสวงการ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอสเซท พลัส และนายกสมาคมนักวิเคราะห์

คุณพ่อลูก 2 ท่านนี้ ออกตัวว่า ลูก ๆ ยังอยู่ในวัยเด็ก คือ อายุ 8 ขวบ และ 13 ปี ทำให้ยังไม่ได้ “ใส่” อะไรให้เกินวัย แต่โดยหลักการแล้วจะเน้นไปที่การสอนให้รู้จักบริหารเงินด้วยความคิด ความเห็นของลูกๆ ไม่ใช่การบังคับให้ทำตาม และคอยดูอยู่ห่าง ๆ นานๆ ครั้งจึงเข้าไปให้ความเห็นสักครั้งหนึ่ง

ณ วันนี้ลูก ๆ ได้รับเงินได้เป็นรายสัปดาห์ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะสอนให้พวกเขารู้จักการบริหารเงินเอง เพียงแต่มีเทคนิคเล็ก ๆ เพียงอย่างเดียว คือ ต้องให้ในจำนวนที่ “พอดี”

“ไม่ใช่ให้อดอยาก แต่ก็ต้องไม่มากเกินไป หรือไม่น้อยเกินไป และต้องอยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกับเพื่อน ๆ เพื่อไม่ให้เขาเกิดปมด้อย แต่ก็ไม่ใช่ว่า ให้มากจนเขาไม่รู้คุณค่าของเงิน เช่น ถ้าเพื่อน ๆ ได้ 500 บาท แล้วเขาได้ 200 บาท มันจะทำให้เกิดแรงกดดันโดยไม่จำเป็น”

นอกจากการบริหารเงินได้ด้วยตัวเองแล้ว เขาต้องรู้จัก “คุณค่าของเงิน” ด้วย เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจซื้ออะไรก็ตาม จะต้องถามว่า สมควรซื้อหรือไม่ ซื้อแล้วจะใช้งานได้คุ้มค่าหรือไม่

สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เริ่มให้แนวความคิดว่า อีกหน่อยถ้าเขาอยากได้เงิน เขาต้องทำงานแลกเปลี่ยน หรืออาจจะทำให้อะไรที่ประสบความสำเร็จเล็ก ๆ เช่น สอบได้คะแนนดี แล้วจะได้รับรางวัล และในอีกไม่นานนี้จะเริ่มสอนให้ลูก ๆ ดูการเคลื่อนไหวของหุ้นในแบบง่าย ๆ ว่า หุ้นคืออะไร การเปลี่ยนแปลงของมันคืออะไร

วรวรรณ ธาราภูมิ
กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดการกองทุนรวม บัวหลวง

เธอปลูกฝังนิสัยการออมให้ลูกตั้งแต่ 6 ขวบ โดยเริ่มจากการ “หยอดกระปุก” เมื่อมีเงินเหลือจากการใช้จ่ายและได้รับเงินพิเศษจากญาติผู้ใหญ่

“เมื่อเต็มกระปุกก็เอาออกมาช่วยกันนับแล้วไปฝากธนาคาร อธิบายให้เขารู้จักธนาคาร พอเริ่มโตขึ้นตอนนี้อายุ 11 ขวบ ก็ให้เขาแบ่งเงินค่าขนมเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเก็บและอีกส่วนหนึ่งไว้ใช้ และเริ่มให้เขาทำความรู้จักจัดการ ‘กองทุนรวม’ ว่า เป็นอย่างไร และนำเงินไปลงทุนในกองทุนหุ้น แต่ก่อนจะลงให้ก็อธิบายก่อนว่า เลือกกองทุนนี้ให้เขาเพราะอะไร”

นอกจากนี้ คุณแม่ท่านนี้ยังเพิ่มแรงจูงใจในการออมให้ลูกด้วยการเพิ่มเงินอีกเท่าตัวของที่เขาออมได้ “มีครั้งหนึ่งเปิดกระปุกออกมาแม่แทบสลบ เพราะลูกเก็บได้เยอะมาก” เธอเล่าอย่างอารมณ์ดี

https://www.facebook.com/pages/%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%9C%E0%B8%A5/198068607020376#!/pages/%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%9C%E0%B8%A5/198068607020376
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่