สมาคมโรงสีฯ ยอมรับ รัฐค้างค่าเช่านานนับปี-นัดถกวันนี้ (6 ก.พ.)

กระทู้สนทนา
สมาคมโรงสีฯ นัดหารือสมาชิกวันนี้ (6 ก.พ. 57) เผยรัฐติดหนี้ค่าเช่าโกดังนานนับปี ยังประเมินมูลค่าไม่ได้ ล่าสุดยื่นหนังสือขอรับค่าเช่าเป็นข้าวสารแทนเงิน ในขณะที่ "สมาคมชาวนา-สมาคมโรงสี" ระบุแนวคิด ก.พาณิชย์ คืนข้าวให้ชาวนาก่อนครบกำหนดไถ่ถอน เป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ วอนเร่งขายข้าว คัดเกรดแบ่งขาย เพื่อให้ได้เงินเร็วที่สุด...

นายมนัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ในวันนี้ (6 ก.พ. 57) สมาชิกสมาคมโรงสีข้าวไทย มีกำหนดนัดหมายหารือร่วมกัน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา หลังรัฐบาลขาดการชำระค่าเช่าโกดัง และคลังสินค้านานถึง 1 ปี แต่ยังไม่สามารถระบุมูลค่าเงินที่ค้างค่าเช่าโรงสีได้ เนื่องจากเจ้าของโรงสีมีหลายราย ในขณะที่อัตราค่าเช่าที่รัฐบาลจ่ายให้กับโรงสีอยู่ที่ 2 บาท/เดือน/กระสอบ โดยในเบื้องต้น สมาคมฯ ได้ทำหนังสือแจ้งความจำนงยื่นเสนอต่อรัฐบาล โดยระบุว่ายินดีรับค่าเช่าคลังเป็นข้าวสารในโครงการรับจำนำข้าวแทนเงินสด ในขณะที่เจ้าของโรงสีบางส่วนสมัครใจรอรับค่าเช่าเป็นเงินสด

นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ยังกล่าวถึงแนวคิดของกระทรวงพาณิชย์ที่เตรียมเสนอให้ไถ่ถอนข้าวเปลือกที่เกษตรกรนำมาเข้าร่วมโครงการรับจำนำของรัฐบาล ก่อนครบกำหนดอายุไถ่ถอน 4 เดือน เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำข้าวไปขายตรงให้กับโรงสีว่า ถึงแม้ว่าในหลักการจะเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ หากอยู่ในกำหนดการไถ่ถอน 4 เดือน แต่เชื่อว่าในทางปฏิบัติคงไม่สามารถดำเนินการได้ โดยส่วนต่างราคาข้าวที่ขายเข้าร่วมโครงการรับจำนำ ที่ตันละ 15,000 บาท สูงกว่าราคาซื้อขายในตลาด ที่ซื้อขายกันที่ตันละ 8,000 บาท ทำให้เกษตรกรไม่คิดไถ่ถอนข้าวออกจากโครงการ และการไถ่ถอนข้าว เกษตรกรจะต้องมีเงินไปใช้ในการไถ่ถอน ซึ่งตอนนี้เกษตรกรขายข้าวไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงิน จึงไม่มีเงินไปใช้ในการไถ่ถอนข้าวออกมา เปรียบเสมือนคนที่ได้รับเช็คเงินสดแล้ว เช็คเด้ง

ทั้งนี้ หากเกษตรกรต้องการนำข้าวออกจากโครงการรับจำนำ สามารถทำได้อีกวิธี คือ การขอยกเลิกใบประทวน แต่ส่วนต่างราคาข้าวที่ต่ำลง ทำให้เกษตรกรไม่เลือกใช้วิธีนี้ ดังนั้น ทั้ง 2 แนวทาง เป็นเรื่องที่ไม่สามารถดำเนินการได้

"ในอดีตเกษตรกรเคยใช้วิธีการไถ่ถอนข้าวออกจากโครงการ เมื่อครั้งนั้นราคาข้าวในตลาดสูงกว่าราคาข้าวที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำ จึงมีการไถ่ถอน เพื่อหวังทำกำไรจากส่วนต่างราคา" นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าว

ขณะที่นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า การไถ่ถอนข้าวออกจากโครงการรับจำนำ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะไม่รู้ว่าข้าวที่ขายเข้าร่วมโครงการไปแล้วถูกเก็บไว้ที่ไหน และราคาที่ต่างกันระหว่างโครงการรับจำนำที่สูงกว่าราคาข้าวในตลาด ไม่มีเกษตรกรรายใดคิดไปไถ่ถอน

ทั้งนี้ รัฐบาลควรเร่งตัดสินใจว่าจะใช้วิธีการใด เพื่อนำเงินมาใช้หนี้ให้กับชาวนา เพราะปัจจุบันนี้ชาวนาได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากการรอรับเงิน ดังนั้น รัฐบาลควรเปิดโกดังข้าว ตรวจสอบปริมาณสต๊อกข้าว และคุณภาพข้าว เพื่อคัดเกรดข้าวแบ่งขาย กำหนดราคาต่างกันตามคุณภาพ ถึงแม้ว่าอาจจะต้องขายในราคาต่ำ แต่ยังมีเงินกลับคืนมาจ่ายชดเชยให้กับชาวนาบ้าง ดีกว่าปล่อยระยะเวลาจนทำให้เกิดปัญหาข้าวเสื่อมคุณภาพ และสุดท้ายไม่สามารถขายข้าวได้

"ทุกวันนี้รัฐบาลไม่ยอมตัดสินใจจะหาเงินมาชำระค่าข้าวให้กับชาวนาด้วยวิธีใด ดังนั้น ในวันนี้ชาวนาทั่วประเทศจะเคลื่อนไหวเดินทางเข้ามาชุมนุมในกรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ โดยอาจไปปิดล้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. และกระทรวงพาณิชย์" นายประสิทธิ์ กล่าว.

โดย: ไทยรัฐออนไลน์

6 กุมภาพันธ์ 2557, 10:08 น.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่