"บันทึกของพาพัน@pantip ตอน วิชาออกแบบเศษวัสดุเหลือใช้"

พาพันยิ้มสวัสดีครับเพื่อนๆ พี่ๆ ชาวพันทิป

วันนี้พาพันมีเรื่องราวรักษ์โลกที่น่าสนใจมาฝากพี่ๆ อีกเช่นเคยครับ  เท้าความไปถึงเมื่อช่วงธันวาที่ผ่านมา  พาพันมีโอกาสไปเข้าคลาสเรียนวิชา “Scrap Design” ของ อาจารย์สิงห์ อินทรชูโต ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาครับ  ซึ่งวิชานี้น่าสนใจมากๆ  เพราะแค่ชื่อวิชาก็เตะตา  สะดุดใจแล้ว ... ครับผม  “Scrap design”  แปลคร่าวๆ ก็น่าจะพอเดาออกแล้วว่าเกี่ยวข้องกับการออกแบบสิ่งของเหลือใช้หรือขยะ  แต่แปลเองอาจไม่ได้ความรวมทั้งหมด  พาพันเลยเตรียมข้อมูลมาเล่าแจ้งแถลงไขให้พี่ๆ แล้วครับ


อาจารย์สิงห์ อธิบายภาพรวมของวิชานี้ให้พาพันฟังว่า  “Scrap Design” เป็นวิชาที่ว่าด้วยเรื่อง Upcycling ครับ ซึ่งคำๆ นี้หมายถึง กระบวนการแปลงเศษวัสดุเหลือใช้ หรือการทำให้วัสดุเหลือใช้หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถใช้งานตามหน้าที่เดิมได้แล้วกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีมูลค่าสูงขึ้นและมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  พูดง่ายๆ ก็คือการแปลงของที่ใช้การไม่ได้หรือพวกขยะนั่นแหละครับ ให้มีราคาและใช้งานได้นั่นเอง  
พาพันปั่นจักรยานพาพันปั่นจักรยาน

วิชานี้นอกจากจะได้ทฤษฎีในการแปลงวัสดุเหลือใช้แล้ว  นักศึกษาทุกคนต้องลงมือปฏิบัติจริงโดยการลงมือแปลงวัสดุเหลือใช้ให้เป็นผลิตภัณฑ์ด้วยครับ  โดยการเรียนการสอนในแต่ละเทอมนั้นหัวข้อของเหลือใช้ที่จะนำมาออกแบบจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ครับ  อย่างในเทอมนี้ 2556-2557 เราจะออกแบบและพัฒนาของใหม่ๆ จากเศษวัสดุที่เป็นขยะอาหารและจากโรงพยาบาลครับ! น่าสนใจและน่าตกใจไหมครับ !!!


พาพันขอขยายความเพิ่มครับว่า ขยะอาหารเนี่ย ได้มาจากอาหารทุกอย่างครับ  ไม่ว่าจะเป็นพวกเปลือกต่างๆ  ทั้งเปลือกผัก
ผลไม้  เช่น  เปลือกส้ม  เปลือกกล้วย  ชิ้นมะนาวที่คั้นน้ำออกแล้ว  เปลือกแคนตาลูป  แล้วก็มีเปลือกของสัตว์  อย่างเช่น  เปลือกกุ้ง  ปู  หอย  และยังรวมไปถึงบรรจุภัณฑ์ที่ใส่อาหาร  จำพวกโฟม หลอดดูดน้ำ ด้วยครับ  


ส่วนขยะกลุ่มที่ 2 ที่นำมาพัฒนากันในเทอมนี้คือ ของเหลือใช้ที่ได้จากโรงพยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพวกบรรจุภัณฑ์เครื่องมือทางการแพทย์  สายน้ำเกลือ  ถุงน้ำยาล้างไต (ถุงน้ำยาที่ใส่น้ำยาใหม่นะครับ  ไม่ได้ใส่น้ำที่เปลี่ยนถ่ายออกมา)  ฝาปลอกเข็มฉีดยา ผ้าห่อเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น  ซึ่งเศษวัสดุเหล่านี้สะอาดและปลอดเชื้อครับ  เท่าที่เราเห็นกันทั่วไปก็พอจะรู้อยู่แล้วใช่ไหมครับว่าทั้งขยะทั้ง 2 กลุ่มนี้ มีจำนวนมหาศาลมาก  ถ้าสามารถนำมาผ่านกระบวนการแล้วทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้ก็คงช่วยลดขยะได้เยอะเลย
เยี่ยมเยี่ยมเยี่ยม


อ้อ...พาพันลืมบอกไปครับ  วิชานี้เรียนกันทุกเย็นวันพฤหัสครับ  ตั้งแต่ 17.30-20.30 น. ครับ  เรียนกันที่ห้อง Scrap Lab ที่ตึกสถาปัตย์ อยู่ชั้นล่างเลยครับ เข้าถึงง่ายมาก ในการเรียนในแต่ละครั้ง อาจารย์จะแบ่งเป็น 2 ช่วงครับ  ช่วงแรกจะเป็นช่วงบรรยาย  และช่วงที่สองจะเป็นการถกปัญหา หาทางแก้ และนำเสนอความก้าวหน้าของแต่ละทีมในการทดลอง ทดสอบ และผลิตชิ้นงานครับ  โดยอาจารย์ให้นักศึกษาจับคู่กัน  และให้แต่ละคู่นั้นเลือกพัฒนาสิ่งของเหลือใช้จากทั้ง ขยะอาหาร และ ขยะจากโรงพยาบาล อย่างละ 1 วัสดุครับ




พอพาพันเข้ามาในห้องเรียนก็ได้เจอกับพี่ๆ นักศึกษาเยอะแยะ ที่น่าสนใจคือ  พาพันเจอพี่ๆ ที่ทำงานแล้วมาร่วมเรียนวิชานี้ด้วย  แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ  ในห้องเรียน Scrap Lab นี้ยังมีนักศึกษาต่างชาติด้วยครับ  แสดงว่าคอร์สนี้ไม่ธรรมดาเลย  พอพี่ๆ นักศึกษาทยอยมากันจนครบ  มีประมาณ 20 กว่าคนครับ  อาจารย์สิทธา  อาจารย์รับเชิญในวันนี้ก็เริ่มบรรยายครับ  และอย่างที่พาพันได้บอกไปว่ามีชาวต่างชาติมาเรียนด้วย  เราเลยได้เรียนกันทั้งสองภาษา  ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษครับ  อินเตอร์สุดๆ  พาพันเลยได้ฝึกใช้ภาษาอังกฤษด้วย ^^





อาจารย์สิทธาเปิดด้วยคำถามนี้ครับ   “Design คืออะไร”

ซึ่งคำตอบจากพี่ๆ ก็มีหลากหลาย  บ้างก็บอกว่าเป็นการทำให้ชิ้นงานสวยงาม  บ้างก็ว่าทำให้ชิ้นงานใช้งานได้  บ้างก็ว่าการนำเศษวัสดุมาผลิตเป็นชิ้นงาน  

ซึ่งอาจารย์สิทธาก็อธิบายให้ฟังว่า "การ Design หรือ การออกแบบ คือการเพิ่มมูลค่าให้ชิ้นงาน  และทำให้ชิ้นงานมีรูปลักษณ์ที่สวยงามดึงดูดผู้ใช้  ยิ่งไปกว่านั้นการออกแบบคือการแก้ปัญหาด้วยความคิดสร้างสรรค์อย่างมีวิสัยทัศน์"  


อาจารย์สิทธายกตัวอย่างว่า  ถ้าเรามีผ้าหนึ่งกอง  เราจะออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์  ถ้าเราใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป  ผลงานที่ออกมาอาจจะเป็น....


แค่ใส่ความคิดสร้างสรรค์จากผ้าหนึ่งกอง  เราก็จะได้เก้าอี้เก๋ๆ แบบนี้ครับ


หรือการออกแบบชั้นวางของ  ถ้าเราใส่ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ  ชั้นหนังสือที่ออกมาอาจมีหน้าตาแบบนี้....??


จากชั้นหน้าตาธรรมดา  พอใส่ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบก็ดูไฉไลน่าใช้ขึ้นเยอะเลย



การออกแบบไม่ได้มีเฉพาะเรื่องข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของเราเท่านั้นนะครับ  การออกแบบได้ช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตหรือวิถีชีวิตของคนเราเลยทีเดียว  อาจารย์สิทธา ยกตัวอย่างว่า  ในพื้นที่ที่น้ำสะอาดเข้าไม่ถึงหมู่บ้าน  ชาวบ้านจะต้องเดินทางไปขนน้ำเป็นระยะไกลมาก  ซึ่งขนน้ำกว่า 20 ลิตร  การที่ต้องไปขนน้ำจากที่แสนไกล  ส่งผลให้ชาวบ้านเหล่านั้น ไม่มีเวลาทำงานหาเลี้ยงชีพ มีความลำบาก และส่งผลต่อสุขภาพของชาวบ้านในระยะยาว  เพราะเวลาที่ชาวบ้านขนน้ำ  เขาจะยกน้ำขึ้นทูนไว้บนหัวครับ  ซึ่งน้ำหนักของน้ำที่หนักมากจะส่งผลต่อกระดูกต้นคอและศีรษะ  ดังนั้นจึงมีการออกแบบเครื่องทุ่นแรงที่ชื่อ “Hippo Roller” ขึ้นมาครับ


เท่าที่เห็น  คนที่ไปขนน้ำส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงและเด็กๆนะครับ  พาพันลองคิดตามว่า  ถ้าพาพันต้องทูนน้ำตั้ง 20 ลิตร  ไว้บนหัว  แล้วต้องเดินด้วยระยะทางไกลแบบนั้น  พาพันว่าพาพันต้องไม่ไหวแน่ๆเลย



แต่พอมี “Hippo Roller” ผู้หญิงและเด็กๆก็ไม่ต้องทูนน้ำไว้บนหัวอีกต่อไป  เพราะการขนน้ำจะกลายเป็นการเข็นน้ำ  แบบนี้ครับ...


เห็นแบบนี้  เรียกได้ว่าการออกแบบได้เปลี่ยนวิถีชีวิตคนเราเลยนะครับ  
ไม่ใช่แค่แก้ปัญหา  แต่ทำให้การขนน้ำกลายเป็นเรื่องสนุกไปเลย

พาพันดี๊ด๊าพาพันดี๊ด๊า


นอกจากนี้อาจารย์สิทธายังได้เล่าให้ฟังด้วยครับว่าที่ MIT (Massachusetts Institute of Technology) จะมีคอร์สนึงที่เป็นวิชาเกี่ยวกับการออกแบบ  โดยให้นักศึกษาแบ่งกลุ่มกันผลิตผลงานสร้างสรรค์อะไรก็ได้  และเมื่อจบเทอมจะมีการนำเสนอผลงานอย่างใหญ่โต  ซึ่งมีคนสนใจเข้าชมเป็นจำนวนมากครับ  นักศึกษาบางกลุ่มก็ลงมือทำตั้งแต่ต้นเทอม  บางกลุ่มก็มาเผาเอาไม่กี่คืนก่อนวันเสนอผลงาน  ซึ่งอาจารย์บอกว่าเคล็ดลับในการผลิตงาน  ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ตอนคิด  ถ้าให้เวลาในการคิด หรือ Ideation มาก  งานก็จะออกมาดีครับ มาเร่งๆ ทำที่หลัง งานออกมาจะไม่ดีครับ


และเมื่อเรากล้าที่จะคิดงาน  อย่าปล่อยให้ความกลัวและเงื่อนไขต่างๆ มาขวางเราไว้นะครับ



พาพันขยันพาพันขยัน

ว้าว..พาพันได้เปิดโลกและได้ความรู้ใหม่ๆ มาเยอะเลยครับ  พาพันชอบเรียนวิชานี้แล้วสิ  ได้ความรู้เยอะเลย  พาพันจะได้เอามาเล่าให้เพื่อนๆ พี่ๆ ฟัง  และจะได้เอาไปประยุกต์ใช้ด้วย  น่าเสียดายที่วันนี้พาพันไม่ได้เตรียมทานข้าวก่อนเข้าเรียน  ตอนนี้ท้องร้องเสียงดังมาก  พาพันเลยได้อยู่เรียนเฉพาะช่วงบรรยายเท่านั้น  เสียดายจังที่ไม่ได้ฟังพี่ๆ นักศึกษาพรีเซนท์ว่ากำลังออกแบบชิ้นงานจากวัสดุกันยังไงบ้าง
พาพันเศร้า
แต่อาทิตย์หน้าพาพันจะเตรียมตัวมาอย่างดีแน่นอนครับ  และแน่นอนพาพันจะเก็บข้อมูลมาเล่าให้พี่ๆ ฟังต่อด้วยครับ  ว่าการแปลงวัสดุเหลือใช้มาเป็นชิ้นงานเนี่ย  จะมีขั้นตอนและวิธีการอย่างไรบ้าง  ติดตามเรื่องราวรักษ์โลกอย่างนี้ต่อในกระทู้หน้านะครับ  วันนี้  สวัสดีครับ
พาพันชอบพาพันขอบคุณ




Fact of this course
-วิชา Scrap Design  เป็นวิชาเลือกในหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต  คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ครับ  วิชานี้เริ่มมีการเรียนการสอนตั้งแต่ปี 2008  ปัจจุบันวิชานี้เปิดสอนเป็นปีที่ 6 แล้วครับ
-วิชา Scrap Design จะเปิดสอนในภาคปลายการศึกษา  ใน 1 เทอม  มีเรียนทั้งหมด 18 ครั้ง  และครั้งละ 3 ชั่วโมง โดย 1 คาบเรียนมีการแบ่งการสอนเป็น 2 ช่วง  ช่วงแรกเป็นการบรรยายและหลังจากนั้นจะเป็นการอภิปรายผลงานและกระบวนการปฎิบัติของนักศึกษา
-ใน 1 เทอม วิชา Scrap Design สามารถรองรับนักเรียนได้สูงสุดจำนวน 20 คน  โดยแบ่งเป็นนักศึกษาปริญญาตรี 10 คน ส่วนนักศึกษาปริญญาโทและกับบุคลภายนอกไม่ได้จำกัด
-วัตถุประสงค์ของวิชานี้คือ เพื่อเน้นกระบวนการพัฒนาการออกแบบเศษวัสดุ เชิงลึกอย่างเป็นระบบและสร้างสรรค์ หามุมมองใหม่เพื่อ
แก้ไขสถานการณ์ขยะด้วยผสมผสานระเบียบวิธีวิจัยในการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและวิเคราะห์ผลการทดลองต่างๆ ก่อนการออกแบบชิ้นงาน
-ในการเรียนวิชานี้  นักศึกษาจะได้ลงมือออกแบบผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุจริง  โดยในแต่ละเทอมจะมีโจทย์เศษวัสดุที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ
อย่างในเทอมนี้  เศษวัสดุที่เป็นโจทย์ที่ต้องนำมาผลิตผลงานคือ  เศษอาหารและของเหลือใช้จากโรงพยาบาล (Food waste & Hospital waste)
-อาจารย์ผู้สอนในรายวิชานี้มีทั้งหมด 4 ท่าน ดังนี้
1.ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต  2.อ.รุ่งทิพย์ ลุยเลา  3.ดร.สิทธา สุขกสิ  4.ดร.ชิราวุฒิ เพชรเย็น
-การวัดผลสัมฤทธิ์ในการเรียนวิชา Scrap design
1.การเสนองาน Midterm และ ความก้าวหน้าของงาน (Progress) 30%
2. การเสนองานขั้นสุดท้าย (Final Presentation) 30%
3. ความสนใจเข้าเรียนอย่างสม่ำเสมอและมีส่วนร่วมในชั้นเรียน (Attendance) 20%
4. รายงาน (Report) 20%
-สิ่งที่อาจารย์อยากสื่อสารอะไรผ่านการสอนวิชานี้ คือ
" All the problems can solve by creative design "



และนี่คือตัวอย่างผลิตภัณฑ์รักษ์โลกที่ใช้พื้นฐานความรู้จากวิชา "Scrap design"ครับ


ทำความรู้จักกับผลิตภัณฑ์รักษ์โลกชิ้นนี้แบบเต็มๆ ได้ที่ อัพเดท...เมื่อเจ้าวัสดุ "Metile" (โลหะ+ไม้) ได้กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ดีไซน์เท่ !!!

พาพันรดน้ำต้นไม้พาพันรดน้ำต้นไม้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่