โรงสีข้าวพระราชทาน

กระทู้สนทนา
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2549 ที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ในเขตพื้นที่ตอนเหนือของจังหวัดน่าน พื้นที่ อำเภอปัว อำเภอเชียงกลาง อำเภอทุ่งช้าง และอำเภอท่าวังผา โดยเฉพาะอำเภอท่าวังผา แม่น้ำน่านเอ่อล้นไหลท่วมบริเวณบ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตร นาข้าว ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก เกษตรกรไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองราชเลขานุการในพระองค์ สำนักราชเลขาธิการ นำสิ่งของพระราชทานไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ดังกล่าว จากการเดินทางของเจ้าหน้าที่ เพื่อนำสิ่งของพระราชทานไปมอบให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ ได้พบเห็นความเดือดร้อนและไร่นาของประชาชนเสียหายเป็นจำนวนมาก จึงได้นำความกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท และขอพระราชทานจัดตั้งโครงการ กองทุนข้าวพระราชทานในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขึ้น โดยโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงิน ข้าวสาร และเมล็ดพันธุ์ข้าว ให้แก่ กองทุนฯ เป็นเบื้องต้น เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนข้าว และช่วยเหลือฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนผู้ประสบอุทกภัย และสร้างกองทุนสำรอง สำหรับความพร้อมในการช่วยเหลือตนเองของเกษตรกรที่ยากจนและผู้ประสบภัยพิบัติในอนาคตอีกด้วย

และจากที่สมาชิกโครงการกองทุนข้าวพระราชทานมีความสามัคคี ขยัน ซื่อสัตย์ อดทน มุ่งมั่น และตั้งใจในการพัฒนาตนเอง ตั้งแต่การศึกษาหาความรู้ในการปรับปรุงคุณภาพดิน พันธุ์ข้าว วิธีการปลูกข้าว การดูแลรักษา การป้องกันกำจัดศัตรูพืช และการบริหารจัดการกองทุนฯ ที่มีประสิทธิภาพ และยังได้รับองค์ความรู้ต่าง ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย ส่งผลให้สมาชิกกองทุนข้าวฯ ได้ผลผลิตข้าวต่อไร่ที่สูงกว่าเดิม มีรายได้มากขึ้น และมีประชาชนใกล้เคียงให้ความสนใจขอพระราชทานเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงพระราชทานเครื่องจักรโรงสีข้าวชุมชน สำหรับจัดตั้งโรงสีข้าวขึ้นในพื้นที่บ้านห้วยเดื่อ หมู่ 3 ตำบลศรีภูมิ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของกองทุนข้าวพระราชทาน และเสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงสีข้าวพระราชทานฯ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมาจากการจัดการนี้ได้ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ในชุมชน มีการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานบริหารจัดการโรงสีข้าว การส่งเสริมพัฒนาอาชีพ การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเพิ่มผลผลิตข้าว การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์พลอยได้จากโรงสี เป็นสินค้าที่สามารถเพิ่มมูลค่าในตัว

โรงสีข้าวพระราชทาน ได้รับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อนำมาแปรรูปสีเป็นข้าวสาร จำหน่ายให้แก่บุคคลทั่วไป เช่น หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ตลอดจนบริการสีข้าวให้แก่สมาชิกและชุมชน ปัจจุบัน มีสมาชิก จำนวน 1,137 ราย มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเข้ามาบริหารจัดการ มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำโรงสี จำนวน 6 คนกลุ่มได้บริหารจัดการโรงสีข้าวพระ   ราชทาน มาเป็นระยะเวลา 4 ปี และมีผลการดำเนินงานที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นอย่างดี ได้แก่ การส่งเสริมพัฒนาอาชีพเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ และการสร้างองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการ การดำเนินธุรกิจให้แก่คนในชุมชน โดยคนในชุมชนได้มีโอกาสเข้ามาร่วมมือกัน ช่วยกันบริหารจัดการองค์การ โดยนำรูปแบบ “หลักการ วิธีการสหกรณ์” มาปรับใช้ ปัจจุบันกลุ่มมีทุนดำเนินงาน 7,034,204.31 บาท รวบรวมข้าวเปลือก 3,846,010.60 บาท และจำหน่ายข้าวสาร/ผลิตผลพลอยได้ 5,580,383.72 บาท

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากความสำเร็จและต้นแบบของโรงสีข้าวพระราชทาน อำเภอท่าวังผา  ได้ช่วยให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ ดูแลคน ดูแลสหกรณ์ในพื้นที่ได้ด้วยการนำกระบวนการสหกรณ์ ไปขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ชนบท และในศูนย์ยังมีนักเรียนในพื้นที่เข้ามาเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นรูปแบบของการบริหารจัดการโดยชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นแบบอย่างที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ จักนำไปขยายผลให้เกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ ดูแลและสนับสนุนอยู่ในขณะนี้ต่อไป.

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

http://www.dailynews.co.th/Content/agriculture/51262/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99+%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99+-+%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%95%E0%B8%A3
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่