วินัยของพระภิกษุสงฆ์ที่ประชาชนควรทราบ

พุทธศาสนิกฝ่ายคฤหัสถ์ควรรู้จักพระวินัยบางข้อของพระภิกษุสงฆ์ไว้ด้วย เพราะว่า พระภิกษุสงฆ์มีหน้าที่อันสำคัญที่สุด คือรักษาตัวอย่าให้มีโทษทางพระวินัย

จึงจะสมเป็นที่ไว้วางพระหฤทัยของพระบรมศาสดา และจะได้สมเป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในฐานะเป็นนาบุญของชาวโลก ไม่บริโภคจตุปัจจัยของเขาให้เปลืองเปล่า เปรียบเหมือนอย่างพื้นนาอันปราศจากวัชพืช คือหญ้าที่เป็นโทษ ย่อมจะอำนวยให้ข้าวที่ชาวนาหว่านลงดินเจริญงอกงาม มีผลเต็มเมล็ดเต็มรวง แต่หากว่านารกไปด้วยวัชพืช ข้าวที่หว่านลงก็มีผลไม่เต็มที่

ข้อนี้ฉันใด พระภิกษุหรือสามเณร ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าศีลไม่ขาด ไม่มีโทษทางพระวินัย ก็เท่ากับนาที่ไม่รก พืชบุญที่หว่านลงก็ย่อมมีผลมากกำไรมาก แต่ถ้าขาดศีลมาก มีโทษทางพระวินัยมาก ก็เท่ากับนาที่รก พืชบุญที่ชาวโลกหว่านลงก็มีผลน้อย มีกำไรน้อย ด้วยเหตุนี้ พระภิกษุสามเณรผู้ตระหนักในหน้าที่ของตน จึงพยายามรักษาตัวมิให้เป็นเหมือนนาที่รกด้วยวัชพืช

ก็ในการรักษาตัวนั้น พระภิกษุ-สามเณรบางรูปบางเวลา บางครั้งบางคราว ไม่สามารถจะให้บริสุทธิ์เท่าที่ควรได้ เพราะคฤหัสถ์ หรือบุรุษ-สตรี หรือทายก ทายิกา ผู้ไม่รู้วินัยของพระ และมีธุระเกี่ยวข้องกับพระในวาระต่างๆ เช่น ในคราวทำบุญ แต่ทำไม่ถูกต้องพระวินัย ภิกษุเกรงใจคฤหัสถ์ บางทีคฤหัสถ์เกรงใจภิกษุ จึงทำให้พระต้องอาบัติ คือต้องโทษทางพระวินัย อย่างนี้คฤหัสถ์ได้บุญก็จริง แต่ได้น้อย เพราะขณะเดียวกันนั้น พระได้บาป ต้องโทษไม่บริสุทธิ์เหมือนนาที่รกเสียแล้ว อนึ่ง บางทีบางรูปไม่รู้วินัยของตนเองดีพอ หรือบางรูปรู้วินัยดีแล้ว แต่ไม่เอื้อเฟื้อในวินัย ก็ย่อมเกี่ยวข้องกับคฤหัสถ์ในทางที่ผิดๆ และคฤหัสถ์ก็ไม่รู้วินัยของพระ จึงพากันปฏิบัติผิดร่วมกัน อย่างนี้ จึงรู้สึกว่าไม่ค่อยเหมาะสมแก่พุทธศาสนิกชนเลย

ด้วยเหตุนี้ เพื่อที่จะให้คฤหัสถ์ บุรุษ-สตรี ทั้งหลายช่วยกันรักษาพระภิกษุสงฆ์ให้บริสุทธิ์ เป็นนาบุญอย่างดี จะได้เพิ่มปริมาณผลแห่งพืชบุญที่บริจาคหว่านลงไป ให้มากยิ่งๆ ขึ้น จึงได้รวบรวมพระวินัยบางข้อ ที่คฤหัสถ์ทั้งบุรุษและสตรีควรทราบมาเรียงเป็นข้อๆ พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและปฏิบัติสำหรับคฤหัสถ์ ดังต่อไปนี้ :-

๑. สุภาพสตรี อย่าถูกต้องภิกษุสามเณร.

๒. สุภาพบุรุษ หรือสุภาพสตรี ไม่ควรวานให้พระชักสื่อชายหญิงให้เป็นสามี-ภรรยากัน แม้ชั่วครั้งชั่วคราว.

๓.สุภาพสตรี ไม่มีบุรุษผู้รู้เดียงสาไปด้วย ไม่ควรเข้าไปหาภิกษุในที่ลับตาหรือลับหู เพราะอาจจะทำให้พระถูกโจทก์ด้วยอาบัติต่างๆ หรือเป็นทางให้เกิดความเสียหายมาก.

๔. สุภาพบุรุษ หรือสตรี เมื่อมีศรัทธาจะถวายเงินทองแก่พระภิกษุสามเณร ต้องมอบให้แต่ไวยาวัจกร (ผู้ที่รับทำกิจของท่าน) และแจ้งให้ท่านทราบ อย่ามอบให้ในมือหรือในย่าม หรือในบาตรเป็นต้นของท่าน.

๕. บุรุษผู้เป็นไวยาวัจกร เมื่อรับเงินทองของพระรูปใดไว้เท่าไร ต้องจัดสิ่งของที่พระต้องการถวายพระรูปนั้น ในราคาเท่าเงินทองที่ตนรับไว้นั้น ในเวลาที่ท่านขอ ถ้าเงินทองมาก พระขอของน้อย ก็จ่ายเท่าที่ท่านต้องการ เก็บส่วนที่เหลือไว้จ่ายในคราวต่อไป.

๖. บุรุษ-สตรี ผู้เป็นพ่อค้า-แม่ค้า ไม่ควรขายของแก่พระภิกษุ หรือสามเณร ผู้ที่จับต้องเงิน (ธนบัตร-เหรียญบาทเป็นต้น) มาซื้อด้วยตนเอง.

๗. บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาผ้าอาบน้ำฝนถวายพระก่อนเข้าพรรษามากกว่า ๑ เดือน แม้พระขอก็ไม่ต้องถวาย เว้นไว้แต่พระที่เป็นญาติ และพระที่ตนปวารณาไว้.

๘. บุรุษ-สตรี เมื่อเตรียมสิ่งของจะถวายแก่สงฆ์ (ไม่เฉพาะบุคคล) ถ้าพระแนะนำให้ถวายเฉพาะตัวท่านเอง หรือให้ถวายเฉพาะพระรูปใดๆ ก็ตามไม่ต้องถวายตามคำแนะนำนั้น

๙. บุรุษ-สตรี เมื่อเรียนธรรมกับพระ อย่าออกเสียงบทพระธรรมพร้อมกับพระ.

๑๐. บุรุษ เมื่อนอนในที่มุง ที่บัง อันเดียวกับพระครบ ๓ คืนแล้ว ต้องเว้นเสีย ๑ คืน ต่อไปจึงนอนได้อีก.

๑๑. สตรี ห้ามนอนในที่มุง ที่บัง อันเดียวกับพระแม้ในคืนแรก.

๑๒. บุรุษ-สตรี ถ้าพระใช้ให้ขุดดินเหนียวล้วนหรือดินร่วนล้วน ไม่ควรขุด แต่ถ้าพระแสดงความประสงค์ว่าต้องการหลุมหรือคูเป็นต้น หรือว่าต้องการให้ดินสูงเท่านั้น เท่านี้เป็นต้น ก็ควรจัดการให้ตามประสงค์.

๑๓. บุรุษ-สตรี ถ้าพระใช้ให้ตัดต้นไม้หรือดายหญ้าที่เกิดอยู่กับดิน หรือให้รื้อถอนผักหญ้าต่างๆ ที่เกิดอยู่ในน้ำ ไม่ควรตัด-ดาย-รื้อถอน แต่ถ้าพระบอกว่า เราต้องการไม้-หญ้า-ผัก หรือว่า เราต้องการทำความสะอาดในที่ซึ่งเกะกะรุงรังด้วยต้นไม้หรือผักหญ้า ดังนี้เป็นต้น จึงทำให้.

๑๔. บุรุษ-สตรี นิมนต์ให้พระฉันอาหาร อย่าออกชื่อโภชนะ ๕ คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ ควรใช้กัปปิยโวหาร คือคำพูดที่สมควร เช่นพูดว่า
“ ขอนิมนต์ฉันเช้า ” หรือว่า “ ขอนิมนต์ฉันเพล ” และต้องบอกวัน เวลา สถานที่ให้ชัดเจน ทั้งบอกให้พระทราบด้วยว่า ให้ไปกันเอง หรือจะมารับ, อนึ่ง การที่นิมนต์ให้พระฉันนั้น ปรารภเรื่องอะไร ก็ควรบอกให้ทราบด้วย.

๑๕. บุรุษ-สตรี เมื่อเลยเวลาเพลแล้ว คือตั้งแต่เที่ยงวันจนถึงวันใหม่ อย่านำอาหารไปประเคนพระ หากเป็นของที่เก็บค้างคืนได้ ไม่บูด ไม่เสีย เช่น ข้าวสาร ปลาดิบ เนื้อดิบ อาหารสำเร็จบรรจุกระป๋อง มีปลากระป๋องเป็นต้น ก็มอบไว้แก่ไวยาจักรของท่านได้.

๑๖. บุรุษ-สตรี ถ้าพระที่มิใช่ญาติ และตนมิได้ปวารณาไว้ ไม่เป็นไข้ ขอโภชนะอันประณีตคือข้าวสุกที่ระคนด้วยเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม แม้อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ควรถวาย แต่ถ้าขอไปเพื่อผู้เป็นไข้ ควรถวายโดยแท้.

๑๗. บุรุษ-สตรี เมื่อประเคนอาหาร หรือยาเป็นต้น ทุกอย่างที่พระจะกลืนกิน (ฉัน) ต้องประเคนให้ถูกวิธี ดังนี้
     ก. ภาชนะหรือห่อของนั้น ไม่ใหญ่หรือหนักเกินไป ยกคนเดียวได้อย่างพอดี.
     ข. เข้าอยู่ในหัตถบาสของพระ ห่างจากพระประมาณ ๑ ศอก เป็นส่วนสุดของสิ่งหรือของบุคคลผู้ประเคน.
     ค. น้อมกายถวายด้วยความเคารพ.
     ฆ. กิริยาที่ถวาย ถวายด้วยมือ หรือของที่เนื่องด้วยมือ เช่น ช้อน-ภาชนะก็ได้.
     ง. พระรับด้วยมือ หรือด้วยของที่เนื่องด้วยมือ เช่นบาตร-ผ้าก็ได้.

๑๘. สตรี ไม่มีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่เป็นเพื่อน ต้องไม่นั่ง ไม่นอน ไม่ยืน ไม่เดินในห้องกับพระ แม้จะมีสตรีหลายคนก็ไม่ได้.

๑๙. สตรีต้องไม่นั่ง ไม่นอนในที่แจ้งกับพระหนึ่งต่อหนึ่ง ถ้าสตรีหลายคนนั่งได้ แต่การนอนนั้นไม่ควร แม้การยืน การเดินไปกับพระหนึ่งต่อหนึ่งด้วยอาการซ่อนเร้น ก็ไม่ควร.

๒๐. บุรุษ-สตรี ที่มิใช่ญาติของพระ แม้จะเป็นเขย สะใภ้ หรือภรรยาเก่าของพระ (ปุราณทุติยิกา) หากมิได้เกี่ยวข้องทางสายโลหิต ก็ชื่อว่ามิใช่ญาติ ถ้ามีศรัทธาจะให้พระขอปัจจัย ๔ หรือสิ่งของต่างๆ จากตนได้ ก็ต้องปวารณา คือเปิดโอกาสให้พระขอได้โดยลักษณะ ๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ :-
     ก. กำหนดปัจจัยหรือสิ่งของ เช่นจีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง ยา หนังสือ สมุด ปากกา ฯลฯ.
     ข. กำหนดเวลา คือให้ขอได้ตลอด เท่านั้นวันเท่านั้นเดือน เท่านั้นปี ตั้งแต่วันที่เท่าไร ถึงเท่าไร.
     ค. กำหนดทั้งปัจจัย-สิ่งของ และเวลา
     ฆ. ไม่กำหนดทั้งปัจจัยสิ่งของและเวลา ถ้าจะให้ขอได้เป็นนิตย์ ต้องบอกว่า นิมนต์ขอได้ตลอดกาลเป็นนิตย์.

เมื่อปวารณาแล้ว ถ้าพระขอเกินกำหนด หรือเกิน ๔ เดือน ไม่ควรถวาย เว้นไว้แต่ตนปวารณาอีก หรือปวารณาเป็นนิตย์.

หมายเหตุ : - คำว่า ญาติ ได้แก่คนที่เกี่ยวเนื่องกัน ๗ ชั้น คือ ๑. ทวด ๒.ปู่ย่าตายาย ๓.พ่อแม่ ๔.พี่น้อง ๕.ลูก ๖.หลาน ๗.เหลน.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่