ราชาแชมป์ขนไก่ชายคู่ . . ตลอดกาล



          "ขิงยิ่งแก่ก็ยิ่งเผ็ด" คำพูดนี้ถ้าจะเปรียบกับชีวิตของมนุษย์ก็ต้องเปรียบได้ดังผู้ที่มีประสบการณ์ ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมายยิ่งนัก ทุกวินาทีของชีวิตที่ผ่านมาล้วนมีคุณค่ากับคนคนนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องดี หรือร้าย  น่าจดจำหรือน่าลืมเลือน อย่างในวงการแบดมินตันของไทยมีสุดยอดนักตบลูกขนไก่คนหนึ่งที่จนทุกวันนี้ยัง ได้การยอมรับนับถือจากคนในวงการแบดฯ มาตั้งแต่เริ่มเล่นจนติดทีมชาติสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศมามากมาย   หรือแม้แต่จะอำลาทีมชาติไปแล้วก็ยังทำหน้าที่โค้ชได้อย่างสุดยอด ผลิตนักกีฬาป้อนสู่ทีมชาติอีกมากมาย  ทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นที่รักและเคารพของคนในวงการขนไก่ไทยไม่เสื่อมคลาย

         ย้อนอดีตไปเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2482 คุณพ่อชิต ชุ่มคำ กับคุณแม่กทลี ชุ่มคำ ได้ให้กำเนิดบุตรชายที่ชื่อ ชวเลิศ ชุ่มคำ ชีวิตในวัยเด็กยังไงทางชวเลิศก็คงต้องเล่นกีฬาแบดมินตันแน่นอนที่สุดโดย เริ่มเล่นแบดมินตันตอนอายุ 9 ขวบ เพราะที่บ้านมีสนามแบดมินตันเอง แต่เป็นคอร์ตดิน อีกทั้งคุณพ่อชิตและพี่ชายก็ยังเป็นนักแบดมินตันฝีมือดีอีกด้วย  

          โค้ชคนแรกก็ต้องเป็นคุณพ่อรวมทั้งมีพี่ชายช่วยซ้อมให้ด้วยทำให้ทางชวเลิศมี ฝีมือที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว กวาดแชมป์ในรุ่นเยาวชนมามากมายจนกระทั่งตอนอายุ 19 ปีได้เข้ามาร่วมทีมกับเพื่อนๆนักกีฬาแบดมินตัน  6 คน ในสโมสรเล็กๆที่มีชื่อว่า "สมบุญดี" มี จรัส  วันทนทวี เป็นทั้งหัวหน้าสโมสรและผู้อุปถัมภ์นักกีฬาทั้ง 6 คนนี้ ประกอบด้วย ชาญณรงค์ รัตนแสงสรวง, สมสุข บุณยสุขานนท์, ณรงค์ พรฉิม, ชูชาติ วัฒนธรรม, ชวเลิศ ชุ่มคำ และ ระพี  กาญจนระพี ทั้งหมดร่วมกันฝึกซ้อมกันแบบเต็มที่จนสามารถเรียกได้ว่าพวกเขาทั้ง 6 คนคือเพื่อนตายกันจริงๆ ดูได้จากทุกวันนี้ถึงแม้แต่ละคนจะอายุล่วงเลยมากว่า 70 ปีแต่ก็ยังคงติดต่อดูแลทุกข์สุขซึ่งกันและกัน แม้กระทั่งรุ่นลูกก็ยังมีความสนิทสนมกันเป็นอย่างดีเช่นกัน

          การได้มาอยู่ในทีมชุดนี้ของชวเลิศ ทำให้ได้มาร่วมกับเพื่อนๆสร้างผลงานระดับโลกที่เชื่อว่าคนรุ่นหลังๆ หลายคนก็ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าในอดีตนักแบดมินตันทีมชายของไทยจะทำผลงานเอา ไว้ได้สูงถึงระดับรองแชมป์โธมัส คัพ พ.ศ. 2504 การแข่งขันครั้งนั้น ทางสมาคมฯ ได้คัดเลือกให้  ชาญณรงค์, สมสุข, ณรงค์, ชูชาติ, ชวเลิศ และระพี เข้าร่วมการแข่งขันโดยอยู่สายโซนเอเชีย  ซึ่งมีทีมมาเลเซีย, ทีมญี่ปุ่น, ทีมอินเดีย, ทีมจีนไต้หวัน และทีมชาติไทย  นับว่าอยู่สายที่แข็งมากสายหนึ่ง

          แข่งขันครั้งแรกในเมืองไทย จัดแข่งที่สนามมวยราชดำเนิน ทีมไทยจะต้องแข่งขันพบกับทีมมาเลเซีย ทีมมาเลเซียเป็นทีมที่มีความชำนิชำนาญ และผ่านประสบการณ์ในการแข่งขันอย่างโชกโชน  ก่อนวันแข่งขันประมาณ 2-3 วัน หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับลงข่าวเกรียวกราวว่าทีมไทยคงไม่มีโอกาสที่จะผ่านเข้า รอบต่อไปได้

          แต่โชคดีเป็นของทีมไทยที่เอาชนะทีมมาเลเซียได้อย่างงดงาม  แต่ก็ยังคงโดนสื่อในประเทศไทยเองหลายฉบับลงเสียดสีอีกว่า คราวนี้โชคดีเท่านั้นเอง แต่พวกเราทั้งหมดก็ไม่ย่อท้อ  กลับมารวมใจกันสู้เพื่อชาติไม่สนคำวิจารณ์ใดๆทั้งนั้น จนสามารถเอาชนะทีมจีนไต้หวัน, ทีมอินเดีย และญี่ปุ่นในที่สุด  ได้เข้ารอบไปชิงอินเตอร์โซนที่ประเทศอินโดนีเซีย

          ในรอบชิงอินเตอร์โซน เท่าที่จำได้ว่ามีอยู่ 4 ทีม (ไม่รวมทีมอินโดฯ) คือเดนมาร์ก, อเมริกา, ออสเตรเลีย และไทย ได้จับฉลากออกเป็น 2 สาย   สายแรกมี เดนมาร์กจะต้องพบกับอเมริกา  ส่วนทีมไทยต้องพบกับออสเตรเลีย ผลเดนมาร์กชนะอเมริกา ส่วนไทยชนะออสเตรเลีย ฉะนั้นเดนมาร์กจะต้องพบกับทีมไทยในรอบรองสุดท้าย ขณะนั้นคนทั่วโลกมั่นใจในเดนมาร์กมาก คิดว่าจะต้องชนะทีมไทยอย่างแน่นอนและจะเข้าไปชิงชนะเลิศกับผู้ครองถ้วยโธมัส (ทีมอินโดนีเซีย)

          แต่ไทยเราโชคดีสามารถเอาชนะเดนมาร์กได้  ซึ่งในขณะนั้นผู้เล่นเดนมาร์กเป็นทีมที่แข็งแกร่งที่สุดทั้ง เออเลนค็อป (แชมป์โลกชายเดี่ยว), ฟินค็อปบีโร่ และฮัมเมอร์การ์ดแฮนสัน (แชมป์โลกชายคู่ออลอิงแลนด์) ผลปรากฏว่าทีมไทยช็อกโลกด้วยการไล่ถล่มเอาชนะไปได้ 7 ต่อ 2 คะแนน ผ่านเข้าชิงกับอินโดฯอย่างยิ่ใหญ่

          ก่อนถึงรอบชิงกับเจ้าภาพอินโดนีเซีย 2 วันที่ทีมไทยจะพบกับทีมเจ้าบ้านผู้ครองถ้วยโธมัส หนังสือพิมพ์ทุกฉบับในเมืองอิเหนาได้ลงข่าวว่าประธานาธิบดีซูการิโน่  ได้ไปเยือนประเทศรัสเซียและส่งโทรเลขมาให้สมาคมแบดฯ อินโดฯ ว่า

          " ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม  พวกแกต้องรักษาถ้วยโธมัสไว้ให้ได้ โดยทุกวิถีทาง "

          คำพูดคำนั้นแหละเป็นเหตุผลเดียวที่ทีมไทยเราต้องพบกับประสบการณ์ ที่สุดแสนจะเลวร้ายที่สุดในชีวิตของนักกีฬา การแข่งขันครั้งนี้มิใช่แต่จะแข่งขันเฉพาะนักกีฬากับนักกีฬาเท่านั้น  ทีมเราต้องแข่งขันกับกรรมการผู้ตัดสิน  ไลน์แมน และคนดู  

          พวกเขาใช้คนดูกลุ่มหนึ่งสวมเสื้อและกางเกงขาวยืนถือไฟฉายส่องมาที่ ผู้เล่นของเราในขณะกำลังเล่นอยู่ พร้อมกับส่ายตัวไปมาเพื่อให้ผู้เล่นของเรามองลูกขนไก่ไม่สะดวก การโห่ร้องที่ไม่สุภาพเวลาที่เราทำแต้มได้ เขาพยายามให้ผู้เล่นของเราเสียสมาธิ  พวกเสื้อและกางเกงขาวเมื่อผู้เล่นจบเกมต้องเปลี่ยนข้าง เขาเหล่านั้นก็วิ่งกรูไปฝั่งตรงข้ามกับผู้เล่นของเรา

          กรรมการผู้ตัดสินก็เช่นกัน ส่งเสียง "เสีย" ตลอดนับไม่ถ้วนในตอนที่พวกเราตีลูกแบดฯ บางครั้งก่อนที่เราตีลูก กรรมการผู้ตัดสินร้องว่าเสีย ทั้งๆ ที่เรายังไม่ได้สัมผัสลูกขนไก่เลย คงเพราะเขาเผลอตัว นึกว่าเราได้ตีลูก แล้วทางอินโดฯ จะรับไม่ได้ แม้กระทั่งกรรมการดูเส้นก็เช่นกัน  เราตีไปตกลงบนเส้น เขายกมือว่าออก แต่สำหรับผู้เล่นของเขาตีลูกมาทางฝ่ายเรา ลูกตกออกนอกเส้นเขาทำมือว่าดี  

          ตัดสินแบบนี้จนกระทั่งนักกีฬาต่างชาติที่ไปร่วมแข่งขันอยู่ดูรอบชิง  เกิดทนไม่ไหวพากันเดินออกมาประท้วงไม่ยอมให้แข่งขันต่อไปและจะขอเป็นกรรมการ ผู้ตัดสินและกรรมการเส้นแทนเอง แต่ก็ต้องถอยแทบไม่ทัน เมื่อเจ้าถาพใช้ทหารพร้อมอาวุธปืนวิ่งกรูตรงเข้าไปหานักกีฬาต่างชาติที่ยืน ประท้วงอยู่  นักกีฬาเหล่านั้นก็เลยต้องวิ่งหนีเพื่อเอาตัวรอด พวกเราทุกคนเกิดอาการท้อแท้อย่างมากเมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม จนคิดว่าจะไม่แข่งขันต่อ      

          แต่ก็ต้องยอมทำเพื่อชาติเมื่อท่านเอกอัคราชทูตไทยประจำกรุง จาการ์ตา  ซึ่งท่านนั่งดูอยู่พร้อมทั้งผู้ที่ทำงานอยู่ในสถานทูตเดินลงมาหาพวกเราแล้ว ปลอบใจและขอร้องให้พวกเราเล่นต่อไปเพื่อให้เห็นแก่สัมพันธไมตรีระหว่าง ประเทศ พวกเราเลยปรึกษากันว่าพวกเราเป็นผู้แทนประเทศไทย  เราจึงตกลงใจกลับมาแข่งขันต่อไป แต่ไม่ว่าเราจะไปที่ไหนไม่เว้นแม้แต่ห้องนํ้าก็จะมีทหารคอยตามคุมตลอด

          กลับมาแข่งขันต่อในวันแรกถึงแม้ทีมไทยตีเสมอมาเป็น 2 คะแนนต่อ 2 คะแนน แต่ก็ได้แค่นั้นเพราะในวันที่สองเหตุการณ์กลับเลวร้ายไปกว่าเดิม กลโกงต่างๆ ถูกนำมาใช้มากกว่าวันแรกเสียอีก เชื่อหรือไม่ว่าการลงสนามของพวกเราทั้ง 6 คนในวันที่สองนั้น พวกเราต้องเล่นไปร้องไห้ไปกันทุกคน  สุดท้ายแชมป์จึงตกเป็นของทีมอิเหนาที่เอาชนะไป 6 ต่อ 3




          จากนั้นทางชวเลิศยังคงทำผลงานได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการเป็นแชมป์ชายคู่ประเทศไทยอีก 8 สมัย

          พ.ศ. 2503, 2504 ชนะเลิศชายคู่ การแข่งขันชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย คู่กับ ชูชาติ วัฒนธรรม
          พ.ศ. 2505 ชนะเลิศชายคู่ การแข่งขันชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย คู่กับ ระพี  กาญจนระพี
          พ.ศ. 2506, 2507, 2508  ชนะเลิศชายคู่ การแข่งขันชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย คู่กับ ชูชาติ  วัฒนธรรม
          พ.ศ. 2510, 2511 ชนะเลิศชายคู่ การแข่งขันชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย คู่กับ ชูชาติ  วัฒนธรรม

          ผลงานระดับนานาชาติ
          พ.ศ. 2510 สามารถคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 5 ที่กรุงเทพฯคู่กับ สงวน อนันทานนท์
          พ.ศ. 2510 เหรียญเงิน ซีเกมส์ ครั้งที่ 6 ที่มาเลเซีย คู่กับ สงวน อนันทานนท์
          พ.ศ. 2511 ได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิง สุทธสิริโสภา กิติยากร รับเป็นองค์อุปถัมภ์ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปแข่งขันทั่วโลกใช้เวลากว่า 2 เดือน และสามารถทำผลงาน

          - ชนะเลิศการแข่งขันเนเธอร์แลนด์ โอเพ่น
          - รองชนะเลิศเยอรมัน โอเพ่น   อันดับสามเดนิช โอเพ่น คู่กับ สงบ  รัตตนุสรณ์  
          - อันดับสามออลอิงแลนด์คู่กับ สงบ  รัตตนุสรณ์

          ในชีวิตการเป็นนักกีฬาแบดมินตันนั้น ทางชวเลิศประทับใจและภาคภูมิใจอะไรมากที่สุดในชีวิต คำตอบก็คือคือ การที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  และได้เข้าเฝ้าฯในพระราชวังเพื่อเล่นแบดมินตันถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทุกครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณทรงแบดมินตันกับ พวกเราในประเภทชาย 3 ด้วย
          
          นั่นแหละคือสิ่งที่เราทั้ง 6 คนภาคภูมิใจและปลาบปลื้มปีติในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านได้ทรงพระ เมตตาต่อพวกเรา เพราะหาได้ยากมากสำหรับคนธรรมดาอย่างเราที่จะได้มีบุญถึงขนาดได้เข้าเฝ้าฯ ในพระราชวังเพื่อเล่นแบดมินตันถวายอย่างใกล้ชิด

          ชีวิตนักกีฬาที่ต้องลงสนามแข่งขันของชวเลิศนั้นแขวนแร็กเกตไปตอน อายุ 35 ปี แต่ก็ยังคงอยู่ในแวดวงลูกขนไก่มาอย่างต่อเนื่อง โดยเข้ามาทำหน้าที่โค้ชให้กับสโมสร ธ.กรุงเทพ ที่ตนเองทำงานประจำอยู่ที่สาขาพลับพลาไชย  ในยุคนั้นเรียกได้ว่า ธ.กรุงเทพ เป็นอีกทีมที่มีนักกีฬาระดับทีมชาติมากมาย อาทิ

          ไตรรงค์  ลิ่มสกุล, เจียมศักดิ์  พานิชชัยกุล, ทรงชัย พันธ์สถิตย์วงศ์, ศักดิ์ระพี ทองสาริ, ขณิษฐา แม้นสมุทร, อัมพร เกียรติพิทักษ์, พรรณวดี  จินะสุยานนท์, เพ็ญพนอ ขลังธรรมเนียม, จุฑาทิพย์  บรรจงศิลป์ เป็นต้น หลังจากที่เกษียณอายุแล้ว ทางชวเลิศก็หันมาคุมทีมจุฬาลงกรณ์ฯ ที่ถือว่าเป็นการทำงานโค้ชชิ้นสุดท้าย

          ทุกวันนี้ "อาเชาว์" ชวเลิศ ชุ่มคำ ในวัย 71 ปี ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับศรีภรรยา "ป้าออ" เจริญศรี ชุ่มคำ ทั้งคู่มีบุตรชายหัวแก้วหัวแหวนเพียงคนเดียว "เอ๋" ศุภฤกษ์ ชุ่มคำ แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับอดีตนักตบลูกขนไก่คนนี้ก็คือการเล่นแบดมินตันกับ เพื่อนฝูงสัปดาห์ละสองวัน วันพุธที่สนามกฟน. คลองเตย ส่วนวันเสาร์ที่สนาม ธ.กรุงเทพ กล้วยนํ้าไท

          นี่คือเรื่องราวของ "อาเชาว์" ผู้ ที่เป็นที่รักยิ่งของคนในวงการแบดมินตันไทยที่มีเอกลักษณ์ประจำตัวง่ายๆ เมื่อเดินทางไปตีแบดฯที่ไหนจะต้องมีของกินเล็กๆน้อยๆติดมือมาด้วย นอกเหนือจากการยิ้มง่าย พูดน้อย ที่สำคัญที่ใครๆก็รักคนที่ชื่อ "ชวเลิศ" คือการเป็นคนดี ขี้เกรงใจคนนี่เอง ถึงขนาดมีคนในแวดวงขนไก่ไทยพูดกันว่า

          "ถ้าคนไหนทำให้ชวเลิศโกรธหรือไม่พอใจแสดงว่าคนคนนั้นเป็นคนที่ใช้ไม่ได้ จริงๆ"
  
          วัย 71 ปี  ของชวเลิศถือได้ว่าเปรียบเหมือนปูชนียบุคคลคนสำคัญของวงการแบดมินตันไทยใน ยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะไปที่ไหน สนามใด ก็จะมีแต่ผู้คนทักทายพูดคุย  การที่ได้รับรางวัลฮอล ออฟ เฟม ครั้งที่ 4  จากสยามกีฬา เมื้อ 6 มี.ค. 2553 ครั้งนี้เรียกได้ว่าเหมาะสมด้วยประการทั้งปวงสำหรับ

          "ตำนานที่ยังมีชีวิตแห่งวงการขนไก่ไทย"

โดย : ลูกอิน Siamsport  03 มี.ค.  2553





แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่