โลกในมุมมองของ Value Investor 19 ม.ค. 57
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
4 พลังการเมืองกับหุ้นไทย
เคยสงสัยไหมว่าทำไมการเมืองไทยจึง “วุ่นไม่รู้จบ” และการเมืองมีผลกระทบกับหุ้นมากน้อยแค่ไหน? วันนี้ผมจะพยายามอธิบายความเข้าใจของผมที่เคยผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงของประเทศไทยมานับไม่ถ้วนตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และได้พยายามศึกษาบทความข้อเขียนของนักประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และผู้รู้อื่น ๆ โดยเฉพาะในช่วงหลังที่ผมกลายเป็นนักลงทุนแบบ VI ที่จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการเมืองซึ่งมีผลกระทบกับผลตอบแทนการลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้นนั้น แน่นอน ทำให้หุ้นผันผวนรุนแรงตามสภาพการณ์ของการเมือง และในระยะยาวนั้น การเมืองเป็นตัวกำหนดเสถียรภาพทางสังคมและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่จะเอื้อหรือทำลายธุรกิจเอกชนและตลาดเสรีซึ่งเป็นเสาหลักของระบบทุนนิยมเสรี ทั้งสองประการนั้นเป็น “น้ำที่หล่อเลี้ยง” ให้หุ้นแต่ละตัวอยู่ได้ดีหรือเหี่ยวเฉา
โชคร้ายของประเทศไทยก็คือ เรามีเหตุการณ์ทางการเมืองที่เลวร้ายบ่อยเหลือเกินซึ่งทำให้หุ้นมีความผันผวนเป็นระยะ ๆ ตลอดมา แต่โชคดีที่ว่า หลังเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมาทุกครั้ง การเมืองไทยก็กลับมาสู่ระบบที่มีเสถียรภาพทางสังคมและระบบเศรษฐกิจค่อนข้างจะเอื้ออำนวยกับธุรกิจเอกชนและตลาดเสรีและดังนั้น หุ้นไทยหรือดัชนีตลาดหุ้นไทยก็ปรับตัวไปตามพื้นฐานของหุ้นตามปกติ ผลก็คือ ความผันผวนในระยะสั้นที่เกิดจากความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมาก็มักจะกลายเป็นโอกาสของคนที่กล้าและเข้าใจเรื่องของการเมืองในประเทศไทยและเป็นนักลงทุนระยะยาว
การที่ประเทศไทยมี “วิกฤติทางการเมือง” บ่อยครั้งนั้น ผมคิดว่ามาจากการที่เรามีระบบหรือแนวคิดทางการเมืองรวมถึงผู้เล่นหรือผู้ที่มีบทบาททางการเมืองใหญ่ ๆ อยู่อย่างน้อย 4 กลุ่ม ที่ต่างก็มีบทบาทหรืออำนาจใกล้เคียงกัน อำนาจทั้ง 4 นี้ไม่ได้ต่างคนต่างอยู่แต่มีปฏิสัมพันธ์กันตลอดเวลา บางช่วงบางเวลาอำนาจที่ 1 ก็จับมือกับอำนาจที่ 3 เพื่อต่อสู้กับอำนาจที่ 2 โดยมีอำนาจหรือพลังที่ 4 ที่อยู่เฉย บางช่วงบางตอนอำนาจหรือพลังที่ 3 ก็อาจจะโดดเด่นเหนือกว่าอำนาจอื่นและปกครองประเทศอย่างราบรื่นจนเกิดวิกฤติการเมืองและมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอำนาจของกลุ่มใหม่ ในบางช่วงบางเวลาพลังหนึ่งอาจจะโดดเด่นเติบโตในขณะที่อำนาจบางอย่างก็ถดถอยลง ทั้งหมดนี้ทำให้การเมืองไทยมีพลวัตในการเปลี่ยนแปลงหรือวิกฤติสูงกว่าหลาย ๆ ประเทศโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วที่พลังหรืออำนาจทางการเมืองนั้นตกอยู่กับพลังบางอย่างเพียงพลังเดียวที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่มายาวนาน
พลังอำนาจทางการเมืองของไทยกลุ่มแรกก็คือ พลังของขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีที่มีมานาน นี่คือสิ่งที่มีมานานตั้งแต่โบราณกาลแต่ก็ยังมีบทบาทสูงมาก ตัวอย่างขนบธรรมเนียมที่คนไทยยึดถือซึ่งค่อนข้างมากกว่าหลายประเทศในโลกก็เช่น เรานับถือความอาวุโสมากกว่าสังคมอื่น เรายึดถือความเป็น “จ้าวคนนายคน” ว่าเป็นเรื่องมีเกียรติมีศักดิ์ศรีมากกว่าความมีชื่อเสียงอย่างอื่น เรานับถือเรื่องของ “ชาติตระกูล” สูง เรามีการแบ่งแยกระหว่าง “ชนชั้น” อยู่ “ในใจ” แต่ก็ยอมรับให้มีการ “เลื่อนชั้น” ได้ในระดับหนึ่ง เป็นต้น ขนบธรรมเนียมเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการกำหนดความเป็นไปทางการเมืองมาตลอด ว่าที่จริง ในช่วงที่ผมเป็นเด็กวัยรุ่นนั้น คนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีต่างก็มักจะต้องมาจากคนที่มีเกียรติประวัติหรือฐานะทางตระกูลที่สูงโดยเฉพาะที่เป็นข้าราชการระดับสูงและมีผลงานที่ “ดีเด่น” แม้ว่าในระยะหลัง ๆ คนรุ่นใหม่อาจจะยึดถือขนบธรรมเนียมเก่า ๆ เหล่านี้น้อยลงแต่คนรุ่นเก่าส่วนมากก็ยังยึดมั่นกับอุดมการณ์และความเชื่อนี้ พลังของขนบธรรมเนียมประเพณีนี้ก่อนปี 2475 ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองถือว่าเป็นพลังที่สูงที่สุดแทบจะพลังเดียว อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น พลังนี้ก็ถดถอยและมีการขึ้นลงเป็นระยะจนถึงปัจจุบัน
พลังที่สองก็คือ พลังของสามัญชนหรือประชาชนธรรมดา หรือถ้าจะพูดก็คือ พลัง “ประชาธิปไตย” นี่คือพลังการเมืองที่เกิดขึ้นภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศในปี 2475 ซึ่งในช่วงเกิดขึ้นใหม่ ๆ นั้นมีพลังสูง อย่างไรก็ตาม ด้วยระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศที่ยังต่ำอยู่ซึ่งทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีการศึกษาไม่พอ ยังไม่เข้าใจถึงสิทธิของตนเองและไม่มีทรัพยากรในการสื่อสารที่จะทำให้เกิดพลังทางการเมือง ดังนั้น พลังของประชาชนจึงถดถอยลงต่อเนื่องยาวนาน และแม้ว่าจะมีระบบการเลือกตั้งที่เป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจทางการเมืองของตนซึ่งเป็นอานิสงค์จากอำนาจอื่นที่จะกล่าวถึงต่อไป แต่พลังนี้ก็มักจะไม่สามารถที่จะเป็นแกนนำในการกำหนดความเป็นไปของประเทศมากนักจนกระทั่งในช่วงหลัง ๆ สิบกว่าปีมานี้ที่พลังนี้มีการเติบโตขึ้นค่อนข้างมาก เหตุผลส่วนสำคัญก็คือ การพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศที่ก้าวหน้ามากขึ้นมากประกอบกับการพัฒนาขึ้นของระบบการสื่อสารที่ทำให้พลังนี้เติบโตขึ้นมาก
พลังที่สามก็คือ พลังของคนที่ถืออาวุธ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือทหาร นี่คือพลังทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นานนักและกลายเป็นพลังที่เหนือกว่าและครอบงำการเมืองไทยมายาวนานจนถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งทำให้บทบาทของทหารลดลง และแม้ว่าพลังอำนาจของทหารจะกลับขึ้นมาเป็นระยะเช่นหลังช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หรือเหตุการณ์ปี 2534 แต่อำนาจทางการเมืองของทหารก็ดูเหมือนว่าจะค่อย ๆ ลดลงแบบต่อเนื่องยาวนานและอาจจะกลายเป็นพลังอำนาจที่สนับสนุนอำนาจอื่นมากกว่าที่จะเป็นตัวหลักเห็นได้จากการที่ทหารไม่สามารถเข้าบริหารประเทศได้แม้ว่าจะสามารถทำรัฐประหารได้สำเร็จในระยะหลัง เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่าพลังอำนาจอื่นเติบโตขึ้น “ระเบียบโลก” เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการจบลงของ “สงครามเย็น” ระหว่างโลกเสรีและสังคมนิยมที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นกระแสหลักของการปกครองในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
พลังที่ 4 ที่เป็นพลังสุดท้ายนั้นถือว่าเป็น “Soft Power” หรือพลังที่อ่อนไม่รุนแรง ดูเหมือนไม่มีตัวตน แต่เป็นพลังที่มีอำนาจไม่น้อยไปกว่าพลังอื่น นี่คือความเป็น Globalization หรือการที่โลกนั้นจะกลายเป็นหนึ่งเดียว ประเทศแต่ละประเทศที่มีความเจริญถึงจุดหนึ่งจะไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ต้องพึ่งพิงประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศไทยนั้น เรามีการค้าขายกับต่างประเทศสูงมาก เราซื้อและขายกับต่างประเทศมากกว่าสินค้าที่เราบริโภคเองเสียอีก และโลกก็ได้กำหนด “ระเบียบโลก” ซึ่งเราไม่สามารถฝ่าฝืนได้ถ้าเรายังต้องการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับประเทศอื่น ใน “ระเบียบโลก” ซึ่งหลาย ๆ เรื่องก็ไม่ได้มีการเขียนไว้ชัดเจนแต่เป็นที่รู้กันว่าไม่เป็นที่ยอมรับนั้นรวมไปถึงเรื่องของการเมืองและอำนาจทางการเมืองที่ขัดแย้งกับความเชื่อสากลเช่นเรื่องของสิทธิมนุษยชนเป็นต้น พลังของสังคมโลกนี้เป็นพลังที่อ่อนเนื่องจากมันไม่สามารถมายึดกุมอำนาจของประเทศไทยได้ แต่พลังอื่น ๆ ทั้งหลายต้องฟังต้องพิจารณาเวลาตนเองจะทำอะไร ประเด็นสำคัญก็คือ มันต้องไม่ฝืน “กระแสโลก” มากนัก ดังนั้น พลังนี้จึงเป็นได้เพียงพลังที่สนับสนุนหรือต่อต้านคัดค้านพลังอื่น มองในแง่นี้ พลังที่ได้ประโยชน์จากพลังของสังคมโลกก็คือ พลังประชาธิปไตย เนื่องกระแสโลกก็คือ กระแสของประชาธิปไตย
พลังทั้ง 4 ที่กล่าวมานั้น ในประเทศไทยผมคิดว่ายังคงจะต่อสู้กันไปและไม่สามารถจบลงโดยที่เหลือพลังเพียง 1 หรือ 2 พลังได้ในระยะเวลาอันสั้น ในฐานะของนักลงทุน ผมเพียงแต่หวังว่าการต่อสู้นั้นจะไม่รุนแรงจนเกินไป และที่หวังต่อไปก็คือ เมื่อการต่อสู้สิ้นสุดลงในรอบนี้ ระบอบ ปรัชญา และแนวความคิดความเชื่อในการปกครองของไทยก็ยังเป็นเหมือนเดิมนั่นก็คือ ประเทศก็ยังมีความสงบทางด้านของสังคม และระบบเศรษฐกิจก็ยังเป็นเสรี เป็นทุนนิยม ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นของการลงทุนในตลาดหุ้น และนั่นก็คือสิ่งที่ประเทศไทยต้องการสำหรับคนทุกคน
4 พลังการเมืองกับหุ้นไทย/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
4 พลังการเมืองกับหุ้นไทย
เคยสงสัยไหมว่าทำไมการเมืองไทยจึง “วุ่นไม่รู้จบ” และการเมืองมีผลกระทบกับหุ้นมากน้อยแค่ไหน? วันนี้ผมจะพยายามอธิบายความเข้าใจของผมที่เคยผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงของประเทศไทยมานับไม่ถ้วนตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และได้พยายามศึกษาบทความข้อเขียนของนักประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และผู้รู้อื่น ๆ โดยเฉพาะในช่วงหลังที่ผมกลายเป็นนักลงทุนแบบ VI ที่จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการเมืองซึ่งมีผลกระทบกับผลตอบแทนการลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้นนั้น แน่นอน ทำให้หุ้นผันผวนรุนแรงตามสภาพการณ์ของการเมือง และในระยะยาวนั้น การเมืองเป็นตัวกำหนดเสถียรภาพทางสังคมและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่จะเอื้อหรือทำลายธุรกิจเอกชนและตลาดเสรีซึ่งเป็นเสาหลักของระบบทุนนิยมเสรี ทั้งสองประการนั้นเป็น “น้ำที่หล่อเลี้ยง” ให้หุ้นแต่ละตัวอยู่ได้ดีหรือเหี่ยวเฉา
โชคร้ายของประเทศไทยก็คือ เรามีเหตุการณ์ทางการเมืองที่เลวร้ายบ่อยเหลือเกินซึ่งทำให้หุ้นมีความผันผวนเป็นระยะ ๆ ตลอดมา แต่โชคดีที่ว่า หลังเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมาทุกครั้ง การเมืองไทยก็กลับมาสู่ระบบที่มีเสถียรภาพทางสังคมและระบบเศรษฐกิจค่อนข้างจะเอื้ออำนวยกับธุรกิจเอกชนและตลาดเสรีและดังนั้น หุ้นไทยหรือดัชนีตลาดหุ้นไทยก็ปรับตัวไปตามพื้นฐานของหุ้นตามปกติ ผลก็คือ ความผันผวนในระยะสั้นที่เกิดจากความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมาก็มักจะกลายเป็นโอกาสของคนที่กล้าและเข้าใจเรื่องของการเมืองในประเทศไทยและเป็นนักลงทุนระยะยาว
การที่ประเทศไทยมี “วิกฤติทางการเมือง” บ่อยครั้งนั้น ผมคิดว่ามาจากการที่เรามีระบบหรือแนวคิดทางการเมืองรวมถึงผู้เล่นหรือผู้ที่มีบทบาททางการเมืองใหญ่ ๆ อยู่อย่างน้อย 4 กลุ่ม ที่ต่างก็มีบทบาทหรืออำนาจใกล้เคียงกัน อำนาจทั้ง 4 นี้ไม่ได้ต่างคนต่างอยู่แต่มีปฏิสัมพันธ์กันตลอดเวลา บางช่วงบางเวลาอำนาจที่ 1 ก็จับมือกับอำนาจที่ 3 เพื่อต่อสู้กับอำนาจที่ 2 โดยมีอำนาจหรือพลังที่ 4 ที่อยู่เฉย บางช่วงบางตอนอำนาจหรือพลังที่ 3 ก็อาจจะโดดเด่นเหนือกว่าอำนาจอื่นและปกครองประเทศอย่างราบรื่นจนเกิดวิกฤติการเมืองและมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอำนาจของกลุ่มใหม่ ในบางช่วงบางเวลาพลังหนึ่งอาจจะโดดเด่นเติบโตในขณะที่อำนาจบางอย่างก็ถดถอยลง ทั้งหมดนี้ทำให้การเมืองไทยมีพลวัตในการเปลี่ยนแปลงหรือวิกฤติสูงกว่าหลาย ๆ ประเทศโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วที่พลังหรืออำนาจทางการเมืองนั้นตกอยู่กับพลังบางอย่างเพียงพลังเดียวที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่มายาวนาน
พลังอำนาจทางการเมืองของไทยกลุ่มแรกก็คือ พลังของขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีที่มีมานาน นี่คือสิ่งที่มีมานานตั้งแต่โบราณกาลแต่ก็ยังมีบทบาทสูงมาก ตัวอย่างขนบธรรมเนียมที่คนไทยยึดถือซึ่งค่อนข้างมากกว่าหลายประเทศในโลกก็เช่น เรานับถือความอาวุโสมากกว่าสังคมอื่น เรายึดถือความเป็น “จ้าวคนนายคน” ว่าเป็นเรื่องมีเกียรติมีศักดิ์ศรีมากกว่าความมีชื่อเสียงอย่างอื่น เรานับถือเรื่องของ “ชาติตระกูล” สูง เรามีการแบ่งแยกระหว่าง “ชนชั้น” อยู่ “ในใจ” แต่ก็ยอมรับให้มีการ “เลื่อนชั้น” ได้ในระดับหนึ่ง เป็นต้น ขนบธรรมเนียมเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการกำหนดความเป็นไปทางการเมืองมาตลอด ว่าที่จริง ในช่วงที่ผมเป็นเด็กวัยรุ่นนั้น คนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีต่างก็มักจะต้องมาจากคนที่มีเกียรติประวัติหรือฐานะทางตระกูลที่สูงโดยเฉพาะที่เป็นข้าราชการระดับสูงและมีผลงานที่ “ดีเด่น” แม้ว่าในระยะหลัง ๆ คนรุ่นใหม่อาจจะยึดถือขนบธรรมเนียมเก่า ๆ เหล่านี้น้อยลงแต่คนรุ่นเก่าส่วนมากก็ยังยึดมั่นกับอุดมการณ์และความเชื่อนี้ พลังของขนบธรรมเนียมประเพณีนี้ก่อนปี 2475 ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองถือว่าเป็นพลังที่สูงที่สุดแทบจะพลังเดียว อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น พลังนี้ก็ถดถอยและมีการขึ้นลงเป็นระยะจนถึงปัจจุบัน
พลังที่สองก็คือ พลังของสามัญชนหรือประชาชนธรรมดา หรือถ้าจะพูดก็คือ พลัง “ประชาธิปไตย” นี่คือพลังการเมืองที่เกิดขึ้นภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศในปี 2475 ซึ่งในช่วงเกิดขึ้นใหม่ ๆ นั้นมีพลังสูง อย่างไรก็ตาม ด้วยระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศที่ยังต่ำอยู่ซึ่งทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีการศึกษาไม่พอ ยังไม่เข้าใจถึงสิทธิของตนเองและไม่มีทรัพยากรในการสื่อสารที่จะทำให้เกิดพลังทางการเมือง ดังนั้น พลังของประชาชนจึงถดถอยลงต่อเนื่องยาวนาน และแม้ว่าจะมีระบบการเลือกตั้งที่เป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจทางการเมืองของตนซึ่งเป็นอานิสงค์จากอำนาจอื่นที่จะกล่าวถึงต่อไป แต่พลังนี้ก็มักจะไม่สามารถที่จะเป็นแกนนำในการกำหนดความเป็นไปของประเทศมากนักจนกระทั่งในช่วงหลัง ๆ สิบกว่าปีมานี้ที่พลังนี้มีการเติบโตขึ้นค่อนข้างมาก เหตุผลส่วนสำคัญก็คือ การพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศที่ก้าวหน้ามากขึ้นมากประกอบกับการพัฒนาขึ้นของระบบการสื่อสารที่ทำให้พลังนี้เติบโตขึ้นมาก
พลังที่สามก็คือ พลังของคนที่ถืออาวุธ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือทหาร นี่คือพลังทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นานนักและกลายเป็นพลังที่เหนือกว่าและครอบงำการเมืองไทยมายาวนานจนถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งทำให้บทบาทของทหารลดลง และแม้ว่าพลังอำนาจของทหารจะกลับขึ้นมาเป็นระยะเช่นหลังช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หรือเหตุการณ์ปี 2534 แต่อำนาจทางการเมืองของทหารก็ดูเหมือนว่าจะค่อย ๆ ลดลงแบบต่อเนื่องยาวนานและอาจจะกลายเป็นพลังอำนาจที่สนับสนุนอำนาจอื่นมากกว่าที่จะเป็นตัวหลักเห็นได้จากการที่ทหารไม่สามารถเข้าบริหารประเทศได้แม้ว่าจะสามารถทำรัฐประหารได้สำเร็จในระยะหลัง เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่าพลังอำนาจอื่นเติบโตขึ้น “ระเบียบโลก” เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการจบลงของ “สงครามเย็น” ระหว่างโลกเสรีและสังคมนิยมที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นกระแสหลักของการปกครองในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
พลังที่ 4 ที่เป็นพลังสุดท้ายนั้นถือว่าเป็น “Soft Power” หรือพลังที่อ่อนไม่รุนแรง ดูเหมือนไม่มีตัวตน แต่เป็นพลังที่มีอำนาจไม่น้อยไปกว่าพลังอื่น นี่คือความเป็น Globalization หรือการที่โลกนั้นจะกลายเป็นหนึ่งเดียว ประเทศแต่ละประเทศที่มีความเจริญถึงจุดหนึ่งจะไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ต้องพึ่งพิงประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศไทยนั้น เรามีการค้าขายกับต่างประเทศสูงมาก เราซื้อและขายกับต่างประเทศมากกว่าสินค้าที่เราบริโภคเองเสียอีก และโลกก็ได้กำหนด “ระเบียบโลก” ซึ่งเราไม่สามารถฝ่าฝืนได้ถ้าเรายังต้องการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับประเทศอื่น ใน “ระเบียบโลก” ซึ่งหลาย ๆ เรื่องก็ไม่ได้มีการเขียนไว้ชัดเจนแต่เป็นที่รู้กันว่าไม่เป็นที่ยอมรับนั้นรวมไปถึงเรื่องของการเมืองและอำนาจทางการเมืองที่ขัดแย้งกับความเชื่อสากลเช่นเรื่องของสิทธิมนุษยชนเป็นต้น พลังของสังคมโลกนี้เป็นพลังที่อ่อนเนื่องจากมันไม่สามารถมายึดกุมอำนาจของประเทศไทยได้ แต่พลังอื่น ๆ ทั้งหลายต้องฟังต้องพิจารณาเวลาตนเองจะทำอะไร ประเด็นสำคัญก็คือ มันต้องไม่ฝืน “กระแสโลก” มากนัก ดังนั้น พลังนี้จึงเป็นได้เพียงพลังที่สนับสนุนหรือต่อต้านคัดค้านพลังอื่น มองในแง่นี้ พลังที่ได้ประโยชน์จากพลังของสังคมโลกก็คือ พลังประชาธิปไตย เนื่องกระแสโลกก็คือ กระแสของประชาธิปไตย
พลังทั้ง 4 ที่กล่าวมานั้น ในประเทศไทยผมคิดว่ายังคงจะต่อสู้กันไปและไม่สามารถจบลงโดยที่เหลือพลังเพียง 1 หรือ 2 พลังได้ในระยะเวลาอันสั้น ในฐานะของนักลงทุน ผมเพียงแต่หวังว่าการต่อสู้นั้นจะไม่รุนแรงจนเกินไป และที่หวังต่อไปก็คือ เมื่อการต่อสู้สิ้นสุดลงในรอบนี้ ระบอบ ปรัชญา และแนวความคิดความเชื่อในการปกครองของไทยก็ยังเป็นเหมือนเดิมนั่นก็คือ ประเทศก็ยังมีความสงบทางด้านของสังคม และระบบเศรษฐกิจก็ยังเป็นเสรี เป็นทุนนิยม ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นของการลงทุนในตลาดหุ้น และนั่นก็คือสิ่งที่ประเทศไทยต้องการสำหรับคนทุกคน