การสร้างหลักการแห่งประชาธิปไตยโดยอาศัยหลักการของไตรลักษณ์ การมีสติ การวางอุเบกขา และอิทธิบาท ๔

กระทู้สนทนา
หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นหลักความจริงสากล และเป็นรากฐานของสังคมไทย การที่เราสร้างหลักการแห่งประชาธิปไตยขึ้นมาจากรากฐานของเราเอง แทนที่จะไปยกทั้งโครงสร้างของประชาธิปไตยประเทศอื่นมาสวมใส่ จะทำให้ประชาธิปไตยของเราเป็นประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งยิ่งกว่าประชาธิปไตยที่เรากำลังมีอยู่ในปัจจุบันนี้ และจะทำให้สังคมของเราในทุกมิติมีความมั่นคง มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

หลักธรรมที่จะกล่าวในกระทู้นี้คือ
หลักธรรมที่เป็นพื้นฐานของทุกสรรพสิ่ง คือ ไตรลักษณ์
หลักธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ คือ อิทธิบาท ๔
ส่วนการมีสติและการวางใจให้เป็นอุเบกขา
เป็นสิ่งที่ผู้ฝึกตนตามหลักพระพุทธศาสนาทราบดีว่า เป็นแนวทางไปสู่ความบริสุทธิ์แห่งจิตใจ

ไตรลักษณ์


ไตรลักษณ์ เป็นลักษณะ ๓ ประการ ที่ต้องเกิดขึ้น เป็นกฎของธรรมชาติ ซึ่งกฎนี้สามารถนำมาใช้เป็นฐานในการพัฒนาระบอบการปกครองได้ ซึ่งระบอบการปกครองที่มีรากฐานจากหลักแห่งความจริงนี้ จะเป็นระบอบที่คงอยู่ได้นาน เพราะไม่ขัดกับธรรมชาติ เป็นการโอนอ่อนผ่อนปรนไปตามการลื่นไหลเป็นไปของสรรพสิ่งในสังสารวัฏ การจะนำไตรลักษณ์มาเป็นหลักคิดในการปกครองนั้น ทำได้อย่างไรกระผมจะอธิบายดังนี้ครับ

ทุก ๆ ความจริงล้วนมีอำนาจในตัวของมันเอง หลักความจริงที่พระพุทธองค์ทรงสอนนั้นเป็นกลไกที่อยู่เบื้องหลังการดำเนินไปของทุกสรรพสิ่ง เป็นเหมือนตัวที่คอยควบคุมบงการเราทุกคนและทุกสิ่งให้เป็นไปตามนั้น เช่นว่า ควบคุมให้มนุษย์ที่เกิดมา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เติบโตขึ้นทีละน้อยจนในที่สุดก็หยุดเจริญเติบโต แต่ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตลอดเวลา จนในที่สุดก็แก่ชรา และถึงแก่กาลมรณะไป ไม่มีใครที่จะหลุดพ้นความจริงข้อนี้ไปได้เลย

จะเห็นว่าหลักความจริงนั้นมีอำนาจมากมายเหลือเกินในการบงการชีวิตของเราให้ดำเนินไปตามกระแสของธรรมชาติ หลักความจริงแห่งการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่มีอำนาจอยู่เหนือสรรพสิ่งที่ประกอบขึ้นจากการปรุงแต่ง หลักความจริงแห่งการที่ต้องดับไปก็เป็นสิ่งที่มีอำนาจอยู่เหนือสรรพสิ่งที่ประกอบขึ้นจากการปรุงแต่ง
    
ในสมัยก่อนอำนาจในระบอบการปกครองจะรวมอยู่แต่ในบุคคลเพียงผู้เดียว ซึ่งขัดกับหลักธรรมชาติที่ว่าทุกอย่างจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเมื่อหลักธรรมชาติสำแดง ผู้คนจึงแสดงออกในรูปแบบของการเยื้อแย่งอำนาจกันด้วยการใช้กำลังประทุษร้าย ที่เห็นชัดคือในสมัยอยุธยาที่มีการแย่งชิงอำนาจในการปกครอง ซึ่งการแย่งชิงนำมาซึ่งการผัดเปลี่ยนอำนาจ การเปลี่ยนแปลงของขั้วอำนาจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็มีหลักความจริงแห่งการเปลี่ยนแปลงอยู่เบื้องหลัง

ต่อมาได้มีนักปราชญ์ทำการแยกอำนาจปกครองออกเป็น ๓ อย่างเป็นอิสระต่อกัน นั่นคือ อำนาจในอำนาจในการตรากฎหมาย อำนาจในการบริหาร และอำนาจในการตัดสินถูกผิด ซึ่งอำนาจปกครองแม้จะถูกแยกออกมาแต่ก็ยังแสดงลักษณะของความจริงแห่งการเปลี่ยนแปลง ในบางครั้งอำนาจก็ซ้อนทับกัน บางครั้งอำนาจทั้ง ๓ ก็ถูกรวบ แต่เมื่อระบอบการปกครองชนิดหนึ่งเกิดขึ้นมา ก็ได้ทำให้อำนาจทั้ง ๓ นี้สงบลง ระบอบการปกครองใหม่นั้นอนุญาตให้ผู้กุมอำนาจทั้ง ๓ นี้มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ได้ ซึ่งการทำเช่นนี้เป็นการลื่นไหลไปตามหลักของธรรมชาติ ไม่ขัดต่อหลักธรรมชาติ ดังนั้นระบอบนี้จึงได้ให้คุณประโยชน์หลายประการแก่ประเทศซึ่งใช้ระบอบนี้ และทำให้การปกครองของประเทศที่ใช้ระบอบนี้มีความมั่นคงอย่างมาก

ประชาธิปไตยเป็นหลักการที่สอดคล้องกับหลักแห่งความจริง ในเมื่อมนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าสู่พระนิพพาน อันเป็นสิ่งสูงสุดแห่งความสุขในทางศาสนา แล้วเหตุใดมนุษย์จะไม่สามารถเข้าถึงความมีอำนาจในการปกครองตนเองอันเป็นความสุขอย่างหนึ่งในทางโลก

ท่านทั้งหลาย ในเมื่อประชาธิปไตยเป็นหลักการปกครองที่เป็นไปตามหลักธรรมชาติแล้ว เหตุใดเรายังเห็นการเมืองมีความวุ่นวายอยู่อีก นั่นเป็นเพราะประชาชนทั้งหลายมีความยึดติด ความยึดติดเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักไตรลักษณ์ การยึดติดเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนละเมอเพ้อฝันถึงการดำรงอยู่ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งชั่วกาลนาน ต้องการให้สิ่งที่ตนรักใครชอบพอนั้นดำรงอยู่ต่อไป ทั้งที่สิ่ง ๆ นั้นก็ต้องตกอยู่ในอำนาจไตรลักษณ์ ความปรารถนาในการที่จะให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งคงอยู่ตลอดไป เมื่อไม่ได้ตามใจปรารถนาก็เกิดความทุกข์ แสดงออกโดยยักยื้อกันไปมา สิ่งเหล่านี้ผิดธรรมชาติ นำมาซึ่งความวุ่นวายต่อประเทศชาติ

ท่านทั้งหลาย ความยึดติด ยึดมั่นในตัวตนว่า เป็นสีนั้น สีนี้ เป็นฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ เมื่อเจอกันก็เริ่มแบ่งแยกว่าคุณเป็นอีกฝ่าย ฉันเป็นอีกฝ่าย ความพยายามเช่นนี้เป็นการยึดติดยึดมันในตัวตนมากเกินไป และเป็นการส่งต่อความยึดมั่นถือมั่นให้ขยายใหญ่โตไปยังบุคคลอื่นอีกด้วย หากทุกคนคิดได้ว่า เราทุกคนก็เป็นคนเหมือนกัน เกิดมาอยู่ในโลกนี้ได้ไม่นานก็ต้องตายไป จะเหลือก็แต่ความดีงาม หมั่นทำหน้าที่ของตนต่อไป ความสุขก็ย่อมจะบังเกิดมีแก่ประเทศชาติของเรา
อมยิ้ม17
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่