โดย : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ผมได้อ่านบทความของคุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ซีอีโอ ของบริษัท CPALL ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อเร็ว ๆ นี้
เรื่อง “นิยามความรวยแห่งศตวรรษใหม่”ซึ่งพูดถึงเรื่องของคนรวยจีนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ถูก “เยาะเย้ย” ว่า “ขาดรสนิยม ขาดความรู้และขาดวัฒนธรรม” เพราะ “มีแต่เงิน”
ในบทความนั้นบอกว่า การมีแต่เงินนั้นไม่เพียงพอจะบอกว่าเป็นคนรวยได้ คนรวยแห่งศตวรรษใหม่นั้นยังต้องมีอีกหลายอย่างที่ผมจะอ้างถึงต่อไป นอกจากนั้น จะเสริมหรือเพิ่มเติมความเห็นของว่า คนรวยแท้จริงนั้นควรทำตัวอย่างไรถึงจะมีความสุข และในฐานะที่เป็นคนรวยด้วยการลงทุนแบบ VI นั้น เราทำได้มากน้อยแค่ไหน?
ข้อแรกที่คุณก่อศักดิ์พูดถึงก็คือ คนรวยจะต้องมีเสียงหัวเราะอย่างมีความสุขในครอบครัว ไม่ใช่คุณพ่อวางมาดผู้ยิ่งใหญ่คอยดุลูก ๆ ให้กลัวจนตัวลีบเหมือนคนรุ่นก่อน สำหรับเรื่องนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะนี่คือความสุขที่เงินไม่สามารถซื้อได้ ครอบครัวที่มีความหรรษากลมเกลียวกันดีและพ่อแม่ลูกสามารถพูดจาหยอกล้อกันได้อย่างสนุกสนานโดยที่ไม่ต้อง “วางมาด” นั้น ผมคิดว่าเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์
หมดยุคแล้วที่พ่อจะต้องเป็นคนเคร่งขรึม มีอำนาจเด็ดขาด เป็นคนสั่งให้คนในบ้านทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ บ้านจะมีความสุขดีควรจะเป็นบ้านที่ปกครองแบบ “ประชาธิปไตย” ที่คนในบ้านต่างก็มีสิทธิมีเสียง ที่จะออกความเห็นและตัดสินใจร่วมกันในเรื่องต่างๆ ในกรณีที่มีความเห็นไม่ตรงกันก็ควรจะต้องตามเสียงส่วนใหญ่ ในขณะเดียวกันก็ต้องเคารพเสียงส่วนน้อย การใช้ความเป็นพ่อหรือแม่หรือการ “ใช้เงิน”เพื่อมาบังคับให้สมาชิกในบ้านปฏิบัติตามนั้น มักจะทำให้เกิดความเครียดหรือความไม่สบายใจ และทำให้เสียงหัวเราะน้อยลง
คนที่รวยนั้น หลายคนประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ หรือการบริหารที่ต้องจัดการเรื่องคนค่อนข้างมาก จึงอาจทำให้ “ติดนิสัย” ชอบสั่งการหรือบริหารคนอื่น เช่นเดียวกัน การที่ต้องมีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับคนที่อยู่ในแวดวงของธุรกิจ และการงานมากมายอาจจะทำให้ต้อง “วางมาด” และอาจจะติดนิสัยเช่นเดียวกัน ดังนั้น คนรวยเหล่านี้อาจจะต้อง “ปรับตัว” เวลากลับมาที่บ้าน
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่รวยด้วยการลงทุนแบบ VI แล้ว ดูเหมือนว่า เขาน่าจะมีปัญหาน้อยที่จะ “เล่นหัว” กับลูก หรือหยอกล้อกับคู่ครองโดยไม่รู้สึกขัดแย้งในใจ
ข้อสอง คนรวยศตวรรษใหม่ควรมีเวลาสำหรับครอบครัว ญาติมิตร และสังคม นี่ก็เป็นสิ่งที่คนรวยอาจจะขาดแคลน เหตุผลก็คือคนรวยส่วนใหญ่นั้น มักจะเกิดจากการทำธุรกิจหรือการทำงานอย่างหนักจนกลายเป็นผู้บริหารระดับสูง
ดังนั้น พวกเขามักจะมีแต่เวลาทำงาน แต่ไม่ใคร่มีเวลาให้กับครอบครัว ญาติมิตรและสังคม ในประเด็นนี้ คิดว่าคนรวยควรที่จะต้องจำกัดเวลาการทำงานให้พอเหมาะ และกันเวลาโดยเฉพาะสำหรับครอบครัว ญาติมิตร และสังคมให้เหมาะสม เช่น การอุทิศเวลาในวันหยุดให้กับครอบครัว การเสียสละเวลาให้กับงานทางสังคม เช่น การสอนหนังสือหรือการทำงานเพื่อสังคมอย่างอื่นในระดับที่เหมาะสม เป็นต้น สำหรับ VI แล้ว มักจะไม่มีปัญหาเลย เพราะเรามักจะมีเวลา “เหลือเฟือ”
ข้อสาม คนรวยศตวรรษใหม่ต้องใช้เงินเป็น ไม่ใช่เอาแต่สะสมแต่ปล่อยให้ตัวเองและครอบครัวอยู่อย่างแร้นแค้น ข้อนี้ก็คือกรณีของคนที่ตระหนี่เกินไป มีเงินแล้วไม่ยอมใช้เลย แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ไม่ยอมให้คนในครอบครัวใช้จ่ายตามควรแก่อัตภาพด้วย ถ้าเป็นอย่างนี้ การมีเงินก็ไม่มีประโยชน์จะเป็นคล้าย ๆ กับ “ปู่โสมเฝ้าทรัพย์”
คนรวยนั้น จริงๆ แล้วผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยหรูหราเกินเหตุ แต่ควรจะใช้เท่าที่มันจะทำให้เราและครอบครัวมีความสะดวกสบายและมีความสุข “เท่าที่เงินจะซื้อได้” แต่ต้องไม่พยายาม “หาหรือสร้างความสุขด้วยเงิน” ความหมายก็คือ อย่าคิดหาวิธีใช้เงิน เพราะนี่ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง
ข้อสี่ คนรวยศตวรรษใหม่นั้น ต้องรู้จักชื่นชมความงามแห่งชีวิตและท่องเที่ยวพักผ่อน พูดง่ายๆ ถ้ามีเงินก็ควรต้องท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ ชื่นชมศิลปวัฒนธรรมของโลก ชื่นชมกับธรรมชาติที่แปลกตาในประเทศต่าง ๆ เช่นเดียวกัน การชมการแสดง กีฬาและการละเล่นต่าง ๆ ที่เป็นความงดงามหรือแสดงออกถึงความสามารถระดับสูง เป็นสิ่งที่คนรวยควรทำ นี่เป็นเรื่องที่เราให้ “รางวัลชีวิต” กับตัวเอง เมื่อเราสามารถทำเงินมากและประสบความสำเร็จในชีวิต
ข้อห้า คนรวยในศตวรรษใหม่จะต้องรู้จักชื่นชมและยินดีกับความสำเร็จของผู้อื่น อย่าอิจฉาริษยา และอย่าพยายามเปรียบเทียบความมั่งมีกับคนอื่น เหตุผลก็คือ การทำอย่างนั้นรังแต่จะก่อให้เกิดความทุกข์ เพราะเราจะไม่มีวันพอใจกับสิ่งที่มี แม้ว่ามันจะมากจนเหลือใช้แล้ว
เราต้องเข้าใจว่าแต่ละคนมีพื้นฐานที่แตกต่างกันมากตั้งแต่เกิด เรามีความสามารถในแบบที่ไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกัน แต่ละคน “มีโชค” ไม่เท่ากัน ดังนั้น การเปรียบเทียบกันจึงไม่มีประโยชน์ จงพยายามเข้าใจว่า เงินที่ได้มาโดยสุจริตนั้นเป็น “ผลพลอยได้” จากการทำสิ่งที่ดีและถูกต้องในสังคมโลกของเศรษฐกิจในปัจจุบัน ถ้าเรารวยหมายความว่าสังคมได้ตอบแทนการทำงานของเราเป็นอย่างดี และถ้าคนอื่นจะร่ำรวยแบบเดียวกัน สิ่งที่เราควรทำก็คือ “อนุโมทนา”
ข้อหก ซึ่งเป็นความเห็นของผมเองนั้น คิดว่าคนรวยในนิยามนั้น ควรจะต้องเคารพและให้เกียรติคนอื่นเท่าๆ กับที่อยากเห็นคนอื่นให้เกียรติกับตนเอง พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ เห็นว่าทุกคนมี “ศักดิ์ศรี” เท่า ๆ กัน ไม่ว่าเขาจะมีเงินน้อยกว่าหรือมากกว่าเราแค่ไหน นี่เป็นเรื่องของประสบการณ์ที่ประสบกับตัวเองนั่นคือ ผมเคยจนไม่มีเงินเลยมาก่อน เช่นเดียวกับไม่มีสถานะอะไรในทางสังคม และได้พบปะกับผู้คนที่ร่ำรวยและมีสถานะที่สูงส่งกว่ามาก
เวลาผ่านไป ผมมีฐานะดีขึ้นเรื่อย ๆ และมากขึ้นเรื่อย ๆ และมากกว่าคนที่เคยร่ำรวยกว่าผม เช่นเดียวกัน สถานะทางสังคมของผมก็เปลี่ยนไปในทางที่สูงกว่าคนที่สถานะสูงที่ผมรู้จัก ทั้งหมดนั้นมันเคยดูเหมือนว่าเป็นไปไม่ได้ แต่มันก็เป็นไปแล้ว นี่ทำให้รู้สึกว่าทุกสิ่งเปลี่ยนไปได้ ไม่มีใครเหนือกว่าใครหรือมีศักดิ์ศรีมากกว่ากันจริงๆ ดังนั้นสำหรับผมแล้ว ทุกคนมีโอกาสรวยและประสบความสำเร็จได้เท่าๆ กัน ไม่มีใครด้อยกว่าใคร โดยเฉพาะคนมีความพยายามมาก ซึ่งผมจะให้เกียรติเสมอ
สุดท้าย สำหรับคนรวยในศตวรรษนี้คือ เราก็ควรจะต้องรู้จักแบ่งปัน นี่คือการให้กับคนอื่น ซึ่งในความเห็นผมนั้น ควรเริ่มต้นจากญาติที่ใกล้ชิดถ้าพวกเขายังขาดแคลน ต่อมาก็คือคนที่ด้อยโอกาสหรือคนที่ขาดแคลน การให้นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเงิน แต่อาจจะเป็นแรงงานหรือการเผยแพร่ความรู้ก็ได้ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าด้วยซ้ำ ประเด็นสำคัญคือมันไม่ควรจะเป็นเรื่องของการให้ เพื่อผลทางการประชาสัมพันธ์หรือหน้าตาที่ไม่ได้เกิดผลอะไรกับผู้รับมากนัก อย่างที่คนรวยรุ่นเก่าอาจจะทำกันอยู่แล้ว
นิยามความรวยแบบ VI
ผมได้อ่านบทความของคุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ซีอีโอ ของบริษัท CPALL ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อเร็ว ๆ นี้
เรื่อง “นิยามความรวยแห่งศตวรรษใหม่”ซึ่งพูดถึงเรื่องของคนรวยจีนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ถูก “เยาะเย้ย” ว่า “ขาดรสนิยม ขาดความรู้และขาดวัฒนธรรม” เพราะ “มีแต่เงิน”
ในบทความนั้นบอกว่า การมีแต่เงินนั้นไม่เพียงพอจะบอกว่าเป็นคนรวยได้ คนรวยแห่งศตวรรษใหม่นั้นยังต้องมีอีกหลายอย่างที่ผมจะอ้างถึงต่อไป นอกจากนั้น จะเสริมหรือเพิ่มเติมความเห็นของว่า คนรวยแท้จริงนั้นควรทำตัวอย่างไรถึงจะมีความสุข และในฐานะที่เป็นคนรวยด้วยการลงทุนแบบ VI นั้น เราทำได้มากน้อยแค่ไหน?
ข้อแรกที่คุณก่อศักดิ์พูดถึงก็คือ คนรวยจะต้องมีเสียงหัวเราะอย่างมีความสุขในครอบครัว ไม่ใช่คุณพ่อวางมาดผู้ยิ่งใหญ่คอยดุลูก ๆ ให้กลัวจนตัวลีบเหมือนคนรุ่นก่อน สำหรับเรื่องนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะนี่คือความสุขที่เงินไม่สามารถซื้อได้ ครอบครัวที่มีความหรรษากลมเกลียวกันดีและพ่อแม่ลูกสามารถพูดจาหยอกล้อกันได้อย่างสนุกสนานโดยที่ไม่ต้อง “วางมาด” นั้น ผมคิดว่าเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์
หมดยุคแล้วที่พ่อจะต้องเป็นคนเคร่งขรึม มีอำนาจเด็ดขาด เป็นคนสั่งให้คนในบ้านทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ บ้านจะมีความสุขดีควรจะเป็นบ้านที่ปกครองแบบ “ประชาธิปไตย” ที่คนในบ้านต่างก็มีสิทธิมีเสียง ที่จะออกความเห็นและตัดสินใจร่วมกันในเรื่องต่างๆ ในกรณีที่มีความเห็นไม่ตรงกันก็ควรจะต้องตามเสียงส่วนใหญ่ ในขณะเดียวกันก็ต้องเคารพเสียงส่วนน้อย การใช้ความเป็นพ่อหรือแม่หรือการ “ใช้เงิน”เพื่อมาบังคับให้สมาชิกในบ้านปฏิบัติตามนั้น มักจะทำให้เกิดความเครียดหรือความไม่สบายใจ และทำให้เสียงหัวเราะน้อยลง
คนที่รวยนั้น หลายคนประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ หรือการบริหารที่ต้องจัดการเรื่องคนค่อนข้างมาก จึงอาจทำให้ “ติดนิสัย” ชอบสั่งการหรือบริหารคนอื่น เช่นเดียวกัน การที่ต้องมีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับคนที่อยู่ในแวดวงของธุรกิจ และการงานมากมายอาจจะทำให้ต้อง “วางมาด” และอาจจะติดนิสัยเช่นเดียวกัน ดังนั้น คนรวยเหล่านี้อาจจะต้อง “ปรับตัว” เวลากลับมาที่บ้าน
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่รวยด้วยการลงทุนแบบ VI แล้ว ดูเหมือนว่า เขาน่าจะมีปัญหาน้อยที่จะ “เล่นหัว” กับลูก หรือหยอกล้อกับคู่ครองโดยไม่รู้สึกขัดแย้งในใจ
ข้อสอง คนรวยศตวรรษใหม่ควรมีเวลาสำหรับครอบครัว ญาติมิตร และสังคม นี่ก็เป็นสิ่งที่คนรวยอาจจะขาดแคลน เหตุผลก็คือคนรวยส่วนใหญ่นั้น มักจะเกิดจากการทำธุรกิจหรือการทำงานอย่างหนักจนกลายเป็นผู้บริหารระดับสูง
ดังนั้น พวกเขามักจะมีแต่เวลาทำงาน แต่ไม่ใคร่มีเวลาให้กับครอบครัว ญาติมิตรและสังคม ในประเด็นนี้ คิดว่าคนรวยควรที่จะต้องจำกัดเวลาการทำงานให้พอเหมาะ และกันเวลาโดยเฉพาะสำหรับครอบครัว ญาติมิตร และสังคมให้เหมาะสม เช่น การอุทิศเวลาในวันหยุดให้กับครอบครัว การเสียสละเวลาให้กับงานทางสังคม เช่น การสอนหนังสือหรือการทำงานเพื่อสังคมอย่างอื่นในระดับที่เหมาะสม เป็นต้น สำหรับ VI แล้ว มักจะไม่มีปัญหาเลย เพราะเรามักจะมีเวลา “เหลือเฟือ”
ข้อสาม คนรวยศตวรรษใหม่ต้องใช้เงินเป็น ไม่ใช่เอาแต่สะสมแต่ปล่อยให้ตัวเองและครอบครัวอยู่อย่างแร้นแค้น ข้อนี้ก็คือกรณีของคนที่ตระหนี่เกินไป มีเงินแล้วไม่ยอมใช้เลย แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ไม่ยอมให้คนในครอบครัวใช้จ่ายตามควรแก่อัตภาพด้วย ถ้าเป็นอย่างนี้ การมีเงินก็ไม่มีประโยชน์จะเป็นคล้าย ๆ กับ “ปู่โสมเฝ้าทรัพย์”
คนรวยนั้น จริงๆ แล้วผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยหรูหราเกินเหตุ แต่ควรจะใช้เท่าที่มันจะทำให้เราและครอบครัวมีความสะดวกสบายและมีความสุข “เท่าที่เงินจะซื้อได้” แต่ต้องไม่พยายาม “หาหรือสร้างความสุขด้วยเงิน” ความหมายก็คือ อย่าคิดหาวิธีใช้เงิน เพราะนี่ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง
ข้อสี่ คนรวยศตวรรษใหม่นั้น ต้องรู้จักชื่นชมความงามแห่งชีวิตและท่องเที่ยวพักผ่อน พูดง่ายๆ ถ้ามีเงินก็ควรต้องท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ ชื่นชมศิลปวัฒนธรรมของโลก ชื่นชมกับธรรมชาติที่แปลกตาในประเทศต่าง ๆ เช่นเดียวกัน การชมการแสดง กีฬาและการละเล่นต่าง ๆ ที่เป็นความงดงามหรือแสดงออกถึงความสามารถระดับสูง เป็นสิ่งที่คนรวยควรทำ นี่เป็นเรื่องที่เราให้ “รางวัลชีวิต” กับตัวเอง เมื่อเราสามารถทำเงินมากและประสบความสำเร็จในชีวิต
ข้อห้า คนรวยในศตวรรษใหม่จะต้องรู้จักชื่นชมและยินดีกับความสำเร็จของผู้อื่น อย่าอิจฉาริษยา และอย่าพยายามเปรียบเทียบความมั่งมีกับคนอื่น เหตุผลก็คือ การทำอย่างนั้นรังแต่จะก่อให้เกิดความทุกข์ เพราะเราจะไม่มีวันพอใจกับสิ่งที่มี แม้ว่ามันจะมากจนเหลือใช้แล้ว
เราต้องเข้าใจว่าแต่ละคนมีพื้นฐานที่แตกต่างกันมากตั้งแต่เกิด เรามีความสามารถในแบบที่ไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกัน แต่ละคน “มีโชค” ไม่เท่ากัน ดังนั้น การเปรียบเทียบกันจึงไม่มีประโยชน์ จงพยายามเข้าใจว่า เงินที่ได้มาโดยสุจริตนั้นเป็น “ผลพลอยได้” จากการทำสิ่งที่ดีและถูกต้องในสังคมโลกของเศรษฐกิจในปัจจุบัน ถ้าเรารวยหมายความว่าสังคมได้ตอบแทนการทำงานของเราเป็นอย่างดี และถ้าคนอื่นจะร่ำรวยแบบเดียวกัน สิ่งที่เราควรทำก็คือ “อนุโมทนา”
ข้อหก ซึ่งเป็นความเห็นของผมเองนั้น คิดว่าคนรวยในนิยามนั้น ควรจะต้องเคารพและให้เกียรติคนอื่นเท่าๆ กับที่อยากเห็นคนอื่นให้เกียรติกับตนเอง พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ เห็นว่าทุกคนมี “ศักดิ์ศรี” เท่า ๆ กัน ไม่ว่าเขาจะมีเงินน้อยกว่าหรือมากกว่าเราแค่ไหน นี่เป็นเรื่องของประสบการณ์ที่ประสบกับตัวเองนั่นคือ ผมเคยจนไม่มีเงินเลยมาก่อน เช่นเดียวกับไม่มีสถานะอะไรในทางสังคม และได้พบปะกับผู้คนที่ร่ำรวยและมีสถานะที่สูงส่งกว่ามาก
เวลาผ่านไป ผมมีฐานะดีขึ้นเรื่อย ๆ และมากขึ้นเรื่อย ๆ และมากกว่าคนที่เคยร่ำรวยกว่าผม เช่นเดียวกัน สถานะทางสังคมของผมก็เปลี่ยนไปในทางที่สูงกว่าคนที่สถานะสูงที่ผมรู้จัก ทั้งหมดนั้นมันเคยดูเหมือนว่าเป็นไปไม่ได้ แต่มันก็เป็นไปแล้ว นี่ทำให้รู้สึกว่าทุกสิ่งเปลี่ยนไปได้ ไม่มีใครเหนือกว่าใครหรือมีศักดิ์ศรีมากกว่ากันจริงๆ ดังนั้นสำหรับผมแล้ว ทุกคนมีโอกาสรวยและประสบความสำเร็จได้เท่าๆ กัน ไม่มีใครด้อยกว่าใคร โดยเฉพาะคนมีความพยายามมาก ซึ่งผมจะให้เกียรติเสมอ
สุดท้าย สำหรับคนรวยในศตวรรษนี้คือ เราก็ควรจะต้องรู้จักแบ่งปัน นี่คือการให้กับคนอื่น ซึ่งในความเห็นผมนั้น ควรเริ่มต้นจากญาติที่ใกล้ชิดถ้าพวกเขายังขาดแคลน ต่อมาก็คือคนที่ด้อยโอกาสหรือคนที่ขาดแคลน การให้นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเงิน แต่อาจจะเป็นแรงงานหรือการเผยแพร่ความรู้ก็ได้ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าด้วยซ้ำ ประเด็นสำคัญคือมันไม่ควรจะเป็นเรื่องของการให้ เพื่อผลทางการประชาสัมพันธ์หรือหน้าตาที่ไม่ได้เกิดผลอะไรกับผู้รับมากนัก อย่างที่คนรวยรุ่นเก่าอาจจะทำกันอยู่แล้ว