เมสเนอร์ ชายผู้พิชิตยอดเขาสูงที่สุดในโลกทั้ง14ยอดสำเร็จเป็นคนแรก.. ตำนานยังมีชีวิต




พอดีผมได้อ่านบทความนี้จากการพยายามศึกษาเส้นทางขี่มอเตอร์ไซต์จากประเทศไทยไปทิเบต ซึ่งเป็นความฝันที่อยากทำในเร็วๆนี้
แต่ขณะที่วางแผน คิดถึงว่าเราจะต้องเตรียมตัวยังไง เอามอเตอร์ไซต์ที่ดีที่สุดอย่างGS หรือ KTM ไปดี ต้องมีเพื่อนร่วมเดินทาง หรือหาทีมServiceยังไง เพื่อให้การเดินทางผจญภัยครั้งนี้สำเร็จอย่างง่ายดายที่สุด ฯลฯ

ขณะที่เปิดgoogle map ดูเส้นทางแบบ3D ก็ไปเจอภูเขานึงชื่อ นังการ์พาบัตอยู่ในแนวเส้นทางที่กำลังดูเห็นสูงดี สูงระดับ8พันกว่าเมตร ก็เลยเปิดwikipediaเข้าไปดู ก็ได้พบชายที่ชื่อ ไรน์โฮลด์ เมสเนอร์ ที่เป็นผู้พิชิตยอดนี้ด้วยการไม่ใช้อุปกรณ์ช่วยอย่างเช่นพวกหมุด เชือก หรือถังออกซิเจน ก็เลยสนใจเข้าไปอ่านประวัติ ยิ่งอ่านยิ่งทึ่งและทำให้ผมเริ่ม "คิดใหม่" ให้ความหมายของคำว่า "ผจญภัย" ใหม่หมดสิ้น  

ผมเริ่มวางแผนใหม่ ไม่ต้องรอใคร ไม่ต้องหาคนทำทัวร์ ไม่ต้องเตรียมมอเตอร์ไซต์ที่ดีที่สุด
ผมอาจจะออกเดินทางคนเดียวโดยใช้เพียง Hondacb500x ก็พอ

ผมชอบคำพูดที่ว่า “ถ้าไม่มีการเสี่ยงชีวิต มันก็ไม่ใช่การผจญภัย”....อืมจริงแหะ....

เครดิตจาก http://roundfinger.wordpress.com/2006/11/17/ไรน์โฮลด์-เมสเนอร์-ผู้หิ/

ไรน์โฮลด์ เมสเนอร์: ผู้หิวกระหายความเป็นไปไม่ได้
พฤศจิกายน 17, 2006
ชอบคำพาดหัว ‘ฆาตกรรมความเป็นไปไม่ได้’ ในเนชั่นแนล จีโอกราฟิกมากๆ
สวย สะใจ ได้อารมณ์ สมศักดิ์ศรีที่จะมาวางอยู่ข้างๆ ใบหน้ากร้านด้วยรอยแห่งเวลา
และแววตาสีเหล็กที่มุ่งมั่นของนักปีนเขาที่สามารถพิชิตยอดเขาสูงกว่าแปดพันเมตร
ได้ครบทั้งสิบสี่ยอด

สิบสี่ยอดนะครับ! ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกทั้งสิบสี่ยอดนะครับ!
(มีบรรทัดนี้ไว้เผื่อใครที่อ่านย่อหน้าแรกแล้วไม่รู้สึกอะไร จะได้ตกใจอย่างที่ควร)

เสน่ห์อย่างหนึ่งของสารคดีใน เนชั่นแนล จีโอกราฟิก คือ การลำดับเรื่อง
และการเล่าเรื่องด้วยภาพ ซึ่งภาพของนิตยสารฉบับนี้นั้น
ไม่ต้องห่วงเรื่องความงามและอารมณ์ รับรองว่า ‘ถึง’ ทุกภาพ
คัดมาแล้วทุกภาพ!

จากหน้ากระดาษที่บรรจุแววตามุ่งมั่นอันโชกโชน พลิกผ่านไปอีกหนึ่งหน้า
เราจะได้เห็นรอยยิ้มของเขาเหนือยอดเอเวอร์เรสต์ ที่เขาปีนขึ้นไปคนเดียว(!)

สำเร็จในปี หนึ่งพันเก้าร้อยแปดสิบ และเมื่อพลิกถัดมาอีกหน้า
เราก็จะพบกับรูปถ่าย ‘เท้า’ ในระยะใกล้ (Close Up)-ใกล้มาก!
ใกล้พอที่จะทำให้เราเห็นร่องรอยของการถูกตัดนิ้วเท้าออกไปเจ็ดนิ้ว!

ถ้าไม่มีตัวหนังสือบอกไว้ เราอาจเข้าใจว่ามันถูกตัดออกจนหมดด้วยซ้ำ
เท้าของไรน์โฮลด์ เมสเนอร์ไม่ต่างอะไรกับเท้าช้างที่มีนิ้วกุดๆ เลยจริงๆ

หากอยากเข้าใจความยิ่งใหญ่ของไรน์โฮลด์ เราอาจต้องรับทราบสถิติอันบ้าบิ่นของเขาเสียหน่อย
ปี 1975 เขากับเพื่อนคู่หูขึ้นสู่ยอดเขาฮิลเดนพีก (8,068 เมตร)
โดยปราศจากอุปกรณ์ปีนเขาสูงที่ใช้กันตามปกติ ทั้งลูกหาบ แคมป์ เชือก และออกซิเจน
ปี 1978 ทั้งคู่พิชิตเอเวอร์เรสต์ (8,850 เมตร) โดยไม่ต้องใช้ออกซิเจน
จากนั้นอีกสามเดือน ไรน์โฮลด์ปีนยอดเขานังกาพาร์บัตที่สูงอันดับเก้าของโลกเพียงลำพัง


ซึ่งนับเป็นเรื่องบ้าบิ่นเอามากๆ ในวงการปีนเขา และหลังจากนั้นอีกสองปี
เขาก็ปีนเดี่ยวขึ้นยอดเอเวอร์เรสต์โดยไม่ต้องใช้ออกซิเจนและมีเพียงเป้เล็กๆ หนึ่งใบ!
ทั้งหมดนี่เป็นแค่ฉบับย่อนะครับ

“ผมสนใจแต่ประสบการณ์ครับ ไม่ได้สนใจภูเขาหรอก…
วิลเลียม เบลก เคยเขียนไว้ว่า เมื่อมนุษย์เผชิญหน้ากับภูผา เรื่องยิ่งใหญ่นานาจะบังเกิด”

“ถ้าเราตัดถนนขึ้นยอดเขาเอเวอร์เรสต์ เราจะไม่มีทางได้พบกับภูผา
ถ้าเราเตรียมการทุกอย่างและมีคนนำทางที่คอยดูแลความปลอดภัยให้
เราจะไม่มีวันได้พบกับภูผา การพบและเป็นหนึ่งเดียวกับภูผาเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ
คุณ…เผชิญหน้ากับมันด้วยขีดจำกัดของตัวเอง”

ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้หรือเปล่า ที่ทำให้ไรน์โฮลด์ ‘ตัด’ ทุกสิ่งอออกจากตัว กระทั่งคู่หู!
เพื่อให้เหลือเพียง ‘เขา’ กับ ‘ภูเขา’ เท่านั้น

หลังจากได้ดูแผนภูมิ ‘ความสำเร็จในแนวดิ่งของเมสเนอร์’ ใน NG
เราไม่อยากเชื่อว่านั่นคือสิ่งที่มนุษย์คนหนึ่งกระทำในเวลาสิบเจ็ดปี
สิบเจ็ดปีระหว่างที่คนอื่นๆ เดินบนพื้นราบและไต่ขึ้นสู่จุดสุดยอดในตำแหน่งหน้าที่การงาน
แต่ไรน์โฮลด์ เมสเนอร์เลือกที่จะเดินเล่นอยู่บนหลังคาโลก!

ในจำนวนยี่สิบเก้ายอดที่เขามุ่งหมายจะปีนป่ายขึ้นไปพิชิต ย่อมมีบ้างที่ล้มเหลว
สิ่งที่บ้าคลั่งกว่านั้นคือ เขาสามารถกลับไป ‘แก้แค้น’ ยอดที่พิชิตไม่ได้ จนสำเร็จทุกยอด!
แพ้และกลับไปชนะ!
เขาไม่เคยพ่ายแพ้แก่ยอดเขาไหนเป็นการถาวร สุดท้ายแล้วมันก็อยู่ใต้ฝ่าเท้าของเขาจนได้

แต่ที่จริงแล้ว เขาอาจไม่ได้คิดเรื่องชนะหรือแพ้?

“ผมคิดว่าควมกล้าหาญเป็นแค่อีกด้านหนึ่งของความกลัวเท่านั้น
เพราะเราจะต้องการความกล้า เมื่อเรารู้สึกกลัว”

“แต่ถ้าผมเตรียมตัวอย่างดี…
เมื่อถึงเวลาลงสนามจริงๆ โดยเฉพาะตอนที่อยู่บนหน้าผากว้างใหญ่
ไม่ว่าจะลำบากมากน้อยแค่ไหน ผมก็จดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าจนลืมเรื่องอื่นๆ ไปหมด
ในเวลานั้น มีเพียงผาเบื้องหน้าไม่กี่เมตรที่ผมกำลังห้อยตัวหรือปีนอยู่ ทุกอย่างดูมีเหตุผล
ไม่มีอันตรายอะไร มีเพียงสมาธิอันแน่วแน่เท่านั้น”

ไม่มีคำว่า ‘พิชิต’, ‘แพ้’ หรือ ‘ชนะ’
ฟังดูเหมือนเมื่ออยู่ในระหว่างการปีนเขา คนเรามีหน้าที่ปีนต่อไป ก็เท่านั้น
และสิ่งที่ต้องใส่ใจคือนาทีปัจจุบัน มากกว่าจะไปจินตนาการฟูมฟายถึง ‘ยอดเขา’
หากมัวแต่จินตนาการถึง ‘ยอด’ อาจไม่เหลือชีวิตรอดเพื่อที่จะไปถึง
การขึ้นไปถึง ‘ยอด’ อาจไม่ใช่อะไรที่ต้องคิด แต่เป็นอะไรที่มัน ‘ต้องเป็นไป’
หากใครสักคนมุ่งมั่นปีนขึ้นไปไม่หยุดหย่อน โดยใช้ทุกนาทีระหว่างทาง
ด้วยความระมัดระวัง เต็มที่ และมีสติ

ดูเหมือนจะไม่ใช่ ‘ยอดเขา’ ที่ไรน์โฮลด์พิชิต
สิ่งที่เขาพิชิตและฆาตกรรมมันทิ้งไปคือ ‘ความเป็นไปไม่ได้’ ต่างหาก!

‘ความเป็นไปไม่ได้’ มีไว้ให้ฆาตกรรม
แต่ไม่ควร ‘ฆาตกรรม’ มันทิ้งไปอย่างมักง่าย
ทำแบบนั้นมันน่าเสียดาย
เพราะ ‘ความเป็นไปไม่ได้’ ไม่ได้หากันง่ายๆ ตามท้องถนน

เขาเคยเขียนเรียงความเรื่อง ‘ฆาตกรรมความเป็นไปไม่ได้’
เพื่อวิพากษ์วิธีการตอกหมุดเพื่อปีนขึ้นสู่ยอดเขา
ที่ทำให้นักปีนเขามือใหม่ก็สามารถพิชิตยอดเขาได้ง่ายๆ
ด้วยการตอกหมุดไปเรื่อยๆ เขาวิจารณ์ว่าวิธีการปีนเขาแบบนี้
‘ได้เข่นฆ่าอุดมคติแห่งความเป็นไปไม่ได้ลงอย่างไร้หัวคิด’
เราอดสงสัยไม่ได้ว่า ไรน์โฮลด์เสพติด ‘ความเป็นไปไม่ได้’

นอกจากโจทย์ยากๆ ลำบากๆ ประหลาดๆ ที่เขาสร้างเงื่อนไขขึ้นมาให้กับตัวเอง
เพื่อให้การปีนเขาแต่ละครั้งเริ่มต้นขึ้นด้วยคำว่า ‘เป็นไปไม่ได้’ และเขาเองก็ได้ลงมือ
ฆาตกรรมความเป็นไปไม่ได้ทิ้งไปจนหมดจากชีวิต ด้วยการพิชิตสุดยอดแห่งยอดเขาสูง
ทั้งหมดในโลกลงภายในเวลาสิบเจ็ดปี

แล้วจะเหลืออะไรท้าทายอีก?

สำหรับคนที่เสพติดความเป็นไปไม่ได้ ชีวิตที่ราบเรียบง่ายดายย่อมไม่ใช่ความสุข
ราวกับมือกระบี่อันดับหนึ่งที่มีฝีมือชั้นเยี่ยม แต่ไม่มีคู่ต่อสู้ที่มีฝีมือสูสีมา ‘เล่นสนุก’ ด้วย
ชีวิตย่อมจืดชืดจนแทบไม่อยากจะหายใจต่อไป

คู่ต่อสู้ในแนวดิ่งของไรน์โฮลด์นั้น ‘หมดโลก’ ไปแล้ว!
ช่วงหลังเขาจึงพยายามออกไล่ล่าความเป็นไปไม่ได้ในแนวราบ
กระทั่งการตามล่าหาสัตว์ประหลาดในตำนานอย่าง ‘ตัวเยติ’!

“เมื่อผมปีนยอดเขาแปดพันเมตรได้ครบทั้งหมด ผมเข้าใจแล้วว่า
ถึงตอนนี้ทุกอย่างที่ทำก็แค่ซ้ำรอยเดิม ตอนนี้สิ่งที่ผมทำมันกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อแล้ว
แต่ผมก็ยังอยากไปที่ที่แปลกใหม่ ทุกอย่างแปลกใหม่ และริเริ่มทำอะไรอีกครั้ง”

นี่ละมัง ความทุกข์ของผู้พิชิต
ความทุกข์ จากความไม่สิ้นสุด

น่าแปลกใจที่ความใฝ่ฝันในบั้นปลายชีวิตของเขาคือ การได้ใช้ชีวิตอยู่ในถ้ำ!
เขาอยากนั่งนิ่งๆ และผ่อนคลาย หลังจากเหนื่อยมาตลอดชีวิต

แต่นั่นก็เป็นความฝัน มนุษย์ผู้หิวกระหายความเป็นไปไม่ได้อย่างเขา
จะมีความสุขกับชีวิตในถ้ำอันต่ำเตี้ยแสนสงบนั้นได้จริงหรือ?

พันธะของคนที่ได้ขึ้นไปพิชิตยังจุดสุดยอดของโลกย่อมผูก+พันกับเขาไปจนวันตาย
ชีวิตของไรน์โฮลด์ถูกหล่อเลี้ยงด้วยความเป็นไปไม่ได้มาตลอดชีวิต
สำหรับเขา ‘ความเป็นไปไม่ได้’ คงสำคัญไม่น้อยไปกว่าออกซิเจน!

ด้วยเพราะ ‘ความเป็นไปไม่ได้’ นั้นเอง ที่ทำให้เขาดำรงอยู่
มิเพียง ‘ดำรงอยู่’ บนโลกที่มีแต่คนจับจ้องและคาดหวัง (และรอเหยียบย่ำเมื่อล้มเหลว)
แต่ยัง ‘ดำรงอยู่’ ในจิตวิญญาณของตัวเอง เพื่อตอบตัวเองให้ได้ว่ากำลังหายใจไปเพื่ออะไร

“เขาบอกว่า ‘ผมเป็นในสิ่งที่ผมทำ’
แต่ผมคิดว่าเขาอาจจะเชื่อถือในสิ่งที่ตรงกันข้าม
นั่นคือ ‘ถ้าผมหยุดทำ ผมก็จะไม่เป็น’ “
ใครคนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ไรน์โฮลด์ไว้แบบนั้น

บางครั้ง ‘ความหมายของชีวิต’ หรือ ‘ความหมายของการดำรงอยู่’ ของคนเรา
ก็ไม่ได้ถูกกล่าวออกมาอย่างโฉ่งฉ่างโจ่งแจ้ง แต่มันค่อยๆ เล็ดลอดออกมาในการกระทำ
และบางประโยคของใครคนนั้น

“ถ้ามีใครอวดว่าเมื่อถึงยอดเอเวอร์เรสต์แล้วรู้สึกสุดยอด คนคนนั้นโกหก
เพราะมันเป็นที่ที่ไม่เอาไหนเอามากๆ”

นั่นสิ แล้วเขาจะปีนป่ายขึ้นไปทำไม?

“ถ้าไม่มีการเสี่ยงชีวิต มันก็ไม่ใช่การผจญภัย”
นั่นคือสิ่งที่ไรน์โฮลด์ตอบออกมา
แต่-เราคิดว่านั่นยังไม่จบประโยคเต็มๆ ของเขา
และเขาอาจละบางประโยคเอาไว้ ไม่พูดมันออกมา ทว่า-อยู่ในใจ…
“ถ้าไม่มีการผจญภัย มันก็ไม่ใช่ชีวิต”.
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่