The Hobbit : The Desolation of Smaug (A) : เงิน เงิน เงิน




ถ้าไม่นับว่าหนังตัดจบแบบค้างคา ต่างจากการจบของภาคอื่นที่สนิทใจกว่า โดยรวมก็เป็นไปตามมาตรฐานสูงของผู้กำกับ

แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำหนังย่อมต้องมีเรื่องเงินๆ ทองๆ เข้ามาเกี่ยว แต่จะถึงขนาดน่าเกลียดหรือคนดูยอมรับได้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง (ถ้าจะเปรียบกับหนังชุดนเรศวรของบ้านเรา ผมว่ากรณีหลังเข้าข่ายน่าเกลียดครับ) แต่ด้วยเนื้องานภาคนี้ที่ออกมาซึ่งเป็นหลักฐานอยู่ในตัวเอง ส่วนตัวยังคงสัมผัสได้อย่างชัดเจนถึงจิตวิญญาณศิลปินอันแรงกล้าของผู้กำกับปีเตอร์ แจ็คสันที่อุทิศหัวใจและความอุตสาหะอันบริสุทธิ์ให้กับมหากาพย์สุดทะเยอทะยานชุดนี้ (พูดง่ายๆ ว่าถ้าผมเป็นมังกรก็คงยังไม่ได้กลิ่นความโลภในตัวเค้า)

หนังยังคงแก่นสารว่าด้วยอำนาจ แจกแจงรายละเอียดในแง่มุมต่างๆ ได้น่าสนใจ ภาคนี้เราได้เริ่มเห็นความโลภในระดับตั้งต้นของบิลโบ (ตอนฆ่าแมงมุมตัวเล็ก) เพื่อทวงคืนอำนาจแห่งแหวนของตน ได้เห็นประโยชน์ของการใช้อำนาจในระดับที่เหมาะสมและสร้างสรรค์เพื่อคนหมู่มาก อย่างกล้าหาญและปราศจากการเห็นแก่ตัว (การสวมแหวนของบิลโบเพื่อพรางกายช่วยเหลือเพื่อนๆ) กระทั่งการเริ่มถูกครอบงำด้วยอำนาจดังกล่าว (มองเห็นเซารอนผ่านนิมิต) แต่ยังไม่มากพอให้สูญเสียการควบคุม (หนังเปรียบประเด็นนี้กับการกลายร่างของมนุษย์หมี)

บทหนังขยับขยายการอธิบายไอเดียนี้ไปสู่อำนาจเงินของกลุ่มพ่อค้ากระฎุมพีในเมือง (หนังพยายามสร้างบรรยากาศให้ดูเป็นเมืองท่าคล้ายเวนิส) พรรณนาภาพคนจน-คนรวยในเผ่าพันธุ์เดียวกันซึ่งฐานะคือกำแพงแบ่งแยกชนชั้น แสดงการใช้เล่ห์เหลี่ยมกลโกงทำการทุจริตเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจเงิน (หนังเปรียบเปรยเล็กๆ ถึงแง่มุมอัปลักษณ์ของระบบทุนด้วยภาพหมูอ้วนสกปรก) ทั้งยังเชื่อมโยงการใช้อำนาจเงินเข้ากับอำนาจในการปกครอง

ส่วนภาพเปรียบเปรยที่เป็นไฮไลท์ของหนัง ก็ต้องฉากมังกรเฝ้าภูเขาสมบัติ ที่รวมคอนเซ็ปต์หลักของ The Hobbit ไว้ชัดเจน นอกจากความอัปลักษณ์ ทรงอำนาจ และน่าหวาดกลัวซึ่งถูกขับเน้นตลอดเวลา หนังยังออกแบบพฤติกรรมมังกรให้ดูเจ้าเล่ห์ โลภ และบ้าอำนาจ (ถูกครอบงำแล้วอย่างสมบูรณ์ หนังใช้สัญลักษณ์ของเซารอนผ่านดวงตาของมังกร) สะท้อนพฤติกรรมของมนุษย์ได้คมคาย

หนังไม่ลืมที่จะกล่าวถึงคุณค่าของความหวัง หลายสถานการณ์ในหนังที่ทางออกดูริบหรี่หรือแทบเป็นไปไม่ได้ (เช่น ฉากหลงป่า ฉากคนแคระถูกจับโดยเอลฟ์ ฉากซ่อนตัวในถังปลา การช่วยชีวิตจากอันตรายสาหัส เป็นต้น) กุญแจสำคัญในการคลี่คลายปัญหามีความหวังเป็นตัวแปรอยู่เสมอ

นอกจากนั้น หนังยังเติมประเด็นความรักต่างกฎเผ่าพันธุ์ให้ได้เห็น ระหว่างคนแคระและเอลฟ์ (ส่วนตัวก็หวังลึกๆ ว่าความรักของไอ้เตี้ยต่างจังหวัดกับสาวไฮโซสุขุมวิทจะเป็นไปได้ เพราะรำคาญความขี้เก็กของเลโกลัสเหลือเกิน) ถ่างขยายความแตกต่างให้ดูท้าทายมากขึ้น จากที่เคยเห็นคู่รักระหว่างมนุษย์และเอลฟ์มาแล้วในไตรภาคชุดก่อน นี่ถ้าปีเตอร์ แจ็คสันเกิดอยากได้ปาล์มทองคำเมืองคานส์ขึ้นมา แนะนำให้สุดโต่งไปเลยกับรักร่วมเพศไม่จำกัดเผ่าพันธุ์และฝักฝ่าย เช่น ออร์คกับราชาเอลฟ์ เป็นต้น 55

เหมือนที่เห็นมาตลอดในหนังชุดนี้ กล้องยังคงหลงใหลการถ่ายภาพทิวทัศน์ที่กว้างขวางสุดลูกหูลูกตา นอกจากจะเพื่อโปรโมตนิวซีแลนด์บ้านเกิดสุดรักของผู้กำกับ (เค้าคงภูมิใจมากๆ กับภารกิจเพื่อชาติจากวิชาชีพภาพยนตร์) มันยังเตือนใจเราเหล่ามนุษย์ให้ตระหนักถึงความเล็กจ้อยของตัวเอง (คล้ายภาพเขียนจีน) ซึ่งดำรงอยู่ในสายสัมพันธ์อันแตกต่างหลากหลาย ช่วยให้เราไม่คับแคบขังตัวเองอยู่ในกรอบความคิดเล็กๆ อันเป็นจุดริเริ่มของความเห็นแก่ตัว การเติบโตของอัตตา ซึ่งอาจพัฒนาไปถึงสงครามล้างโลกดังที่เคยเห็นกันมาแล้ว ทั้งจากหนังแฟนตาซีตระกูลนี้ และจากประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่