ความแตกต่างของมนุษย์จากสิ่งของ

ทำไมสินค้าถึงต้องสร้างแบรนด์ ?

...นั่นเพราะว่าในการทำธุรกิจนั้นเราจะต้องสร้างเอกลักษณ์ให้กับสินค้าของเรา

แล้วทำไมต้องสร้างด้วยล่ะ ?

...นั่นก็เพราะในปัจจุบันผู้บริโภคนั้นมีทางเลือกมากมายในการซื้อสินค้าหรือบริการ

แล้วเราจะรู้ได้ยังไงล่ะว่าสินค้าเราจะขายได้ ?

...ทีนี้เราก็ต้องรู้ก่อนว่า คนเรานั้นให้คุณค่ากับสิ่งของไม่เท่ากัน และเมื่อเราเลือกกลุ่มเป้าหมายของสินค้าเราแล้ว เราก็ต้องเจาะลึกลงไปว่าพวกเขาให้คุณค่ากับสินค้าเราตรงไหน แล้วเราก็ตอบสนองสิ่งนั้น หากสงสัยว่า คนเราให้คุณค่ากับสิ่งของต่างๆ ไม่เท่ากันจริงหรือ มาดูตัวอย่างกันค่ะ

ไคล์ แมคโดนัลด์ เป็นชายผู้ใช้คลิปหนีบกระดาษสีแดงเพียงตัวเดียวแลกเปลี่ยนสิ่งของไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้บ้านมาหนึ่งหลัง โดยเขาได้สร้างบล็อกเพื่อบันทึกความก้าวหน้าและเชิญชวนคนอื่น ๆ ให้เข้ามาแลกเปลี่ยนสิ่งของกับเขา ถึงแม้จะใช้เวลาเป็นปี แต่เขาก็บรรลุเป้าหมายด้วยการทำไปทีละน้อย ซึ่งเริ่มจากการแลกคลิปหนีบกระดาษสีแดงกับปากการูปปลา จากนั้นก็แลกปากกากับลูกบิดประตู แลกลูกบิดประตูกับเตาปิ้งบาร์บีคิว และเป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ มูลค่าของสิ่งของเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จน 1 ปี เขาก็ได้บ้านในฝันมาเป็นของตัวเอง !!

นี่เป็นบล็อกของเขาค่ะ >>> http://www.redpaperclip.com/

ซึ่งตัวอย่างข้างต้นนั้น แสดงถึง การให้คุณค่าของสิ่งของไม่เท่ากัน ครั้งแรกที่เขาเอาคลิปไปแลกปากกา คนที่มีปากกาอยู่อาจมองไม่เห็นว่าปากกาคุณค่ามากกว่าคลิป หรือตอนนั้นเขาอาจต้องการคลิปหนีบกระดาษอยู่พอดีจึงเอาปากกามาแลก และคนต่อมาก็อาจเห็นว่าไม่รู้จะเอาลูกบิดประตูไปทำอะไรดี จึงยอมแลกกับปากกาซึ่งเอามาใช้ได้เลยทันที และทำแบบนี้ไปจนกระทั่งเขาได้บ้านมาหลังหนึ่ง ซึ่งนั่นแปลว่าคนเราให้คุณค่ากับสิ่งของต่างกันจริง ๆ ค่ะ

อีกอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ การที่บางคนขับรถเมอร์ซิเดส เบนซ์ กับอีกคนที่ขับโตโยต้า สองคนนี้อาจมีรถเหมือนกัน และขับรถไปยังที่ ๆ ต้องการได้เหมือนกัน แต่ถามว่าทำไมคนยังขับเบนซ์กันอยู่ นั่นหมายความว่า ผู้ขับเบนซ์อาจได้รับสิ่งที่มากกว่าการขับรถโตโยต้า อย่างเช่นความพึงพอใจหรือได้รับคุณค่าทางจิตวิญญาณมาด้วย ซึ่งสำหรับผู้ซื้อแล้ว พวกเขารู้สึกว่าได้รับคุณค่ามากกว่าราคาที่จ่ายไป และนั่นคือสิ่งที่วัดกันได้ยาก เพราะมนุษย์เรามีปัจจัยที่ต่างกัน ความชอบ ความพึงพอใจก็ต่างกัน เราจึงให้คุณค่ากับของแต่ละอย่างไม่เท่ากันไปโดยปริยาย
สินค้าและบริการจึงต้องหนทางสร้างคุณค่าสร้างเอกลักษณ์เฉพาะขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมายนั่นเอง

ฉะนั้นแล้ว ในฐานะที่เราเป็นผู้บริโภคคนหนึ่ง เราลองหันกลับมาทบทวนดูสักนิดนะคะว่า สินค้าหรือบริการที่เราซื้อหรือกำลังจะซื้อนั้น ให้คุณค่าอะไรกับเรา เราจึงยอมจ่ายเงินซื้อมา และเมื่อเราคิดถึงคุณค่าของสินค้านั้นแล้ว เราจะไม่เสียดายสิ่งของชิ้นใด และไม่เกิดคำถามว่า เราซื้อมาทำไม อีกต่อไป !!

#ดัดแปลงจาก หนังสือ น่าจะรู้อย่างนี้ตั้งแต่ตอนอายุ 20

มาร่วมพูดคุยและแชร์ หนังสือน่าอ่านกันได้ที่ : https://www.facebook.com/lifetitudebook

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่