รื้อแนวรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ "เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ" เบี่ยงแนวใหม่...ยืด 2 สถานีถึงสุขสวัสดิ์

รื้อแนวรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ "เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ" เบี่ยงแนวใหม่...ยืด 2 สถานีถึงสุขสวัสดิ์
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 13 ธ.ค. 2556 เวลา 11:42:26 น.

ถึงไม่มีชื่ออยู่ในบัญชี พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท แต่ "รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย" ก็ใส่เกียร์เร่งศึกษารายละเอียดโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่สีม่วงใต้ ช่วง "เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ" จนใกล้สะเด็ดน้ำ หลังจากหาทางลงสำหรับแนวเส้นทางจาก "รัฐสภาใหม่" มาเชื่อมกับ "สถานีเตาปูน" ที่เป็นสถานีร่วมกับสายสีม่วงช่วง "บางซื่อ-บางใหญ่"

เนื่องจากที่ผ่านมาผลการศึกษาล่าช้าเพราะแนวเส้นทางผ่ากลาง "หมู่บ้านเสริมสิน" ที่จะต้องถูกเวนคืนร่วม 100 หลังคาเรือน ท่ามกลางบรรยากาศมีการคัดค้านต่อเนื่อง แต่ท้ายที่สุดงานนี้ รฟม.ตัดสินใจเบี่ยงแนวไปสร้างอยู่บนแนว "ถนน ง8" ของ "กทม.-กรุงเทพมหานคร" ที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคตแทน

เลี่ยงเวนคืน ม.เสริมสิน

"ยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล" ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยว่า จำเป็นต้องเร่งให้เสร็จโดยเร็ว เนื่องจากต้องเร่งก่อสร้างโครงการเพื่อมารองรับการเปิดใช้รัฐสภาใหม่ โดยมีสถานีจอดอยู่ถัดจากสถานีเตาปูน จึงปรับแนวใหม่เพื่อลดแรงต้านการเวนคืนหมู่บ้านเสริมสิน รวมทั้งเป็นเพราะเรื่องปัญหาด้านเทคนิคที่เป็นช่วงต่อเชื่อมระบบกับสีม่วงเหนือและสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่เตาปูน เป็นโครงสร้างยกระดับทำให้ต้องใช้แนวตรงที่สุด

ดังนั้นจึงเลี่ยงมาสร้างบนแนวถนนใหม่ของ กทม.แทน ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ภาระเวนคืนน้อยลงอยู่ที่ประมาณ 70 หลังคาเรือน เพราะทาง กทม.จะต้องเวนคืนอยู่แล้ว นอกจากนี้จะใช้ที่ดินของทหารบางส่วน เนื่องจากแนวจะตัดมาบรรจบกับถนนทหารทำให้ลดปัญหาได้

"การเวนคืนที่ดินตลอดเส้นทางอยู่บริเวณจุดขึ้นลงสถานีเป็นหลัก เพราะสร้างอยู่บนเกาะกลางถนนและเป็นอุโมงค์ใต้ดิน จะใช้วิธีการรอนสิทธิ์ซึ่งทำให้ลดผลกระทบไปได้บ้าง ตลอดเส้นทางรวมทั้งพื้นที่สร้างสถานีเดโป้ใหม่ จะเวนคืนประมาณ 200 ไร่"




ยืด 5 กม.งบฯเพิ่ม 6 พันล้าน

นอกจากนี้จะขยายเส้นทางไปถึงถนนวงแหวนด้านใต้อีก 5 กิโลเมตร เพื่อรับกับศูนย์ซ่อมบำรุงแห่งใหม่ที่จะสร้างพื้นที่ประมาณ 140 ไร่ อยู่บริเวณถนนวงแหวนด้านใต้ข้างด่านเก็บค่าผ่านทางบางพลี-สุขสวัสดิ์ด้านขาเข้าเมือง มาทดแทนที่เดิม ต.บางพึ่ง มีผลทำให้ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากเดิม 110,000 ล้านบาท เพิ่มอีกประมาณ 6,000 ล้านบาท แยกเป็นค่าสถานีกว่า 1,000 ล้านบาท โครงสร้างทางยกระดับ 2,240 ล้านบาท ค่าขบวนรถ 2,700 ล้านบาท

ปี"57 เร่งสร้างรับรัฐสภาใหม่

ล่าสุดผลการศึกษาและแบบรายละเอียดเบื้องต้นโครงการใกล้แล้วเสร็จ คาดว่าจะเสนอกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ไตรมาส 1/57 เริ่มก่อสร้างเดือนมิถุนายน 2558 ใช้เวลา 4 ปี

คาดว่าเปิดบริการในปี 2562 ส่วนจะสร้างทั้งสายหรือสร้างเฉพาะ 1 สถานีก่อนประมาณ 1 กิโลเมตรรองรับรัฐสภาใหม่นั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล ทาง รฟม.จะเสนอขออนุมัติทั้งโครงการ ใช้เงินก่อสร้างประมาณ 116,000 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืนและจ้างที่ปรึกษา 12,600 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 71,800 ล้านบาท งานระบบและขบวนรถไฟฟ้า 20,000 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 5,600 ล้านบาท แต่ถ้าสร้าง 1 สถานีก่อน เงินลงทุนอยู่ที่ 4,000-5,000 ล้านบาท เนื่องจากเป็นระบบใต้ดินใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี เปิดใช้บริการช้ากว่าอาคารรัฐสภาใหม่ 1 ปี

เปิดแนวเส้นทาง 23.6 กม.

สำหรับแนวเส้นทาง "ยงสิทธิ์" บอกว่า มีระยะทางรวม 23.6 กิโลเมตร เพิ่มขึ้นจากเดิม 17 กิโลเมตร แบ่งเป็นโครงสร้างอุโมงค์ใต้ดิน 12.6 กิโลเมตร ในแนวถนนสามเสน ถนนพระสุเมรุ ถนนมหาไชย ถนนประชาธิปก ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน และโครงสร้างยกระดับ 11 กิโลเมตร อยู่บนแนวถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินกับถนนสุขสวัสดิ์

จุดเริ่มต้นจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่ "สถานีเตาปูน" จากนั้นตัดตรงทะลุสามแยกเดิมเป็นสี่แยก แล้วค่อย ๆ ลดระดับมาเป็นโครงสร้างใต้ดิน เบี่ยงเข้าสู่ถนนสามเสนบริเวณคลองบางซื่อ ผ่านรัฐสภาใหม่ที่เกียกกาย โรงเรียนราชินีบน กรมชลประทาน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หอสมุดแห่งชาติ คลองบางลำพู

จากนั้นจะเลี้ยวเข้าถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดบวรนิเวศวิหาร แยกผ่านฟ้า ถนนราชดำเนินกลาง แล้วไปตามแนวถนนมหาไชย ผ่านวัดราชนัดดารามวรวิหาร เข้าสู่ถนนจักรเพชร ลอดใต้แม่น้ำ

เจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า (สะพานพุทธ) เข้าสู่ถนนประชาธิปก ผ่านสี่แยกบ้านแขก ลอดใต้วงเวียนใหญ่ เข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ลอดแยกมไหสวรรย์แล้วไปตามถนนสุขสวัสดิ์

จากนั้นแนวเส้นทางจะเปลี่ยนเป็นโครงสร้างยกระดับ ตัดผ่านแยกจอมทอง แยกถนนประชาอุทิศ ข้ามทางด่วนขั้นที่ 1 เข้าสู่ถนนราษฎร์บูรณะ ข้ามคลองแจงร้อน ผ่านสามแยกพระประแดง มาสิ้นสุดถนนวงแหวนด้านใต้ที่บริเวณครุใน 17 สถานีเชื่อมสีส้ม-น้ำเงินมีทั้งหมด 17 สถานี เป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี ยกระดับ 7 สถานี โดยทางบริษัทที่ปรึกษาได้ปรับตำแหน่งที่ตั้งใหม่ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

ประกอบด้วย
1.สถานีรัฐสภา เป็นสถานีใต้ดินเชื่อมกับรัฐสภาแห่งใหม่ อยู่ใต้ถนนสามเสนหน้าอาคารรัฐสภาใหม่ และ ม.พัน 4 รอ.
2.สถานีศรีย่าน อยู่ด้านหน้ากรมชลประทาน
3.สถานีสามเสน อยู่หน้าโรงพยาบาลวชิรพยาบาล
4.สถานีหอสมุดแห่งชาติ อยู่ด้านหน้าหอสมุดแห่งชาติและสมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัย
5.สถานีบางขุนพรหม อยู่หน้าวัดศรีเอี่ยมวรนุช
6.สถานีผ่านฟ้า อยู่ใต้ถนนพระสุเมรุก่อนถึงถนนราชดำเนินนอก หน้าร้านอาหารนิวออลีนส์ เชื่อมกับสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี)

อาคารจอดแล้วจร 2 จุด

7.สถานีวังบูรพา อยู่ใต้ถนนมหาไชยหน้าสวนรมณีนาถ ใกล้แยกสามยอด เป็นสถานีร่วมรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค)
8.สถานีสะพานพุทธ อยู่ใต้ถนนประชาธิปก ก่อนถึงสี่แยกบ้านแขก
9.สถานีวงเวียนใหญ่ อยู่ใต้ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ใกล้วงเวียนใหญ่
10.สถานีสำเหร่ อยู่ใต้ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ใกล้ตลาดสำเหร่กับโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า
11.สถานีจอมทอง อยู่กลางถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ระหว่างซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 44 และคลองบางสะแก
12.สถานีดาวคะนอง อยู่กลางถนนสุขสวัสดิ์ ระหว่างซอย 12 และ 14
13.สถานีบางปะกอก อยู่กลางถนนสุขสวัสดิ์ซอย 23-25
14.สถานีประชาอุทิศ อยู่หน้าซอยสุขสวัสดิ์ 44
15.สถานีราษฎร์บูรณะ อยู่กลางถนนสุขสวัสดิ์คร่อมคลองแจงร้อน
16.สถานีพระประแดง อยู่กลางถนนสุขสวัสดิ์ ใกล้กับสามแยกพระประแดง สุดท้าย
17.สถานีครุใน อยู่กลางถนนสุขสวัสดิ์ ปากซอยสุขสวัสดิ์ 70

นอกจากนี้มีอาคารจอดรถ 2 แห่ง ที่สถานีบางปะกอก เป็นอาคารสูง 10 ชั้น จอดรถได้ 1,700 คัน และสถานีราษฎร์บูรณะ 2 อาคาร สูง 8 ชั้น 1 อาคาร จอดรถได้ 800 คัน กับสูง 10 ชั้น จอดรถได้ 900 คัน

แนวเส้นทางโครงการนิ่งแล้ว รอแต่นโยบายฝ่ายการเมืองจะมาเดินหน้าโครงการต่อเท่านั้น

http://www.skyscrapercity.com/showthread.php?t=1089479&page=18
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่