เปิดหนังสือยื่นถอด“ยิ่งลักษณ์”ปมจ้างอีเวนต์ 240 ล.ฝ่าฝืนกม.ป.ป.ช.

เอ็กซ์คลูซีฟ : เปิดหนังสือ 142 ส.ส.ปชป.ยื่นถอดถอน “ยิ่งลักษณ์” ปมฝ่าฝืนกม.ป.ป.ช. มาตรา 103/7 ไม่ประกาศราคากลางจ้างวิธีพิเศษ “มติชน-สยามสปอร์ต" จัดอีเวนต์พีอาร์กม.เงินกู้ 2 ล้านล.

หลายคนอาจจะทราบแล้วว่า พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)ได้ยื่นเรื่องถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ออกจากตำแหน่ง กรณีการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 103 (7) ที่กำหนดให้มีการประกาศราคากลางในเว็บไซต์ของทุกหน่วยงานและเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง กรณีการว่าจ้างบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และบริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) โดยวิธีพิเศษ เข้ามารับจัดงานอีเวนต์ประชาสัมพันธ์โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ภายใต้ชื่องาน “สร้างอนาคตไทย 2020” เป็นส่วนหนึ่งของร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท

แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จำนวน 142 คน นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้า ปชป. ให้เหตุผลในการยื่นถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อกรณีนี้ ไว้ว่าอย่างไร

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลพบว่าก่อนหน้าที่ ปชป.จะหยิบยกประเด็นเรื่องการไม่ประกาศราคากลางว่าจ้างงานจัดอีเวนต์ประชาสัมพันธ์โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ภายใต้ชื่องาน “สร้างอนาคตไทย 2020” ไปอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป.พร้อมด้วย ส.ส.ปชป. รวม 142 คน ได้ทำหนังสือถึงประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา เพื่อให้เสนอเรื่องถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกจากการเป็นนายกฯ และรมว.กลาโหม ไปเรียบร้อยแล้ว

โดยเอกสารดังกล่าวได้ระบุถึงพฤติการณ์การกระทำความผิดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไว้ 4 ประการ ดังนี้

ประการที่ 1

นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมาย เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 19 เมษายน 2554

โดย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มีมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติให้ หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการจัดทำข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้

ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรในการกำหนดมาตรการเพื่อให้หน่วยงานรัฐรับไปปฏิบัติ และมีอำนาจสั่งหน่วยงานของรัฐดำเนินการตามที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดมาตรการในเรื่องนั้น

โดยในวันที่ 1 สิงหาคม 2554 ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องการให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจสอบดูได้

อย่างไรก็ตาม มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ไม่ได้เห็นชอบกับรายงานที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ และ ครม. ก็ไม่ได้สั่งการให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 แต่ประการใด

ต่อมาประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือขอให้ ครม. ทบทวนมติโดยให้เหตุผลว่ายังไม่ครอบคลุมตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2542

อย่างไรก็ตาม มติ ครม. ก็ยังไม่รับข้อเสนอของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อีกครั้ง

ประการที่ 2

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 หลังจากที่มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว และได้มีการยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ครั้งแรกนั้น

ครม. จึงได้มีมติให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลาง และการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมติ ครม. ให้มีผลวันที่ 11 สิงหาคม 2556

อย่างไรก็ตาม ปรากฏข้อเท็จจริงต่อมาว่า มีหน่วยงานของรัฐอีกหลายหน่วยงานได้ละเลยเพิกเฉยไม่สนใจใยดีต่อการป้องกันและปราบปรามทุจริต และไม่ดำเนินการดังกล่าว เป็นเหตุให้มีการทุจริตกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งนายกฯ รับทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ได้ดำเนินการให้ถูกกฎหมายแต่อย่างใด

ประการที่ 3

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว นายกฯ มีพฤติกรรมดังต่อไปนี้

3.1 ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมาย คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2542 มาตรา 103/7

3.2 ส่อว่าจงใจที่จะกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผูหนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2542 มาตรา 123/1

3.3 ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 178 เนื่องจากในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย

และ 3.4 การกระทำตามข้อ 3.1 – 3.2 – 3.3 จากการที่นายกฯ และรมว.กลาโหม ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2542 ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน หลายโครงการส่อว่าจะมีปัญหาการทุจริต เป็นผลทำให้เกิดความเสียหาย

ซึ่งตามพฤติกรรมนี้ ย่อมรับฟังโดยชัดแจ้งว่าเป็นกรณีที่ใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างสิ้นเชิง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่