ทุนสำรองหาย หนี้บาน ส่งออกฮวบ GDP หด (สรุปตัวเลขเศรษฐกิจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 2 ปี 4 เดือน)

เช็คบิลครับ!!! สาเหตุที่ตั้งใจที่จะตีแผ่บทความนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้มีเวลาฟอกตัวเลขลบเป็นบวก แย่เป็นดีและหลอกลวงชาวบ้านได้ทัน

ประวัติศาสตร์เคยมีมาแล้วครับ การเลือกใช้เฉพาะตัวเลขที่ทำให้ตัวเองดูดีเพียงด้านเดียวดัง เช่น การแถลงผลงาน รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ก็เลือกใช้แค่ตัวเลขที่ทำให้ตัวเองดูเหมือนเป็นผู้พาชาติพ้นวิกฤติต้มยำกุ้ง ทั้งๆ ที่ความจริง ต้องยกเครดิตให้รัฐบาลชวน 1 ล้วนๆ ที่มีดรีมทีมอย่าง อดีต รมว.คลัง ธารินทร์ อดีตรมว.พาณิชย์ ดร.ศุภชัย และอดีตรมว.ต่างประเทศ ดร.สุรินทร์ สุดท้ายพอเศรษฐกิจไทยกลับมาเสถียรก็มีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ทักษิณขายฝันชนะก็อยู่นาน 2 สมัย จนโดนปฏิวัติ เท่าที่จำความได้ตลอดระยะเวลาบริหารราชการแผ่นดิน มีการพยายามเล่นกับตัวเลขเศรษฐกิจมากมาย รู้จักการเลือกใช้วิธีที่คนที่ถ้าไม่คุ้นเคยกับการอ่านตัวเลขจริง จะเห็นว่า โอ้โหทักษิณทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นมาก ประชาชนกินอิ่มนอนหลับ เงินถึงมือ แต่ในความเป็นจริงคือ ทักษิณรู้วิธีหยิบตัวเลขมาพูด

ขออนุญาตพูดตรงๆ ครับว่า ทางเราเชื่อว่า อีกไม่นานยิ่งลักษณ์ ก็จะทำเช่นเดียวกัน คือหยิบเฉพาะตัวเลขที่ดีเท่านั้นมาแถลงเป็นผลงานหลังยุบสภา ทางเราจึงจะใช้วิธีเดียวกัน แสดงให้เห็นกันไปเลยว่า นี่ ตัวเลขเศรษฐกิจแย่ๆ อยู่ทางนี้ และจะบอกให้เลยครับว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ห่วยไม่ติดฝุ่นใครเลย ทั้งๆ ที่ 2 ปีกว่า ที่บริหารไม่ได้มีวิกฤติใดๆ ในประเทศก็ยังบริหารได้น่าอดสูขนาดนี้ ทางเราจึงขอนำเสนอตัวเลขที่แย่ถึงขนาดว่า นั่งเฉยๆ คงทำตัวเลขได้ดีกว่านี้ให้ทุกคนได้รับทราบกัน

รัฐบาลยิ่งลักษณ์รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 5 สิงหาคม 2554 และพ้นตำแหน่งจากการยุบสภาวันที่ 9 ธันวาคม 2556 รวมระยะเวลาบริหารราชการแผ่นดินในฐานะฝ่ายบริหารของราชอาณาจักรไทยทั้งสิ้น เป็นเวลา 854 วันหรือกินเวลายาวนานเต็มไปด้วยความเสียโอกาสทั้งสิ้นถึง 2 ปี 4 เดือน 4 วัน ตลอดระยะเวลาอันยาวนานนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่เพียงแต่ทำให้ตัวเลขที่ควรจะบวกได้ง่ายดาย กลับลดฮวบ ทำให้ตัวเลขที่ควรจะลดกลับเพิ่มพรวดพราด และที่รับไม่ได้ที่สุดคือทำลายโครงสร้างรากฐานของสินค้าคู่วิญญาณชาติไทยอย่าง “ข้าว” ลงไปอย่างไร้หัวใจ
อันดับแรก GDP ย่อมาจาก Gross Domestic Product ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ เขาพูดถึงกันบ่อย ใครคุ้นเคยไม่คุ้นเคยกับคำนี้ ก็มาดูกันใหม่ครับ แปลตรงๆ ก็คือ ประเทศไทยมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจใดเกิดขึ้นภายในประเทศบ้าง ก็จะถูกเอามานับรวม กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ในทางมูลค่าต่างๆ ขึ้นมาประกอบด้วยการคำนวณรวมมาจากตัวเลข 5 ตัวเลขหลักๆ นั่นคือการบริโภคภายในประเทศของประชาชน, การลงทุนภาคเอกชน, การใช้จ่ายของรัฐบาล, การส่งออก, การนำเข้า ทั้ง 5 ตัวนี้รวมกันจะมากจะน้อย จะโตมากหรือหดตัว นโยบายการคลังของรัฐบาลคือ ตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ

หลายๆ นโยบายของรัฐบาลนี้ส่งผลลบต่อการโตของ GDP ทุกคนจะได้เห็นคีย์เวิร์ดเหล่านี้ในหน้าหนังสือพิมพ์ ล้วนแล้วแต่เป็นตัวบ่อนทำลายการโตของ GDP ทั้งสิ้น เช่น การบริโภคต่ำ กำลังซื้อหด การลงทุนติดลบ การใช้จ่ายรัฐบาลเบิกจ่ายได้น้อย ส่งออกทรุด เท่านี้ก็ชัดเจนมากแล้วครับ ที่ทำให้การโตของ GDP ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในปีสุดท้าย ประมาณการทั้งปี 2556 เหลือแค่ 3% ทั้งๆ ที่พื้นฐานประเทศประเมินกันต้นปีอยู่ที่แตะ 10% ลองมาดูก่อนรับตำแหน่ง ปลายปี 2553 รัฐบาลอภิสิทธิ์ทิ้งไว้ให้ที่ บวก 7.8% ปลายปี 2554 อยู่มาปีเดียวลงไปเหลือ 0.1% เรียกได้ว่าไม่โตเลย พอมาปีนี้ รองนายกฯ เศรษฐกิจตัวดีก็เอาแต่ไวท์ไล อ้างโน่นอ้างนี่ ปีนี้ได้โอกาสอ้างม็อบ บางครั้งก็อดหดหู่กับตัวทีมเศรษฐกิจรัฐบาลไม่ได้จริงๆ ครับ วิสัยทัศน์ต่ำเตี้ยเรี่ยดินขนาดนี้ยังมีหน้ามาโทษมวลมหาประชาชน

ถัดไปมาดูการส่งออกครับ ประเทศไทยส่งออกเป็น 70% ของ GDP ประเทศแต่เวลาคิดจริงๆ ต้องหักนำเข้าก่อนด้วย เพราะมันเป็นขาคู่กันเพื่อคำนวณ นายกฯ ชอบเอาส่งออกมาอ้างบ่อยๆ แล้วพูดอยู่นั่นแหละว่า สำคัญที่สุด มูลค่ามากสุดในการคำนวณ GDP ทั้งๆ ที่ความจริง คือ การบริโภคภายใน แต่ไหนๆชอบพูดนักก็เอามาให้ดูครับว่า ปี 2553 ของรัฐบาลอภิสิทธิ์การส่งออกโตถึง 28% ตอนยิ่งลักษณ์รับตำแหน่ง ไตรมาส 3 ปี 2554 โต 27% แต่ตอนออกจากตำแหน่ง ไตรมาส 3 ปี 2556 ดิ่งเหวไปติดลบ 1.8% ทั้งปีคนเขายังช่วยประมาณการให้ดีว่า โตนะแต่โตแค่ 0.1% แบบนี้เรียกอย่าโตเลยดีกว่าครับ อนาถแท้

อีกขาหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน และรัฐบาลอภิสิทธิ์ถูกลิ่วล้อรัฐบาลยิ่งลักษณ์สร้างวาทกรรมมาตลาดนั้นคือ ดีแต่กู้ คราวนี้มาดูครับว่า ใครกันที่มันเข้ามาแล้วไม่ทำงานอะไรเลย วันๆ ก็จะขอกู้เงิน ทั้งพ.ร.ก.น้ำ 3.5 แสนล้าน พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้าน ที่ตอนนี้ส่วนตัวขอยืนยันครับว่า แท้งแน่ๆ ทั้งสองอัน ด้วยเดชะบุญของผู้ปกปักรักษาประเทศไม่ให้โจรคาบไปสวาปามได้ แต่ช้าก่อนครับ อ่านถึงบรรทัดนี้อย่าดีใจไป ตัวเลข หนี้สาธารณะที่เปิดเผยโดยสำนักหนี้ฯ กระทรวงการคลัง พบว่า ขนาดว่ายังไม่ได้กู้ก้อนใหญ่ๆ 2 ก้อนที่เป็นเงินกู้นอกระบบออกไปได้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 2 ปี 4 เดือน ทำก้อนหนี้สาธารณะพุ่งไปถึง 1.17 ล้านล้านบาท จากตอนรับตำแหน่งที่ 4.26 ล้านล้านบาท มาเป็น 5.43 ล้านล้านบาท คิดเป็น 45.5% ของ GDP

และเป็นการแตะ 45% ครั้งแรกหลังจากประเทศฟื้นจากตอนมีวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ วิกฤติการเงินจากสหรัฐก็ไม่เคยสูงมาแตะระดับนี้ได้ นับว่าเก่งจริงๆ ครับ ไม่มีวิกฤติการเงินแต่ก่อหนี้มหาศาลไว้ได้...ประชดนะครับ จากนั้นเราไปแกะดูตัวเลขก็พบว่า ในส่วนนี้เป็นหนี้ที่รัฐบาลต้องค้ำประกันให้รัฐวิสาหกิจแปลสั้นๆ ว่า หนี้ที่คลังไปกู้ให้ ธ.ก.ส.เอาไปจำนำข้าวนั้นโป่งพองมากเป็นพิเศษ และนี่ก็จะเป็นปัญหาให้รัฐบาลชุดใหม่ต้องตามเช็ดขี้เยี่ยวของยิ่งลักษณ์ต่อไป

ลำดับสุดท้ายทุนสำรองระหว่างประเทศเรื่องนี้ถกเถียงกันเยอะครับ ทั้งจะมีการควักออกไปใช้ต่างๆ นานา มีเงินบริจาคของหลวงตามหาบัว มีส่วนที่ต้องค้ำยันชาติให้ไม่เป็นแบบวิกฤติต้มยำกุ้งอีก เหล่านี้คือความกังวลของคนในชาติต่อทุนสำรองฯ แต่ประเด็นทุนสำรองนี้ในปัจจุบันอยู่ในการดูแลของแบงก์ชาติก็จริง น่ากังวลน้อยลงเพราะแบงก์ชาติเข้มแข็งเป็นอิสระ ไม่ต้องกลัวว่านักการเมืองชั่วจะไปล้วงมาใช้ง่ายๆ แต่การจะทำให้เงินสำรองเพิ่มหรือลด ก็สะท้อนผลประกอบการของรัฐบาลได้ไม่น้อยทีเดียว เพราะการที่ทุนสำรองฯ จะเพิ่มหรือลดก็มาจากดุลชำระเงิน ที่คำนวณมาจากดุลบัญชีเดินสะพัดและอื่นๆ ที่ไส้ในการคำนวณนั้น ก็มาจากการทำการค้า การลงทุน และกิจกรรมต่างๆ กับต่างประเทศ

เอาเป็นว่าสมมุติประเทศไทยเป็นร้านค้าขาย ในประเทศก็มี ส่งออกนำเข้าก็มี ปีไหนทำการค้ากับต่างประเทศส่งออกได้น้อย ก็จะมีเงินทุนมาสำรองน้อย ปีไหนขายดีต่างชาตินิยม ก็มีทุนสำรองเยอะ แต่ตามตัวเลขแบงก์ชาติ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ รับตำแหน่งมีทุนสำรอง 1.86 แสนล้าน$ แต่ตอนออกไปเหลือแค่ 1.67 แสนล้าน$ทำเงินทุนสำรองหายไป 1.9 หมื่นล้าน$หรือ 2 แสนกว่าล้านบาท ในแค่สองปี

ในทางกลับกัน เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ยิ่งลักษณ์เข้ามาสูงถึงขั้น 1.86 แสนล้าน$ นั้นรัฐบาลอภิสิทธิ์ทำไว้ให้ล้วนๆ เพราะตอนรัฐบาลอภิสิทธิ์รับตำแหน่งต่อจากรัฐบาลสมชายเงินสำรองมีแค่ 1.10 แสนล้าน$ เท่านั้น ทั้งๆ ที่การบริหารประเทศ 2 ปีกว่าตอนนั้นมีทั้งวิกฤติการเมืองเผาบ้านเผาเมือง และวิกฤติการเงินแฮมเบอร์เกอร์

ฝากไว้เท่านี้ก่อนครับ มาต่อในคอลัมน์วันจันทร์ จะแตกละเอียดถึงแต่ละนโยบายการคลังของรัฐบาล
เครดิต http://www.naewna.com/politic/columnist/10083
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่