ขอเสนอแนวคิดการร่างมาตรฐานการแสดงออกในสังคมออนไลน์

ผมได้ฟังนักวิชาการพูดถึงเรื่องการหยุดสร้างความเกลียดชังในสังคมไทยว่าตัวแปรสำคัญในเรื่องนี้ก็คือสื่อมวลชน และประเทศไทยจะพัฒนาไปในทางที่ดีไม่ได้ถ้าระบบสื่อของไทยยังเป็นอย่างนี้อยู่ (เป็นยังไงผมก็ไม่รู้หรอก แต่ผมไม่ได้จะพูดถึงเรื่องนั้น)

ผมคิดว่าบางทีการมองว่าโลกทัศน์ของสังคมสมัยนี้ขึ้นอยู่กับสื่อมวลชนเป็นหลัก อาจจะเป็นความคิดที่ค่อนข้างล้าสมัยไปแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้ความคิดของสังคมมันถูกขับเคลื่อนด้วยออนไลน์โซเชียลเน็ตเวิร์กมากขึ้นเรื่อยๆ

ผมอยากจะเสนอไอเดียบางอย่าง เผื่อว่าผู้มีความรู้ที่เกี่ยวข้องได้อ่าน หรือตัวผู้บริหารเว็บไซต์พันทิพเองซึ่งเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ทรงพลังอันหนึ่งของสังคมไทยได้อ่าน และสนใจนำไปทำเป็นโปรเจคที่เป็นรูปธรรมขึ้นมาได้

ไอเดียคือ อยากให้มีการประชุมกันร่างมาตรฐานสำหรับการแสดงความคิดเห็นบนสื่อออน์ไลน์ขึ้นมา   

   Big Picture ก็คือมันจะเหมือนกับลิขสิทธิ์ Creative Commons ที่มีคนบัญญัติขึ้นมาแล้วคนทั่วไปที่เห็นด้วยก็สนับสนุนโดยการนำไปแสดงออกทางเว็บไซต์ของตน

   เป้าหมายของมาตรฐานก็คือ การให้การศึกษาแก่ประชากรบนโลกออนไลน์ถึงวิธีการแสดงออกที่เหมาะสม มิให้ตกเป็นเหยื่อและเป็นผู้ผลิตซ้ำการแสดงออกที่เป็นการแพร่กระจายค่านิยมที่จะก่อให้เกิดแต่โทษอย่างเดียวอย่างเห็นได้ชัดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่นการคอมเมนต์ด้วยคำพูดหรือคำด่าที่ทำไปด้วยความสนุกสะใจแต่มีผลสร้างความเกลียดชัง หรือการกล่าวหาผู้อื่นอย่างเลื่อนลอย เป็นต้น

   หน้าตาของผลิตผลสุดท้ายของมาตรฐานที่ผมวาดฝันไว้ คือการที่เว็บไซต์ต่างนำมาตรฐานไปปรับใช้ในการให้บริการในเว็บของตนเช่น ในพันทิพอาจจะมีการแสดงออกโดยการ Flag คอมเมนต์หรือกระทู้ที่เข้าข่ายตามมาตรฐานบางข้อเช่น



System Alert: คอมเมนต์นี้เข้าข่ายการแสดงออกอันไม่เหมาะสมตามมาตรฐาน xxyy 1.0 การแสดงออกซึ่งเป็นการแพร่กระจายวาทกรรมความเกลียดชัง...

ควายแดง/สลิ่ม แสดงความเห็นโง่ๆ อีกแล้ว
โดย สมาชิกหมายเลข 123456





System Alert: คอมเมนต์นี้เข้าข่ายการแสดงออกอันไม่เหมาะสมตามมาตรฐาน xxyy 1.0 การกล่าวหาเลื่อนลอย ไม่มีหลักฐาน หรือการแสดงสมมติฐานใดๆ ผู้รับสารควรใช้วิจารณญาณ...

พรรคการเมือง A ซื้อเสียง / นาย B อยู่เบื้องหลังเหตุสลายการชุมนุม เค้ารู้กันหมดแล้ว
โดย สมาชิกหมายเลข 654321



   ส่วน blogger ก็อาจจะแสดงออกโดยการทำ link ไปที่โฮมเพจของมาตรฐาน

ต่อไปรายละเอียดปลีกย่อยเท่าที่คิดออก

   มาตรฐานจะต้องพูดถึงการแสดงออกต่างๆ และหรือแนะนำถึงผลกระทบของมัน ในรูปแบบของข้อเท็จจริง (fact) ไม่ใช่ในแบบข้อคิดเห็น (opinion) (เช่น ไม่ตัดสินมันในเชิงคุณค่า)

   มาตรฐานหรือการนำมาตรฐานไปใช้จะต้องมิใช่เป็นการปิดกั้นการแสดงออกโดยเสรี และต้องไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการลดคุณค่าของการแสดงออกหรือดิสเครดิตตัวบุคคลผู้ซึ่งแสดงออกใดๆ




ปล. ทุกวันนี้หรือก่อนหน้านี้ ผมเห็นว่าพันทิพใช้วิธีลบคอมเมนต์ที่ไม่เหมาะสมออก ไม่เห็นคนอื่นเห็น ซึ่งเป็นวิธีที่ผมเห็นว่าไม่มีประโยชน์ เพราะไม่มีมาตรฐานและไม่ได้เป็นการพัฒนามาตรฐานใดๆ ขึ้นมา พันทิพหรือเว็บไซต์อื่นจะแบนอีกสักกี่คอมเมนต์ก็ไม่ได้ช่วยให้คนในสังคมมีความรู้มากขึ้นมาได้ว่าควรจะคอมเมนต์กันอย่างไร

ปล. 2 ผมคิดว่าการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมมีหลายรูปแบบ บางอย่างอาจชัด บางอย่างไม่ชัด เราอาจจะนิยามได้ไม่หมด

ปล. 3 ตอนผมเรียนอยู่มัธยม ภูมิต้านทานทางการเมืองไม่ค่อยแข็งแรง (ok ตอนนี้ก็ยังไม่แข็งแรง) เวลาผมเข้าไปอ่านคอมเมนต์ในเว็บไซต์ต่างๆ ที่เต็มไปด้วยการคอมเมนต์แบบ "บลัฟ" ฝ่ายตรงข้าม เช่น "ไอ้พวก... มันโง่ เรื่องโน้นเรื่องนั้นเรื่องนี้เขารู้กันหมดแล้วว่ามันไม่จริง" ผมมองย้อนกลับไปสำรวจตัวเองตอนนั้น ผมคิดว่าคอมเมนต์ลักษณะแบบนีแหละครับที่มีผลอย่างสำคัญต่อความเชื่อทางการเมืองของผม มันทำให้ผมเลือกข้างไปตามกระแส   ปัจจุบันนี้ ไม่เว้นแม้แต่ผู้ใหญ่ บางคนแสดงออกอย่างรุนแรงว่าเลือกข้าง แต่พอถกเถียงกันจริงๆ แล้วอธิบายได้ไม่ชัดเจนว่าทำไมจริงเลือกข้างนั้น คำอธิบายของเขามักจะมาลงที่คำว่า "ลองไปอ่านเว็บนั้นสิ" หรือ "ลองไปอ่านบทความของอาจารย์คนนั้นสิ" ผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้เขาเป็นเช่นนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาเสพการแสดงออกทางสังคมออนไลน์แล้วซึมซับเอาแต่ความรู้สึกแต่ไม่ได้เรียนรู้สาระของการแสดงออกนั้น ... วิธีที่จะแก้ปัญหาลักษณะนี้ได้ก็คือการให้การศึกษาเกี่ยวกับแสดงออกที่เหมาะสมครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่