"มานีและชูใจ" มากกว่าแบบเรียน มากกว่าละครเวที






       เอ่ยชื่อถึงตัวละครอย่าง "มานี" ตลอดจน "ชูใจ" เชื่อว่าบรรดาเด็กๆ สมัยใหม่ที่มีอายุไม่เกิน 30 ปี ส่วนใหญ่คงพากันส่ายหัวพร้อมบอกไม่รู้จัก
       
           ขณะที่บางคนอาจจะรู้จัก อาจจะพอจะได้ยินชื่อมาบ้าง แต่กระนั้นถ้าว่ากันถึงความผูกพันคงจะมีน้อยหรือแทบจะไม่มีเอาเสียเลย
       
           แตกต่างไปจากคนที่มีอายุ 30 ปีขึ้น ซึ่งนอกจากจต้องรู้จักแล้ว พวกเขา-พวกเธอยังเจริญเติบโตขึ้นมาพร้อมกับตัวละครที่ว่ารวมถึงผองเพื่อนทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น มานะ, ปิติ, สมคิด, ดวงแก้ว. เพชร, สีเทา, เจ้าแก่, เจ้านิล, เจ้าจ๋อ ฯ ที่ต่างก็มีชีวิตโลดแล่นอยู่ในแบบเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษาของไทยเราในอดีตนั่นเอง
       
           ถึงวันนี้แม้แบบเรียนเล่มนี้จะถูกยกเลิกไปแล้วนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2537 เป็นต้นมา แต่กระนั้นชื่อของตัวละครเหล่านี้ก็หาได้ถูกลบเลือนไปจากความทรงจำแต่อย่างใด แถมบางครั้งบางคราทั้ง มานะ, มานี, ชูใจ ฯ ก็ยังลุกขึ้นมาทวงกลับความทรงจำดีๆ ไม่ว่าจะเป็นปีพ.ศ.2541 ในรูปแบบของละครเวทีโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์, ปีพ.ศ. 2544 โดยนิตยสารอะเดย์ที่นำเอาตัวละครจากแบบเรียนนี้มานำเสนอติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า 1 ปี ก่อนที่จะมีการตีพิมพ์ใหม่ในชื่อ "ทางช้างเผือก" ในปี 2545 โดยมีการเพิ่มเนื้อหาเรื่องราวตลอดจนตัวละครใหม่เข้าไป
       
           เว้นช่วงมานานกว่า 10 ปี ล่าสุดเรื่องราวของมานี, ชูใจ กับผองเพื่อนกำลังจะกลับมาโลดแล่นให้เราได้หวนระลึกถึงความผูกพันกันอีกครั้งกับละครเวทีที่ชื่อ "มานีและชูใจ" โดยมีมือเขียนบทละคร-ซิทคอมคนดัง "เอ๋ ศุภกร เหรียญสุวรรณ" รับหน้าที่กำกับการแสดง ซึ่งเจ้าตัวก็ได้เปิดเผยถึงสาเหตุที่นำเอาตัวละครเรื่องนี้กลับมาทำเป็นละครเวทีอีกครั้งว่า...
       
           "มันประกอบกันหลายส่วนครับ ซึ่งต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ตอนสถาปัตย์ จุฬา ก่อน คือตอนนั้นเราก็คิดว่าเราจะทำอะไรกันดีแล้วช่วงนั้นเป็นช่วงที่ฟองสบู่แตก ก็ไม่สามารถของบทำละครขนาดใหญ่ได้ พอถึงเวลาที่เราจะต้องทำละครแล้วกัน ก็เริ่มมองหาเรื่องที่จะทำ ตอนแรกก็ว่านางสิบสองดีไหม ก็มองๆ หากัน"
       
           "จนวันนึงผมก็ไปแถวๆ สนามศุภชลาศัย เห็นแบบเรียนภาษาไทยมาวางขายอยู่ แบบขายถูกมากเลย ก็ถามว่าทำไมถูกจัง เขาบอกเดี๋ยวนี้เด็กไม่ได้เรียนแล้ว เลิกสอนแล้ว พี่ก็ใจหายว่าจะไม่มีใครได้เรียนแล้วหรือนี่ ก็เลยคิดว่ามันต้องทำอะไรสักอย่างทำให้คนได้รู้ว่ามันมีแบบเรียนนี้เกิดขึ้นนะ"
       
           "แต่พอไปเสนอว่าอยากทำต่างคนก็ต่างอยากทำหลายเรื่องก็เกิดการต่อสู้กัน ถกเถียงกันอยู่นานมาก แต่ก็ได้ทำ ซึ่งผลออกมาปรากฏว่ามันเวิร์ก คนชอบมาก พอเรียนจบ ทำงานก็ทำละครเวที ได้มีโอกาสทำงานกับพี่บอย (ถกลเกียรติ วีรวรรณ) แกก็ให้เราช่วยเขียนบทละครเวที เราก็สนุก ชอบมัน ถึงเวลาเราก็อยากทำละครเวทีของเราเองบ้าง"
       
           "ที่ผ่านมาก็ทำมา 2 เรื่องแล้ว พอมาเรื่องที่ 3 ก็คิดกับเพื่อนว่าอยากเอามานีชูใจมาทำอีก แต่ครั้งนี้อยากให้ดารามาเล่นให้ดูยิ่งใหญ่ดูเป็นเนื้อเป็นหนัง ก็เลยต้องมานั่งรื้อบทใหม่..."
           
           จะมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาอะไรเพื่อให้เข้ากับเรื่องราวในยุคปัจจุบันหรือเปล่า? "...เนื้อหาเหมือนเดิมครับ แต่การพูดคำว่าเพื่อนมันอาจจะแตกต่างกัน เหมือนเราตีความคำว่าเพื่อนตอนเป็นเด็กก็อย่างนึง แต่พอเราโตทำงานคำว่าเพื่อนก็จะเปลี่ยนไปแล้ว ก็จะเป็นเรื่องของชีวิตที่ปนอยู่กับคำว่าเพื่อนครับ"
       
           "มานีและชูใจ" ได้นักแสดงสาว "นุ่น ศิรพันธ์" รับบท มานี คุณครูสาวเจ้าเหตุเจ้าผลแห่งโรงเรียนประจำตำบล ร่วมด้วย "เอ๋ มณีรัตน์" รับบท ชูใจ สาวบ้านนอกที่กลายเป็นดาราสาวเจ้าบทบาทในเมืองกรุง, "เป้ ทวีฤิทธิ์" รับบท เพชร ตำรวจผู้ซื่อตรงในหน้าที่ รวมถึงนักแสดงอีกหลายคน อาทิ เอ็ม อภินันท์, ลีวาย ด.ช. อินฑัช เตชะเกิดกมล ฯ
       
           "การเลือกนักแสดง ผมว่าละครเวทีไม่เหมือนละครทั่วไปมันต้องใช้เวลาการทุ่มเทมาก มาซ้อม ละครเวทีมันอาจจะย้ำอยู่กับบทเดิมแต่คือตัวละครจะต้องแสดงลึกขึ้นๆ ง่ายๆ เลยคือต้องอยากเล่น พอปล่อยข่าวออกไปว่าจะทำมานี ชูใจ เอ๋ มณีรัตน์เป็นคนแรกที่ผมได้ยินว่าเขาอยากเล่น"
       
           "ก็เริ่มจากเขาว่าในเพื่อนรุ่นเดียวกันเป็นใครได้บ้างที่จะเล่นได้ ส่วนนุ่นเองผมเห็นเขาในเรื่องเพื่อนสนิทล่ะ ละครเขาก็เล่นดี ก็เลยรู้ว่าตัวละครเขาต้องเล่นเป็นใคร ก็ค่อยติดต่อไปทางเขาสนใจไหม พอมีมานี ชูใจ แล้วเราก็เลยดูไปเรื่อยๆ ส่วนเด็กๆ ต้องมาออดิชั่น เราก็เลือกเด็กจากนิสัยเขาเลย ผมก็เขียนบทเอง ใส่มุกเข้าไปใหม่"
       
           หากใครได้มีโอกาสได้ใช้แบบเรียนที่เขียนโดยอาจารย์รัชนี ศรีไพวรรณ (ปัจจุบันอายุ 84 ปี) เล่มนี้ก็จะพบว่านอกจากจะเน้นเกี่ยวกับพัฒนาการในเรื่องของคำศัพท์เป็นหลักแล้ว สิ่งหนึ่งที่สอดแทรกเข้ามาได้อย่างลงตัวและทำให้เด็กๆ ได้ซึมซับทีละนิดๆ ไปพร้อมกับพัฒนาการการเติบโตของตนเองอย่างแทบจะไม่รู้ตัวก็คือเรื่องราวและมิตรภาพในความผูกพันของคำว่า "เพื่อน" นั่นเอง
       
           "ผมว่าแบบเรียนนี้สร้างคนนะ เราต้องตามเพื่อน ป.1 - ป.4 อย่างน้อยสิ่งนี้ผมสอนแน่ๆ ยังไม่ได้พูดถึงเนื้อหาแบบเรียนนะคือจะเข้าใจคำว่ามิตรภาพ คนที่เรียนแบบเรียนนี้นะ ส่วนแบบเรียนก็สอนสังคมก็ทำให้รักภาษาไทย ผูกพันกับคำว่าเพื่อน ชอบออกไปผจญภัย มันจะไม่เหมือนกับเด็กสมัยนี้ที่อยู่ในโลกโซเชียล ทำให้เขารู้สึกว่าอยู่ในมือถืออยู่ในคอมพิวเตอร์ปลอดภัยกว่า"
       
           "เรื่องความสนุกผมว่ามันอยู่ในรายละเอียด แต่ที่ได้แน่ๆ ก็คือความผูกพัน ความอบอุ่น ความกวนของเพื่อน ทำให้รู้สึกถึงวันวานว่าแบบจำได้สมัยก่อนเป็นแบบนี้ คล้ายๆ เรามาดูหนังเรื่องแฟนฉัน ก็ทำให้เรานึกถึงสมัยเด็ก มันก็อารมณ์แบบนั้นแต่เราก็มาทำให้มันเป็นรูปธรรมมากขึ้น..."


ข่าวจาก  :  ASTVผู้จัดการออนไลน์
http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9560000150059
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่