'จำนำข้าว'ป่วน ชาวนาชะเง้อรอเงิน

กระทู้ข่าว
'จำนำข้าว'ป่วนชาวนาชะเง้อรอเงิน

รัฐติดกับดักเพดาน 5 แสนล้าน 'จำนำข้าว' ป่วนชาวนาชะเง้อรอเงิน : ณัฎฐ์ชิตา เกิดแดง ... รายงาน



                         มหากาพย์โครงการ "จำนำข้าว" ดูเหมือนจะวุ่นวายไม่รู้จบ ล่าสุดรัฐบาลเริ่มเดินมาถึงทางตันในการหาเงินมาใช้ในโครงการฤดูกาลผลิต 2555-2557 ที่ตั้งวงเงินไว้ 2.7 แสนล้านบาท แบ่งเป็นข้าวนาปี 1.5 แสนล้านบาท และข้าวนาปรัง 1.2 แสนล้านบาท ในส่วนของข้าวนาปีที่เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้เกือบ 2 เดือน ปรากฏว่าเงินไปถึงมือชาวนาน้อยมาก

                         จากความล่าช้าดังกล่าว ทำให้ชาวนาในหลายจังหวัดแสดงความไม่พอใจ ออกมาจี้ให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา และขอให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  จ่ายเงินให้เร็วที่สุดก่อนจะออกมาเคลื่อนไหวกดดัน อย่างไรก็ตาม ระหว่างรอเงินก็มีปัญหาใหม่เกิดขึ้นมาอีก โดยชาวนาที่รอเงินไม่ไหวมีการนำใบประทวนไปค้ำประกันเงินกู้ต่อโรงสีและนายทุนอื่นๆ ซึ่งได้เงินต่ำกว่าราคาจำนำข้าว ทำให้นอกจากจะได้เงินน้อยลงแล้ว ยังต้องเสียดอกเบี้ยให้โรงสีอีกด้วย



ชาวนารอไม่ไหวใช้ใบประทวนค้ำกู้



                         นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาแห่งประเทศไทย ระบุว่า หลังจาก ธ.ก.ส.ประกาศเริ่มทยอยจ่ายเงินตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ชาวนายังไม่ได้รับเงินทั้งที่โครงการเริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ที่ผ่านมา มีเพียงใบประทวนเท่านั้นที่ยืนยันว่าชาวนาได้จำนำข้าวจริง ขณะที่ชาวนาโดยเฉพาะในเขตภาคกลาง ต้องเริ่มเตรียมพื้นที่เพื่อทำนาปรังครั้งที่ 1 ซึ่งต้องจ่ายค่าเช่านาก่อน การที่ได้เงินช้าทำให้ชาวนาจำนวนมากเจรจากับทางโรงสีหรือนายทุนอื่นๆ เพื่อขอกู้เงินโดยใช้ใบประทวนค้ำประกันตันละ 8,000 บาท จากราคาข้าวในใบประทวนอยู่ที่ตันละ 12,000-13,000 บาท เนื่องจากไม่มีเงินหมุนเวียน

                         "ถือเป็นพฤติกรรมใหม่ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มีผลให้ชาวนาเสี่ยงเป็นหนี้มากขึ้น เพราะยังต้องเสียดอกเบี้ยอีกด้วย" นายบุญเฉยกล่าว

                         ขณะที่ ธ.ก.ส.ยังคงยืนยันว่า ธนาคารในฐานะผู้จ่ายเงินต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเคร่งครัด ที่ต้องดูแลให้เงินที่ใช้ในโครงการไม่เกิน 5 แสนล้านบาทในปีนี้ หากปล่อยให้เกินไปในฐานะของผู้ปฏิบัติงานก็จะมีความผิดได้ ทำให้ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.วางแผนการจ่ายเงินจำนำข้าวรอบใหม่นี้ให้รัดกุมและสอดคล้องกับกระแสเงินสดที่มีในมือ ชาวนาจึงได้รับเงินช้าลง จากปกติที่เคยได้ 3 วัน หรือ 7 วัน ก็อาจจะนานเป็นเดือน

                         รายงานข่าวระบุว่า วงเงินที่เหลือใช้ในโครงการนี้จริงๆ มีเพียง 2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น จากจำนวนใบประทวนที่ยื่นมา 3 หมื่นล้านบาท จึงต้องจัดลำดับก่อนหลังในการจ่ายเงิน จะให้จ่ายพร้อมกันทีเดียวคงไม่ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้เงินเกินที่มีอยู่ แม้ว่าขณะนี้จะมีชาวนารอไม่ไหว นำใบประทวนไปค้ำประกันเงินกู้ แต่ ธ.ก.ส.ก็คงไม่สามารถเร่งรัดการจ่ายเงินให้เร็วขึ้นได้ นอกจากจะมีนโยบายจากรัฐบาลสั่งการมาและแก้ปัญหาเรื่องเงินที่จะใช้ในโครงการ ซึ่งเข้าใจว่า ในช่วงนี้รัฐบาลคงไม่สามารถจะหยิบยกเรื่องนี้มาพิจารณาได้ เพราะสถานการณ์การเมืองไม่เอื้ออำนวยและข้าราชการเองก็ไม่สะดวกในการปฏิบัติงาน

                         “สถานการณ์การเมืองและการชุมนุมในขณะนี้ ไม่ได้ทำให้การจ่ายเงินของ ธ.ก.ส.สะดุด โดยยังทำไปตามขั้นตอน แต่คงเร่งให้เร็วขึ้นไม่ได้ ชาวนาที่ลงทะเบียนแจ้งชื่อรับเงินไว้ก็ต้องได้ตามคิวใครมาก่อนได้ก่อน แต่ขอย้ำว่า การจะมาขอรับเงินได้ต้องมีใบประทวนมาแสดงและตรวจสอบก่อนที่ธนาคารจะโอนเงินเข้าบัญชีให้เกษตรกรรายนั้นๆ โดยโรงสีหรือบุคคลอื่นจะนำใบประทวนมารับเงินแทนไม่ได้”



รัฐติดกับดักเพดาน 5 แสนล้าน



                         สำหรับปัญหาที่ทำให้ ธ.ก.ส.ช็อตเงินในโครงการจำนำข้าวรอบใหม่นี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ธนาคารต้องยึดตามกรอบมติ ครม. ที่ต้องดูแลการจำนำข้าวให้มีวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท หากไม่ทำตามก็ถือว่าผิดกฎหมาย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ธ.ก.ส.เคยเสนอแนวทางให้รัฐบาลไปแล้ว ทั้งการขยายเพดาน 5 แสนล้านบาท และการกู้เงินเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ 4.1 แสนล้านบาทชั่วคราว แต่รัฐบาลไม่ได้ตัดสินใจ จึงถือว่าปัญหาการจ่ายเงินให้เกษตรกรล่าช้าที่เกิดขึ้นมาจากการที่รัฐบาลกำลังติดกับดักของตัวเอง

                         ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ได้ชะลอการจ่ายเงินมาระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่เดือนกันยายน 2556 เพราะเกรงว่าจะเกินกรอบ 5 แสนล้านบาท และเงินมีไม่พอจ่ายให้เกษตรกรที่แห่นำใบประทวนมาขอขึ้นเงิน ช่วงเดือนตุลาคมเดือนเดียวประมาณ 3 หมื่นล้านบาท แต่ธ.ก.ส.ต้องรอเงินงบประมาณจากปี 2557 ที่จะได้เข้ามาเดือนตุลาคมก่อน 8.2 หมื่นล้านบาท และต้องรอเงินจากการขายข้าวด้วย ซึ่งเงินงบประมาณเข้ามาแล้วทั้งจำนวน แต่เงินขายข้าวได้เข้ามาเพิ่มอีกแค่ 5,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น

                         จึงมีความหวังเดียวที่จะทำให้มีวงเงินเข้ามาใช้จ่ายในโครงการจากการระบายข้าวปีนี้เริ่มริบหรี่ลง จากที่กระทรวงพาณิชย์รับปากว่าจะนำส่งมาให้ทั้งปี 2.2 แสนล้านบาท ขณะนี้ได้มาแล้ว 1.5 แสนล้านบาท ก่อนถึงเดือนธันวาคมนี้ รับปากจะส่งให้ได้อีก 2.4 หมื่นล้านบาท ทำให้อย่างมากก็จะได้เงินมาเพียง 1.74 แสนล้านบาทเท่านั้น

                         ขณะที่การใช้เงินในโครงการจำนำข้าวขณะนี้เกินจาก 5 แสนล้านบาท ไปอยู่ที่ 6.8 แสนล้านบาทแล้ว โดยนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.สชี้แจงว่า เงินที่ได้จากการขายข้าว 1.5 แสนล้านบาท นำไปลดยอดเงินที่ใช้ไปเกิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินสำรองจ่ายไปก่อนของ ธ.ก.ส.ทำให้ยังเหลือเงินที่เกินอีก 3 หมื่นล้านบาท จึงต้องหาเงินส่วนอื่นมาโปะก่อน และโชคดีที่ได้รับจัดสรรเงินงบประมาณเข้ามาเร็วทั้งก้อน 8.2 หมื่นล้านบาท

                         สำหรับเงินในส่วนนี้ ธ.ก.ส.พิจารณาแล้วว่า เป็นงบชดเชยเกี่ยวกับโครงการจำนำข้าว 7.3 หมื่นล้านบาท เมื่อหักภาระผูกพันต่างๆ ที่ต้องจ่ายคืน ทำให้เหลือเงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท และในจำนวนนี้มีรายการจ่ายคืนในโครงการจำนำข้าวปี 2554/2555 จำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาลดวงเงินที่เกินไปได้ทันที ทำให้ส่วนที่เกินยังเหลืออีกเพียง 5,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเงินอีก 2.5 หมื่นล้านบาท จริงๆ แล้วไม่สามารถนำมาใช้ในโครงการจำนำข้าวรอบนี้ได้ แต่เพื่อเป็นการบรรเทาภาระความเดือดร้อนของเกษตรกร ทำให้มีการประสานไปยังสำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังเพื่อขอนำเงินส่วนนี้มาใช้รับจำนำข้าวโดยที่ไม่ได้ขัดกฎหมายหรือผิดระเบียบแต่อย่างใด

                         อย่างไรก็ตาม เมื่อหักส่วนที่ยังเกินกรอบ 5 แสนล้านบาท อยู่อีก 5,000 ล้านบาท ทำให้เหลือเม็ดเงินจริงๆ ที่จะจ่ายให้ชาวนาเพียง 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ใบประทวนที่นำมาขอขึ้นเงินขณะนี้มีกว่า 3 หมื่นล้านบาท จำนวนข้าว 2.5 ล้านตัน จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ธ.ก.ส.ไม่สามารถกดปุ่มโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรพร้อมกันครั้งเดียวได้



รอเงินขายข้าวช่วยต่อลมหายใจ



                         นอกจากนี้ อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ ธ.ก.ส.ไม่สามารถจ่ายเงินได้เร็ว เพราะต้องรอเงินเข้ามาเพิ่มเติม จากที่มีอยู่ 2 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะเงินที่จะมาจากการขายข้าวของกระทรวงพาณิชย์อีก 2.4 หมื่นล้านบาท โดยรวมจะมีวงเงินที่สามารถจ่ายได้โดยไม่กระทบกับกรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท เพียง  4.4 หมื่นล้านบาท ที่จะใช้ได้ถึงต้นเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากประเมินว่า จนถึงสิ้นปีนี้ต้องใช้เงินเพิ่มอีก 3 หมื่นล้านบาท หรือรวม 7 หมื่นกว่าล้านบาท จากที่ตั้งเป้าหมายใช้เงินฤดูกาลผลิต 2556/2557 วงเงิน 2.7 แสนล้านบาท ทำให้ที่ประชุมบอร์ด ธ.ก.ส.เห็นว่า ควรเสนอกระทรวงการคลังให้ควานหางบประมาณก้อนใหม่มาสำรองไว้ก่อน แต่สถานการณ์การเมืองที่เป็นอยู่คงเป็นเรื่องยาก

                         ความหวังเดียวขณะนี้ จึงน่าจะเป็นเงินจากการขายข้าวเท่านั้น หากยังไม่มีเข้ามาเพิ่ม โอกาสที่ ธ.ก.ส.จะจ่ายเงินได้เร็วขึ้นคงเป็นไปยาก เนื่องจาก ธ.ก.ส.ยืนยันที่จะไม่สำรองเงินของธนาคารจ่ายไปก่อนเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งเกินไปถึง 1 แสนกว่าล้านบาท นอกเหนือจากวงเงิน 9 หมื่นล้าน ที่ใช้หมุนเวียนอยู่แล้ว และในปีนี้จะยอมใช้สภาพคล่องสำรองจ่ายไปก่อนชั่วคราวเพียงแค่ 5.5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ซึ่งส่วนนี้ก็ต้องมีมติ ครม.รองรับก่อนเช่นกัน

                         ส่วนในช่วงไตรมาสแรกปีหน้าก่อนปิดโครงการจำนำข้าวรอบแรกหรือข้าวนาปี ยังจะมีข้าวทยอยออกมาอีกบางส่วนหรือต้องใช้เงินอีกกว่า 6 หมื่นล้านบาทนั้น ก็ต้องรอเงินจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์เช่นกัน ซึ่งได้รับการยืนยันมาว่า ปีหน้าจนถึงเดือนกันยายน 2557 จะส่งเงินขายข้าวมาให้ได้อีก 9.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งดูแล้วก็ไม่น่าจะเพียงพอ เพราะในช่วงของข้าวนาปรังที่จะปิดโครงการเดือนกันยายน ยังต้องใช้เงินอีกกว่า 1.2 แสนล้านบาท

                         ดังนั้น ระหว่างที่ดำเนินโครงการและยังไม่มีเงินใหม่เข้ามา ทางเลือกสุดท้ายอาจจำเป็นต้องขยายกรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาทชั่วคราว โดยให้ ธ.ก.ส.สำรองสภาพคล่องไปก่อน หรืออาจเป็นการใช้เงินกู้ซึ่งจะเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะวงเงิน 2.7 แสนล้านบาทนั้น เปิดช่องให้ใช้เงินกู้ได้ 1.4 แสนล้านบาท แต่สิ้นปี 2557 จะดูแลให้ลงมาอยู่ในวงเงิน 5 แสนล้านเท่าเดิม ซึ่งทั้งสองแนวทางก็ต้องเสนอให้ ครม.เห็นชอบก่อน



โชว์ตัวเลขสวนทางความเป็นจริง



                         รายงานข่าวระบุว่า หลังจากธ.ก.ส.ออกมายอมรับความจริงเรื่องของเงินที่เหลือใช้ในโครงการ และเสนอแนวทางให้รัฐบาลเร่งแก้ไข กลับยิ่งทำให้รัฐบาลไม่พอใจ จนนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ต้องรีบออกมายืนยันว่า ธ.ก.ส.มีเงินจ่ายให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนำข้าวเพียงพออย่างแน่นอน และสามารถบริหารจัดการเงินให้อยู่ในกรอบ 5 แสนล้านบาทได้ในสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน โดยระบุว่าได้รับเงินจากการขายข้าวแล้ว 1.8 แสนล้านบาท ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยข้อมูลการส่งเงินว่า มีเพียง 1.4-1.5 แสนล้านบาทเท่านั้น เมื่อหักส่วนที่ใช้เกินไป 6.8 แสนล้านบาท ก็จะเหลือ 5 แสนล้านบาทพอดิบพอดี

                         อีกทั้งยังชี้แจงสวนทางกับ ธ.ก.ส.ด้วยว่า งบที่ได้รับจัดสรรมา 8.2 หมื่นล้านบาท เป็นส่วนที่นำมาใช้ในการจำนำข้าวได้ 5.5 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับเงินนำส่งของกระทรวงพาณิชย์อีก 2.4 หมื่นล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้ จะทำให้ ธ.ก.ส.มีเงินหมุนเวียน 7.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งน่าจะเพียงพอใช้ในปีนี้ และในปีหน้ายังจะมีเงินกู้ที่สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ดูแลให้อีกบางส่วน รวมทั้งเงินจากแหล่งอื่นๆ แต่ไม่ได้พูดชัดเจนว่าจะมาจากไหน จึงเหมือนความพยายามที่จะปั้นแต่งตัวเลขให้ดูสวยหรูว่าโครงการจำนำข้าวไม่ได้มีปัญหาที่จะเดินหน้าต่อ

                         จากตัวเลขที่ นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า ช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ คาดว่ากระทรวงพาณิชย์จะนำส่งเงินที่ได้จากการระบายข้าวให้ ธ.ก.ส.ได้อีก 2.4 หมื่นล้านบาท ตรงกับที่ธ.ก.ส.ระบุ แต่เงินที่ส่งไปแล้วยืนยันว่าอยู่ที่ 1.4 แสนล้าน เมื่อรวมกับ 2.4 หมื่นล้านบาท เป็น 1.64 แสนล้านบาท พร้อมทั้งยอมรับว่า ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้สิ้นปีนี้ 2 แสนล้านบาท

                         แน่นอนว่า รัฐบาลจำเป็นต้องออกมายืนยันว่าชาวนาจะได้รับเงินอย่างแน่นอน เพื่อหวังผลทางการเมือง แต่ในทางกลับกัน รัฐบาลไม่ได้ตั้งใจแก้ปัญหาโครงการจำนำข้าวที่กำลังเดินทางมาถึงทางตันอย่างจริงจัง เห็นได้จากการดันทุรังเดินหน้าทั้งที่มีผลขาดทุนมหาศาล





-----------------------

(รัฐติดกับดักเพดาน 5 แสนล้าน 'จำนำข้าว' ป่วนชาวนาชะเง้อรอเงิน : ณัฎฐ์ชิตา เกิดแดง ... รายงาน)

http://www.komchadluek.net/detail/20131202/173947.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่