ความ "เห็นต่าง" ทางการเมือง VS ความเป็น "เพื่อน" ในสังคมไทย

กระทู้ข่าว
ความ "เห็นต่าง" ทางการเมือง VS ความเป็น "เพื่อน" ในสังคมไทย

updated: 21 พ.ย. 2556 เวลา 15:30:44 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

โดย บุญเกียรติ ชีวะตระกูลกิจ bcheewatragoongit@yahoo.com

มีโพสต์ของคนรุ่นหนุ่มสาวท่านหนึ่งในเฟซบุ๊ก ระบายความในใจตรงช่อง Status ทำนองว่า เหตุไรเขาจึงต้องเห็นคล้อยตามเพื่อนในแง่ความคิดเห็นทางการเมือง คนที่จะเป็นเพื่อนกันนั้น "คิดต่าง" ไม่ได้หรือ เขารู้สึกอึดอัดที่เพื่อนๆ ซึ่งคบกันมานานจนรับกันเป็น "friend" ในเฟซบุ๊ก (ซึ่งไม่ใช่จู่ๆ ก็จะรับ) มักคาดการณ์ไว้ในใจเสมอว่า ผู้อื่นจะต้องเห็นคล้อยตามที่ตนเห็น เขาทิ้งท้ายในโพสต์ว่า ถ้าใครไม่อาจรับคอนเซ็ปต์การ "คิดต่างกันได้" ของเขาในครั้งนี้ก็กรุณากด "Unfriend" (ยกเลิกการเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊ก) ไปได้เลย ผลปรากฏว่าในวันนั้น มีเพื่อนๆ กด Unfriend เขามากถึง 10 คน ...!



นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยขณะนี้ เป็นเรื่องน่าตกใจที่คนไทยตีค่าความคิดเห็นทางการเมืองสูงกว่าความเป็นเพื่อนมากถึงเพียงนั้น ผมเองก็เจอเข้ากับตัว ยังช็อกไม่หายอยู่จนเพ-ลานี้ จะขอยกขึ้นมาแบ่งปันกับท่านผู้อ่านดังต่อไปนี้

ปกติผมจะเขียนบทความลงมติชนอยู่สม่ำเสมอ แต่ก็เป็นแบบไม่ใช่คอลัมนิสต์ประจำ เรื่องที่เขียนตามคอนเซ็ปต์ของ "กระแสทรรศน์" ก็คือ เหตุการณ์ที่อยู่ในกระแสความสนใจของผู้คน ซึ่งในระยะหลังมักจะเป็นเรื่องการบ้านการเมืองเสียเยอะ (ทั้งที่จริงๆ ผมถนัดเรื่องยุทธศาสตร์ทางธุรกิจมากกว่า) ครั้งหนึ่ง ผมเขียนเรื่องเกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์ชื่อ "บนความแตกต่าง ยิ่งลักษณ์ VS อภิสิทธิ์" โดยลงทั้งเซ็กชั่นกระแสทรรศน์และมติชนออนไลน์ ผมได้ดึงลิงก์บทความชิ้นนี้ไปลง Time Line ของตนเองในเฟซบุ๊ก เนื้อหาในบทความก็เป็นการเปรียบเทียบกันถึงจุดต่างระหว่างท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์กับอดีตนายกฯอภิสิทธิ์ ซึ่งก็เป็นแง่มุมที่มีคนกล่าวขวัญถึงกันมากมายอยู่แล้ว ได้มีเพื่อนที่คบกับผมมานานกว่า 30 ปี (จาก พ.ศ.2526-2556) รับไม่ได้ที่ผมไปวิเคราะห์วิจารณ์คุณอภิสิทธิ์ในหลายประเด็น ได้เขียนในช่อง Comment ของเฟซบุ๊กว่า ผมคิดอย่างนั้นได้อย่างไร (เธอเป็นผู้ที่โปรพรรคประชาธิปัตย์และคุณอภิสิทธิ์มาก และแน่นอน เกลียดทักษิณกับอะไรที่เกี่ยวกับตระกูลชินวัตรมากด้วยเช่นกัน) ซึ่งผมก็เห็นว่าเป็นปกติของคนในสังคมทุกวันนี้

เรื่องผ่านไปหลายเดือน จนได้พบกันในงานศพญาติของเพื่อนร่วมรุ่นผู้หนึ่ง ผมที่ไม่คิดอะไรมาก ได้เดินเข้าไปทักทายเพื่อนคนดังกล่าวตามปกติ แต่กลับได้รับการสนองตอบที่เพิกเฉยมึนตึง

น่าตกใจนะครับสังคมไทยวันนี้ พวกเขา Value ความคิดเห็นทางการเมืองสูงกว่าความเป็นเพื่อนมากถึงขนาดนี้กันแล้ว

กรณีของผมนี้ไม่ใช่ Unfriend ในเฟซบุ๊กแต่เป็น Unfriend - ตัดสะบั้นความเป็นเพื่อนในโลกแห่งความเป็นจริง อุแม่เจ้า ... อะไรจะขนาดนั้น ....!

จากกรณีตัวอย่างที่ยกมานี้ เราอาจสรุปในเบื้องต้นได้ว่า "ความเห็นต่างทางการเมือง ทำให้คนไทยแตกแยกกัน" ซึ่งเป็นความจริงที่มิอาจปฏิเสธได้อีกต่อไป

ปรากฏการณ์เรื่องคนไทยแตกแยกกันนี้ ได้ยังความประหลาดใจให้แม้กับชาวต่างชาติ เพื่อนลูกสาวผมเพิ่งเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางบรรยากาศการปลุกระดมของม็อบต่างๆ เจ้าหล่อนได้ตั้งคำถามด้วยประโยคแสนจะธรรมดาแต่เจ็บเข้าไปในกลางใจพวกเราทุกคนว่า

Why are Thai people fighting each other ?

กรณีอื่นๆ อันนอกเหนือจากตัวอย่างที่หยิบยกมา ก็คงจะยังมีอีกมาก และได้สะท้อนให้เห็นถึงผลพวงของการเล่นการเมืองแบบเอาชนะคะคานกัน ไม่มีใครยอมใคร ประจวบกับแต่ละฝ่ายก็มีสื่อโดยเฉพาะช่องทีวีของตนเอง ปลุกระดมให้ผู้คนเกลียดชังซึ่งกันและกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

บ้านเมืองจึงกำลังเดินมุ่งหน้าสู่ความวิบัติชัดเจนยิ่ง

การเล่นการเมืองเพื่อช่วงชิงอำนาจกันตามระบอบประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ อุดมการณ์อันแตกต่างคือความสวยงามของดอกไม้หลากสี เคารพความคิดเห็นของเสียงส่วนใหญ่ คือกติกาที่ตกลงกันไว้แต่ต้น หากเป็นเช่นนี้ประเทศย่อมเดินหน้าต่อไปได้

การสาดโคลน เป่าหูผู้คนให้เคียดแค้นชิงชังอีกฝ่ายหนึ่ง แม้จะทำให้นักการเมืองฝ่ายไหนก็ตามได้มาซึ่งอำนาจ แต่กลับเกิดความแตกแยก ผู้คนไม่เผาผีกันนั้น ... อาจถึงเวลาที่ประชาคมในองค์รวมต้องฉุกใจคิดกันให้รอบคอบได้แล้วว่า เราจะยอมให้เรื่องเช่นนี้ยังคงเกิดขึ้นต่อไปในชาติเราอีกไหม

ผมเสียเพื่อน 1 คนได้ ประเทศย่อมแตกออกเป็น 2 เสี่ยงได้ ฉันใดก็ฉันนั้น ... ทุกสิ่งทุกอย่างอาจสายเกินไป ... หากพวกเราปล่อยให้วันนั้นมาถึง


ที่มา : นสพ.มติชน

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1385021616
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่