ญี่ปุ่น ความเป็นชาตินิยมถดถอย

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/foreign/20131122/544949/%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%94-%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%99-%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%99-%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%94.html

'เมด อิน เจแปน' ขายไม่ออกในบ้านเกิด

ผู้ค้าปลีกในญี่ปุ่นหลายรายกำลังประสบปัญหายอดขายตก หลังจากความนิยมในสินค้าที่ผลิตในญี่ปุ่นเริ่มถดถอยลง

เจ้าของร้านเฟอร์นิเจอร์แห่งหนึ่งในเขตไทโตะของกรุงโตเกียว "นายมากาโตะ มิยาซากิ" ยืนยันว่า เฟอร์นิเจอร์ออฟฟิศที่ผลิตในญี่ปุ่นที่ขายในร้านของเขามีคุณภาพดีกว่าเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตในจีน เนื่องจากมีความแข็งแร็งกว่า

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเขาจะพยายามอธิบายต่อลูกค้าอย่างเต็มที่ว่า เหตุใดจึงต้องจ่ายเงินแพงกว่า 30-50% เพื่อซื้อตู้วางของที่ผลิตในประเทศ แต่เฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตในจีนก็ยังเป็นสิ่งที่ลูกค้าเลือกซื้ออยู่เหมือนเดิม

นายมิยาซากิไม่ใช่เพียงคนเดียวที่ต้องเผชิญกับปัญหานี้ โดยผลสำรวจหลายสำนักบ่งชี้ว่า มีผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นมากขึ้นเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ผลิตในประเทศของตน

ผลสำรวจของสำนักกิจการผู้บริโภคญี่ปุ่นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ระบุว่า ราคาถือเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจซื้อสินค้าสำหรับคน 61% จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 7,000 คน

ขณะที่กรรมการผู้จัดการบริหารของห้างมัตสึยะในกรุงโตเกียว "นายโนบุยูกิ โอตะ" กลับมองอีกมุมหนึ่ง โดยกล่าวว่า ปัญหานี้เกิดจากการที่พนักงานขายไม่พยายามมากพอที่จะอธิบายถึงจุดแข็งของสินค้าที่ผลิตในญี่ปุ่นให้บรรดาลูกค้าได้รับรู้ โดยมักกล่าวคำขอโทษที่สินค้าในห้างมีราคาสูงกว่าที่อื่น แทนที่จะอธิบายว่าสินค้าของที่นี่ดีกว่าอย่างไร

บรรดาผู้ค้าปลีกจำเป็นต้องฝึกพนักงานให้เห็นความสำคัญของจุดขายที่เป็นจุดแข็งของสินค้าที่ผลิตในญี่ปุ่น เช่น การใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพสูงกว่า ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงต้องตั้งราคาแพงกว่า

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นมาตั้งแต่ 2-3 ปีก่อน โดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเคยเตือนเมื่อปี 2553 ว่าเสน่ห์ดึงดูดที่ลดลงของผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศญี่ปุ่นเกิดจากการตั้งราคาสูงขึ้น

กระทรวงระบุว่า กลุ่มผู้บริโภคที่เคยซื้อแต่ข้าวของเครื่องใช้และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในญี่ปุ่นไม่ได้มากเหมือนก่อนอีกต่อไป แม้กระทั่งกลุ่มผู้ซื้ออาหารที่เคยอุดหนุนพืชผักภายในประเทศซึ่งมีราคาสูงกว่ามาเป็นเวลานานก็เริ่มหันไปซื้ออาหารที่ผลิตจากต่างประเทศเช่นกัน

ผลสำรวจของศูนย์บริการข้อมูลเนื้อญี่ปุ่นเมื่อปลายปีก่อนแสดงให้เห็นว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 40% มองเรื่องขีดความสามารถในการบริโภคเป็นกุญแจสำคัญต่อการซื้อเนื้อไก่และเนื้อหมู ซึ่งมากกว่าคนที่จะเลือกซื้อเนื้อที่ผลิตในประเทศก่อนถึง 2 เท่า

นอกจากนี้ ผลสำรวจดังกล่าวยังชี้ว่า ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาที่ยืดเยื้อหลังจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อปี 2554 ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา เป็นเหตุให้มีการยอมรับการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม่บ้านวัย 32 ปี "นางยูริโกะ โคฮาระ" คิดว่าญี่ปุ่นถอยกลับไปสู่ภาวะถดถอยหลังวิกฤติการเงินเอเชียเมื่อปี 2540 เห็นได้จากเครือร้านเสื้อผ้าชื่อดัง "ยูนิโคล่" เริ่มผลิตเสื้อผ้าที่มีราคาถูกกว่าเสื้อผ้าที่ผลิตในของจีน

นับตั้งแต่ยูนิโคล่เปิดร้านสาขาแรกที่กรุงโตเกียวเมื่อปี 2531 ปัจจุบัน ยูนิโคล่ได้ขยายสาขาในญี่ปุ่นเป็นเกือบ 800 ร้าน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่