BJCHI ช่วยวิเคราะห์ให้หน่อยค่ะ

กระทู้คำถาม
เพื่อนๆสนใจซื้อ BJCHI ไหมคะ
http://www.bjc1994.com/
รบกวนให้เหตุผลทั้งผู้ที่สนใจ และ ไม่สนใจด้วยค่ะ

ขอบคุณมากๆค่ะ

คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 3
BJCHI - บีเจซี เฮฟวี อินดัสทรี !!!!ต้องจอง!!!! หุ้นจองน้องใหม่ เข้าเทรดปลาย พ.ย. นี้ (ตอนที่ 1)

จำนวนหุ้นเพิ่มทุน 80 ล้านหุ้น พาร์ 1 บาท
ราคา IPO 30 บาท
จำนวนหุ้นหลัง IPO 320 ล้านหุ้น
คาดเข้าเทรด 28 พ.ย. 56

เสนอขายผู้มีอุปการะคุณของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 46.6 ล้านหุ้น
นักลงทุนสถาบัน 32.0 ล้านหุ้น
ผู้มีอุปการะคุณของบริษัท 1.4 ล้านหุ้น

อุ แม่เจ้า!!!!! อ่านมาถึงตรงนี้ ตัวกระผมเองยังเป็นงง มันไม่แจกหุ้นให้รายย่อยเลยเหรอ?? บริษัทให้เหตุผลว่า

"การจัดสรรหุ้นในครั้งนี้ ไม่รวมถึงการจัดสรรต่อนักลงทุนรายย่อยหรือประชาชนเป็นการทั่วไป เนื่องจากหุ้นที่เสนอขายครั้งนี้ไม่เพียงพอสำหรับเสนอขายเป็นการทั่วไป และให้เป็นไปตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์เท่านั้น"

หมายความว่ายังไง หมายความว่า ให้โบรก KGI ที่เป็น lead underwriter ไปพิจารณาเอาเองว่าจะไปให้กับใคร อาจจะเป็นนักลงทุนรายเดียวไปเลยก็ได้นะ ไม่ต้องกระจายให้นักลงทุนทั่วไป

เอาแค่ตรงนี้ก่อนนะ !!!!!! ต้องจอง !!!!!!! เท่านั้น ไม่มีทางเลือกอื่น การระบุลักษณะนี้ แสดงว่า ต้องมีนักลงทุนรายใหญ่บางกลุ่มที่ได้หุ้นส่วนใหญ่ไปอย่างแน่นอน และการกระจายหุ้นให้นักลงทุนรายย่อยก็แล้วแต่โบรกจะไปตัดสินใจ แต่เชื่อได้เลยว่า "น้อยมากมาก"

และหุ้นแบบนี้ล่ะ ที่มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้สูงในวันแรกที่เข้าตลาด เพราะแทบไม่มีรายย่อยมาขาย ATO นักลงทุนสถาบันก็ไม่ขาย รายใหญ่เองคุมหุ้นอยู่หมัด ก็รอให้รายย่อยไล่หุ้นที่เหลือเพียงน้อยนิดในกระดานขึ้นไปสูงๆ จากนั้นค่อยขายลงมาในภายหลัง

EPS ย้อนหลัง 4 ไตรมาส (คิดจากจำนวนหุ้นหลัง IPO) 3.71 บาท

PE ที่ราคาจอง 30 บาท = 8.09 เท่า เทียบเคียงกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจคล้ายกัน คือ STPI กับ SRICHA มีค่า PE เฉลี่ย 16.67 เท่า

TISCO ให้ราคาเหมาะสมปี 57 ที่ 38 บาท
FSS ให้ราคาเหมาะสมปี 57 ที่ 41 บาท
โบรก 8 แห่งที่ร่วมขาย ให้ราคาเป้าหมายเฉลี่ย 41 บาท สูงสุดที่ 44.5 บาท

BJCHI - ตอนที่ 2 (ตอนจบ) ธุรกิจโตโคตรๆ แต่ความเสี่ยงสูงตามไปด้วย

กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ ตระกูล "ลี" (นายหยัง เจิน ลี นายเซิง วู ลี และนายคิล ยัง ลี และอื่นๆ) ถือหุ้นรวมกัน 238.25 ล้านหุ้น โดยหลัง IPO จะเหลือสัดส่วนการถือหุ้นถึง 74.44%

บริษัทประกอบธุรกิจ
1. ให้บริการงานแปรรูปผลิตภัณฑ์เหล็ก
2. งานแปรรูปและประกอบกลุ่มชิ้นงานขนาดใหญ่
3. งานติดตั้งนอกสถานที่
4. งานหล่อชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป

แรกเริ่มเดิมที่ รายได้หลักของบริษัทมาจาก งานแปรรูปผลิตภัณฑ์เหล็ก ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ถึง 88% ในปี 53 และลดลงเหลือ 59% ในปี 54

แต่ในปี 55 รายได้หลักมาจาก งานแปรรูปและประกอบโครงสร้างกลุ่มชิ้นงานขนาดใหญ่ ซึ่งมีสัดส่วนรายได้สูงถึง 70% และในครึ่งปีแรกปี 56 รายได้จากธุรกิจนี้มีสัดส่วนสูงถึง 90.84 % ของรายได้รวม

รายได้และกำไรของบริษัท เติบโตก้าวกระโดด
2553 571.48 ล้านบาท กำไรสุทธิ 99.95 ล้านบาท
2554 838.59 ล้านบาท กำไรสุทธิ 70.91 ล้านบาท
2555 3652.58 ล้านบาท กำไรสุทธิ 791.62 ล้านบาท
6 เดือนแรก ปี 56 2116.54 ล้านบาท กำไรสุทธิ 542.33 ล้านบาท

โดยรายได้และกำไรที่โตขึ้นมากในปี 55 - 56 มาจากการที่บริษัทได้รับงานขนาดใหญ่จำนวน 2 โครงการในประเทศออสเตรเลีย

1. โครงการก่อสร้างโรงผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวจากเจ้าของโครงการชื่อ Australia Pacific LNG Pty Limited มูลค่า 7110.28 ล้านบาท

2. โครงการก่อนสร้างเมืองแร่จากผู้รับเหมาโครงการหลักชื่อ Laing O'Rourke Australia Construction Pty Limited มูลค่ารวม 1080.59 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่า รายได้และกำไรที่โตขึ้นมาอย่างผิดหูผิดตาของบริษัทนั้น มาจากโครงการหลักเพียงแค่ 2 โครงการเท่านั้น ซึ่งโครงการแรกนั้นมี margin ที่สูงมาก เพราะเป็นการรับงานโดยตรงจากเจ้าของโครงการ

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวเริ่มรับรู้รายได้มาตั้งแต่ปี 2553 และเข้าสู่ปี 55 - 56 ก็มีการบันทึกรายได้เข้ามาค่อนข้างมาก นั่นแสดงว่า โครงการใกล้จะเสร็จสิ้นเต็มที เมื่อโครงการเสร็จ หลังจากนี้บริษัทจะมีรายได้อะไรเข้ามาทดแทนโครงการที่จบไป!!!

จากข้อมูล filing บริษัทจะรับรู้รายได้จากโครงการเก่า ในช่วงครึ่งปีหลังปี 56 อีก 1.7 พันล้านบาท และจะรับรู้รายได้ในปี 57 อีก 1.1 พันล้านบาท และปี 58 อีก 562 ล้านบาท

เห็นความเสี่ยงไหม??? งานหลักของบริษัทจะมีการรับรู้รายได้หลักๆระหว่างปี 55 - 56 และเริ่มน้อยลงในปี 57 และเหลือบางส่วนในปี 58 นั่นหมายความว่า ถ้าบริษัทไม่สามารถรับงานเพิ่มได้ใกล้เคียงกับโครงการที่กำลังจะเสร็จสิ้น เราจะเห็นการปรับลดลงของรายได้อย่างมากในปี 2557 เป็นต้นไป

แล้วโอกาสที่จะบริษัทจะได้รับงานใหญ่ๆอย่างนี้จะมีอีกไหม? ต่อให้รับได้อีกหลายงานแต่เป็นงานที่มีมูลค่าโครงการขนาดเล็กก็คงไม่สามารถทดแทนงานขนาดใหญ่ที่กำลังจะเสร็จสิ้นได้ ซึ่งนั่นก็คงหมายถึงรายได้ที่จะลดลงในอนาคตเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามบริษัทไม่ได้ให้ข้อมูลว่าระหว่างนี้มีการเข้าประมูลงานใดบ้าง และมีมูลค่ามากเท่าไหร่

หากเรามองยอนกลับไป บริษัทนี้ก็จะมีลักษณะเดียวกันกับบริษัท STPI ที่มีการรับงานในต่างประเทศเช่นเดียวกัน แต่พองานใหญ่เสร็จไป บริษัทไม่สามารถหางานขนาดใหญ่เท่าเดิมมาทดแทนได้ ก็ส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัทค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ในปี 2556 บริษัทน่าทำรายได้และกำไรเติบโตอย่างสุดๆ ส่วนปี 57 ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของบริษัทในการหางานเพิ่ม

การทำ IPO ครั้งนี้จะทำให้บริษัทไปเพิ่มกำลังการผลิตของตนได้ ซึ่งนั่นน่าจะทำให้บริษัทมีความพร้อมที่จะรับงานเพิ่มเติมได้ รวมถึงงานที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม

ความน่าสนใจของบริษัทนี้อยู่ที่ ราคาหุ้น IPO ที่ระดับ 30 บาท คิดเป็น PE เพียงแค่ 8 เท่า ซึ่งต่ำกว่าคู่แข่งที่ PE สูงถึง 16 เท่า ดังนั้น ถ้าจะคำนวณกันที่ระดับปัจจุบัน ราคาหุ้นน่าจะไปได้ถึง 59 บาท!!!

แต่ แต่ นี่มันจะหมดปี 56 แล้ว เราควรปรับไปใช้เป้าหมายปี 57 ถ้าบริษัทไม่สามารถรับงานขนาดใหญ่ได้ สมมติให้รายได้หายไปครึ่งหนึ่ง รวมถึงกำไรหายไปครึ่งหนึ่ง ราคาเหมาะสมปีหน้า ที่ PE 16 เท่าเท่ากับคู่แข่ง ควรอยู่แค่ระดับ 30 บาทเท่านั้น

สรุป - บริษัทเติบโตจริงๆจากรายได้โครงการขนาดใหญ่ในประเทศออสเตรเลีย แต่งานรับรู้รายได้ไปแล้วในปี 56 เป็นส่วนใหญ่ เหลือที่จะรับรู้ในปี 57 - 58 น้อยมาก ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการหางานเพิ่มของบริษัท หากหาได้ ก็จะทำให้ราคาหุ้นอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องได้ แต่หากหาไม่ได้ ราคาหุ้นก็น่าจะอยู่แถวๆบริเวณราคาจองได้ ไม่น่าจะหลุดลงไป

แต่เรื่องการเติบโต มันตอบยาก เพราะงานที่รับส่วนใหญ่เป็นระยะสั้น รับรู้รายได้ใน 1 - 2 ปี บริษัทอาจได้งานย่อยๆเข้ามาในปริมาณมากมาช่วยรายได้ก็เป็นได้ ตรงนี้จึงถึงเป็นความเสี่ยงหลักหลังงานใหญ่กำลังจะจบลง

ถ้าเล่นในกรอบปี 56 - 57 และการกระจายหุ้น IPO แล้วล่ะก็ จองไปก่อนเลย แต่ถ้าจะถือยาว มีความเสี่ยงนะ ไม่แนะนำ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่