การอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างทางศาสนา

พอดีไปเจอบทความดีๆ เลยเอามาแบ่งปัน

สะพานเชื่อมพี่น้องต่างศาสนา
พระไพศาล วิสาโล
----------------------------------------------------------

ในการสำรวจความเห็นของนักศึกษาและประชาชนบางส่วนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ปิยะ กิจถาวร อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้พบข้อมูลที่น่าสนใจที่สะท้อนความเหมือนและความต่างระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม ในเรื่องหลักการสร้างสันติสุขในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

จากผลการสำรวจดังกล่าว ชาวพุทธมีความเห็นว่า หลักการสำคัญอันดับแรกก็คือ “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” รองลงมาคือ “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน” และลำดับที่สามคือ “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติหรือปฏิบัติตามพิธีกรรมตามความเชื่อของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองไทย และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”

ส่วนชาวมุสลิมส่วนใหญ่มีความเห็นว่า หลักการสำคัญอันดับแรกในการสร้างสันติสุขในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา ฯลฯ” รองลงมาคือ “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย ฯลฯ” ลำดับที่สามคือ “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้”

ทั้งสามหลักการนั้นเป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่จะเห็นได้ว่าการให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกนั้น มีความต่างกันระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม ในขณะที่ชาวพุทธเห็นว่า การเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ เป็นหลักการสำคัญลำดับแรก ชาวมุสลิมเห็นว่า เสรีภาพในการนับถือศาสนา เป็นหลักการสำคัญสูงสุด

คนเรานั้นเมื่อแสดงความต้องการอะไรออกมาก็ตาม ใช่หรือไม่ว่าเขากำลังบอกถึงสิ่งที่เขาขาดแคลนหรือกลัวจะสูญเสียมันไป หรือพูดอีกอย่างคือมันกำลังบอกว่าเขากังวลอยู่กับเรื่องอะไรมากที่สุด มองในแง่นี้ การให้ความสำคัญแก่หลักการที่ต่างกันนั้นสะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีถึงความกังวลใจลึก ๆ ในหมู่ชาวพุทธและมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นก็คือในขณะที่ชาวพุทธมีความกังวลว่าประเทศไทยจะถูกแบ่งแยกดินแดน ชาวมุสลิมก็กังวลว่าเสรีภาพในการนับถือศาสนาของตนจะถูกคุกคาม

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความกังวลดังกล่าวมิได้มีอยู่ในหมู่ชาวพุทธและมุสลิมที่ตอบแบบสอบถามเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในจิตใจของชาวพุทธและมุสลิมทั่วไปในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจดังกล่าวไม่ได้บอกถึงความต่างเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นความเหมือนระหว่างชาวพุทธและมุสลิม นั่นคือ เมื่อให้จัดลำดับหลักการสำคัญ ๖ ประการในการสร้างสันติสุขในสามจังหวัดชายแดนใต้ ปรากฏว่าทั้งชาวพุทธและมุสลิมเห็นเหมือนกันใน ๓ อันดับแรก ได้แก่หลักการ ๓ ประการที่กล่าวมาข้างต้น พูดอีกอย่างคือ ชาวพุทธเห็นว่า เสรีภาพในการนับถือศาสนาเป็นเรื่องสำคัญมากเช่นเดียวกับคนมุสลิม (แม้ไม่ใช่ลำดับแรก) ส่วนชาวมุสลิมก็เห็นว่า การที่ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรหนึ่งเดียวอันแบ่งแยกมิได้ ก็เป็นเรื่องสำคัญมากเช่นเดียวกับชาวพุทธ (แม้จะไม่ใช่สิ่งสำคัญสูงสุด)

คนเราจะเห็นอะไร ไม่ได้ขึ้นอยู่ว่าสิ่งที่อยู่ข้างหน้าเป็นอะไรเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราตั้งใจมองอะไรด้วย หากตั้งใจมองความแตกต่าง ก็จะเห็นแต่ความแตกต่าง ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งและแตกแยกได้ง่าย แต่ถ้าเราพยายามมองความคล้ายคลึง ก็จะเห็นความคล้ายคลึง ซึ่งนำไปสู่ความกลมเกลียวกันได้ง่าย

ชาวพุทธกับชาวมุสลิม มีความแตกต่างกันหลายประการ แต่ก็มีความคล้ายคลึงกันหลายอย่างเช่นกัน ชาวพุทธกับมุสลิมอาจเห็นต่างกันในเรื่องการให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกแก่หลักการสร้างสันติสุขในภาคใต้ แต่ใช่หรือไม่ว่าทั้งสองฝ่ายก็เห็นเหมือนกันว่า ประเทศไทยจะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ผู้คนเสมอภาคกันทางกฎหมาย และบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา

การมองเห็นถึงความคล้ายคลึงกัน จะช่วยให้ชาวพุทธและมุสลิมเป็นมิตรกันมากขึ้น ระแวงกันน้อยลง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าชาวพุทธจำนวนมากทีเดียวมีความระแวงว่าชาวมุสลิมจำนวนไม่น้อยสนับสนุนการแยกดินแดนโดยมีศาสนาเป็นสาเหตุประการหนึ่ง แต่การสำรวจความเห็นดังกล่าวน่าจะช่วยให้ชาวพุทธลดความหวาดระแวงลง เพราะถึงอย่างไรชาวมุสลิมโดยรวมก็ยังอยากอยู่ประเทศไทยและไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกดินแดน เช่นเดียวกับชาวพุทธ

แม้ว่าชาวพุทธกับมุสลิมจะมีความคล้ายคลึงกันหลายอย่าง ทั้งในฐานะมนุษย์ที่รักสุขเกลียดทุกข์ และในฐานะคนไทยที่รักแผ่นดินไทยและเชิดชูเสรีภาพการนับถือศาสนา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบัน ความคล้ายคลึงดังกล่าวนับวันจะถูกมองข้ามไป ขณะที่ความแตกต่างระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมถูกขับเน้นให้เด่นชัด และบางครั้งก็เกินเลยไป สาเหตุนั้นมิได้อยู่ที่บทบาทของสื่อในการเน้นความต่างมากกว่าความเหมือนเท่านั้น หากยังอยู่ที่ช่องว่างที่ถ่างกว้างมากขึ้นระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมทั้งทั้งในชายแดนใต้และส่วนอื่น ๆ ของประเทศ

ช่องว่างที่ถ่างกว้างขึ้นนั้น สาเหตุสำคัญประการหนึ่งได้แก่ การมีปฏิสัมพันธ์กันน้อยลง ต่างคนต่างอยู่กันมากขึ้น ดังนั้นจึงรับรู้เรื่องราวของกันและกันผ่านสื่อหรือคำบอกเล่า ซึ่งอาจมีการต่อเติมเสริมแต่ง ดังนั้นถ้าหากเห็นถึงความจำเป็นในการลดช่องว่างระหว่างชาวพุทธกับมุสลิม สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องเร่งทำคือ การอำนวยให้ทั้งชาวพุทธและมุสลิมมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น เช่น มีการพบปะกันอย่างสม่ำเสมอ หรือทำกิจกรรมร่วมกัน

โครงการของพล.อ.สุรยุทธ์ จุฬานนท์ ที่นำเยาวชนมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปพบปะและใช้ชีวิตร่วมกับเยาวชนในกรุงเทพ ฯ หรือจังหวัดอื่น เป็นสิ่งที่น่าสนับสนุนและควรส่งเสริมให้แพร่หลาย แต่ที่ไม่ควรละเลยการสร้างสัมพันธภาพระหว่างชาวพุทธและมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ภาครัฐและภาคประชาชนในพื้นที่ควรสนับสนุนให้มีกิจกรรมที่ชาวพุทธและมุสลิมมาทำร่วมกัน เช่น การเยี่ยมเยือนสถานที่สำคัญทางศาสนา การร่วมเทศกาลทางศาสนา การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เช่น ศิลปะ ดนตรี รวมไปถึงการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม และการจัดมหกรรมกีฬา จะเป็นการดีหากมีการจัดตั้งคณะกรรมการที่มาจากตัวแทนของชาวพุทธและมุสลิมในท้องถิ่น หรืออาจทำในลักษณะที่เป็นทางการน้อยลง เช่น ทำในรูปของชมรม โดยเริ่มจากระดับจังหวัด ลงไปถึงระดับอำเภอ

อันที่จริงกิจกรรมเหล่านี้มีการทำอยู่บ้างแล้ว แต่เป็นการริเริ่มโดยคนไม่กี่คน และจำกัดอยู่ในบางพื้นที่ เช่น การบริจาคเงินโดยชาวพุทธไปช่วยสร้างมัสยิด หรือชาวมุสลิมไปช่วยงานศพชาวพุทธ แต่สิ่งที่ขาดไปก็คือการสนับสนุนโดยภาครัฐและประชาชนในระดับจังหวัด

ที่สิงคโปร์ รัฐบาลถึงกับจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว โดยมีคณะกรรมการเพื่อความปรองดองระหว่างเชื้อชาติในทุกเขต (ทั้งหมด ๘๔ เขต) หน้าที่หลักก็คือเชื่อมสัมพันธภาพระหว่างคนต่างเชื้อชาติ ผ่าน กิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม และกีฬา โดยลงไปถึงสำนักงานและโรงเรียนในท้องที่ นับว่ามีส่วนช่วยได้มากในการสร้างความสมานฉันท์ระหว่างเชื้อชาติ

การสานเสวนา (dialogue) ก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ควรส่งเสริมให้มี ดังที่ได้มีการริเริ่มบ้างแล้วโดยศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล เช่น มีการนำเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้านมาเปิดใจเสวนากัน และที่กำลังจะทำในเดือนกุมภาพันธ์นี้คือการสานเสวนาระหว่างผู้นำศาสนาทั้งพุทธและมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยร่วมกับคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ

พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า ความคุ้นเคยกันเป็นญาติอันประเสริฐ แม้จะต่างศาสนาต่างเชื้อชาติ แต่หากหมั่นเสวนาวิสาสะและพบปะกัน เราก็สามารถเป็นพี่น้องกันได้ ครั้งหนึ่งสายสัมพันธ์ฉันพี่น้องต่างศาสนาเคยมีอยู่มากมายในสามจังหวัดชายแดนใต้ นี้คือต้นทุนที่เราควรนำมาใช้เพื่อฟื้นฟูสันติสุขให้กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง    
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่