อาจารย์ นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย อนุศาสนาจารย์กองทัพเรือ ป.ธ. ๙ อธิบายเรื่อง "...นิพพานปติโย โหตุ?"

-----------------------------------------
อันเนื่องมาจากสมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์

----------------


มีญาติมิตรท่านหนึ่งส่งรูปประกอบเรื่องนี้มาให้ผม และขอให้เขียนถึงถ้อยคำที่ใช้ในรูปนี้
ผมพิจารณาเห็นว่าเป็นคำที่ควรรู้ และน่าจะเป็นประโยชน์แก่ญาติมิตรทั้งปวง จึงขออนุญาตนำมาเขียนในที่นี้ ในขณะที่ “เหล็กกำลังร้อน” อยู่

คำที่ปรากฏในรูป อ่านได้ว่า
-----------------
สาธุ, อนุโมธนา, นิพฺพานปติโย โหตุ
ขอน้อมส่งเสด็จสมเด็จพระสังฆราช
....สู่สวรรคาลัย....
------------------

ต่อไปนี้เป็นความคิดเห็นครับ

๑ คำว่า “สาธุ” โดยปกติแปลว่า “ดีแล้ว” โอกาสที่ใช้คำนี้ก็คือ
- เป็นคำอุทานเมื่อเห็นอะไรที่เป็นความดีงาม ถอดอารมณ์เป็นคำไทยก็ตรงกับ “ดีจังเลย” อะไรประมาณนี้
- ถ้าเป็นคำตอบ มีความหมายว่า ถูกต้องแล้ว เห็นชอบด้วย
- บางกรณีใช้เป็นคำขึ้นต้นเมื่อจะพูดกับผู้ใหญ่ มีความหมายคล้ายๆ ภาษาที่ทหารพูดติดปากว่า “ขออนุญาต”
จะเห็นได้ว่า กรณีสมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์นี้ ใช้คำว่า สาธุ ไม่ได้

๒ “อนุโมธนา” เป็นคำที่ผิดทับซ้อน
ซ้อนแรก ผิดอักขรวิธี คำนี้เขียนว่า “อนุโมทนา” ท ทหาร ไม่ใช่ ธ ธง
ซ้อนสอง โอกาสที่ใช้คำนี้คือ
- เมื่อมีผู้มาบอกกล่าวว่าเขาได้ไปทำความดีอะไรมา
- เมื่อมีผู้แบ่งส่วนบุญให้
- เมื่อเรารู้เห็นว่าใครทำความดีอย่างใดๆ ก็ตาม
เราก็ควรพูดว่า “ขออนุโมทนา” คำนี้ตามตัวอักษรแปลว่า “ยินดีด้วย”
กรณีสมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์ ไม่ใช่เหตุการณ์ที่ควรจะ “ยินดีด้วย”

๓ “นิพฺพานปติโย โหตุ” คำนี้ก็ผิดทับซ้อนอีก
ซ้อนแรก “นิพพานปติโย” ไม่มี มีแต่ “นิพพานะปัจจะโย” (สะกดแบบไทย) แปลว่า “ปัจจัยแก่พระนิพพาน” เมื่อรวมกับ “โหตุ” (จงเป็น) = นิพพานะปัจจะโย โหตุ แปลว่า “จงเป็นปัจจัยแก่พระนิพพาน”
ซ้อนสอง โอกาสที่จะใช้คำนี้คือ เมื่อตัวเราทำความดีอย่างใดๆ ก็ตาม เช่น ตักบาตร บริจาคทาน ไหว้พระ สวดมนต์ ปฏิบัติจิตภาวนาเป็นต้น เมื่อเสร็จกิจแล้วก็ตั้งความปรารถนา
ความปรารถนาตามอุดมคติของพระพุทธศาสนาก็คือ การบรรลุพระนิพพาน ดังนั้นเมื่อชาวพุทธทำบุญบำเพ็ญกุศลอย่างใดๆ ก็ตาม จึงนิยมตั้งความปรารถนาว่า “นิพพานะปัจจะโย โหตุ” มีความหมายว่า ขอให้บุญกุศลที่ทำนี้จงเป็นปัจจัยแก่พระนิพพาน
ประโยคเต็มๆ ที่คนเก่านิยมพูดก็คือ “นิพพานะปัจจะโย โหตุ เม อะนาคะเต กาเล” แปลว่า จงเป็นปัจจัยแก่พระนิพพานให้ข้าพเจ้าในอนาคตกาลโน้นเทอญ
กรณีสมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์ ไม่ใช่การบำเพ็ญบุญกุศล (การตายไม่ใช่การบำเพ็ญกุศล) ดังนั้น จึงเอาการสิ้นพระชนม์มาตั้งความปรารถนาให้เป็นปัจจัยแก่พระนิพพานไม่ได้
ผู้ยกคำนี้มาเขียน คงจะมีเจตนาที่จะพูดว่า-ขอให้สมเด็จพระสังฆราชทรงบรรลุพระนิพพาน-ถ้าเจตนาจะพูดอย่างนี้ก็ต้องใช้คำอื่น ไม่ใช่-นิพพานะปัจจะโย โหตุ

๔ “ขอน้อมส่งเสด็จสมเด็จพระสังฆราชสู่สวรรคาลัย” ผมรู้สึกว่า ข้อความนี้น่าจะเลียนแบบมาจากเมื่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์ จำได้ว่า มีการใช้ถ้อยคำทำนองนี้

“สู่สวรรคาลัย” แปลว่า “ไปสวรรค์” คือไปเกิดในสวรรค์ ผมเข้าใจว่าน่าจะใช้เฉพาะเจ้านายที่เป็นฆราวาส ส่วนสมณะชีพราหมณ์เป็นผู้ปฏิบัติมุ่งความหลุดพ้น มิได้มุ่งไปที่สวรรค์ ถ้าจะไปถึงสวรรค์ ก็เป็นเพียงทางผ่าน ไม่ใช่จุดหมาย
ข้อความข้างต้นก็เพิ่งแสดงเจตนามาหยกๆ ว่า ขอให้พระองค์ท่านบรรุพระนิพพาน แต่แล้วกลับมาส่งเสด็จไปสวรรค์ จึงขัดกันเอง

กรณีสมเด็จพระสังฆราช คำที่ถูกต้อง และเป็นกลางที่สุด คือใช้ว่า “สิ้นพระชนม์” ถ้าจะประดิษฐ์โวหารอย่างใดๆ ก็ควรพิจารณาให้ถูกต้องตามควรแก่ภิกขุภาวะของพระองค์ท่าน


จึงเสนอมาเพื่อโปรดพิจารณา
๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๖
------------------------------------
ที่มา : เฟซบุ๊ค อาจารย์ นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย https://www.facebook.com/tsangsinchai?fref=ts

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=534688689958206&set=a.332517853508625.77895.100002512387360&type=1&relevant_count=1




ต่อไปนี้ผม (จขกท. chohokun) ขอเสนอคำที่น่าจะเหมาะสมในเรื่องนี้

๑. คำนี้น่าจะเป็นสาธารณะทั่วไป และเป็นกลางดีที่สุด

- น้อมถวายอาลัยแด่พระสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

๒. คำที่ถวายความอาลัย / มีความเชื่อมั่นว่าพระองค์น่าจะทรงบรรลุธรรมวิเศษขั้นสูงสุดคืออรหัตตผล

- ขอกราบฝ่าพระบาท น้อมส่งเสด็จสู่อนุปาทิเสสนิพพาน

๓. คำถวายอาลัย และแสดงความเป็นกลางในธรรมที่น่าจะทรงบรรลุในชั้นใดชั้นหนึ่ง

- ขอกราบฝ่าพระบาทด้วยความอาลัยยิ่ง ขอน้อมส่งเสด็จสู่ทิฏฐคติตามธรรมที่พระองค์ได้ทรงเห็นแล้วในพระธรรมวินัยนี้

เป็นต้นครับ

* ทิฏฐคติ คำนี้มุ่งหมายถึง ที่ไปแห่งใดแห่งหนึ่ง ที่ได้ทรงเห็นแล้ว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่