โนเบล 2013: ราคาหุ้นคาดการณ์ไม่ได้ในระยะสั้น แต่ทำได้ในระยะยาว

กระทู้คำถาม
รางวัลสาขาเศรษฐศาสตร์เพื่อรำลึกถึงอัลเฟรด โนเบล ประจำปี 2013 ถูกมอบให้แก่นักวิชาการชาวสหรัฐสามคน ได้แก่ Eugene F. Fama (มหาวิทยาลัยชิคาโก) Lars Peter Hansen (มหาวิทยาลัยชิคาโก) และ Robert J. Shiller (มหาวิทยาลัยเยล) สำหรับผลงาน "วิเคราะห์ราคาสินทรัพย์ในเชิงประจักษ์" (empirical analysis of asset prices)

ประเด็นว่าเราสามารถคาดการณ์ราคาสินทรัพย์เช่นหุ้นได้หรือไม่ เป็นประเด็นสำคัญในการศึกษาด้านการเงิน ผลงานวิจัยทางสถิติของ Fama ในช่วงทศวรรษ 1960 พบว่า เราไม่สามารถใช้ราคาในช่วงที่ผ่านมา มาใช้ทำนายราคาในระยะสั้น (เช่น วันรุ่งขึ้นหรือสัปดาห์ถัดมา) ได้ โดยตลาดนั้นมีการตอบสนองต่อข้อมูลข่าวสารใหม่อย่างรวดเร็ว และหลังจากนั้นก็จะเคลื่อนไหวในลักษณะที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ หรือที่เรียกกันว่าเป็น "random walk" (หากผลออกมาในทางกลับกัน คือ ตลาดตอบสนองต่อข้อมูลใหม่อย่างช้าๆ ก็จะแปลว่าเราสามารถพยากรณ์แนวโน้มได้) ผลงานของ Fama นำไปสู่การพัฒนาเครื่องมือการลงทุนในลักษณะของ index fund ด้วย

ถึงแม้ว่าการทำนายราคาในระยะสั้นนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่ผลงานของ Shiller ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ก็แสดงให้เห็นว่า ความผันผวนที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้นี้ อาจไม่จริงเสมอไปในระยะเวลาที่ยาวขึ้น (เช่น ระยะเวลาหลายปี) โดยหากนึกถึงสมการตามทฤษฎีพื้นฐานแล้ว มูลค่าปัจจุบันของสินทรัพย์ก็ควรจะเท่ากับมูลค่าคาดการณ์ (expected value) ของผลตอบแทนในอนาคต (เช่น เงินปันผล ในกรณีของหุ้น) แต่การวิจัยทางสถิติก็พบว่า ราคาหุ้นนั้นมีความผันผวนเกินกว่าที่จะมาจากปัจจัยด้านความเปลี่ยนแปลงของผลตอบแทน ซึ่ง Shiller ก็สรุปผลได้ว่า หุ้นที่มีราคาสูง (เมื่อเปรียบเทียบกับปันผล) จะมีแนวโน้มที่จะราคาลดต่ำลง และหากหุ้นมีราคาต่ำ ก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางกลับกัน แนวโน้มความสัมพันธ์นี้ไม่เพียงพบในตลาดหุ้น แต่ก็เกิดขึ้นในตลาดอื่นๆ เช่นตลาดพันธบัตรด้วย

Hansen ได้ร่วมรับรางวัลจากการพัฒนาวิธีการทางสถิติที่ใช้ในการทดสอบทฤษฎีด้านราคาสินทรัพย์ต่างๆ ในเชิงประจักษ์ โดยโมเดลหนึ่งที่มีอิทธิพลมากที่สุด ได้แก่ Generalised Method of Moments ซึ่งเผยแพร่ในปี 1982 และเป็นโมเดลสำคัญในการวิจัยทางเศรษฐมิติ

ผู้ได้รับรางวัลทั้งสามคน ได้รับเงินรางวัลไปแบ่งกัน 8 ล้านโครนาสวีเดน (ประมาณ 39 ล้านบาท)

https://www.meconomics.net/content/586
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่